096-356-9461 support@rlg-ef.com

EF มีหลายทฤษฎี แต่ที่ได้รับการยอมรับจาก Neuroscience คือทักษะพื้นฐาน 3 ด้าน คือ Working Memory = ความจำใช้งาน Inhibitory Control = การหยุด และ Shift Cognitive Flexibility = การคิดยืดหยุ่น การปรับเปลี่ยน เป็นพื้นฐานที่สำคัญและพัฒนาตามลำดับ ผลรวมของทักษะเหล่านี้จะทำให้เกิดการพัฒนาทักษะ EF ด้านอื่นๆ ตามมาตามวัย

1. Working Memory คือความสามารถในการจำข้อมูลต่างๆ แล้วนำมาใช้ในการคิด วิเคราะห์ การเรียนรู้ การแก้ปัญหา เปรียบเทียบ เช่นการคิดแก้โจทย์คณิตศาสตร์ ฟังนิทานแล้วจับใจความมาเล่าให้คนอื่นฟังได้  Working Memory มีทั้งที่เป็น verbal และ non verbal เช่นความจำเกี่ยวกับทิศทาง ตำแหน่ง มิติ  Working Memory พัฒนาตั้งแต่ขวบปีแรก สัมพันธ์กับวงจรในสมองส่วนหน้าที่เริ่มมีการสร้างไซแนปส์ ไซแนปส์แตกแขนงแล้ว ปลายขวบปีแรกเด็กเริ่มมี Working Memory เด็กเริ่มจำพ่อแม่ได้ เริ่มเชื่อมโยงหน้าแม่กับความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย ยังจำได้แต่ข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ

2. Inhibitory Control เป็นกระบวนการที่มีความซับซ้อน ประกอบด้วย Inhibitory control การควบคุมตัวเองให้หยุดทำในสิ่งที่เคยชินได้ หยุดพฤติกรรมที่เคยชินได้ ซึ่งแสดงว่ามี self-control มี discipline  อีกอย่างคือการหยุดความคิด Inhibit of thought & memory ไม่คิดวอกแวก คิดจดจ่อกับสิ่งที่ทำ (selective focus & attention)  เป็นเรื่องที่สำคัญมากและต้องฝึก เพราะเด็กจะมีสมาธิจดจ่อดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าเด็กหยุดได้ดีหรือไม่ ขณะเด็กโฟกัสกับอะไรอย่างหนึ่งแล้วมีอะไรผ่านเข้ามาในประสาทสัมผัส แล้วเด็กหันไปสนใจสิ่งนั้นโดยไม่สามารถหยุดความสนใจในสิ่งนั้นกลับมาสนใจสิ่งที่โฟกัสได้ เด็กก็จะวอกแวก  ถ้าเด็ก inhibitไม่ได้ จะมีปัญหาขาด attention ซึ่งทำให้เด็กนั้นนอกจากจะมีพฤติกรรมที่ทำโดยอัตโนมัติ หุนหันพลันแล่นแล้วยังมีความอยู่ไม่นิ่ง ยุกยิก ไม่มีสมาธิ  ที่สำคัญการหยุดจะต้องเป็นการหยุดด้วยตัวเด็กเอง ไม่ใช่ผู้ใหญ่บอกให้หยุด

Inhibitory Control พัฒนาอย่างมากในเด็กปฐมวัย เริ่มตั้งแต่ 3-3 ขวบครึ่ง เด็กเริ่มรู้ว่าสถานการณ์แบบนี้ต้องหยุด แต่ถ้าเด็กไม่รู้ผู้ใหญ่สามารถเตือนได้ ถ้าเขาฟังแล้วเริ่มหยุดได้ก็ค่อยๆ ลดการเตือนลง แล้วสังเกตว่าเขาทำได้ด้วยตัวเองไหม  inhibit ทำให้เกิด effort to control  คือหยุด ไม่ทำสิ่งที่อยากทำตอนนั้นได้ เช่นมีขนมอยู่ตรงหน้าแล้วบอกเด็กว่าไม่ให้หยิบเอง ให้บอกว่าอยากได้ชิ้นไหนสีอะไร แล้วครูจะหยิบให้ พบว่า เด็กบางคนพอครูพูดจบปุ๊ปหยิบปั๊บ บางคนดูเฉยๆ ก่อน พอเลือกได้ก็หยิบ บางคนบอกครูว่าอยากได้ชิ้นนี้สีนี้ รอให้ครูหยิบให้ แสดงว่าเด็กแต่ละคนมี effort to control ต่างกัน เด็กต้องเข้าใจคำสั่งบอกตัวเองไม่ให้เอื้อมไปหยิบขนม ในการทดสอบ effort to control เด็กบางคนทำได้ครั้งแรกเลย บางคนครั้งที่สองถึงจะทำได้ บางคนสองครั้งแล้วยังทำไม่ได้ ทั้งที่อธิบายชัดเจน ขึ้นอยู่กับสมองส่วนที่ควบคุม Inhibitory Control ของเด็กคนนั้น  เด็กวัยเดียวกันอายุ 4-5 ปี มี Inhibitory Control ตั้งแต่ทำได้ดีมากไปจนกระทั่งมีปัญหามาก ซึ่งเป็นปกติของพัฒนาการของคนเราที่มาจากครอบครัวการเลี้ยงดูที่หลากหลาย นี่คือการหยุดเพื่อควบคุมสมาธิ ความคิด และพฤติกรรมที่ทำให้มี effort to control เป็นบันไดขั้นแรกที่ทำให้เด็กกำกับตัวเองได้ 

3. Shift Cognitive Flexibility การคิดยืดหยุ่น เปลี่ยนความคิดได้ คิดนอกกรอบได้ ไม่ยึดติดความคิดเดียว เด็กวัย 4 -4 ขวบครึ่ง จะมีทั้งที่ทำได้ ทำไม่ได้ หรือทำได้บ้างไม่ได้บ้าง ครูควรรู้ว่าเด็กแต่ละคนมีพัฒนาการด้านนี้แค่ไหนอย่างไร ไม่มีวิธีการใดที่ใช้พัฒนาเด็กทุกคนได้ เพราะฉะนั้น ครูอนุบาลจะต้องมีความละเอียด ช่างสังเกต ดูเด็กเป็นรายบุคคลว่ามีพัฒนาการอยู่ตรงไหนและจะพัฒนาต่อไปอย่างไร

3 เรื่องนี้จะค่อยๆ ทำให้เด็กมีทักษะสมอง EF ที่ยากขึ้นไปอีก เช่นการควบคุมอารมณ์ เพราะถ้าเด็กหยุดได้ เปลี่ยนความคิดได้ ก็จะควบคุมอารมณ์ได้ เพราะฉะนั้นในเด็กเล็กจะมีการประเมิน 5 เรื่อง คือ การหยุด การเปลี่ยน การจำ การควบคุมอารมณ์ ส่วน plan & organizing เด็กเล็กเพิ่งเริ่มมี เป็นเรื่องของ Metacognition(การรู้คิด)ในเด็กเล็ก พอ 7-9 ปี Metacognition จะเป็นเรื่องหลักที่เราต้องฝึกเด็ก

การฝึกเด็กเล็กให้มี EF มีหลายวิธี เช่นใช้กิจกรรมที่มีการพัฒนา EF ทุกด้านในกิจกรรมเดียวก็ได้ หรือใช้กิจกรรมฝึก EF ทีละด้านก็ได้ เช่นกิจกรรมบางอย่างเน้นฝึก Working Memory หรือบางกิจกรรมเน้นฝึก Shift Cognitive Flexibility อย่างเดียว ขึ้นอยู่กับความพร้อมของเด็ก เด็กบางคนมีปัญหาเฉพาะบางด้าน ก็ต้องเน้นพัฒนาด้านนั้นเป็นพิเศษ

รองศาสตราจารย์ ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ (Center of Neuroscience) สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล