096-356-9461 support@rlg-ef.com

เรื่อง Self หรือตัวตน เป็นเรื่องที่เรารู้จักกันดีแต่อธิบายในแง่ของการศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์ได้ค่อนข้างยาก เพราะเป็นเรื่องนามธรรมค่อนข้างมาก การศึกษาเรื่องสมองกับการรับรู้ Self ก็มีคนศึกษาไม่มากจนมีเครื่องมือและกระบวนการในการตรวจสอบสมองมากขึ้น การตรวจโดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ทำให้พบว่า Self เกี่ยวข้องกับระบบสมอง 2 ระบบ คือ MNS (Mirror Network System) และ DMN (Default Mode Network)

          MNS – กลุ่มเซลล์ประสาทกระจกเงา หรือเรียกสั้นๆ ว่า กลุ่มเซลล์กระจกเงา กระจายอยู่หลายที่ในสมองส่วนต่างๆ การค้นพบเซลล์กระจกเงาเกิดขึ้นโดยบังเอิญจากการศึกษาวิจัยในลิง นักทดลองลืมถอดเครื่องรับสัญญาณสมองลิง แล้วสังเกตเห็นว่าแม้ลิงจะอยู่เฉยๆ มองดูการเคลื่อนไหวของคน เซลล์ประสาทซึ่งทำงานในขณะที่ลิงเคลื่อนไหวก็เกิดการทำงานด้วย เซลล์ประสาทในบริเวณนั้นเรียกว่าเซลล์ประสาทกระจกเงา มีบทบาทในการเลียนแบบ

          การเลียนแบบเป็นรูปแบบหนึ่งของการเรียนรู้ในวัยเด็กเล็ก เป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่ใช่สิ่งผิด เด็กจะเลียนแบบพฤติกรรมจากพ่อแม่ เช่นแต่งตัวตามพ่อ กวาดบ้านตามแม่ นี่คือรูปแบบการเรียนรู้ของเด็กที่เกิดจากการลอกเลียนพฤติกรรมที่เห็น ดังนั้นถ้าเซลล์กระจกเงามีการพัฒนาดี เด็กจะเรียนรู้ได้ดี จากการเห็นแล้วเลียนแบบ ซึ่งจำเป็นมากในการเรียนรู้ทักษะประเภท visual learning ต่างๆ ที่ต้องอาศัยการทำงานของเซลล์กระจกเงาที่เกิดจากการมองเห็น เข้าใจกระบวนการ แล้วออกมาเป็นการเคลื่อนไหวของมือหรือร่างกายที่สอดคล้องกับสิ่งที่เห็น

เซลล์กระจกเงายังมีบทบาทต่อการพัฒนา self อย่างมาก ทำให้เด็กรับรู้ Self ของตัวเอง โดยเห็นสิ่งที่อยู่ภายนอกแล้วเลียนแบบแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมของตัวเอง เพราะฉะนั้นเซลล์กระจกเงาจึงเป็นกลไกสมองที่เป็นจุดแรกที่ทำให้คนเราเกิดการรับรู้ตัวตน

          DMN ระบบประสาทที่ทำงานขณะตื่นแต่ไม่ได้คิด สมองของคนเราไม่เคยหลับไม่เคยหยุดทำงาน การนอนหลับเป็นการเปลี่ยนการทำงานของสมองจากโหมดหนึ่งไปอีกโหมดหนึ่งเท่านั้น ส่วนในช่วงที่ตื่น การตื่นแล้วอยู่นิ่งๆ กับตื่นแล้วใช้ความคิด ก็ใช้การทำงานของสมองคนละระบบ ระบบประสาทที่ทำงานขณะตื่นแต่ไม่ได้คิด เรียกว่าระบบ Default Mode เป็นระบบที่ถูกค้นพบมาในราว 20 ปี มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

ระบบนี้เกี่ยวข้องกับการฝึกสมาธิ ที่ผ่านมามีความพยายามศึกษาเรื่องการฝึกสมาธิกับการพัฒนาสมอง โดยมองว่ามันไปพัฒนาสมองส่วนสติปัญญาทำให้คนเราฉลาดขึ้นหรือไม่ ซึ่งผลที่ออกมาไม่ชัดเจนนัก แสดงว่าอาจจะมีอีกระบบที่ทำให้กระบวนการของสมองพัฒนาดีขึ้นจากการฝึกสมาธิ แล้วพบว่าระหว่างการฝึกสมาธิตามแนวพุทธ ไม่ว่าจะเป็นวิปัสสนา บริกรรม การเพ่งสมาธิก็ดี จะไปพัฒนาการทำงานของสมองอีกระบบ ที่เรียกว่าระบบ default ซึ่งเปรียบเสมือนการเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่ยังไม่ run โปรแกรม เป็นการทำงานแบบระบบ back up ไม่ได้แสดงผลออกมา ถ้าระบบนี้ไม่ทำงานเราก็จะมีปัญหาเรื่องการรับรู้ตัวเอง

ระบบนี้สำคัญมากต่อการเพ่งความสนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง การฝึกสมาธิแบบที่รับรู้ตัวเอง เช่น การรับรู้การเคลื่อนไหวของท้อง ของลมหายใจ จะกระตุ้นระบบสมองนี้อย่างมาก  ในขณะเดียวกันก็ทำให้เรารับรู้ตัวตนของเราด้วย เพราะขณะที่เราไม่ได้สนใจสิ่งอื่น ตัดความคิดฟุ้งซ่าน แล้วหันมารับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในร่างกาย มันคือการรับรู้ตัวเองนั่นเอง

เมื่อเข้าใจกระบวนการเหล่านี้ เราจะเข้าใจเรื่อง Self หรือตัวตนซึ่งเป็นเรื่องนามธรรมชัดขึ้น  จะทำให้เราสามารถวางแผนในการพัฒนา Self ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น


โดยรองศาสตราจารย์ ดร. นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์ กุมารแพทย์โรคระบบประสาท ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล