096-356-9461 support@rlg-ef.com

ผศ.ดร.ชไมมน ศรีสุรักษ์
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ผศ.ดร.ชไมมนบอกความรู้สึกเมื่อได้รับการอบรมความรู้เรื่อง EF “มีความรู้สึกว่า ว้าว… มันสร้างความฮือฮาในหัวใจ ได้เทคนิคการจัดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย ได้รู้ว่า การเล่นคือการเรียนรู้ ในการบริหารสมองนั้นคือการเรียนรู้ และมีเทคนิคอีกหลายๆ อย่าง  ได้รู้ว่าการเรียนรู้เกิดจากกระบวนการทำงานของทักษะสมองส่วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นความจำเพื่อใช้งาน การยั้งคิดไตร่ตรอง การควบคุมอารมณ์ จนไปถึงวางแผน จัดระบบ ดำเนินการ”

หลังจากได้รับการอบรมเรื่อง EF แล้วผศ.ดร.ชไมมน ได้นำความรู้เรื่อง EF ไปสอนนักศึกษา โดย “วิชาที่สอนโดยตรงที่สุดคือวิชาสมองและทักษะการคิดสำหรับเด็กปฐมวัย และมีการบูรณาการความรู้ EF ในรายวิชาอื่นๆ ด้วย เช่นวิชาการจัดสภาพแวดล้อม ซึ่งอาจารย์อีกท่านหนึ่งได้เห็นผลการทำงานของนักศึกษาในวิชาที่สอน ก็ได้ให้นักศึกษานำไอเดียนั้นมาออกแบบวิชาการจัดสภาพแวดล้อมโดยใช้ EF เป็นฐาน

“เดิมก็เชื่อเรื่องการเรียนรู้แบบ Active Learning แต่ไม่ได้เกิดความศรัทธา เมื่อได้เรียนรู้เรื่อง EFมันอธิบายได้ว่ากระบวนการต่างๆ กิจกรรมต่างๆ ที่นำมาใช้นั้น ไม่ใช่แค่เรื่องเล่นๆ มันทำให้สมองเกิดการทำงาน เกิดการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง  แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวนักศึกษา อันดับแรก นักศึกษามีความสุขกับการเรียนรู้ เกิดความมั่นใจในตัวเอง รู้สึกดีกับตัวเอง มี self-esteem  พูดได้ว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นอย่างมีความสุขและมีความหมายต่อชีวิตนักศึกษา

“ทำให้รู้สึกว่าเราสอนดีขึ้น สอนอย่างมีความหมายมากขึ้น และเราให้รายละเอียดในสิ่งที่ไม่เคยให้มาก่อน ทั้งในเรื่องวิธีคิด การมองนักศึกษาอย่างมองเห็นความแตกต่างระหว่างบุคคล เห็นทุกคนมีคุณค่า และทุกความคิดมีความสำคัญ

“บรรยากาศในห้องเรียนมีชีวิตชีวา Lively สนุกกับการเรียนรู้ ทุกคนมีคุณค่า ทุกคนยอมรับซึ่งกันและกัน ทุกคนสามารถทจะเรียนรู้ในรูปแบบที่ตัวเองถนัดได้

 “นักศึกษาบอกว่าตั้งตารอเมื่อไรจะเจอชั่วโมงนี้อีก เมื่อไรจะได้ทำกิจกรรม บอกว่าที่ชอบเพราะอาจารย์สอนสนุกมาก มีความรัก มีการมองเห็นทุกคน มีกิจกรรมหลากหลายซึ่งได้นำมาจากการอบรมที่ต่อเนื่อง ซึ่งดีมาก เช่นกิจกรรมบริหารสมอง วอร์มร่างกายและจิตใจก่อนที่จะมีการเรียนรู้ กิจกรรมโยคะ ผ่อนพักตระหนักรู้ บางกิจกรรมนักศึกษาได้แลกเปลี่ยนกัน ได้เต้นกับเพื่อน ได้ทำงานกลุ่ม  นักศึกษารู้สึกว่าตัวเองกล้าคิด กล้าพูด กล้าทำทุกสิ่งอย่างในชั่วโมงนี้ เพราะอาจารย์สอนให้ยืดหยุ่น ให้เห็นว่าทุกสิ่งอย่างไม่ใช่จะแก้ไขไม่ได้  และผลการเรียนยังไม่สำคัญเท่ากระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น คือนักศึกษาได้รู้ว่าได้เรียนรู้อะไรจากกิจกรรมที่ทำ

แม้ไม่ได้คาดหวังผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แต่ปรากกฏว่าเมื่ออาจารย์ชไมมนนำ EF มาใช้ในห้องเรียน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาดีขึ้น “เนื่องมาจากนักศึกษามีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธ์  สิ่งที่ EF สร้างให้เกิดขึ้นคือนิสัยใฝ่เรียนใฝ่รู้ พอมีความสุขในการเรียนรู้ก็อยากจะเรียนรู้  และสิ่งที่ได้มากกว่านั้นอย่างเกินความคาดหมายคือนักศึกษาสามารถนำความรู้ที่มีมาต่อยอดกับประสบการณ์ คิดสร้างสรรค์ เช่นแต่ละคนมาจากพหุวัฒนธรรม ก็นำเรื่องที่เรียนไปต่อยอดกับภูมิปัญญาเดิมของตน เอามาเปรียบเทียบกัน สร้างสรรค์ผลงานออกมาในรูปแบบที่ไม่มีใครเหมือน ไม่เหมือนใคร”

นอกจากนี้ยังทำให้นักศึกษาตระหนักในคุณค่าของสิ่งที่เรียน “ทำให้เขาสามารถมองเห็นว่า จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ที่โรงเรียนได้อย่างไร หรือถ้ามีโอกาสได้เป็นครู จะเริ่มต้นด้วยการให้เด็กวอร์มสมอง บริหารสมองก่อน จัดการเรียนรู้ที่มีความหมายกับเด็กนักเรียน เป็นต้น”

นักศึกษามีโอกาสนำความรู้ EF ไปใช้จริงๆ ในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูที่นักศึกษาจะออกไปที่โรงเรียนทุกสัปดาห์และบางชั้นปีจะไป 1 สัปดาห์ต่อ 1 ภาคเรียน นำความรู้ไปปฏิบัติตามสถานการณ์จริง ออกแบบสื่อส่งเสริม EF นำไปใช้กับเด็กนักเรียน

จากการที่นักศึกษานำชุดสื่อพัฒนา EF ไปใช้ในสถานการณ์จริงที่โรงเรียน ได้เปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กนักเรียนหลังห้องเป็นเด็กหน้าห้องในที่สุด  “มีเรื่องเล่าที่ประทับใจมากจากนักศึกษาที่ไปฝึกประสบการณ์ที่โรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่ทุกวันศุกร์  นักศึกษาได้เอาสื่อพัฒนา EFที่ทำเรียบร้อยแล้วไปด้วย พอไปถึงห้องเรียนก็บอกกับเด็กๆ ว่า “วันนี้คุณครูพี่เอินเอาของเล่นมาด้วย ถ้าใครทำกิจกรรมเสร็จเรียบร้อย จะได้เล่นกับครูพี่เอิน” เมื่อวางของเล่นไว้ที่โต๊ะครู เด็กก็ร้องว้าว เพราะไม่เคยมีในโรงเรียน ในกล่องมีการ์ด กระดานเกม เด็กๆก็จับดู แต่พี่เอินก็ย้ำว่าให้เด็กทำกิจกรรมที่คุณครูมอบหมายให้เสร็จก่อน แล้วสิ่งมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้น เด็กที่เคยส่งงานช้าที่สุดในห้องส่งงานเป็นคนแรก เสร็จและถูกต้องด้วย  เด็กทำเสร็จแล้วพูดว่า “คุณครูพี่เอินครับ ผมจะเล่นของเล่นคุณครูพี่เอินก็เลยให้ของเล่นแก่เด็กคนนั้นไปเล่นที่ระเบียงเพื่อไม่ให้รบกวนคนอื่น”

สื่อสำหรับพัฒนาเด็กซึ่งเป็นผลงานของนักศึกษานี้ ยังได้ถูกนำไปใช้เวลาที่นักศึกษาไปออกค่ายพัฒนาชุมชน รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมเป็นฐานๆ ซึ่งฐานหนึ่งที่นักศึกษาวิชาการศึกษาปฐมวัยได้นำไปใช้คือการเล่นเพื่อพัฒนา EF 

“และเรายังมีค่ายที่สาขาการศึกษาปฐมวัยคณะครุศาสตร์จัดขึ้นเพื่อให้การศึกษาผู้ปกครอง เราก็ได้ใช้กระบวนการเรียนรู้ EF ไปจัดให้พ่อแม่ผู้ปกครอง แนะนำผู้ปกครองวิธีเล่นกับลูกเพื่อพัฒนาลูก แนะนำสื่อเพื่อการเรียนรู้เช่น การ์ดเกม หนังสือนิทาน หรือการเล่านิทานไม่รู้จบที่ช่วยให้ลูกเกิดการพัฒนาทักษะสมอง EF

“เรายังมีการบริการสังคมให้กลุ่มศิษย์เก่า โดยจัดหลักสูตรออนไลน์ ซึ่งหลักสูตรพัฒนา EF ก็เป็นหลักสูตรหนึ่งที่ผู้บริหารหยิบขึ้นมาเป็นหลักสูตรออนไลน์  เรามีการสอนหลักสูตร EF ออนไลน์แล้วได้ประกาศนียบัตรออนไลน์ไปแล้ว 2 รุ่น ทำให้กับนักศึกษาที่เป็นครูคืนถิ่นและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยราชภัฏซึ่งมีทั้งครูประจำการ ครูเอกชน ครูรัฐบาล ศึกษานิเทศก์ และผู้บริหาร”

“สำหรับตัวเอง ตั้งแต่ได้รับประสบการณ์จากการอบรมและจากการรู้จักเข้าใจ EF หมุดหมายทางวิชาการของเราก็เปลี่ยนไป อย่างแรกเราเปลี่ยนเทคนิคการสอน และอยากเป็นอาจารย์ที่นักศึกษาอยากเรียนด้วย เป็นอาจารย์ที่สอนหนังสือแล้วมีความสุข นักศึกษาก็มีความสุขในการเรียน เหมือนเราได้มาเล่นมาเรียนรู้กับนักศึกษา

“อีกเป้าคือมีความต้องการที่จะพัฒนาผลงานทางวิชาการ เป็นพวกตำรา เอกสารประกอบการสอนที่มีคุณค่า คนอ่านแล้วได้ความรู้ที่ใกล้ตัวเขามากที่สุด ตอนนี้กำลังเขียนผลงานอยู่

“รู้สึกภูมิใจ มีความสุข รู้สึกว่างานที่ทำอยู่มีคุณค่ามีความหมาย จากการเป็นส่วนเล็กๆ ที่สร้างสรรค์ EF ให้เกิดขึ้นกับคนไทย ทำให้นักศึกษามีทักษะในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ เป็นคนเล็กๆ คนหนึ่งที่ช่วยสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่ามีความสามารถที่จะพาประเทศชาติบ้านเมืองก้าวไปข้างหน้าได้”

การเปลี่ยนแปลง/ผลสัมฤทธิ์ หลังจากเรียนรู้ EF และนำความรู้ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน

เปลี่ยนเทคนิคการสอน จากการอบรมได้เรียนรู้เทคนิคการจัดการเรียนรู้อย่างมีความหมายต่อตัวผู้เรียนซึ่งทำให้เกิดกระบวนการทำงานของทักษะสมองส่วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นความจำเพื่อใช้งาน การยั้งคิดไตร่ตรอง การควบคุมอารมณ์ จนไปถึงวางแผน จัดระบบ ดำเนินการ ฯลฯ  ซึ่งก่อนเรียนรู้เรื่อง EF มีความเชื่อมั่นในเรื่องการเรียนรู้แบบ active learning อยู่แล้ว เมื่อได้เรียนรู้เรื่อง EF และนำมาใช้กับการสอนนักศึกษา ยิ่งเห็นผลของการเรียนรู้อย่างมีความหมายที่ทำให้นักศึกษาสนุกกับการเรียนรู้และเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น การจัดกิจกรรมเพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้ แม้จะดูเป็นกิจกรรมเล่นสนุก แต่ได้ผลที่ดี จริงจัง และลึกซึ้งมาก

เปลี่ยนวิธีคิด เกิดการมองนักศึกษาในมุมมองใหม่ มองเห็นความแตกต่างระหว่างบุคคล เห็นทุกคนมีคุณค่า และทุกความคิดมีความสำคัญ พยายามทำให้นักศึกษามีความรู้สึกดีต่อตนเอง สร้าง Self ความมั่นใจ ให้นักศึกษา

 “มีอยู่เคสหนึ่ง นักศึกษาพูดจาไม่ชัด เนื่องจากไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ ใช้ภาษาชนเผ่า เด็กจะนั่งหลังห้อง ไม่แสดงความคิด ไม่กล้าพูด และจะพูดเบามาก เราเข้าไปหา สัมผัสมือ ถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง ตบไหล่เบาๆ เขาก็เล่าให้ฟัง เหมือนกับกดดันมาก น้ำตาคลอ บอกว่าไม่กล้าพูด เพราะพูดไม่ชัด เราเลยสร้างความมั่นใจให้ว่าทุกคนไม่จำเป็นต้องพูดชัดเหมือนกันแต่ก็เก่งได้  คนที่อยู่ในจังหวัดอื่นๆ ที่พูดเหน่อก็มีเยอะแยะ เพราะฉะนั้นให้พูดดังๆ เราพยายามสร้างบรรยากาศแห่งการเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ bully กัน

“ด้วยวิธีนี้ นักศึกษาที่นั่งหลังห้อง ไม่มั่นใจในตนเอง และรู้สึกว่าต้องหลบเลียแผลใจในมุมมืดก็เปลี่ยนไปเป็นมีความสุข แล้วสุดท้ายก็มานั่งหน้าห้อง พูดเสียงดัง การพูดไม่ชัดมีสำเนียงภาษาถิ่นกลายเป็นเอกลักษณ์ของเขา และประสบผลสำเร็จในการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนองาน การครีเอทงานไม่ได้ด้อยไปกว่าเพื่อน

“ทำให้มองเห็นว่าความรู้ EF ช่วยชีวิตคนๆ หนึ่งได้ และช่วยเราในฐานะที่เป็นครูบาอาจารย์ให้ละเอียดอ่อนในการมองนักศึกษามากขึ้น และมองว่าถ้าเราไม่ช่วยเกิดปัญหาแน่ ก็เกิดความภูมิใจมาจนถึงทุกวันนี้ และได้ย้ำเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าเราจะต้องพัฒนาตัวเองไม่หยุดยั้ง และการใช้ EF ต้องเป็นไปอย่างยั่งยืนเพื่อให้นักศึกษาได้ไปเป็นแสงสว่างให้กับประเทศไทย กลับไปสู่บ้านเกิดของเขา ไปเป็นคุณครูในชนเผ่าของเขา หรือพื้นที่ของเขา”

มีความยืดหยุ่นมากขึ้น  ยืดหยุ่นกับการจัดกิจกรรมเรียนรู้ และทำให้นักศึกษาได้รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างปรับ แก้ไขได้ 

เปลี่ยนหมุดหมายทางงานวิชาการ จากประสบการณ์ที่ได้จากการอบรมเรื่อง EF ทำให้มีเป้าหมายใหม่ว่า จะเป็นอาจารย์ที่นักศึกษาอยากเรียนด้วย เป็นอาจารย์ที่สอนหนังสือแล้วมีความสุข คือตัวเองมีความสุขในการสอนและนักศึกษาก็มีความสุขในการเรียน

อีกเป้าหมายหนึ่ง คือมีความต้องการที่จะพัฒนาผลงานทางวิชาการ พวกตำรา เอกสารประกอบการสอนที่มีคุณค่า ให้ความรู้ที่ใกล้ตัวผู้อ่านและผู้อ่านนำไปใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด

นักศึกษาเปลี่ยน

-นักศึกษามีความสุข สนุกกับกระบวนการเรียนรู้ที่มีความหมาย เกิดการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ

-นักศึกษามีความกระตือรือร้นที่จะเข้าเรียนวิชาที่อาจารย์สอน

-นักศึกษาเกิด self-esteem มีความมั่นใจในตัวเอง รู้สึกดีกับตัวเอง กล้าคิด กล้าแสดงออก กล้าแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน

-นักศึกษามีโอกาสได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น มีการนำความรู้ที่มีมาต่อยอดกับประสบการณ์ที่เป็นพหุวัฒนธรรม (นักศึกษามาจากพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรม)

บรรยากาศการเรียนการสอนเปลี่ยน

– เกิดบรรยากาศการเรียนการสอนที่มีชีวิตชีวา นักศึกษาสนุกกับการเรียนรู้ ทุกคนมีคุณค่า ยอมรับซึ่งกันและกัน สามารถที่จะเรียนรู้ในรูปแบบที่ตัวเองถนัดได้  นักศึกษาตั้งตารอเรียนวิชานี้ เพื่อจะได้ทำกิจกรรมสนุกๆ หรือกิจกรรมที่มีความหมายกับตัวนักศึกษา

– มีการใช้กิจกรรมหลากหลายประกอบการเรียนการสอน โดยบูรณาการกิจกรรมต่างๆ ที่เรียนรู้มาจากการอบรม EF ที่มีการอบรมต่อเนื่อง สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในออกแบบการสอนได้หลายรูปแบบ  เช่นกิจกรรมบริหารสมอง การวอร์มร่างกายและจิตใจก่อนเข้าสู่การเรียน กิจกรรมผ่อนพักตระหนักรู้ เพื่อพักสมอง คลายความเครียด เป็นการตื่นตัวแบบผ่อนคลายที่จะทำให้สมองทำงานอย่างสดชื่น บางกิจกรรมนักศึกษาก็ได้แลกเปลี่ยนความคิด ได้เล่นสนุกกับเพื่อน เป็นต้น

– เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ที่นักศึกษากล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ กล้าแสดงออก กล้าแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เกิดผลสัมฤทธิ์จากการเรียนรู้เรื่อง EF

– อาจารย์สอนดีขึ้น สอนอย่างมีความหมายต่อตัวนักศึกษามากขึ้น และให้ความสำคัญกับรายละเอียดที่ไม่เคยให้มาก่อน ทั้งในเรื่องวิธีคิด ทัศนคติ และมุมมองต่อผู้อื่น   

– นักศึกษาเกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างมีความสุขและเป็นการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อชีวิตนักศึกษา

– ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาดีขึ้น เนื่องจากมีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ พอมีความสุขในการเรียนรู้ก็อยากจะเรียนรู้ยิ่งขึ้น กระบวนการเรียนรู้แบบ EF สร้างนิสัยใฝ่เรียนใฝ่รู้

นักศึกษาได้ความรู้ความเข้าใจเรื่อง EF นักศึกษารู้ว่า EF มีทั้งหมด 9 ด้าน และเข้าใจว่าการพัฒนา EF ทั้ง 9 ด้านเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นธรรมชาติ 

– นักศึกษานำความรู้ EF ไปใช้จริง จากการเรียนวิชาสมองและทักษะการคิดสำหรับเด็กปฐมวัย มีโอกาสนำไปใช้จริงในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู ที่นักศึกษาต้องออกไปฝึกสอนที่โรงเรียนทุกสัปดาห์ และบางชั้นปีไปฝึกภาคเรียนละ 1 สัปดาห์ มีปฏิบัติการตามสถานการณ์จริง ได้ออกแบบสื่อเรียนรู้ที่ส่งเสริม EF เด็กปฐมวัย และนำไปใช้กับเด็กนักเรียนจริงๆ

– นักศึกษามีความตั้งใจที่จะจัดการเรียนรู้ที่มีความหมายกับเด็กนักเรียนเมื่อมีโอกาสได้เป็นครูในอนาคต

นวัตกรรม

          งานวิจัยเรื่อง การพัฒนา EF ด้วยกิจกรรมเคลื่อนไหวและการเล่นสร้างปีญญา

ฝากไว้ให้คิด

“ย้ำเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าเราจะต้องพัฒนาตัวเองไม่หยุดยั้ง และการใช้ความรู้ EF ต้องเป็นไปอย่างยั่งยืน เพื่อให้นักศึกษาได้ไปเป็นแสงสว่างให้กับประเทศไทย กลับไปสู่บ้านเกิดของเขา ไปเป็นคุณครูในชนเผ่าของเขา หรือในพื้นที่ของเขา”

เทคนิคการเสริมสร้าง Self ให้นักศึกษา

          เนื่องจากตัวตนหรือ Self เป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาทักษะสมอง EF และการเรียนรู้ รวมทั้งนักศึกษาที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยมาจากต่างที่ต่างถิ่น อาจารย์ผู้สอนจึงคิดหากิจกรรมที่จะทำให้ผู้เรียนตระหนักถึง Self ของตัวเอง และได้ทำความรู้จักกัน รู้จักตัวตนของกันและกัน จึงให้นักศึกษาแต่ละคนคิด caption ซึ่งกำลังเป็นกระแสอยู่ในโซเชียล มาบอกตัวตนของตัวเอง เช่น “นิชา ร่างกายแข็งแรง จิตใจสดใส ถ้าอยากจะเรียนรู้ได้ดี ต้องมากับนิชา” นักศึกษาบางคนที่บ้านเลี้ยงม้า  “ถ้าเธอขอลา แต่ชั้นมีม้าให้เธอ เพราะฉันจิตใจดี มีมันสมองที่จะพาเธอไปได้” แล้วก็จะเอ่ยชื่อตัวเอง

caption เหล่านี้นักศึกษาแต่งขึ้นจากประสบการณ์ของตัวเอง ที่ทำให้เห็นวิถีชีวิต ความคิด ความชอบ ตัวตนของแต่ละคน หลอมรวมเข้ามาสู่ความเป็นสังคมในห้องเรียน ยอมรับซึ่งกันและกัน ทำให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักศึกษา

เทคนิคการเปลี่ยนความคิดผู้ปกครองที่เน้นให้ลูกอ่านออกเขียนได้

อาจารย์ชไมชนได้ขยายความรู้ EF สู่ผู้ปกครอง อาจารย์มีเทคนิคในการเปลี่ยนความคิดผู้ปกครองที่เน้นให้ลูกปฐมวัยอ่านออกเขียนได้  คือ แรกเริ่มต้องใช้เทคนิคใจถึงใจก่อน หมายความว่าต้องเข้าใจหัวใจของคนเป็นพ่อแม่ ที่จริงแล้วมีความรักความหวังดีต่อลูก  เมื่อเข้าใจก็จะเข้าถึง แล้วจึงจะพัฒนาเขาได้  (ตามหลักการทรงงานของรัชกาลที่ 9 ) เมื่อเข้าใจแล้วว่าพ่อแม่รักลูก อยากจะพัฒนาลูก แต่พัฒนาในมุมมองที่ไม่เหมาะสม ก็ต้องจูนความเข้าใจและมุมมองให้มาอยู่มุมมองเดียวกัน  เช่น จัดกิจกรรมให้พ่อแม่ปฏิบัติเหมือนกับเด็กอนุบาล เป็นกิจกรรมที่ผู้ใหญ่ทำได้ยากลำบาก แล้วถามความรู้สึกเขาว่าอึดอัดไหม รู้สึกอย่างไร ท้อไหม และถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับลูก ลูกก็จะไม่อยากทำเช่นกัน

แล้วพาพ่อแม่เล่นกิจกรรม EF ซึ่งพ่อแม่สามารถทำได้อย่างสนุกสนาน ถามพ่อแม่อีกว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง กิจกรรมเหล่านี้จะทำให้พ่อแม่เกิดความเข้าใจ เข้าถึงความรู้สึกของลูก  และสรุปความรู้ความเข้าใจด้วยผลงานวิจัยที่แสดงชัดเจนว่าจะเกิดปัญหาอะไรถ้าเร่งเรียนเขียนอ่านกับลูก เกิดปัญหาระยะยาวและมีผลกระทบต่อนิสัยใฝ่เรียนใฝ่รู้ของลูก

รวมทั้งหยิบยกทักษะผู้เรียนในศตวรรตที่ 21 ที่บอกว่า ทักษะการคิดสร้างสรรค์สำคัญที่สุดสำหรับเด็กปฐมวัย เป็นทักษะการคิดเพื่อให้ชีวิตประสบความสำเร็จ  ก็จะทำให้พ่อแม่เปลี่ยนวิธีคิด มุมมองในการเลี้ยงลูกแบบเร่งอ่านเขียนให้มาเป็นแบบเตรียมความพร้อม และเรียนรู้ผ่านการเล่นได้

เมื่อพ่อแม่เข้าใจ มีมุมมองที่ถูกต้องและชัดเจน มันง่ายมากที่พ่อแม่จะเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูก แล้วจัดการเรียนรู้ของลูกให้เป็นแนวทางที่เหมาะควร

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ