096-356-9461 support@rlg-ef.com

อาจารย์ธนาวรรณ รักษาพงษ์
มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

อาจารย์ธนาวรรณได้เข้ารับอบรมเรื่อง EF เมื่อปี 61  “ก่อนหน้านั้นเคยได้ยินเรื่อง EF มาบ้าง ฟังจากคุณหมอประเสริฐบ้าง หาอ่านบ้าง เมื่อได้รับหนังสือเชิญก็ดีใจว่าจะได้ไปฟังเนื้อหาจริงๆ  อาจารย์ที่สาขาไปด้วยกัน 5 คน วิทยากรสอนได้สนุกมาก ไม่น่าเบื่อ แรกๆ คิดว่าเรื่องสมองนั้นยาก แต่เมื่ออบรมก็รับได้ เข้าใจ และมองเห็นภาพมากขึ้น

“EF ไม่ใช่เรื่องใหม่ทั้งหมด และไม่ใช่เรื่องไกลตัว พยายามคิดว่าทำอย่างไรไม่ให้น่ากลัว วันแรกที่สอนบอกนักศึกษาว่าไม่ต้องกลัว เพราะเราไม่ได้มาเรียนเป็นหมอ เราไม่ได้เจาะลึก แต่จะมาดูว่า EF คืออะไร เกี่ยวกับสมองอย่างไร

“สาขาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะเป็นวิชาในหลักสูตร 4 ปี แต่ทางสาขาก็จัดอบรมให้นักศึกษาหลักสูตร 5 ปีที่เรียนอยู่ปี 4 ด้วย  เพราะ EF เป็นเรื่องสำคัญสำหรับเด็กปฐมวัย เราจึงจัดอบรมแล้วบูรณาการ EF เข้าไปทุกปี แต่ปีนี้จะบูรณาการ EF กับ Loose Part

“เรารับผิดชอบวิชาการสังเกตพฤติกรรมเด็กกับวิชาสมอง ก็บูรณาการ EF เข้าไป พยายามไม่สอนเนื้อหา ไม่ได้บรรยายว่า EF มี 9 ด้าน อะไรบ้าง แต่ใช้วิธีสมมติสถานการณ์ แล้วให้นักศึกษาวิเคราะห์ดู EF ใช่EFหรือไม่  EF อยู่ที่ไหนบ้าง หรือให้นักศึกษาไปสังเกตดูพฤติกรรมน้องอนุบาล ดูว่า EF อะไร อยู่ตรงไหน

“อีกวิธีคือติดตามกระแส สถานการณ์ หาข่าวที่เกี่ยว้องกับเด็กปฐมวัย การบ้านการเมือง ให้นักศึกษาถกเถียงกัน วิเคราะห์กัน ห้องเรียนไม่เงียบ นักศึกษาก็ได้ฝึก EF เพราะต้องหยุดฟังเพื่อน ต้องดึงความรู้เดิมมาใช้ ต้องคิดไตร่ตรอง ต้องประเมิน  อาจารย์เองก็ออกแบบการเรียนการสอนให้น่าสนใจมากขึ้น

“วันนี้ EF ไม่ใช่เรื่องใหม่มาก แต่ทำอย่างไรให้เป็นเรื่องที่ไม่เก่าแล้วคนลืม แต่เป็นเรื่อง ณ ปัจจุบันที่คนยังให้ความสำคัญ”

การเปลี่ยนแปลง/ผลสัมฤทธิ์ หลังจากเรียนรู้ EF และนำความรู้ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน

เปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนการสอน  อาจารย์ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการสอนโดย“ออกแบบกิจกรรมเชื่อมโยงกับเนื้อหา ปัจจุบันมอบหมายให้นักศึกษาเป็นผู้เตรียมกิจกรรมโดยไม่ได้จำกัดแนวทาง ให้อิสระ พอถึงคาบเรียน นักศึกษาเป็นคนจัดกิจกรรม แล้วเราเชื่อมโยงเนื้อหาให้  นักศึกษาแชร์ความคิดเห็นกัน สุดท้ายสรุปการเรียนรู้ร่วมกัน โดยอาจารย์ช่วยย้ำการเชื่อมโยงกับ EF

นักศึกษากระตือรือร้น ตั้งใจเรียนมากขึ้น  “ทุกครั้งที่เรียนจบก็ให้นักศึกษาสะท้อนคิด ถ้าเป็นการเรียนออนไลน์ ก็ให้เขียนใน Google classroom สะท้อนว่า ที่เรียนไปได้ความรู้อะไร เปลี่อนอะไรในตัวเราบ้าง บางครั้งก็ให้โจทย์ไปย้อนคิดว่าในประสบการณ์ที่ผ่านมา คิดว่าสามารถนำ EF ไปใช้ในเรื่องใดได้บ้าง หรือใช้ EF ที่เรียนมาทำอะไรได้บ้าง ก็จะมีบ้างประเภทที่เขียนมาว่าเอาไปเล่นพนันออนไลน์ แต่พอเรียนๆ ไป เขาก็รู้สึกว่ามันไม่โอเคนะ  เหมือนที่อาจารย์ธีราพรบอกว่า เรียนรู้ EFไปเพื่อสร้างสมรรถนะ สร้างคุณลักษณะให้ผู้เรียน ไม่ว่าอาจารย์ หรือนักศึกษา หรือเมื่อเอาไปใช้กับเด็กก็ตาม

“สำหรับการเรียนออนไลน์ คิดว่านักศึกษาจะเบื่อไม่อยากเข้าเรียน แต่กลายเป็นว่าเขาสนุก อยากเข้าเรียน อยากรู้ว่าเพื่อนจะหากิจกรรมอะไรมาเล่น เล่นชนะแล้วจะได้รับแต้ม มีคะแนนสะสม รู้สึกว่านักศึกษาชอบมาก กระตือรือร้น ก็เชื่อว่ากว่าจะได้เกมมา ตัวนักศึกษาเองก็ต้องใช้ทักษะ EF โดยที่เราไม่ต้องบอกว่า EF คืออะไร ต้องใช้ทักษะอะไร แต่ได้ใช้ EF แล้วผ่านงานที่เรามอบหมายไป  เชื่อว่าถ้าความรู้นี้อยู่ในตัวนักศึกษา ซึ่งไม่ได้มาจากการท่องจำ แต่ได้ซึมซับจากการทำกิจกรรมในห้องเรียน ก็จะติดตัวเอาไปใช้ได้ต่อไป”

ฝากไว้ให้คิด

“EF ไม่ใช่การลงทุนที่ต้องเสียเงินเสียค่าใช้จ่ายราคาแพง แต่ต้องใช้เวลา ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่ปฐมวัย เพราะจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า”

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ