096-356-9461 support@rlg-ef.com

โลกในศตวรรษที่ 21 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผวน (disruptive world) เป้าหมายและกระบวนการในการสร้างคนรุ่นใหม่ที่จะสามารถดำรงชีวิตให้อยู่รอด มีสุขภาวะที่ดีในทุกมิติ ทั้งร่างกาย อารมณ์จิตใจ สังคมและสติปัญญา รวมทั้งมีความสามารถสร้างสรรค์ เพื่อเป็นทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพ อันจะเป็นรากฐานของการสร้างสังคมสุขภาวะของประเทศไทย จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง

นักวิชาการจากทั่วโลกในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนามนุษย์ ทั้งจากสาขาประสาทวิทยาศาสตร์ จิตวิทยา และการศึกษา ค้นพบและยอมรับกันทั่วไปแล้วว่า ทักษะสมองที่เรียกว่า Executive Functions (EF) เป็นทักษะที่สำคัญยิ่งยวด เป็นศักยภาพที่มนุษย์ทุกคนมีมาแต่กำเนิด แต่จะต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  เพื่อให้เป็นรากฐานอันแข็งแกร่งของการพัฒนา ทักษะศตวรรษที่ 21  โดยเฉพาะการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking)  การคิดสร้างสรรค์ (​Creativity)  การสื่อสาร (Communication)  การทำงานรวมหมู่  (Collaboration) การมีบุคลิกภาพที่เข้มแข็ง แต่ยืดหยุ่นปรับตัว การยอมรับความแตกต่าง  และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุขในสังคม รวมถึงการมีสุขภาวะที่ดีในทุกมิติ

ความรู้เกี่ยวกับทักษะสมอง Executive Functions (EF) ชี้ชัดว่า  การพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า(EF) ใช้ระยะเวลายาวนานจากขวบปีแรก จนถึงประมาณวัยผู้ใหญ่ตอนต้น (25-30 ปี) แต่ช่วงปฐมวัยเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด และมีอัตราการพัฒนาได้ดีที่สุด ที่จะปลูกฝังทักษะ EF ได้อย่างมีประสิทธิภาพจนเป็นบุคลิกภาพ หากพ้นช่วงเวลานี้ไปแล้ว โอกาสแห่งการพัฒนาคุณลักษณะแห่งสุขภาวะทุกด้านของชึวิตก็จะลดลง

เป็นความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งยวด ที่ครูปฐมวัยรุ่นใหม่ทุกคน จะต้องเข้าใจธรรมชาติสมองของเด็กปฐมวัยให้ชัดเจนและลึกซึ้ง เพื่อเปิดโอกาสให้สมองของเด็กปฐมวัยได้รับการส่งเสริมทักษะสมอง Executive Functions (EF) ดังนั้น ไม่เพียงแต่ครูปฐมวัยรุ่นใหม่จะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับองค์ความรู้ Executive Functions เพื่อเป็นพื้นฐานในการออกแบบจัดการเรียนรู้ และประเมิน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาบุคลิกภาพของเด็กปฐมวัยในช่วงวัยที่สำคัญที่สุดนี้เท่านั้น หากแต่ครูรุ่นใหม่ทุกคน ไม่ว่าจะสอนวิชาใดๆ ก็มีความจำเป็นยิ่งที่จะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติการทำงานของสมองและทักษะสมองส่วนหน้าว่า พฤติกรรมและการเรียนรู้ของเด็กทุกวัยทุกด้านเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองทั้งสิ้น

ปัจจุบัน การผลิตครูในมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง ๓๘ แห่ง ยังไม่มีวิชาที่สร้างความรู้ความเข้าใจแก่นักศึกษาครูในเรื่อง ธรรมชาติ การทำงาน การพัฒนาสมองของเด็กปฐมวัย มีแต่วิชา “ทักษะการคิด” ซึ่งเน้นสอนให้นักศึกษาครูรู้จักว่าการคิดมีกี่ประเภท เช่น การคิดพื้นฐาน การคิดขั้นสูง และให้นักศึกษาเรียนรู้กิจกรรมเพื่อฝึก เพื่อส่งเสริมการคิด เช่น การตั้งคำถาม เป็นต้น นอกจากนี้ ในวิชาพัฒนาการเด็ก มีการสอนเรื่องการส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้ลงลึกถึงการพัฒนาทักษะสมอง กล่าวได้ว่า นักศึกษาครูปฐมวัยที่ผลิตจากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง ยังมี Gap of Knowledge ในเรื่องทักษะสมอง EF ซึ่งเป็นทักษะสมองสำคัญยิ่งยวดที่ต้องพัฒนาในช่วงปฐมวัยนี้เท่านั้น

ในการดำเนินการขับเคลื่อน EF ของสถาบัน RLG ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ที่ผ่านมา แม้จะได้ดำเนินการอบรม EF พื้นฐานให้แก่อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏที่สอนภาควิชาปฐมวัยไปแล้วจำนวนหนึ่ง แต่เนื่องจากยังไม่มีหลักสูตรหรือรายวิชาเรื่องทักษะสมอง EF ด้วยนั้น อาจารย์ที่ได้รับความรู้ไปแล้ว จึงไม่สามารถสอนแกนเนื้อหาหลักให้แก่นักศึกษาได้ จึงเพียงแต่ได้ประยุกต์ความรู้ EF เข้าไปสอดแทรก เสริมกับรายวิชาต่างๆ ที่ตนสอนอยู่ แต่หากมีการพัฒนาหลักสูตรเกี่ยวกับทักษะสมอง EF ที่ชัดเจนให้เป็นแกนหลักทางด้านสมองและการเรียนรู้แก่อาจารย์แล้ว อาจารย์ก็จะสามารถนำไปสอนแก่นักศึกษาโดยตรงในรายวิชานั้นได้ หรือจะนำไปประยุกต์ใช้ในรายวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง ก็จะมีแหล่งอ้างอิงทางวิชาการที่เชื่อมต่อกันได้

ในปี ๒๕๖๒ มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศซึ่งเป็นสถาบันหลักในการผลิตครูกำลังอยู่ในช่วงปรับปรุงหลักสูตรผลิตครู  ดังนั้น  คณะกรรมการบริหารสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจึงเห็นสมควรที่จะนำองค์ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติการทำงานของสมองกับการเรียนรู้ และการพัฒนาสมองส่วนหน้า (Executive Functions-EF) ในเด็กปฐมวัย พัฒนาเป็นหลักสูตรเพื่อให้อาจารย์ในภาควิชาปฐมวัยศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งทั่วประเทศ  นำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อปลูกฝังความรู้ความเข้าใจ และทักษะแก่นักศึกษาครูในภาควิชาปฐมวัย ซึ่งจะนำไปจัดการเรียนรู้ให้เด็กปฐมวัยต่อไป

โดยหลักสูตรนี้จะมีรูปแบบการเรียนการสอนและการประเมินผลการเรียนรู้ของนักศึกษาครู เป็นไปตามแนวทาง Competency-based และคณะกรรมการบริหารสภาคณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ ยังเห็นสมควรที่จะนำองค์ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติการทำงานของสมอง สมองกับการเรียนรู้ และการพัฒนาสมองส่วนหน้า (Executive Functions (EF) บรรจุเข้าไปในหลักสูตรรายวิชาของวิชา General Education  วิชาทักษะชีวิต และวิชาจิตวิทยา เป็นต้น เพื่อให้คณาจารย์มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถนำไปถ่ายทอดแก่นักศึกษาครูทุกคนที่ผ่านการศึกษาในคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งต่อไป (เป็นงานในระยะต่อไป)

การบรรจุองค์ความรู้เรื่องทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Functions-EF) เข้าไปในหลักสูตร
การผลิตครูของคณะครุศาสตร์ เป็นจุดมุ่งหมายสำคัญอย่างยิ่งที่จะสร้างความยั่งยืน ทำให้การขับเคลื่อนองค์ความรู้ EF ในสังคมไทยที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนมาจนเกิดความสำเร็จด้วยดีมาระดับหนึ่งแล้วได้รับการฝังหมุดในระบบการศึกษา นำไปสู่การพัฒนาการศึกษาไทยให้ก้าวหน้าอย่างแท้จริง ด้วยครูจะมีความเข้าใจผู้เรียน สามารถพัฒนาผู้เรียนได้สอดคล้องกับธรรมชาติความเป็นมนุษย์ และนำพาเด็กและเยาวชนไปสู่เป้าหมายชีวิตที่มีสุขภาวะทุกด้าน และมีความสามารถสูง  อันจะเป็นรากฐานที่แข็งแรงอย่างยิ่งของสร้างประเทศชาติที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป

          ทั้งนี้ ตามข้อเสนอของสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ได้แจ้งชัดเจนว่า การนำความรู้ทักษะสมอง EF เข้าไปในหลักสูตรนั้น จะจัดทำเป็นวิชาใหม่ เพื่อนำเสนอต่อสกอ. ให้การรับรอง ในการปรับปรุงหลักสูตร 4 ปี ของคณะครุศาสตร์ ของทุกมหาวิทยาลัยราชภัฏต่อไป

สถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) ในฐานะศูนย์ประสานงาน Thailand EF Partnership ซึ่งได้ทำการศึกษาค้นคว้า วิจัย จัดการอบรมพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาในเรื่องของทักษะสมอง EF ร่วมกับนักวิชาการสหสาขา และได้ดำเนินการขับเคลื่อนเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องทักษะสมอง EF อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 โดยการสนับสนุนของสำนักส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชน (สำนัก4) สสส.  จึงได้จัดทำ “โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาหลักสูตรด้านการส่งเสริมทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Functions – EF) และพัฒนาอาจารย์สาขาปฐมวัยศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ” ขึ้น โดยร่วมมือกับสภาคณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ