096-356-9461 support@rlg-ef.com

ผศ.นิธินาถ อุดมสันต์
มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด

ก่อนมารู้จัก EF อาจารย์นิธินาถมีพื้นในเรื่องสมองกับการเรียนรู้อยู่แล้วจากการได้รับการอบรมเรื่อง BBL-Brain-Based Learning  “เราเริ่มพัฒนาเรื่องสมองกับการจัดการการเรียนรู้ตั้งแต่ปี 49  จนเรื่องนี้กำลังจะแผ่วลง พอดีคณบดีได้ไปลงนาม MOU กลับมา จึงได้ไปร่วมอบรมเรื่องกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และอีกครั้งที่มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี เกิดความสนใจ

“ตอนที่สอนเรื่องสมองปี 49 นั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ดเพิ่งเปิดสอนได้ 9 ปี สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไม่มี เราก็พัฒนาขึ้นมาจากนักศึกษาไม่กี่คน สาขาเราจะเต็มตลอด อาจารย์สุภิมลสอนวิชาสมองโดยตรง ตัวเองสอนวิชาบูรณาการ

 “ในช่วงแรกที่พัฒนาหลักสูตรใหม่ ค่อนข้างลำบาก เพราะตอนนั้นไม่มีสื่อให้สืบค้นมากเหมือนปัจจุบัน ตอนนี้ถ้าเรายังไม่เข้าใจมากนักก็สามารถให้นักศึกษาดูยูทูบของRLG ได้ แล้วเอามาคุยกัน มีความสุขที่มีสื่อ บางคนถามว่าทำไมไม่เชิญหมอมาบรรยาย เพราะเราไม่มีงบ

“ในการจัดการเรียนการสอนนั้น ได้นำ DSPM มาสอนนักศึกษา เด็กๆ ได้เรียนรู้มากขึ้น รวมทั้งตัวอาจารย์เองด้วย

 “เราเชื่อว่า EF ทำให้คนเปลี่ยนได้ ตัวเองเป็นคนที่ภาษาอีสานเรียกว่า ซิกงิก คือไม่ชอบให้ใครทำอะไรผิดระเบียบ ไม่ยืดหยุ่น พอมาเข้าเรื่อง EF กลายเป็นคนที่ยิ้มง่ายขึ้น ทำให้นักศึกษากล้าเข้าหาเรามากขึ้น  นักศึกษาเคยถามว่าเวลาสอนยิ้มเป็นมั้ย เราพยายามลดความเป๊ะลง เคยตรวจความเรียบร้อยของเสื้อผ้าหน้าผม รวมไปถึงเล็บ เพราะนักศึกษาจะต้องออกไปฝึกสอน ทำให้ถูกมองว่าเป็นคนรุ่นเก่า

“กับอาจารย์น้องๆ ในสาขา เมื่อมีนโยบายอะไรมา เราจะบอกให้ไปสอน แล้วคอยบอกว่าทำไมไม่ทำไม่สอนแบบนั้นแบบนี้  ด้วยความหวังดี กลัวนักศึกษาจะไม่ได้รับเต็มที่ เป็นป้า “ซิกงิก”ตอนนี้คิดได้ว่าเราไปยุ่งกับวิธีสอนของคนอื่น

เมื่อก่อนเป็นคนใจร้อน แต่เมื่อได้รับความรู้เรื่อง EF ก็มานั่งคิดว่า EF มี 9 ด้าน แต่ตัวเองมีแค่ เมื่อก่อนให้ลูกศิษย์ทำงานอย่างที่อาจารย์ต้องการ ไม่รู้ละว่าจะไปหามาอย่างไร ก็มาย้อนคิดกับอาจารย์ที่ไปอบรมด้วยกัน เราทำผิดกับนักศึกษามาเยอะ ดังนั้นต้องเปลี่ยน ต้องปรับ เพราะที่เราทำไปแล้วบอกว่าหวังดีๆ แต่อาจเป็นดาบสองคม

“กับลูกชายก็ผ่อนสั้นผ่อนยาว ปรับเรื่องความยืดหยุ่น กับบริหารจัดการ จากที่เคยคาดหวังสูงแล้วผิดหวัง ก็ปล่อยวาง แค่บอกว่าขอให้ลูกมีเป้าหมายก็พอ แต่กระบวนการลูกคิดเอาเอง ก็สอนให้มีเป้าหมาย ถ้ามีปัญหาอะไรค่อยมาคุยกัน

ในด้านการขยายความรู้ EF อาจารย์นิธินาถได้จัดอบรมครูปฐมวัย “หลังจากไปอบรมที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาแล้วกลับมาเขียน proposal งานวิจัย EF Guideline ในบริบทของร้อยเอ็ดกับยโสธร ได้งบมา 1,200,000 ทำร่วมกับอาจารย์สาขาพยาบาล วิทยาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ วิจัยกับนักศึกษาฝึกสอนและ ผู้ปกครองโดยมีพยาบาล อสม.มาช่วย และจัดอบรมครูปฐมวัย 2 จังหวัด โดยดูแบบอย่างจากที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอื่นๆอย่างน้อยให้รู้ว่า EF คืออะไร  ทุกคนอยากมาอบรม เพราะครูปฐมวัยไม่ค่อยได้รับการอบรม  ทำแล้วก็แชร์ แลกเปลี่ยนกัน ทำให้มีเพื่อนเยอะ มีความสุข  ส่วนการ เราคิดจะอบรมอสม.เป็นกลุ่มเป้าหมายต่อไป แต่มาเจอสถานการณ์โควิดเสียก่อน ไม่เช่นนั้นจะได้ศูนย์ต้นแบบดังที่วางแผนไว้ เสียดาย

“ตอนแรกก็ถอดใจเพราะเหนื่อย แต่หลังจากไปเจอวิทยากร ผองเพื่อนที่ผ่านอะไรมาเยอะกว่า ก็แลกเปลี่ยนกัน เลยสู้ใหม่

“เรามีงบน้อย จัดอบรมฟรี โดยเรามีคู่มือ มีแผนตัวอย่าง มีวิธีการ ทำตามต้นแบบของวิทยากรที่เคยอบรม  คิดว่าอยากให้ครูรู้จัก EF ก่อน และต่อจากนั้นจึงอบรมเรื่องการทำแผนการเรียนการสอน ให้เข้าใจกันว่า EF 9 ด้านอยู่ตรงไหนของแผน ผลการอบรมคิดว่าอาจไม่ได้ทุกคน แต่มีบางคนที่เข้าใจนำไปปฏิบัติได้เราก็มีความสุขแล้ว  แล้วเขาจะนำไปขยายต่อเอง

“เรามีเครือข่ายเยอะ ครูสพฐ.ร้อยเอ็ดทั้ง 3 เขต ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เวลามีอบรมมีข่าวอะไรก็จะส่งเข้าทางไลน์ ครูก็ชอบ เวลานี้มีผศ.ดร.สัจจธรรม เอื้อทวีกุล(บัณฑิตวิทยาลัย) ที่ได้มาอบรม EF กลุ่ม 400 คน มีความอินมาก ก็ชวนมาคุยเรื่อง EF อาจารยสาขาอื่นๆ ก็มาคุยกัน เพื่อบูรณาการการสอนกัน”

การเปลี่ยนแปลง/ผลสัมฤทธิ์ หลังจากเรียนรู้ EF และนำความรู้ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน

เปลี่ยนตัวเอง ยืดหยุ่น ใจเย็นมากขึ้น ได้พัฒนาตนเอง  ได้ใช้ความรู้ EFทั้ง 9 ด้านพัฒนาตนเอง “ปกติเป็นคนไม่จดจ่อ ก็ได้เฝ้าดูตัวเอง ทั้งจำ ได้ยั้งคิด ได้ยืดหยุ่น ได้จดจ่ออยู่กับสิ่งที่เราทำ ได้ทำ ได้วางแผน แล้วกลับมาสะท้อนมาดูตัวเอง”

นักศึกษามีคุณภาพมากขึ้น  “เวลานักศึกษาไปฝึกสอน ได้รับคำชมกลับมา นักศึกษาสาขาปฐมวัยที่เคยมีสถิติท้องปีละ 4-5 คน ที่ผ่านมาเราไม่เปิดใจ พอเราได้เปิดใจกันมากขึ้น คุยกันมากขึ้น ดูแลกันมากขึ้น สถิติก็น้อยลง ตอนนี้นักศึกษาเปิดใจกับอาจารย์มากขึ้น”

มีเครือข่ายครูปฐมวัย ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และครูในสังกัดสพฐ.

นวัตกรรม

งานวิจัยเรื่อง การพัฒนาทักษะการสอนของครูปฐมวัยในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาในจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดยโสธร ด้วยเครื่องมือ EF Guideline

ฝากไว้ให้คิด

“รักในพลังวิเศษของ EF …ชั่วโมงนี้ วินาทีนี้ เรามาเริ่มพัฒนา EF ให้เด็ก gen ใหม่กันเถอะ”

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ