096-356-9461 support@rlg-ef.com

ผศ.ณัฐิยาภรณ์ การะเกตุ
มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี

อาจารย์ณัฐิยาภรณ์เล่าว่าเมื่อเข้าร่วมอบรมและรู้ว่าจะต้องนำทักษะสมอง EF ไปสอน แรกๆ มีความกังวลว่าจะสอนอย่างไร จะเริ่มต้น จะมีวิธีการในการสอนอย่างไร “ช่วงที่มาร่วมทำหลักสูตรนั้นยากมาก คิดว่าจะสอนได้ไหม หลังจากอบรมจบก็เริ่มสอนทันที ซึ่งเร็วมาก ทำให้ต้องสอนไปเรียนรู้ไป แต่เมื่อสอนไปเรื่อยๆ ก็ผ่อนคลายมากขึ้น  

 นอกจากนี้ยังใช้ความรู้เรื่อง EF บูรณาการในการจัดการเรียนการสอนทุกรายวิชาที่สอน นำเรื่อง EF เข้าไปเป็นหลักการในวิชานั้นๆ  “สอนทักษะ EF 9 ด้าน ในทุกวิชาและเชื่อมโยงในทุกกิจกรรม เวลาเขียนแผนการสอนก็จะบอกด้วยว่าส่งเสริม EF ด้านใดบ้าง  ดังนั้น นักศึกษาจะสามารถวิเคราะห์ตัวเองได้ว่าที่ตัวเองผิดพลาดเพราะอะไร เช่น จดจ่อใส่ใจน้อยไป  ทุกวิชาจะใส่ความรู้ EF เข้าไป เหมือนให้อยู่ในสายเลือด ว่า EF สำคัญ  เวลาทำกิจกรรมก็จะบอกนักศึกษาเสมอว่ากิจกรรมนี้ทำให้เกิด EF ด้านใดบ้าง  และสอนนักศึกษาเสมอว่าต้องไปส่งเสริมพัฒนา EF ในเด็กเล็กที่จะไปสอน

“เชื่อว่า EF เป็นสิ่งที่ดี ถ้าเราขาดข้อใดข้อหนึ่ง ก็จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิต และเราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเราก่อน  พอเราเปลี่ยน ก็ส่งผลถึงตัวนักศึกษาไปด้วย

“ที่ผ่านมาเป็นคนยืดหยุ่นน้อย แต่เมื่อสอนวิชาสมอง ก็เริ่มปรับ เริ่มรับมุมมองของนักศึกษาได้ เชื่อมั่นในตัวนักศึกษาว่าทำได้  ให้อิสระแก่นักศึกษาในการนำเสนอความคิดไอเดีย  อาจารย์เพียงแค่บอกแนวทาง เมื่อนักศึกษานำเสนอก็บอกว่าที่เสนอมาไม่มีผิดไม่มีถูก ปรากฏว่านักศึกษาสามารถเชื่อมโยงความรู้ได้ ดึงตัวตนของตัวเองออกมาได้ ซึ่งทำให้เชื่อว่าความรู้ EF จะลงไปสู่เด็กปฐมวัยแน่นอน เช่นนักศึกษาปี 1 คนหนึ่ง เมื่อให้ออกแบบสื่อในวิชาการออกแบบกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กปฐมวัย เมื่อออกแบบ ทำอุปกรณ์เสร็จ  นักศึกษาก็นำไปให้น้องของตัวเองทดลองเล่น แล้วถ่ายภาพมาให้ดูเพื่อบอกว่าใช้ได้แน่นอน  ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าเด็กมีความเข้าใจ มุ่งมั่นที่จะทำให้ได้ผลสำเร็จ ใช้งานได้จริง  อีกตัวอย่าง ในรายวิชาผลิตสื่อ ได้ให้โจทย์นักศึกษาว่าให้ทำอาหาร เช่น โดนัท ผัก ผลไม้ จากกระดาษหนังสือพิมพ์ให้เหมือนจริง จากนั้นนำแสดงในการเปิดตลาดนัดปฐมวัย งานนี้นักศึกษาเป็นคนวางแผนจัดงาน เชิญผู้เปิดงาน เชิญสื่อ จัดแสดงผลงานพร้อมการอธิบายว่าผลงานแต่ละชุดนั้นทำให้เด็กได้ทักษะ EF ด้านใดบ้าง”

“ปัจจุบันสอนในรายวิชาสื่อและของเล่น นวัตกรรมทางการศึกษา ให้นักศึกษาปี 4 ทำงานเป็นกลุ่ม 9 กลุ่ม 9 นวัตกรรม แล้วมานำเสนอ โดยนักศึกษาได้ใช้ทักษะ EF ในการวางแผนการทำงาน การออกแบบสื่อ การออกแบบห้องเรียน และการสอนในสถานการณ์จำลอง นักศึกษาสามารถค้นคว้าข้อมูลได้มาก รูปแบบที่นำเสนอก็ทันสมัยมากขึ้น”  

 

“เราไม่ได้สอนแค่ตัววิชา แต่เราไปเปลี่ยนบุคลิกภาพ คุณลักษณะ คุณสมบัติของตัวเรา ของนักศึกษา ให้มันฝังอยู่ในตัวตน”

การเปลี่ยนแปลง/ผลสัมฤทธิ์ หลังจากเรียนรู้ EF และนำความรู้ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน

อาจารย์ผู้สอนมีทักษะสมอง EF มากขึ้น  “คอยทบทวนว่าตัวเองขาด EF ด้านใดไปบ้าง แล้วเติมเต็มด้านนั้นเพื่อให้มีทักษะสมอง EF ทั้ง 9 ด้าน”

ให้อิสระทางความคิดและการทำงานกับนักศึกษามากขึ้น จากการมีความยืดหยุ่นมากขึ้น “ที่ผ่านมาเป็นคนยืดหยุ่นน้อย เมื่อสอนวิชาสมองก็เริ่มปรับตัว เริ่มเปิดรับความคิดมุมมองของนักศึกษา เชื่อมั่นในความสามารถของนักศึกษามากขึ้น  

ส่งเสริมให้นักศึกษามีทักษะ EF  โดย “อาจารย์เปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน และคอยย้ำทวนนักศึกษาอยู่ตลอดเวลาว่า EF ด้านใดหายไป  อาจารย์ไม่ได้สอนแค่ตัววิชา แต่ไปเปลี่ยนบุคลิกภาพ คุณลักษณะ คุณสมบัติของนักศึกษาด้วย”

นักศึกษาตระหนัก เรียนรู้เข้าใจเรื่องทักษะสมอง EF  “เวลาที่นักศึกษาทำอะไรผิดพลาด จะบอกว่าหนูขาดทักษะ EF ข้อนี้ๆ ไป หนูจะปรับปรุงตัว จะทำให้ได้ แสดงว่าสิ่งที่อาจารย์สอน นักศึกษาได้ตระหนัก ได้เรียนรู้”  

นักศึกษานำความรู้ EF ไปใช้ ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ  โดยนักศึกษาได้ใช้ทักษะ EF ในการวางแผนการทำงาน การออกแบบสื่อ การออกแบบห้องเรียน และการสอนในสถานการณ์จำลอง ทำให้ค้นคว้าข้อมูลได้มาก การออกแบบมีคุณภาพมากขึ้น  

ฝากไว้ให้คิด

“เชื่อว่า EF เป็นสิ่งที่ดี ถ้าเราขาด EF ด้านใดด้านหนึ่งก็จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิต และเชื่อว่า “EF  สร้างอนาคตชาติ” ภูมิใจที่มีโอกาสได้สอนรายวิชานี้และรายวิชาอื่นๆ ที่นำความรู้ EF ไปบูรณาการ”

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ