096-356-9461 support@rlg-ef.com

ผศ.อนงค์นารถ ยิ้มช้าง
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

อาจารย์อนงค์นารถเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ได้รู้จัก EF ว่า “ได้ไปช่วยทำหลักสูตรรายวิชาก่อน วันนั้นงงมากว่าคืออะไร  พอได้ฟังคุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ บรรยายก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น เมื่อกลับมาที่มหาวิทยาลัย  ผศ.ดร.ธีราพรเป็นผู้รับวิชาสมองกับการเรียนรู้ไปสอนให้ดูก่อน ระหว่างที่สอนก็ถ่ายทอดความรู้ให้น้องๆ ในสาขาไปด้วย”

“ดีที่ทางสถาบันRLG จัดอบรมต่อเนื่อง จึงได้นำกิจกรรมที่ได้อบรมมาคิดพัฒนารูปแบบต่อ การอบรม 3 วันนั้นได้เทคนิค วิธีการ ระหว่างที่นำมาใช้ในการสอน ทีมงานก็ทำการติดตาม ทั้งยังมีเครือข่ายอาจารย์ให้ได้แลกเปลี่ยนกัน ทำให้ได้ไอเดีย รวมทั้งมีการอบรมเพิ่มเติม จึงรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ได้ปรับตัว ปรับการสอนมาเรื่อยๆ คิดว่าเรื่องสมอง เรื่อง EF ไม่ได้ยากเกินไป

“สอนรายวิชาศิลปะกับสื่อในเทอม 2  โชคดีที่นักศึกษาเรียนรายวิชาสมองมาแล้วกับอาจารย์ธีราพร  เมื่อปี 1 เทอม 1  เราใช้วิธีการสอนแบบ backward design ย้อนกลับไป โดยให้นักศึกษาลงมือทำกิจกรรมศิลปะ พอทำแล้วก็ให้มาวิเคราะห์ว่าเชื่อมโยงกับทักษะ 9 ด้านตรงไหนอย่างไร ต้องมีทักษะอะไรก่อนจึงจะมาทำงานศิลปะชื้นนี้ได้  เมื่อใช้กิจกรรม นักศึกษาก็เริ่มทำได้คิดวิเคราะห์ได้  เกิดความเข้าใจเรื่อง EF โดยไม่ต้องไปย้อนสอนว่า EF คืออะไร

“แล้วนักศึกษากลุ่มนี้กลับมาเจอกับเราอีกตอนปี 2 เทอม 1 ในวิชาภาษา ก็เชื่อมโยงกับ EF อีก นักศึกษาก็มองภาพออก สามารถคิดออกแบบสื่อได้ พอเทอม 2 ก็สามารถสร้างสื่อเพื่อพัฒนาทักษะEFให้เด็กได้  โดยเราหาตัวอย่างสื่อเช่นชุดเล่นล้อมรักของปปส. มาให้นักศึกษาลองเล่นลองวิเคราะห์ว่าได้อะไร จากนั้นให้ไปพัฒนาสื่อขึ้นมาเอง

“ในการสอน เรามักเอาเหตุการณ์ปัจจุบันมายกเป็นตัวอย่างให้นักศึกษาเรียนรู้เรื่อง EF ให้ได้วิเคราะห์กันว่าเรื่องต่างๆ เป็นเพราะขาด EF ใช่หรือไม่ เพราะไม่ได้อยู่ในครอบครัวที่ แม่มีอยู่จริง” หรือเปล่าพออกหักโลกทั้งใบก็แตกสลาย จะหยิบยกมาคุยกับนักศึกษาบ่อยๆ

“นักศึกษาที่เคยเรียนวิชาสมองเมื่อ ปี 62 ตอนนี้อยู่ปี 3 แล้ว และกำลังจะออกไปทดลองสอนในเดือนหน้า  ก็ให้นักศึกษาออกแบบสื่อ เกมการศึกษา เตรียมแผนของตนเองโดยบูรณาการเรื่อง EF เข้าไปอยู่ในแผนการสอน  และเราสอนเรื่อง EFว่าจะว่างแผน บริหารจัดการชีวิตของตนเองอย่างไรก่อนที่จะออกไปทดลองสอน  ให้ทำตามแผนที่วางไว้  เป็นนักศึกษารุ่นแรกที่สอนด้วยกระบวนการเรียนรู้ EF เป็นรุ่นลองผิดลองถูกมาด้วยกัน

“จากปีแรกมีคำถามว่าทำไมต้องเรียนทำไมต้องสอน EF ในการศึกษาเด็กปฐมวัย พอ 3 ปีผ่านไป เห็นสถานการณ์ ข่าวต่างๆ ในประเทศเรา ประกอบกับเราเป็นแม่ด้วย ก็เห็นความสำคัญที่ต้องเรียนรู้ EF โดยเฉพาะการสร้าง EF ให้เด็กตั้งแต่ปฐมวัยเพื่อเป็นการปูพื้นฐานชีวิต เพราะปัญหาที่เห็นอยู่เกิดจากเด็กไทยขาด EF  และสังคมปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก พอเห็นความสำคัญก็นำมาใช้กับตัวเอง กับลูก ถ่ายทอดให้ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ผู้ปกครอง ได้อบรมครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก  2 แห่งที่อำเภอโกรกพระ

“เมื่อได้รับเชิญไปบรรยายที่ไหน ก็จะเอาเรื่อง EF ไปถ่ายทอด เสริมแรงให้ครูเห็นความสำคัญ เคยเชิญ ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ไปบรรยายเรื่อง EF ให้ครูฟัง 500 คนใน 3 เขตการศึกษา และจะมีภาคต่อเพื่อที่ครูเรียนรู้ทฤษฎีไปแล้วจะได้เอาไปใช้ได้อย่างถูกต้องในเรื่องของการออกแบบแผนการเรียนการสอน และกิจกรรม ซึ่งจะจัดขึ้นในครั้งต่อไป

“ในสาขา ถ้าใครได้ทุน เขียนขอทุนก็พยายามให้เอาเรื่อง EF เข้าไปทำวิจัย ได้ทำวิจัยไป 1 เรื่อง แต่ยังไม่เสร็จ เพราะเจอสถานการณ์โควิด แต่ก็ยังได้ไปทดลองกับผู้ปกครอง

“ย้อนนึกถึงตอนทำหลักสูตรเครียดจนร้องไห้ เพราะไม่ค่อย get กับ EF แต่เป็นหน้าที่เพราะเป็นหัวหน้าสาขา เป็นประธานสาขาต้องเรียนรู้ จึงเป็นภาระที่หนักอึ้ง แต่พอได้อบรมต่อเนื่องก็ดีขึ้น ได้ลองผิดลองถูกกับนักศึกษา สุดท้ายก็หลงรัก คิดได้ว่าอยากให้ประเทศดีขึ้น สังคมดีขึ้นก็ต้องใช้ EF  มองไปในอนาคคว่าถ้าลูกเราอายุ 15 ปี แล้วสังคมไทยแย่กว่านี้ ลูกเราจะทำอย่างไร จะอยู่อย่างไร”

การเปลี่ยนแปลง/ผลสัมฤทธิ์ หลังจากเรียนรู้ EF และนำความรู้ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน

ปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน  “ปรับเปลี่ยนแนวคิด รูปแบบ วิธีการใหม่ๆ ในการสอนนักศึกษา ปรับปรุงพัฒนาอยู่เรื่อยๆ”

นักศึกษาได้รับการพัฒนา EF   “นักศีกษาที่ได้เรียนรู้เรื่อง EF ทำงานเป็นระบบมากขึ้น มีขั้นตอน มีการวางแผนมากขึ้น เวลาให้เนื้อหาไปให้สรุปเป็น map  จะมีการออกแบบสร้างสรรค์มากขึ้น ไม่ใช่เนื้อหาเต็มหน้ากระดาษเหมือนก่อน สรุปใจความสำคัญได้ เริ่มคิดวิเคราะห์ได้”

นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจเรื่อง EF สามารถเชื่อมโยง EF กับวิชาที่เรียนได้  “นักศึกษาปี 2 จะเรียนการออกแบบสื่อการเรียนการสอน นักศึกษาสามารถเชื่อมโยงได้ว่าสื่อชิ้นไหนที่ส่งเสริม EF ด้านใด อย่างไร ถ้าใส่เงื่อนไขลงไป จะส่งเสริมพัฒนา EF ด้านใด อย่างไร  ถ้าเด็กมีพฤติกรรมแบบนี้ๆ ขาดทักษะ EF เราจะคิดสื่อคิดเกมเพื่อไปแก้ปัญหาอย่างไร เช่น สื่อ เกมที่จะช่วยให้เด็กรู้จักรอคอย รู้จักรับฟัง เป็นต้น

“เมื่อเปรียบเทียบกับนักศึกษาปี 4 ซึ่งไม่เคยได้เรียนวิชาสมอง แต่อาจารย์เอาเรื่องสมองและ EF ไปบูรณาการในปี 2,3  เมื่อให้ออกแบบเกม ก็คิดได้บ้าง แต่ต่างจากกลุ่มที่ได้เรียน EF มาอย่างต่อเนื่องที่มีการคิด การวางแผน เป็นระบบ เป็นขั้นตอน มีความรับผิดชอบ รู้จักคิดไตร่ตรอง คุมอารมณ์ได้ (ตอนนี้เห็นข้อความแสดงอารมณ์ในหน้า fb น้อยลง แสดงว่ารู้จักยับยั้ง รู้จักคิด)

นวัตกรรม

การวัด ประมินผล EF  ร่วมกับอาจารย์ในสาขาที่จบปริญญาตรีการศึกษาปฐมวัย ปริญญาโทและปริญญาเอกด้านวัดและประเมินผล คิดเครื่องมือวัดและประเมินผลเกี่ยวกับ EF  

ฝากไว้ให้คิด

“ถ้าอยากให้เด็กๆ ของเรามีเรื่องทักษะการคิดวิเคราะห์  แยกแยะได้ ต้องปลูกฝังตั้งแต่เล็กๆ และพัฒนาความรู้ EF ให้ครูทั้งครูปฐมวัย ประถมศึกษาที่เป็นรอยเชื่อมต่อ  ถ้าครูประถมไม่รู้จัก EF สิ่งที่เราปูพื้นฐานไปก็ไม่ได้รับการพัฒนาให้งอกงามต่อไป”

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ