096-356-9461 support@rlg-ef.com

อาจารย์จุฑาทิพย์ โอบอ้อม
มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร

อาจารย์จุฑาทิพย์บังเอิญได้เข้ารับการอบรมเรื่อง EF “คณบดีสายด่วนมาว่าต้องไปอบรมที่ลำปาง ตอนนั้นอาจารย์ท่านอื่นๆ ติดภารกิจกันหมด  เมื่อมาอบรมครั้งแรกคิดว่าเป็นเรื่องทางชีววิทยาศาสตร์ แต่พอเข้าอบรมครั้งต่อๆ มา ประทับใจกับคำที่ว่า “ประสบการณ์ที่มีคุณภาพจะช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม” จึงศึกษาเรื่อง EF เพิ่มเติม หาคำอธิบายจนเห็นภาพ เห็นความสำคัญ และศึกษากระบวนการพัฒนา EF มากขึ้น

“ต่อมาเราเข้าเรียนรู้ต่อเนื่อง ได้เข้าใจคำว่า “ตัวตน” จึงนำมาปะติดปะต่อกัน ทำให้เข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการ EF มากขึ้น จนเห็นว่า EF สำคัญจริงๆ แล้วเอาแนวคิด วิธีการของ EF ไปใช้

“รายวิชาสมองมีอาจารย์อีกท่านสอน ส่วนตัวเองนำเรื่อง EF มาบูรณาการในวิชาการประเมินเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยนำกระบวนการเรียนรู้ EF มาใช้ ซึ่งนักศึกษาชอบมาก

ก่อนหน้านี้วิธีการสอนของอาจารย์จุฑาทิพย์ไม่ใช่แบบนี้ “การสอนนักศึกษาในปีแรกใช้วิธีเอาหนังสือคู่มือมา scan ใส่ในพาวเวอร์พอยต์ บรรยายให้นักศึกษาฟัง เวลาถามก็ตอบได้ แต่เมื่อสอนไปสักพัก รู้สึกว่าเหมือนขาดอะไรไป มาค้นพบภายหลังว่า “feeling” ไม่มี  ในวิชาเคลื่อนไหวและจังหวะซึ่งเป็นหลักสูตรเก่า ถามนักศึกษาว่า จำได้ไหมว่าเวลาเคลื่อนไหวร่างกาย เด็กเหนื่อยเป็นอย่างไร  นักศึกษาก็ตอบได้จากการจำที่เคยสอน แต่ feeling ไม่มา

“ตอนนี้จึงได้ออกแบบกิจกรรม ให้นักศึกษามาเจอกันในช่วงเช้าทุกวันเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ให้เดิน วิ่ง รอบบ่อปลาบึกที่มหาวิทยาลัย เพื่อให้รู้สึกว่านี่คือความเหนื่อยนะ คือเราไม่ได้สอนแค่เนื้อหา แต่สอนให้เชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิม เพราะต้องไปทำกิจกรรมกับเด็ก จะได้เข้าใจเด็ก ซึ่งความรู้สึกบางอย่างในตอนเป็นเด็กเราอาจลืมไปแล้ว เช่นเวลาให้เด็กวิ่งไปเรื่อยๆ โดยไม่มีกำหนดเวลา เราอาจไม่คิดว่าเด็กจะเหนื่อยไหม หิวน้ำไหม  จึงได้ให้นักศึกษาลองปฏิบัติแล้วบรรยายความรู้สึก นี่คือการนำหลักการ “ประสบการณ์คุณภาพ” ไปใช้  การทำแบบนี้เท่ากับการเปลี่ยนตัวเอง เปลี่ยนจากให้เนื้อหา ใช้ ppt  มาทำให้เกิด feeling เพราะถ้า feeling มา(เข้าใจลึกซึ้ง) ก็จะทำให้เกิดกระบวนการที่เป็น Active Learning  ถ้าเราสอนแต่เนื้อหา สมอง EF ของนักศึกษาจะไม่ได้ทำงาน เพราะไม่ได้มีประสบการณ์ตรง ไม่ได้เรียนรู้เข้าใจด้วยตัวเอง

การเปลี่ยนแปลง/ผลสัมฤทธิ์ หลังจากเรียนรู้ EF และนำความรู้ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน

ปรับวิธีการสอนให้เป็น Active Learning เปลี่ยนจากการสอนแบบบรรยาย  เชื่อมโยงความรู้กับชีวิต กับสถานการณ์ต่างๆ ออกแบบกิจกรรมให้นักศึกษาได้ “เกิดความรู้สึก” หรือเข้าใจอย่างลึกซึ้งจากการมีประสบการณ์ด้วยตัวเอง

นวัตกรรม

ปรับการเรียนการสอนรายวิชาการวัดและการประเมินผล  “สถานการณ์เป็นสิ่งสำคัญ เป็นความคิดที่ได้จากการฟังวิทยากรหลักอาจารย์นิรัญชา มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี  จึงออกแบบการเรียนการสอนให้นักศึกษาเข้าใจใน 5 สถานการณ์  โดยให้ตัดสินใจในเรื่องการวางแผน การหาวิธีการใหม่  การแก้ปัญหา การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เชื่อมโยงอยู่ในรายวิชาการวัดและประเมินผล กำลังทดลองทำอยู่”

การพัฒนาการ์ดเกมและบอร์ดเกมเพื่อพัฒนา EF  “เนื่องจากตัวเองเป็นคนติดบอร์ดเกมซึ่งเกี่ยวข้องกับ EF อย่างชัดเจน ขณะนี้กำลังพัฒนาการ์ดเกมและบอร์ดเกมเพื่อพัฒนา EF  ได้นำไปให้ครูทดลองใช้ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยยังไม่ได้ระบุว่าได้ EF อย่างไร ให้มองแค่ว่าใช้แล้วเป็นอย่างไร ครูก็สะท้อนว่าทำให้เด็กควบคุมอารมณ์และจดจ่ออยู่กับเกม จำภาพได้ แต่ยังไม่ได้ไปติดตามอีก ให้เล่นกันไปก่อน แล้วค่อยเอา EF ไปเชื่อมโยง  สื่อการเรียนรู้เมื่อก่อนมักเป็นเกมการศึกษา พอเป็นการ์ดเกม บอร์ดเกม จะเพิ่มความท้าทายขึ้นอีก”

งานวิจัยเรื่อง การจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ประสบการณ์เป็นฐานเพื่อพัฒนาทักษะการคิดเชิงบริหาร  เพื่อต้องการตอกย้ำว่าการใช้กิจกรรมเป็นฐานนั้นได้ผลจริง Active Learning มีผลต่อ EFจริง  

ฝากไว้ให้คิด

“ต้องเปิดใจ ต้องให้โอกาสตัวเองเข้ามาเรียนรู้ EF แล้วเลือกมองหาจุดที่ตัวเองชอบ เอาความรู้มาทดลองปฏิบัติ  ก็จะสามารถเชื่อมโยงความรู้นี้กับชีวิต กับสถานการณ์ต่างๆ เพื่อปรับใช้ให้เป็นประโยชน์”  

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ