096-356-9461 support@rlg-ef.com

อาจารย์กุลชาติ พันธุวรกุล
มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์

“ต้องชื่นชมทุกท่านที่เล่าประสบการณ์ให้ฟัง ทำให้เห็นว่ามีต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เราอยู่กลางๆ เป็นจุดยืนของชาวการศึกษาปฐมวัยที่จะต่อสู้เพื่อนักศึกษาของเรา ให้เรามองภาพในอีก 20 ปีข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร” อาจารย์กุลชาติเผยความรู้สึกและเล่าว่า “ตัวเองรู้จัก EF มาตั้งแต่ปี 2558 เพราะไปอบรมกับดร.นวลจันทร์ ดร.ปนัดดา และได้ไปเป็นผู้ช่วยนักวิจัยร่วมกับอาจารย์นิรัญชาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ในเวลานั้นยังไม่ลึกซึ้งกับ EF แค่รู้จัก แล้วพอเข้ามาอยู่ในกระบวนการที่ทำให้เราต้องเข้าอบรม ก็ร้องว่าตายๆ จะได้เรื่องไหม  เพราะเมื่อรู้จักครั้งแรกก็รู้สึกว่ายาก ดูห่างไกล เป็นวิทยาศาสตร์มาก เราหนีวิทย์มาเป็นครู มีความกังวลว่าจะนำความรู้ที่ได้ 100 %  ไปถ่ายทอดได้ประมาณ 80% จึงเป็นเหตุให้เราต้องทำความเข้าใจให้มาก เพราะนักศึกษาต้องคาดหวังว่าจะได้อะไรจากเรา จึงแอบทำการบ้าน ตั้งใจเรียนรู้  แต่พอเข้าไปฟัง เอ๊ะ ไม่ยากอย่างที่คิด เรามองเห็นโมเดลการเรียนการสอนว่าจะทำอย่างไรให้ไม่ยาก นี่แหละสำคัญ

“ในวันอบรม เมื่อวิทยากรมาสอนในแต่ละ section โอ..มายก็อด นี่ไม่ใช่วิธีสอนที่ฉันรู้จัก ที่ฉันเคยเห็น เป็นวิธีสอนที่เราซึ่งเป็นผู้เรียนขณะนั้น ได้ทำ มันซึมตามนิ้ว เพราะเราได้จับ ได้ทำ ได้เรียนรู้ ได้ปฏิบัติ  ก็ปิ๊งแวบ คิดว่าน่าจะสอนได้ มีกำลังใจขึ้นมา นี่คือจุดเริ่มต้น

“พอเรามีองค์ความรู้ ได้ศึกษาเพิ่ม ได้ต่อยอดจากสิ่งที่รู้ ก็คิดต่อ ศึกษาต่อ ต่อยอด นี่เป็นมิติของการเรียนรู้ อีกส่วนหนึ่งเป็นโอกาสที่เราได้รับด้วย โชคดีมากที่มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยลงกรณ์นั้น คณบดีและ อธิการบดียอมรับเรื่อง EF  มีวิสัยทัศน์มองเห็นความสำคัญ ท่านมองว่าต้องต่อยอดความรู้ EF กับการศึกษาทุกระดับ ถ้ามองว่าปฐมวัยเป็นฐานที่สำคัญ เราจำเป็นจะต้องทำให้หลักสูตรปฐมวัยมีเรื่อง EF  ทั้งสองผู้บริหารบอกว่าถ้ามีการอบรมครูที่ไหนเราต้องไปให้ความรู้ครู มีโรงเรียนเอกชนขนาดใหญ่ของประเทศติดต่อมา คณบดีก็รับว่าจะไปอบรม EF ให้ครู นี่คือวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่มองเห็นว่า EF สำคัญกับเด็กปฐมวัย

“เมื่อไปอบรมให้กับครู คาดหวังว่าให้ครูตระหนักว่า EF มีความสำคัญ แล้วครูจะต่อยอดได้เอง เราไปอบรม 2-3 วันมีความสุขมาก นี่คือโอกาสที่ได้รับจากคณบดี

“3 ปีที่ผ่านมาได้พยายามสอดแทรก EF เข้าไปในการสอนจนเป็น routine  เช่นเดียวกับอาจารย์ทุกท่านในหลักสูตรมองเห็นความสำตัญของ EF ทั้งหมด ใส่ EF เข้าไปในรายวิชา พอทุกคนมีจุดหมายเดียวกัน เลยกลายเป็นความสนุก มันไม่ใช่การแข่งขันเอาชนะ แต่เพื่อให้ได้เป้าหมายสูงสุดของเรา  

“ตัวเองพยายามบูรณาการรายวิชาให้กับหลักสูตร 5 ปีด้วย ซึ่งเป็นหลักสูตรเก่าที่ไม่ใด้ใช้ฐานคิดเรื่องสมอง แต่หลักสูตร 4 ปีใช้เรื่องสมองเป็นฐานคิด  ใส่เรื่อง EF เข้าไปทั้งวิชาผู้ปกครอง วิชาชุมชน ส่วนในวิชาวิจัย ได้ใส่ไว้ในเอกสารประกอบการสอนเลยว่า ความรู้เบื้องต้นที่นักศึกษาต้องเข้าใจ คือเรื่องทักษะสมอง EF  พัฒนาการทางสมอง ไม่ใช่เพียงว่าเด็กต้องผ่านกิจกรรมอะไร ต้องรู้อะไร  ต้องเข้าใจว่ายุคนี้เป็นยุคทองของการเรียนรู้ ถ้าไม่เข้าใจฐานคิดของสมอง การทำวิจัยจะยาก จะทำ treatment อย่างไรให้เหมาะกับเด็ก ก็ยาก ทำไม่ได้

“ในวิชาเครือข่ายชุมชน ผู้ปกครอง ก็ออกแบบโครงการให้ความรู้ EF แก่ครู ผู้ปกครองในชุมชนแถบหลังมหาวิทยาลัย พานักศึกษาไปให้ความรู้ครู ผู้ปกครอง ให้เปลี่ยนมุมมอง  สำหรับตัวเองไปจัดกิจกรรมเกี่ยวกับ EF ให้อบต. ล่าสุดมีโครงการเครือข่ายโรงเรียน เน้นเรื่อง EF

“นอกจากนั้นได้ทำวิจัยเกี่ยวกับ EF โดยทำโปรแกรมการฝึกอบรมครูปฐมวัย การสอนและการจัดทำสื่อเพื่อพัฒนาทักษะสมอง EF เด็กปฐมวัย เป็นทุนวิจัยปี 63  สำหรับนักศึกษาก็ได้ทำการวิจัยในชั้นเรียน เป็นการขยายความรู้ EF ในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ จากอาจารย์เข้าใจ EF ถ่ายทอดความรู้สู่นักศึกษา นักศึกษานำ EF ไปแก้ปัญาในชั้นเรียน แล้วยังกระจายความรู้ EF สู่ชุมชน สู่ท้องถิ่น สู่เด็กปฐมวัย

“ ไม่ได้คิดว่าจะขยายขนาดนี้ คิดเพียงว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำ

“เมื่อสองปีที่แล้ว ก่อนโควิด บูรณาการ EFในรายวิชาสัมมนา ได้ให้นักศึกษาจัดโครงการสัมมนา โดย ให้นักศึกษาที่ไม่ใช่สาขาปฐมวัยมาเรียน แต่นักศึกษาปฐมวัยต้องเข้าด้วยทุกคน ทั้งหมด 300-400 คน เป็นนักศึกษาหลักสูตร 4 ปี และ 5 ปี โดยเชิญ ดร.ปนัดดามาให้ความรู้ เพื่อให้นักศึกษาตระหนักรู้ โดยนักศึกษาเป็นเจ้าภาพ ติดต่อ ประสานงาน จัดงานเอง ไม่ได้มีงบประมาณใดๆ ให้ เป็นงานในรายวิชา งานออกมาดีมาก นักศึกษาทั้งหมดhappyมาก”

“ได้พยายามปลูกฝังทัศนคติให้นักศึกษาว่า นอกจากมีความรู้แล้ว นักศึกษาต้องรู้สึกว่าสำคัญ ถ้าไม่รู้สึกว่าสำคัญ จะไม่ไปต่อ 2-3-4-5 

 “คิดว่าแผนการจัดประสบการณ์ต้องมี EF  แผนที่เป็นแม่แบบก็ต้องมีการวิเคราะห์ EF เข้าไปด้วย นั่นหมายความว่าทุก moment หรือทุก action ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน ต้องรู้ว่าพัฒนา EF ด้านใด  หลักสูตรได้ทำเพจแผนประสบการณ์ที่วิเคราะห์เรื่อง EF ไว้ด้วย”

การเปลี่ยนแปลง/ผลสัมฤทธิ์ หลังจากเรียนรู้ EF และนำความรู้ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน

นำความรู้ EF มาใช้พัฒนาตนเองทั้งในชีวิตประจำวันและการทำงาน   “EF ได้สร้างให้เราเป็นคนที่ทุกขณะจิตจะต้องอยู่กับตัวเอง ต้องเข้าใจตัวเอง ต้องประเมินตัวเองว่าในแต่ละวันเป็นอย่างไร มันกลายเป็นว่าเราเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิต ระวังการใช้ชีวิตมากขึ้น ส่วนในการสอน ทุกครั้งที่สอนจะใช้ EF ด้าน Self Monitoring ทบทวนว่าได้ทำอะไรไปบ้าง เพื่อนำมาพัฒนาการสอน จนเรามี pattern หรือรูปแบบในการสอนที่ชัดเจน ที่จริงมองว่าการสอนคือการใช้ชีวิต เพราะคือวิชาชีพของเรา

เปลี่ยนมุมมอง วิธีคิด  “การที่สถาบันRLGเข้ามาบ่มเพาะอาจารย์ เป็น role model ที่สำคัญมากๆ โดยเฉพาะมุมมอง วิธีคิด ทำให้มุมมองที่เรามองตัวเองและนักศึกษาเปลี่ยนไป จากที่เรามองว่าตัวเองเป็นผู้รู้ 70% ก็มองเป็นผู้รู้แค่ 30% ให้นักศึกษาเป็นผู้รู้ 70% แล้วก็ sharing กัน พอเราเปิดใจปุ๊บ จะเห็นเลยว่า องค์ความรู้ของเรานั้นน้อยเหลือเกิน นักศึกษาทุกคนมีความคิดที่หลากหลาย มีมุมมองที่ทำให้เราได้ว้าวตลอด นำไปสู่การที่เราสามารถเข้าใจความเป็นมนุษย์ และช่องว่างระหว่างgeneration ที่จริงตัวเองกับนักศึกษาอายุไม่ได้ต่างกันมาก แต่ก็มีช่องว่างในเรื่องวิถี เทคโนโลยี เช่นเรารอคอยได้มากกว่า แต่นักศึกษารอไม่ได้ เราจะเอามาตรฐานเราไปใช้ไม่ได้ แต่ถ้าเรามองใหม่ว่าทุกคนมีความต่าง ก็จะเข้าใจธรรมชาติของนักศึกษามากขึ้น นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนไป”

เกิดการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่  “พอเราเปลี่ยนมุมมอง วิธีคิด ก็นำไปสู่การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่พลิกโฉมไป นักศึกษาจะซึมซับความรู้แบบที่เรารู้สึกเมื่อได้เรียนรู้เรื่อง EF กลายเป็นเราต้องปรับตัวเองจาก lecturer เป็น facilitator กลายเป็นเราเฝ้ามองความสำเร็จของนักศึกษา เขาทำได้ขนาดนี้จากการที่เราได้แชร์กัน ห้องเรียนของเราไม่ใช่เป็นห้องที่อาจารย์มาสอนนักศึกษามาเรียน แต่เป็นการแลกเปลี่ยน มีความรู้อะไรก็มาแชร์กัน แล้วพอนักศึกษาปลดล็อค  ก็นำไปสู่การทำกิจกรรมสร้างสรรค์ในชุมชน กับผู้ปกครองและเด็ก”

เกิดการเรียนการสอนที่มีความสุข “สิ่งที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้คือเกิดความสุขทุกๆ ครั้งที่เราสอน เราไม่ได้เข้ามาแล้วบอกว่าเราจะเรียนอะไรกัน แต่วันนี้เป็นวันที่เราจะทำอะไรร่วมกันมากกว่า เปิดการเรียนด้วยความสุข แล้วจบด้วยความสุข แล้วให้นักศึกษาประเมินตัวเองว่าทุกๆ ครั้งที่เราเรียนรู้แล้วเราได้อะไร และจะนำไปต่อยอดอย่างไรได้บ้าง

นวัตกรรม

งานวิจัยเกี่ยวกับ EF  โดยทำโปรแกรมการฝึกอบรมครูปฐมวัย การสอนและการจัดทำสื่อเพื่อพัฒนาทักษะสมอง EF เด็กปฐมวัย

ฝากไว้ให้คิด

“เรื่องวิธีคิด mindset นั้นสำคัญมาก อยากให้มองว่าการที่เราเอา EF เข้ามา เราไม่แค่พัฒนาครู แต่เราพัฒนาคน มองไปอีก 20-30 ปีข้างหน้า นั่นคือผลลัพธ์สำคัญที่จะเกิดขึ้นกับเด็กกับมนุษยชาติ  EF ไม่ได้พัฒนาแค่ปฐมวัย แต่พัฒนาได้ทุกช่วงวัย ทำให้สังคมเรามีคนน่ารัก สมบูรณ์

“รัก EF ที่สามารถเปลี่ยนวิถีของคนที่เคยเป็นคนมีแบบแผนแบบหนึ่งให้เป็นคนที่ดีขึ้นได้  เวลาเรามองตัวเองทุกวันก็มองว่าเราเป็นคนที่ดีเหมือนกันนะ แต่พอมาเจอ EF เข้า เราเป็นคนที่ดีได้มากกว่านี้ เป็นคนที่มีความสุขได้มากกว่านี้ สามารถที่จะให้อะไรคนอื่นได้มากกว่านี้

“ในฐานะที่เป็นครู เคยคาดหวังว่าหน้าที่ของเราคือสอน ให้ความรู้ที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อมาอยู่กับ EF  เรารู้ว่าเราไม่ใช่ผู้ให้ แต่ต้องเป็นผู้ฟังที่มีคุณภาพ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง มีวิถีใหม่ ทำให้มนุษย์ เด็ก ให้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข”

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ