096-356-9461 support@rlg-ef.com

ในการปรับหลักสูตรการเรียนครูจาก 5 ปีเป็นหลักสูตรครู 4 ปี ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานสภาคณบดีฯ ได้เชิญชวนมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งมาทำร่วมทำการปรับหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และในวงประชุมนั้นได้มีการพูดถึง EF อาจารย์รัฐกรณ์จึงเกิดความสนใจ อยากรู้ว่าเป็นอย่างไร จึงมอบหมายให้ดร.มิตภาณีซึ่งเป็นเลขานุการของสภาคณบดีฯ นัดผู้ที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้มาพูดคุย

“ฟังแล้วเข้าใจว่าเป็นเรื่องของการพัฒนาสมอง และชอบประเด็นหนึ่งที่ว่า EFจะทำให้มีชีวิตที่ “สุขเป็น”  คือตอนนี้เรามีเงิน มีหน้าที่การงาน แต่บางทีไม่มีความสุข เพราะฉะนั้นการมีชีวิตที่มีความสุขให้เป็น น่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา  

“ผมเห็นว่าเรื่องสมองไม่ใช่เรื่องทางการแพทย์เท่านั้น เวลานี้ทุกศาสตร์เชื่อมโยงกัน ไม่มีศาสตร์ใดแยกโดดเดี่ยวได้ โลกปัจจุบันเป็นโลกของสหวิทยาการ สมองนั้นเกี่ยวกับจิตใจ ควบคุมความคิด การกระทำของเรา เกี่ยวข้องกับพฤติกรรม มันก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกๆ คน ครูจำเป็นต้องรู้ ต้องเข้าใจ

 “และเห็นว่าเรื่องการพัฒนาสมอง EF สอดคล้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย 3-6 ปี ดังนั้นจึงคิดนำมาบรรจุเป็นวิชาในหลักสูตรครู 4 ปีของเราเสียเลย และเป็นวิชาบังคับในสาขาการศึกษาปฐมวัย เลยได้พบทีมงานสถาบัน RLG ที่กำลังขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่ โดยเฉพาะได้มาทำคำอธิบายรายวิชาด้วยกัน

“การเปลี่ยนหลักสูตร 5 ปีมาเป็น 4 ปี ไม่ได้ราบรื่น มีคนคัดค้านไม่น้อย แต่ผมมองว่าจะเรียนกี่ปีไม่สำคัญ แต่สำคัญที่ระบบและกลไกในการพัฒนาคน ในการจัดการศึกษา  เมื่อเราเปลี่ยนหลักสูตร เราต้องเปลี่ยนระบบในการจัดการเรียนการสอน และต้องเอาความรู้ใหม่ๆ เข้ามา ที่สำคัญ เราควรมีทีมงานที่มีความรู้จริงเข้ามาช่วย ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) ที่จะร่วมมือกันพัฒนาอาจารย์ครุศาสตร์ในสาขาการศึกษาปฐมวัย “แต่เป้าหมายที่แท้จริงของผม คือการพัฒนาอาจารย์มหาวิทยาราชภัฏจะส่งผลไปยังนักศึกษาครู และนักศึกษาครูรวมทั้งอาจารย์ด้วยจะลงไปปฏิบัติที่โรงเรียนในท้องถิ่น ช่วยกันขยายการพัฒนาไปสู่ครูในโรงเรียน ก็จะเกิดผลกับเด็กได้อย่างทั่วถึง