096-356-9461 support@rlg-ef.com

ดร.จินตนา สุขสำราญ
มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

อาจารย์จินตนาไม่ได้สอนวิชาทักษะสมอง EF โดยตรง แต่นำความรู้ EF ไปบูรณาการในวิชาอื่นๆ “เมื่อก่อนสอนเรื่องอะไรก็ต้องพูดเรื่องพัฒนาการ พูดถึงเปียเจต์ด้วย  พอมีเรื่อง EF เข้ามาก็ทำให้คิดว่าจะจัดกระบวนการสอนอย่างไร จึงนำเรื่อง EF ไปบูรณาการกับรายวิชาต่างๆ เช่นวิชาการจัดประสบการณ์ โดยทำให้นักศึกษาตระหนักว่าEFสำคัญ แล้วสามารถนำความรู้ EFไปสู่การจัดประสบการณ์ให้กับเด็กในห้องเรียน

“เชื่อนะว่า EF สำคัญ เป็นพื้นฐานให้เด็กมีทักษะความสามารถในการควบคุมตนเองในหลายๆ ด้าน EF เป็นเครื่องมือที่จะใช้รับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลง เราจะต้องไม่ตกเทรนด์ นักศึกษาทุกคนจะต้องได้เรียนรู้แล้วเอาไปใช้ให้ทันการณ์

“สำหรับตัวเองการเรียนรู้เรื่อง EFทำให้ตระหนักในวิธีการสอนมากขึ้น ต้องทำการบ้านมากขึ้น มีการค้นคว้า หารูปแบบ หาวิธีสอนที่สอดคล้อง แล้วปรับการเรียนการสอน ไม่เอาเนื้อหาเป็นตัวตั้ง ใช้กระบวนการใช้กิจกรรมแล้ววิเคราะห์เชื่อมโยงไปสู่ทฤษฎี สู่เนื้อหา

“อย่างเช่นกิจกรรมหนึ่ง หลังจากนักศึกษาได้วิเคราะห์แล้ว ก็มาคิดกันว่าทำอย่างไรให้จำได้ง่าย จึงแต่งเป็นเพลง ประกอบด้วยการเคลื่อนไหวร่างกาย  เพลงที่แต่ง “ฉันนั้นเป็นคนไทย” คิดไว้แล้วต้องเป็นเพลงที่เด็กร้องได้ มีคำถามให้ต้องโต้ตอบกันในเพลง  แล้วนักศึกษาเอาไปสอนเด็ก จากนั้นให้ผู้ปกครองนำไปร้องเล่นโต้ตอบกับลูก แล้วส่งคลิปกลับมา พบว่าขณะที่เด็กทำงานกับผู้ปกครองหรือระบายสีไปด้วยกัน เด็กก็ฮัมเพลง แล้วถาม ผู้ปกครองก็ตอบ เป็นกิจกรรมที่พัฒนาทักษะ EF เช่น ความจำใช้งาน การยืดหยุ่นความคิด การกำกับตนเอง  ทำได้ตลอดเวลา รวมทั้งผู้ปกครองมีส่วนร่วม ทำให้ผู้ปกครองเห็นความสำคัญของ EF และตามมาด้วยการใช้วินัยเชิงบวกกับลูกที่จะสนับสนุนให้การพัฒนา EF แข็งแรงแน่นหนา สำหรับนักศึกษาก็ได้ประสบการณ์ ได้เห็นวิธีการ กระบวนการ การเชื่อมโยง EF แล้วเอาไปใช้กับเด็กๆ  

“ฝันมาตลอดว่าครูอนุบาลต้องเล่นดนตรีได้ แต่งเพลงได้  เพราะเชื่อว่าเพลงช่วยให้เด็กเรียนรู้อย่างสนุกสนานและจดจำได้”

การเปลี่ยนแปลง/ผลสัมฤทธิ์ หลังจากเรียนรู้ EF และนำความรู้ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน

เกิดการปรับกระบวนการเรียนการสอน  ให้นักศึกษาเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ไม่เอาเนื้อหาเป็นตัวตั้ง ใช้กระบวนการ กิจกรรมแล้ววิเคราะห์เชื่อมโยงไปสู่ทฤษฎี สู่เนื้อหา

เปลี่ยนตัวเอง  อาจารย์ตระหนักถึง EFของตนเอง แล้วปรับตัวยืดหยุ่นมากขึ้น  ให้อิสระนักศึกษามากขึ้น ให้โอกาสนักศึกษาได้ทำ ได้ออกแบบ ได้นำเสนอ ได้มีโอกาสทดลอง ลงปฏิบัติ   “การจัดการเรียนการสอนเรื่องนี้ได้ย้อนกลับมาที่ตัวเอง เพราะเราฝึกอะไรใคร เราก็ต้องมีทักษะความสามารถนั้นด้วย”

อาจารย์มีความกระตือรือร้นในการสอนมากขึ้น  ทำการบ้านมากขึ้น มีการค้นคว้า หารูปแบบ หาวิธีสอนที่สอดคล้อง แล้วปรับการเรียนการสอน 

นักศึกษามีโอกาสได้แสดงตัวตนมากขึ้น มีโอกาสได้เสนอความคิด ไอเดีย ออกแบบ นำเสนอในแบบที่ตัวเองต้องการ แก้ปัญหาเองมากขึ้น

นักศึกษาได้ประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมเรียนรู้ ได้เห็นวิธีการ กระบวนการ สามารถเชื่อมโยงกับองค์ความรู้ แล้วเอาไปใช้กับเด็กๆ ได้

เกิดการขยายความรู้ EF ไปสู่พ่อแม่ผู้ปกครอง  โดยให้ความรู้และให้พ่อแม่ผู้ปกครองทำกิจกรรมหรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ลูกทำ ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเห็นความสำคัญของ EF นำไปสู่การส่งเสริมพัฒนา EF ให้ลูก 

ฝากไว้ให้คิด

“ทักษะสมอง EF  เครื่องมือที่จะใช้รับมือกับโลกของการเปลี่ยนแปลง”

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ