096-356-9461 support@rlg-ef.com
Slide
Slide

พัฒนาทักษะ EF นักศึกษา
พัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอน
สร้างโอกาสขยายความรู้ ครู โรงเรียนขนาดเล็ก
ยกระดับคุณภาพการศึกษาปฐมวัยทุกพื้นที่บริการ

ก้าวแรกของการขับเคลื่อน EF

เรียนรู้ : สมองกับการเรียนรู้ : ห้องเรียนพลังบวก

          มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เริ่มต้นเรียนรู้และขับเคลื่อน EF โดยนำไปขยายผลในกลุ่มอาจารย์สาขาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์เป็นหลัก เพื่อนำไปใช้จัดการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งในรายวิชา “สมองกับการเรียนรู้ สำหรับเด็กปฐมวัย” จนเกิดผลการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในส่วนกระบวนการเรียนการสอน อาจารย์ผู้สอน และผลลัพธ์ในตัวนักศึกษา ที่สะท้อนผลสัมฤทธิ์เชิงบวก ทั้งด้านความรู้ ทักษะ และความสัมพันธ์ในห้องเรียน จนปัจจุบันกล่าวได้ว่าคณาจารย์ในสาขาปฐมวัยทุกคนมีความรู้และทักษะในการจัดกิจกรรมส่งเสริทักษะสมอง EF เป็นอย่างดี

          จากการลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อน EF ในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ตั้งแต่การดำเนินงานโครงการฯ ในระยะที่ ๑ โครงการฯ ได้มีโอกาสพูดคุยกับนักศึกษา น้อง ๆ เล่าว่า แม้จะรู้สึกกังวลเมื่อแรกเริ่ม ที่รู้ว่าตนเองต้องเรียนเรื่องสมอง ซึ่งเป็นเรื่องยาก แต่ก็ไม่เท่าไร เพราะความกังวลจากการที่ต้องปรับตัวในรั้วมหาวิทยาลัยกับชีวิตนักศึกษาใหม่ เป็นประสบการณ์ครั้งแรกของชีวิต ซึ่งอาจไม่ได้รับการยอมรับจากอาจารย์และเพื่อนร่วมชั้นเรียน สิ่งนี้เป็นเรื่องที่น่าวิตกมากกว่า

          ดังนั้นการที่อาจารย์คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ได้ให้ความสำคัญกับการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักศึกษา ทั้งยังส่งเสริมทักษะสมอง EF และพัฒนาการด้านตัวตน Self ของนักศึกษาอย่างสม่ำเสมอ เป็นพลังบวกที่ส่งผลต่อเจตคติของนักศึกษาต่อวิชาชีพครูของตน นักศึกษาสะท้อนว่า รู้สึกมีความสุข เห็นคุณค่าของตนเองเพราะได้รับการยอมรับจากอาจารย์และเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน ไม่รู้สึกกังวลว่าวิชาสมองจะมีเนื้อหาที่ยาก เชื่อมั่นว่าตนเองสามารถทำคะแนนได้ดี เพราะรู้สึกว่าตนเองเข้าใจ สนุกกับการเรียนรู้ รู้สึกยอมรับในความแตกต่างของเพื่อนร่วมชั้น เห็นด้านดีของตนเองและรู้สึกเห็นคุณค่าของตน และที่สำคัญ “หนูรู้แล้วว่าหนูจะเป็นครูที่ดีได้อย่างไร”

เป้าหมายและยุทธศาสตร์

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มีเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ให้มีความรู้ ทักษะ และเจตคติต่อวิชาชีพครู สามารถจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างนักศึกษาครูที่มีคุณภาพ และปฏิบัติภารกิจต่างๆ ตามพันธกิจของการเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏในการให้บริการแก่ชุมชนในพื้นที่รับผิดชอบได้

จึงวางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนองค์ความรู้ EF โดยเริ่มต้นเรียนรู้และขยายผลในกลุ่มอาจารย์สาขาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์เป็นหลัก โดยนำไปใช้กับนักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งในรายวิชาสมองกับการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย จนเกิดผลการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในส่วนกระบวนการเรียนการสอน อาจารย์ผู้สอน และผลลัพธ์ในตัวนักศึกษาที่สะท้อนผลสัมฤทธิ์เชิงบวก ทั้งด้านความรู้ ทักษะ และความสัมพันธ์ในห้องเรียน จนปัจจุบันกล่าวได้ว่าคณาจารย์ในสาขาปฐมวัยทุกคน มีความรู้และทักษะในการจัดกิจกรรมส่งเสริมทักษะสมองเรื่อง EF เป็นอย่างดี

จากนั้นมุ่งขยายผลการขับเคลื่อน EF โดยร่วมมือจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ EF และขยายผลความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งในและนอกพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเผยแพร่ความรู้ EF ให้กว้างขวางออกไป

การพัฒนาองค์ความรู้ และงานเด่นจากการนำความรู้ EF ไปปฏิบัติ ที่เกิดขึ้น

หลังจากตัวแทนคณะอาจารย์เข้าอบรมการนำ EF มาใช้ในพัฒนาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย นำมาสู่การผลักดันให้เกิดการบรรจุองค์ความรู้ EF เป็นหนึ่งในความรู้สำคัญของการพัฒนานักศึกษาครูสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย เพื่อปลูกฝังความรู้ความเข้าใจและทักษะการนำไปใช้ได้อย่างรอบด้าน

  • ใช้ทักษะสมอง EF เสริมประสิทธิภาพการเรียนรู้การพัฒนาเด็กปฐมวัย

จากผลสัมฤทธิ์ก้าวแรกในห้องเรียนสมองกับการเรียนรู้ นำไปสู่การต่อยอดองค์ความรู้ EF กับห้องเรียนรายวิชาอื่นๆ ในภาควิชา โดยการนำหลักการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม และความรู้ทักษะสมอง EF บูรณาการกับรายวิชาสำคัญด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ และเกิดการประยุกต์ใช้ทักษะสมองEF อย่างสอดคล้องกับองค์ความรู้อื่นๆ ทำให้นักศึกษาเกิดทักษะสมอง EF กับตนเองจนสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และพัฒนาสู่การประยุกต์ใช้พัฒนาแผนการเรียนการสอนได้

  • บูรณาการ 9 รายวิชากับทักษะสมอง EF ได้แก่
  • ความฉลาดทางอารมณ์และทักษะทางสังคมสำหรับเด็กปฐมวัย
  • การให้การศึกษาและการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองระดับปฐมวัย
  • สมองกับการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย
  • การจัดกิจกรรมศิลปะระดับการศึกษาปฐมวัย
  • การจัดกิจกรรมภาษาและการสื่อสารสำหรับเด็กปฐมวัย
  • ลีลา จังหวะและการเคลื่อนไหวสำหรับเด็กปฐมวัย
  • การวัดและประเมินผลการเรียนรู้
  • การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้
  • วิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย
  • นวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับเด็กปฐมวัย

 

  • สร้างเครือข่ายขับคลื่อน EF กับโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน

เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการเผยแพร่ความรู้และนำความรู้ทักษะสมอง EF ไปใช้งานในจังหวัดนครศรีธรรมราชอย่างแพร่หลาย มหาวิทยาลัยจึงกระจายความรู้สู่บุคลากรการศึกษาเด็กปฐมวัยในโรงเรียนเครือข่ายการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ทั้งโรงเรียนสังกัดต่างๆ โรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อส่งต่อโอกาสในการยกระกับการเรียนรู้ให้ครูโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล ได้นำความรู้ทักษะสมอง EF ไปใช้ได้จริงในทุกๆ ห้องเรียนของเด็ก

  • เพิ่มศักยภาพครูสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ด้วย Active Learning
    • “โครงการยกระดับการเรียนรู้โรงเรียนเครือข่ายขนาดเล็กโดยใช้นวัตกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning บูรณาการการอ่านออกเขียนได้และส่งเสริมคุณธรรม 4 ประการ”
    • โครงการหนึ่งโรงเรียนหนึ่งนวัตกรรม” เชิญโรงเรียนในเครือการฝึกประสบการณ์วิชาชีพเข้าอบรมและเป็นเครือข่ายของเราเพื่อใช้ทักษะสมอง EF กับการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน

    ความเปลี่ยนแปลง

    • อาจารย์เห็นความสำคัญของ EF ในการพัฒนากระบวนการเรียนการสอน มีความตื่นตัวและพร้อมพัฒนาตนเอง

    กุญแจสู่ความสำเร็จ

    • ผู้บริหารให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้บุคลกรเข้ารับการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะความรู้ EF อย่างต่อเนื่อง

    บทเรียนที่อยากบอกต่อ

    “…มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชเป็นน้องใหม่ในการขับเคลื่อน EF ในระดับอุดมศึกษา เราเพิ่งเริ่มต้นดำเนินงานก้าวแรกๆ แต่เรามุ่งมั่นที่จะก้าวต่อไป…”

    อาจารย์สุชาดา จิตกล้า
    อาจารย์ประจำหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย
    คณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

    THAILAND EF PARTNERSHIP

    เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ