096-356-9461 support@rlg-ef.com

ผศ.ดร.คนึง สายแก้ว
ข้าราชการบำนาญมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์

แม้ว่าปัจจุบันอาจารย์คนึงเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน EF ร่วมกับคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ อาจารย์เล่าความเป็นมาของการเข้ามาสู่วงการ EF แล้วออกไม่ได้ว่า “ตอนยังเป็นอาจารย์มีโอกาสได้เข้ารับการอบรมเรื่อง EF รุ่นที่หนึ่ง อบรมแล้วเกิดความเข้าใจและมีความรู้สึกว่า เด็กรอไม่ได้ เพราะพัฒนาการของเด็กเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ถ้าเด็กไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม ก็จะพลาดโอกาสในการพัฒนาไป จึงมาปรึกษากับกลุ่มอาจารย์ของคณะครุศาสตร์ด้วยกัน โดยเฉพาะคณาจารย์สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย โดยมีเอกสารที่ได้รับมาจากการอบรมเป็นเสมือนคัมภีร์ นำมาถ่ายเอกสารแจกจ่ายกัน ช่วยกันตีความ ทำความเข้าใจเรื่อง EF และดูว่าอาจารย์ท่านใดถนัดตรงไหน สนใจประเด็นใด แล้วคิดจัดการอบรมครู โดยที่ไม่มีงบประมาณ แต่ไม่อาจนิ่งเฉยได้ อย่างไรก็ต้องเผยแพร่องค์ความรู้นี้สู่ครู หาทางจัดการอบรมครูที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย ทั้งสังกัดอปท. และสพฐ. รวมทั้งออกไปทำงานกับท้องถิ่นกับชุมชน พัฒนาเด็ก ให้ความรู้แก่พ่อแม่ผู้ปกครองด้วย”

“ต้องขอบคุณสถาบันRLGเป็นอย่างยิ่งที่ได้จุดประกายเรื่องทักษะสมอง EF นำองค์ความรู้เรื่อง EF เข้ามาสู่มหาวิทยาลัยราชภัฏได้ถูกที่ถูกทาง ถูกเวลา และถูกโอกาส”

EF เข้ามาสู่มหาวิทยาลัยราชภัฏอย่างถูกที่ ถูกเวลา ถูกโอกาส

“ถูกที่” อย่างไร

อาจารย์คนึงอธิบายว่า บทบาทของมหาวิทยาลัยราชภัฏนอกจากมีภารกิจหลักคือสร้าง พัฒนานักศึกษาครูแล้ว ยังมีบทบาทในการพัฒนาชุมชน สังคมด้วย ซึ่งเมื่อความรู้ EF เข้ามาสู่มหาวิทยาลัยราชภัฏ อาจารย์ นักศึกษาได้เรียนรู้แล้ว ก็ยังสามารถขยายความรู้ไปสู่สังคมวงกว้างได้   

“มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น  บทบาทหลักของมหาวิทยาลัยคือทำการผลิตครูที่สอนระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา รวมทั้งกลุ่มวิชาชีพครู เราผลิตครูปฐมวัยที่จะไปทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ทักษะสมอง EF ซึ่งเป็นความรู้ที่สำคัญของการพัฒนาเด็ก และนำองค์ความรู้นี้ไปใช้ทั้งพัฒนาตัวเองและพัฒนาเด็กและ เราได้เห็นว่านักศึกษาที่ผ่านกระบวนการสอนเรื่องทักษะสมอง EF จะเปลี่ยนแนวคิด เปลี่ยนแนวปฏิบัติ เป็นวัยรุ่นที่รู้จักยับยั้งตัวเอง

บทบาทที่สองของมหาวิทยาลัยราชภัฏคือการทำวิจัย ขณะนี้มีอาจารย์ที่ทำวิจัยเกี่ยวกับ EF มากขึ้น รวมไปถึงเริ่มมีการทำวิจัยเรื่อง EF ในนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก นี่ก็เป็นการขยายองค์ความรู้ EF และการนำ EF ไปสู่การปฏิบัติมากขึ้นอีกทางหนึ่ง

บทบาทที่สำคัญอีกประการ คือการบริการวิชาการให้กับชุมชนและท้องถิ่น ซึ่งอาจารย์ของเราและมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศได้ทำการบริการวิชาการให้กับท้องถิ่นที่ดูแลเด็กปฐมวัยที่สังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทำให้มีการนำความรู้ EF เข้าไปพัฒนาเด็กปฐมวัยในท้องถิ่น

“อีกบทบาทหนึ่งเป็นบทบาทในการพัฒนาท้องถิ่น อันเป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ที่พระราชทานโครงการศาสตร์พระราชา เพื่อให้มหาวิทยาลัยราชภัฏมีบทบาทในการพัฒนาท้องถิ่น  ในส่วนนี้สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัยได้ทำยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาครูให้มีความรู้เรื่องเด็กปฐมวัย ทำเป็นโครงการพัฒนาครู พัฒนาเด็ก เชื่อมโยงไปถึงการพัฒนาผู้ปกครอง แล้วทำ MOU กับหน่วยงานต่างๆ เช่นมูลนิธิเด็กน้อยพัฒนา ซึ่งหลังจากที่ตัวเองเกษียณราชการ ก็ได้ไปเป็นผู้เชี่ยวชาญให้กับมูลนิธินี้ เราได้ทำงานประสานกันในเรื่องการพัฒนาท้องถิ่น มีการประสานกับท้องถิ่นจังหวัด และวางแผนกันว่าในอนาคตแต่ละอำเภอของจังหวัดสุรินทร์จะมีศูนย์ต้นแบบของการจัดการศึกษาปฐมวัย เพื่อที่จะขยายแนวคิดและองค์ความรู้ในการพัฒนาเด็ก เพื่อให้เด็กทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทยจะต้องได้รับการพัฒนาอย่างทั่วถึง

“เมื่อวานเรามีการอบรมครูเรื่อง บทบาทผู้ปกครองในช่วงสถานการณ์โควิด บทบาทผู้ปกครองในการพัฒนาเด็กปฐมวัยในด้านพัฒนาการ Self และทักษะสมอง EF เพื่อให้ครูถ่ายทอดต่อไปยังพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยมีอาจารย์ธิดา พิทักษ์สินสุข และอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอีกหลายๆ คนมาช่วยกัน”

นับว่าสถาบัน RLG ได้นำ EFเข้ามาถูกที่ เข้ามาได้อย่างสอดคล้องเหมาะเจาะกับทุกบทบาทของมหาวิทยาลัยราชภัฏ เป็นการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ คือพัฒนาอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏที่ทำหน้าที่ผลิตครู  กระจายความรู้ EF ไปสู่การพัฒนานักศึกษาครู ไปสู่การพัฒนาครูและโรงเรียนรวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองในชุมชน และปลายน้ำคือเด็กในท้องถิ่นได้รับการพัฒนาอย่างทั่วถึง 

“ถูกเวลา” อย่างไร

อาจารย์คนึงเล่าว่าความรู้ EF เข้ามาสู่มหาวิทยาลัยราชภัฏในช่วงที่มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศกำลังปรับเปลี่ยนหลักสูตร  “หลังจากที่อบรม EF แล้วได้ถ่ายทอดสู่น้องๆ ในมหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆ เราก็คิดกันว่าทำอย่างไร EF จะเข้าไปสู่การเรียนการสอน  เราทำได้เพียงบูรณาการความรู้ EF ในวิชาต่างๆ แต่ทำอย่างไรความรู้เรื่อง EF จึงจะได้เป็นหลักสูตร

“ก่อนหน้านั้นได้พูดคุยปรึกษากับ ดร.ธีราพร กุลนานันท์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ กันนิดหน่อยว่าจะทำอย่างไร พอดีกับทางสถาบันRLGได้เชิญเข้าประชุม และคุณสุภาวดีเกริ่นว่าน่าจะเอาเรื่อง EF เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏ มันช่างถูกที่ถูกเวลา จึงเกิดความคิดและได้คุยกับดร.ธีราพรว่าจะต้องมีรายวิชาสมองกับการเรียนรู้ในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย แล้วให้ทีมงาน RLG เข้าไปเสนอในที่ประชุมสภาคณบดีครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ”

“ต้องบอกว่าด้วยความสามารถของทีมงานRLG ที่ประชุมขานรับ นี่คือจุดเริ่มต้น และมีดร.ธีราพร เป็นแรงผลักดันให้เกิดกระบวนการพัฒนาหลักสูตร พอเกิดการพัฒนาหลักสูตร ทางสถาบันRLGก็หางบประมาณ  ตัวเองของบเพื่อพัฒนาอาจารย์ราชภัฏ ได้รับการสนับสนุนมา 200,000 บาท ซึ่งทำทั่วประเทศไม่ไหวก็ทำแค่อีสานก่อน”

“ในการจัดอบรมการพัฒนาหลักสูตร ก็คุยกันว่าให้ใช้วิธีบูรณาการในรายวิชาต่างๆ ก่อน ประจวบเหมาะมีการนำเรื่องทักษะสมอง EF เข้าไปในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย แล้วทางสถาบันRLGยังมองว่าสายวิชาชีพครูทั้งหมดก็ควรจะได้มีหลักสูตรที่สอดคล้องกับ EF จึงทำให้ครูในสาขาอื่นเริ่มเข้าใจว่าเรื่อง EF ไม่ใช่เฉพาะการศึกษาปฐมวัยเท่านั้นที่ต้องรู้ เพราะทักษะสมอง EF ยังพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ในรอยเชื่อมต่อประถม- มัธยม และพัฒนาอย่างมากอีกครั้งในช่วงมัธยม  เพราะฉะนั้น ทักษะสมอง EF จึงเป็นเรื่องสำคัญที่อาจารย์ทุกคนที่สอนในสายครุศาสตร์ต้องรับรู้เรียนรู้และนำไปสู่กระบวนการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ เป็นแบบแผน  แล้วในเวลาต่อมาสถาบันRLGก็ได้มีการอบรมเรื่องทักษะสมอง EFให้อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ”

“ต้องขอบคุณสถาบันRLGที่ช่วยปูทางในการพัฒนาคนทั่วประเทศ ให้ความรู้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง เพื่อให้มีการกระจายการพัฒนาไปยังพื้นที่ต่างๆ  รวมทั้งทำให้การทำงานในท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏง่ายขึ้น เพราะทุกคนพูดภาษาเดียวกัน”

“ถูกโอกาส” อย่างไร

สถานการณ์ในศตวรรตที่ 21 การเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกและเทคโนโลยีต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้วิถีชีวิตคนไทยเปลี่ยนไปมาก “ เด็กไทยเรามีปัญหามาก เรามีเด็กติดยาเสพติดที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ เด็กเดินยาอายุน้อยๆ ก็มี ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ มูลนิธิเด็กน้อยพัฒนากับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ได้ทำ MOU ทำงานร่วมกัน เราทำแบบสอบถาม google form ไปยังครูศพด. สำรวจปัญหาของเด็ก พบว่าเด็กมีปัญหาพัฒนาการล่าช้า มีปัญหาด้านภาษา พ่อแม่ไม่สามารถจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการให้ลูกได้ เด็กมีปัญหาติดเกมติดจอมาก ทางอาจารย์ราชภัฏและมูลนิธิเด็กน้อยพัฒนาก็ร่วมมือกันจัดกิจกรรมที่พ่อแม่จะได้ใกล้ชิดลูก ใส่ใจลูกมากขึ้น โดยนำนิทาน ของเล่นที่นักศึกษาทำไปไว้ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก แล้วให้ผู้ปกครองมายืมหนังสือนิทาน ของเล่นไปเล่นกับลูกที่บ้าน แต่พอนานเข้าของเหล่านั้นก็ชำรุดเสียหาย ดังนั้นจึงจัดอบรมครูเพื่อให้ความรู้ EF และบทบาทพ่อแม่ในการพัฒนาลูก ถ่ายทอดไปสู่พ่อแม่ผู้ปกครอง ให้ผู้ปกครองได้นำความรู้ไปพัฒนาลูกหลาน  ประธานมูลนิธิฯให้งบประมาณมา ร่วมกับอปท.คัดเลือกครูที่เราเตรียมการให้เป็นศูนย์ต้นแบบของแต่ละอำเภอ เข้ามาอบรม 200 กว่าคน ร่วมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ รวมทั้งได้หนังสือ คู่มือ EF จากสถาบันRLG  แจกให้ครูทุกศูนย์ต้นแบบเอาไปศึกษาเพิ่มเติม

“เป็นความโชคดีที่ตอนนั้นเราได้รู้จัก EF  และเป็นความโชคดีที่สถานการณ์นี้ทำให้เรามองเห็นว่าองค์ความรู้ EF การส่งเสริมพัฒนาการและ self เป็นเรื่องสำคัญ เพราะในช่วงนี้พ่อแม่ก็ self เสีย ลูกก็ self เสีย แถมคนรอบข้างก็เสียไปหมด ทำให้เกิดปัญหาในเด็กมากขึ้น การเลี้ยงดูผิดแนวไป  ด้วยเหตุนี้จึงพูดว่า EF มาถูกโอกาส

“เราในฐานะนักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนาเด็กอย่างถูกแบบแผน ทำอย่างไรครูทุกคนในแผ่นดินนี้ได้รู้จักทักษะสมอง EF รู้เรื่อง Self  เพราะเรื่องพัฒนาการอย่างเดียวยังไม่พอ  ทักษะสมอง EF ถือเป็นชุดของพฤติกรรมเพื่อพัฒนาเด็กในอนาคต  อยากให้ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ไม่เฉพาะการศึกษาปฐมวัย การศึกษาทั้งประเทศ ตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับผู้ที่วางแผน ระดับปฏิบัติ เห็นความสำคัญของทักษะสมอง EF เข้าใจเรื่อง EF โดยเฉพาะ 4 กระทรวงหลักที่ดูแลนโยบายการพัฒนาเด็กโดยเฉพาะเด็กปฐมวัย ซึ่งการทำงานยังไม่เป็นเอกภาพนัก  แต่รู้สึกดีใจ ประทับใจ ที่ได้รับเสียงสะท้อนจากชุมชนและท้องถิ่นว่ารู้จัก EF  ไปรพสต. ไปพมจ. ไปท้องถิ่นจังหวัดสพฐ. ล้วนรู้จัก EF  ขอบคุณสถาบันRLGที่นำเรื่อง EF เข้ามาสู่วงการศึกษาไทย

“ดังนั้นถ้าทุกๆ จังหวัด ได้ขับเคลื่อนเรื่อง EF ก็จะดี แต่จะเหมือนสุรินทร์ไหม คงจะยากนิดนึง เพราะต้องมีผู้ที่เข้าใจเรื่อง EF เข้าไปทำงานในระดับนโยบายด้วย ที่สุรินทร์อาจารย์คนึงเข้าไปเป็นอนุกรรมการการศึกษาปฐมวัยจังหวัด และในนามอธิการก็ส่งอาจารย์รองเข้าไป ผู้บริหารในกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นระดับนโยบายก็เคยมาที่สุรินทร์ เราวางแผนกันว่าในอนาคตจะทำ MOU ร่วมกัน  อยากให้ทุกจังหวัดขับเคลื่อนเรื่อง EF อย่างจริงจัง”

“เรื่องการพัฒนาเด็กเรารอไม่ได้  การสร้างเด็กในอนาคต เราต้องปูพื้นฐานตั้งแต่ปฐมวัยให้ต่อเนื่องไป โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะสมอง EF ในช่วง 3-6 ปี และต่อเนื่องไปสู่วัยอื่น ซึ่งเรายังทำไม่ค่อยได้

 

การเปลี่ยนแปลง/ผลสัมฤทธิ์ หลังจากเรียนรู้ EF และนำความรู้ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน 

“เมื่อก่อนอาจารย์สอนตามตำรา สอนตามเอกสาร ตามหลักสูตร เนื้อหา แล้วปฏิบัติตาม content แต่พอรู้จัก EF อาจารย์สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัยในมหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆ มีความตื่นตัวกันมาก ผิดกับตอนไปอบรมรุ่นแรก พูดไปก็ไม่มีใครฟัง  แต่พอมีการอบรมรุ่นที่สองในภาคอีสาน เราพูดเรื่อง EF กันมากขึ้น มีอาจารย์นำ EF ไปใช้ในการเรียนการสอนมากขึ้น และเมื่อเอา EF มาเป็นหลักสูตรแล้วอบรมทั่วประเทศ โลกเปลี่ยน เด็กเปลี่ยน  น้องๆ อาจารย์ก็เปลี่ยนตัวเอง ฟัง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติ ทำกิจกรรมต่างๆ กันมากขึ้น ทีนี้ก็จะถามกันว่าพี่สอนอะไร และมีกิจกรรมอะไรบ้าง แล้วก็แลกเปลี่ยนกัน ถามกันว่าไปอบรมมาได้อะไร หรือเมื่อน้องๆ ไปเป็นทีมวิทยากรกระบวนการให้กับอาจารย์ เราก็จะกลับมาแลกเปลี่ยนกัน  

“สิ่งที่เห็นแน่ๆ เลยคือ อาจารย์เปลี่ยน นักศึกษาเปลี่ยน ภาพลักษณ์นักศึกษาเปลี่ยนไป นักศึกษาเริ่มมีน้ำใจมากขึ้น เริ่มเห็นอกเห็นใจคนอื่น เริ่มช่วยเหลือกัน เรียนรู้แบบทีมมากขึ้น

“เวลาทำงานลงพื้นที่ร่วมกับน้องๆ สาขาการศึกษาปฐมวัย เราจะนำนักศึกษาไปทำงานกับเด็กกับผู้ปกครองในชุมชนด้วย นักศึกษามีภาวะผู้นำมากขึ้น มีความเห็นอกเห็นใจพ่อแม่ เข้าใจเด็ก เข้าใจพัฒนาการเด็ก เข้าใจเรื่องทักษะสมอง เข้าใจว่าเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน  เพราะฉะนั้นการ treat เด็กแต่ละคนจะต่างกันออกไป เวลาที่อาจารย์ปิยนันท์ไปทำโครงการศาสตร์พระราชา เราก็เอาสื่อ เอากิจกรรม เอานักศึกษาลงไปฝึกปฏิบัติกับเด็กๆ ไปฝึกพัฒนาการ ฝึกทักษะ EF ให้กับเด็ก เราได้เห็นความกระตือรือร้นของนักศึกษา ไม่ต้องบอก ทุกคนรู้หน้าที่ และที่สำคัญคือ แก้ปัญหาเป็น  รู้จักวางแผน และสามารถเสนอแผนกับเราได้ จึงรู้สึกว่าเป็นผู้นำมากขึ้น รู้จักการวางแผนมากขึ้น คงเป็นผลพวงจากการซึมซับทักษะ EF ที่อาจารย์ได้พยายามสอดแทรก บูรณาการในรายวิชาต่างๆ รวมทั้งในรายวิชาเอกที่จัดขึ้น แล้วลงสู่การปฏิบัติ

“ตอนนี้นักศึกษาที่ได้เรียนเรื่อง EF อยู่ปีสองปีสาม ยังไม่ได้ไปเป็นครูที่สมบูรณ์ เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของเขา และเราเชื่อว่าเขาต้องพัฒนาไปเป็นครูที่ดีได้ และเมื่อไปเป็นครูก็สามารถนำเอาทักษะสมอง EF ไปใช้ในการสอนและชีวิตประจำวันได้

“มีความรู้สึกว่า ถ้าครูเปลี่ยน เด็กเปลี่ยน โลกเปลี่ยนแน่ และเป็นการเปลี่ยนที่สอดคล้องกับยุคสมัยของเขาในศตวรรตที่ 21 และในสถานการณ์ใหม่ๆ ที่เราไม่รู้ว่าจะเผชิญกับอะไร ยกตัวอย่างสถานการณ์โควิด ถ้าเราวางแผนไม่เป็น เราปรับตัวไม่ได้ เรายืดหยุ่นไม่ได้ ลำบากแน่ เราไม่รู้ว่าโลกภายหน้าจะเกิดอะไรขึ้น จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรอีก เราต้องเตรียมคน และทักษะ EF เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งจำเป็น เป็นเหมือนชุดพฤติกรรมของคน เป็นการพัฒนาคนเพื่ออนาคต”

การขับเคลื่อน EF ของมหาวิทยาลัยราชภัฏในอนาคต

“สภาพัฒน์ได้เขียนข้อเสนอเชิงนโยบายของมหาวิทยาลัยราชภัฏไว้ว่า ในอนาคตอยากให้มหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งสามารถอบรมพัฒนาครูปฐมวัยในลักษณะ intensive เพราะครูเรียนจบไปแล้วน้อยนักที่ได้รับการพัฒนา บางคนบอกว่าเป็นครูมา 15 ปียังไม่เคยรับการอบรมเลย เรื่องการอบรม intensive นี้

“ตัวเองได้ทำ road map การพัฒนาของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เอาไปเสนอท่านอธิการบดี และได้นำแนวคิดเรื่องการอบรมพัฒนาครูนี้ไปเล่าที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี อธิการบดีจินตนาขานรับ อธิการบดีของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ก็บอกว่าแล้วแต่ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี

“จะวางแผนให้อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศมาคุยกันเรื่องการขับเคลื่อนบทบาทของมหาวิทยาลัยราชภัฏในอนาคต อาจารย์สาขาการศึกษาปฐมวัยจะต้องเอาศาสตร์ องค์ความรู้ใหม่ๆ มาใช้โดยเฉพาะที่เสนอไปคือทักษะสมอง EF กับเรื่องสมรรถนะ เพราะสุดท้ายไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการ Self EF ที่เราต้องการคือสมรรถนะของเด็ก สมรรถนะของครู ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่กระทรวงฯ กำลังขับเคลื่อนอยู่ นี่เป็นการขับเคลื่อนในระดับนโยบายที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกับองค์ความรู้ EF”  

ขยายความรู้ EF ในทุกช่วงวัย ไม่ใช่เฉพาะปฐมวัย

“การขับเคลื่อนตอนนี้เราเน้นกันในระดับปฐมวัย แต่การพัฒนาทักษะ EF ไม่ได้จบอยู่ที่ปฐมวัย ยังเชื่อมต่อไปที่ประถม แล้วไปพัฒนามากอีกทีที่มัธยม  แต่กระบวนการการพัฒนาเด็กเรายังไม่ได้เชื่อมต่อ ในการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยราชภัฏ มีหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย หลักสูตรประถมศึกษา ส่วนมัธยมเป็นการเรียนวิชาเอกต่างๆ ก็อยากให้อาจารย์ที่สอนในรายวิชาประถมศึกษาและเอกต่างๆ ได้รู้จักได้เรียนรู้เรื่อง EF ด้วย โดยเฉพาะมัธยมซึ่งเป็นช่วงรอยต่อที่สำคัญ ช่วงมัธยมหรือม.2-ม.3 เด็กมีความเสี่ยงที่จะมีพฤติกรรมเบี่ยงเบน เกเร ติดยา ถ้าเรายังสอนเน้นแต่เนื้อหา ไม่เข้าใจเรื่องเทคนิค กระบวนการทำงานของทักษะ EF ที่บอกว่าเป็นชุดพฤติกรรมของเด็ก คือสร้างพฤติกรรมที่เด็กมีทักษะ EF ซึ่งทำให้เด็กมีทักษะพื้นฐาน ทักษะกำกับตนเอง ทักษะปฏิบัติ ก็ยากที่จะนำไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาเด็กให้เป็นคนดีของสังคมในอนาคตได้

“อยากให้สถาบันRLGช่วยขยายความรู้ EFในช่วยรอยเชื่อมต่อดังกล่าว ที่เห็นมีอยู่เป็นรอยเชื่อมต่อประถม และอาจารย์วิเชียร ไชยบัง ทำเรื่องมัธยม แต่ทำได้ในจำนวนไม่มาก  ถ้าเรามองภาพรวมทั้งประเทศ การพัฒนา EF ควรเป็นนโยบาย โดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายหรือกระทรวงศึกษาธิการควรมองว่า EF เป็นทักษะสำคัญของเด็กในอนาคต ของคนในอนาคตที่เราจะต้องพัฒนา และมองภาพการพัฒนาคนให้เชื่อมต่อกันตั้งแต่เกิดจนถึงวัยทำงานประกอบอาชีพ  

“การศึกษาบ้านเราเป็นแบบเฉพาะส่วนหรือแยกส่วน ถ้าผู้บริหารที่ดูแลนโยบายทางการศึกษาได้มองเห็นภาพการพัฒนาเด็กแบบองค์รวมตามช่วงอายุโดยไม่มีรอยต่อ แล้วดึงทีมผู้รู้จากสถาบันRLGเข้ามาเสริมเติมความรู้ แล้วบูรณาการเข้าไปในหลักสูตร การจัดการศึกษา ไม่ใช่เฉพาะวิชาชีพครูอย่างเดียว แต่ลงไปในสาขาวิชาเอกด้วย ซึ่งสาขาวิชาเอกอาจารย์จะใกล้ชิดกับนักศึกษาค่อนข้างมาก

“ถ้าอาจารย์ในวิชาเอกสาขาต่างๆ เข้าใจเรื่องทักษะสมอง EF  แล้วถ่ายทอดทักษะสมอง EF ไปยังผู้เรียนซึ่งจะเป็นครูในอนาคต  ครูวิชาเอกต่างๆ ก็จะเป็นครูที่เข้าใจเด็ก เข้าใจพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัย เข้าใจความสามารถของเด็กว่าเด็กแต่ละช่วงวัยมีความสามารถต่างกัน และมีความเข้าใจ Self ของเด็กแต่ละคน เท่ากับเราสอนวิชาความเป็นครูให้ครูวิชาเอกต่างๆ ผ่านเรื่องทักษะสมอง EF ทำให้ครูมัธยมเข้าใจเด็กหรือผู้เรียนมากขึ้น เปลี่ยนบทบาทเป็นครูที่ดีขึ้น เป็นครูที่มีความเมตตา มีสัมพันธภาพที่ดีกับเด็ก ซึ่งจะทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างมีความสุข เด็กอยากมาเรียนมากขึ้น ครูเองก็มีความสุขในการสอน ซึ่งครูต้องมีความสุขก่อนเด็กถึงจะมีความสุข  เรื่องของทักษะสมอง EF เป็นพลังที่ทำให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน ต่างเกิดความรู้สึกที่ดีต่อตัวเอง และถ่ายทอดพลังให้กัน”

ความต่อเนื่องยั่งยืนขององค์ความรู้ EF และการพัฒนาทักษะสมอง EF

“อยากให้เรื่องทักษะสมอง EF ยั่งยืน มองว่าควรมีแหล่งเรียนรู้ แหล่งวิชาการที่ทุกคนเข้าถึงได้ ซึ่งสถาบันRLGมีองค์ความรู้ มีนักวิชาการ เป็นแหล่งข้อมูล มีการผลิตสื่อความรู้เรื่องEF อยู่มาก รวมทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏในท้องถิ่นต่างๆ ควรเป็นแหล่งความรู้ EF ให้ครูในท้องถิ่นเข้ามาสืบค้นข้อมูลได้ ซึ่งสถาบันRLG ก็ได้เปิดช่องตรงนี้

“ทำอย่างไรมหาวิทยาลัยราชภัฏจะขานรับ ขยายต่อองค์ความรู้ EF และทำต่อเนื่องให้เกิดความยั่งยืน  ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ได้ทำเป็นศูนย์เรียนรู้ EF เป็นแบบอย่างให้ที่อื่นๆ ได้ทำบ้าง  ถ้ามีศูนย์เรียนรู้ EFในมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่ง ก็จะทำให้อาจารย์และนักศึกษาสาขาต่างๆ ไม่เฉพาะสาขาการศึกษาปฐมวัยได้เรียนรู้เรื่อง EF ด้วย 

“ตอนนี้ต้องบอกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศเริ่มซึมซับและนำไปปฏิบัติ ปีหน้าเราจะมีครูรุ่นใหม่ที่มีความรู้ EF และมีทักษะสมอง EF ก็หวังว่าครูรุ่นใหม่จะเหมาะกับการพัฒนาเด็กรุ่นใหม่ในศตวรรษที่ 21

“เพราะฉะนั้นถ้าเรามีศูนย์เรียนรู้ EF และมีคณาจารย์ที่ได้รับการอบรม EF เชื่อว่าในอนาคตมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศจะเป็นหมุดหมายที่จะขยายองค์ความรู้ EF สู่ชุมชนสู่ท้องถิ่น สู่ครู ผู้ปกครอง แล้วเราจะพัฒนาเด็กไทยให้มีทักษะสมอง EF และจะลดปัญหาต่างๆ ที่จะมีในอนาคตได้”

ฝากไว้ให้คิด

“ถ้าครูเปลี่ยน เด็กเปลี่ยน โลกเปลี่ยนแน่ และเป็นการเปลี่ยนที่สอดคล้องกับยุคสมัยของเขาในศตวรรตที่ 21 และในสถานการณ์ใหม่ๆ ถ้าเราวางแผนไม่เป็น เราปรับตัวไม่ได้ เรายืดหยุ่นไม่ได้ ลำบากแน่ เราไม่รู้ว่าโลกภายหน้าจะเกิดอะไรขึ้น จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรอีก เราต้องเตรียมคน และทักษะ EF เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งจำเป็น เป็นเหมือนชุดพฤติกรรมของคน เป็นการพัฒนาคนเพื่ออนาคต”

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ