096-356-9461 support@rlg-ef.com

อาจารย์นิรัญชา ทิพย์กนก
มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี

อาจารย์นิรัญชามีความรู้เรื่อง EFจากการเคยร่วมทีมวิจัยของ รศ.ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล และเคยได้รับความรู้ EF จาก ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร แม้ว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรีที่อาจารย์นิรัญชาสอนอยู่ในปัจจุบันไม่ได้เปิดรับเรื่อง EF แต่อาจารย์ก็ยังพยายามเอาความรู้ EF ไปสอนนักศึกษาจนได้

“มหาวิทยาลัยฯไม่มีวิชาสมองกับการเรียนรู้ แต่เป็นความดื้อของตัวเอง ประกอบกับได้คณบดีคนเดิมช่วยผลักดันเอา EF เข้ามา เลยเอา EF ไปสอนในวิชาทักษะการคิด ซึ่งเป็นวิชาที่ได้รับมอบหมายมาก่อนแล้ว และได้นำไปบูรณาการในวิชาอื่นๆ ด้วย

“การขยายความรู้ EFสู่นักศึกษาทำได้ไม่เต็มที่ ทำเฉพาะในบริบทของเรา เพราะมีอาจารย์ผู้ใหญ่ควบคุมอยู่ แต่ก็ได้ผู้ใหญ่สนับสนุนให้เอาความรู้นี้ออกไปขยายข้างนอก โดยขยายให้ครูในทุกเขตพื้นที่การศึกษาของกาญจนบุรี ซึ่งเป็นเขตพื้นที่นวัตกรรม

“ที่จริงงานนี้ผู้ใหญ่ให้ทำแค่การศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่แล้วมาบอกว่าอยากให้ช่วยอนุบาลด้วย โดยจะของบประมาณจากศึกษาธิการจังหวัดให้ ตอนแรกได้งบประมาณแค่ 80,000 บาท ขับเคลื่อนครูปฐมวัยในพื้นที่นำร่อง 39 โรง  ไปปรึกษากับ ดร.ปนัดดา ซึ่งให้คำปรึกษาและมาช่วยประคับประคอง ช่วยทำร่างหลักสูตรครู 39 โรงเรียน จนถึงช่วยงานอบรมในวันแรกๆ จากนั้นตัวเองก็ได้ขยายงานจนเต็มพื้นที่

“เมื่อได้นำร่องในเขตพื้นที่ 4 เขตของกาญจนบุรีแล้ว เราก็ให้ครูทั้ง 39 โรงมาเป็นผู้ช่วย มาเป็นครูแกนนำ เมื่ออบรมเสร็จก็ติดตามการขยายผล ใช้เทคนิคคือปล่อย ช่วยอยู่ไกลๆ อะไรขาดจะเติม บางเขตเช่นเขต 4  มีศึกษานิเทศก์มาช่วย ทำให้สามารถขยายองค์ความรู้ไปเต็มพื้นที่ 91 โรง ครู 324 คน มีความรู้EF ทั้งหมด

“ทั้งหมดนี้เป็นอาจารย์คนเดียวในสาขาที่ทำ โดยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอื่นๆ มาช่วยอยู่บ้าง เช่นจากมหาวิทยาลัยราชภัฏฉะเชิงเทรา ทำงานแล้วก็โพสต์ลง facebook บ่อยๆ จนนักศึกษาถามว่าจะได้เรียนเรื่องนี้บ้างไหม อาจารย์ไปทำอะไร บางคนก็มาเสนอตัวเป็นผู้ช่วยทำกิจกรรม

“จึงได้สอนกระบวนการคิดให้นักศึกษา แล้วเอาหลักสูตรที่เราออกแบบมาร้อยเรียง เวลานี้กำลังจะปรับหลักสูตรใหม่ พยายามทำให้มีรายวิชาสมอง

สำหรับประสบการณ์ EF ที่เกิดกับตัวเอง

“เคยมีนักศึกษาพูดว่า อาจารย์ลูกแก้วไม่ได้ใจดีเหมือนหน้าตา เป็นสายโหดเหมือนกัน คือถ้านัดส่งงาน 9 โมง 9 โมงเป๊ะจะผูกเชือกไม่ให้ส่งงาน เครื่องแบบของการเป็นครู กระโปรงต้องคลุมเข่า ต้องถูกระเบียบ  เมื่อก่อนจะคอยตรวจตรา ถ้านักศึกษาแต่งตัวผิดระเบียบจะถามว่าทำไมถึงแต่งตัวแบบนี้ เคยขับรถไล่ตามนักศึกษาที่ใส่รองเท้าแตะแล้วหิ้วรองเท้าหุ้มส้นมา นักศึกษาเห็นรถสีน้ำเงินก็รู้ว่าเป็นอาจารย์ลูกแก้ว ก็เอากิ๊บมาติดผม เปลี่ยนรองเท้า แต่เมื่อมารู้จัก EF เรายืดหยุ่นมากขึ้น เบาลง ไม่คาดหวังเยอะ นักศึกษาก็ทำได้ตามศักยภาพของเขา

“พบว่า พอความเจ้าระเบียบของเราลดลง ศักยภาพนักศึกษากลับไม่ได้ลดลง เป็นเพราะเราคาดหวังเขาเยอะเกินไป เรากลัวคนอื่นมองลูกเราไม่ดี ครูพี่เลี้ยงหรือผู้อำนวยการโรงเรียนก็ไม่ได้มองลูกเราแบบเลวร้ายขนาดนั้น  และอาจเป็นเพราะเป็นนักศึกษาปฐมวัยรุ่นแรกที่ออกไปฝึกประสบการณ์ด้วย เลยคาดหวังมาก และอีกอย่างเราเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ความเชื่อถือจากสังคมค่อนข้างน้อย จึงตั้งความหวังกับเด็กรุ่นแรกนี้มาก เข้มงวด มาก แต่พอเรามาเจอ EF ก็คลายลง ยังมีมัดเชือกรายงานอยู่ ให้ส่งได้ แต่ก็ถามว่าทำไมถึงช้า ช้าเพราะอะไร นักศึกษาก็บอกว่าทำไมเปลี่ยนไป ชอบแบบนี้

“พอเห็นผลที่ออกมา ก็นำความรู้ EFมาใช้กับหลานบ้าง หลานก็เปลี่ยน และได้นำไปใช้กับเด็กในเนิร์สเซอรี่ของตัวเอง โดยบอกกับพ่อแม่ผู้ปกครองว่าเรามีกระบวนการจัดการเรียนสอนแบบนี้ซึ่งพ่อแม่จะต้องให้ความร่วมมือ แล้วจะเห็นผลแบบนี้ๆ  เปิดมาแล้ว 7 ปี feedback ค่อนข้างดี มีคนบอกว่าเด็กช่วยเหลือตัวเองได้ และเมื่อเด็กไปเข้าโรงเรียน feedback จากโรงเรียนก็ดีมาก

การเปลี่ยนแปลง/ผลสัมฤทธิ์ หลังจากเรียนรู้ EF และนำความรู้ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน

เปลี่ยนตัวเอง ยืดหยุ่นมากขึ้น

กระบวนการคิดของนักศึกษาเปลี่ยน  “การสร้างเจตคติที่ดีให้กับนักศึกษาตั้งแต่เริ่มแรก นำไปสู่การเรียนรู้ที่สมบูรณ์”

ขยายความรู้ EF สู่เขตพื้นที่การศึกษากาญจนบุรี 4 เขต โดยจัดอบรมให้ครูโรงเรียนสพฐ. ขยายองค์ความรู้เต็มพื้นที่ 91 โรง ครู 324 คน

สร้างครูแกนนำ  อบรมให้ความรู้ครูปฐมวัยในพื้นที่นำร่อง 39 โรง และให้เป็นครูแกนนำช่วยในงานขับเคลื่อน EF ในเขตพื้นที่การศึกษากาญจนบุรี

ฝากไว้ให้คิด

“EF เป็นเหมือนภูมิคุ้มกันทางจิตใจ ทำให้ได้เห็นค่าของตัวเราเอง เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เห็นคุณค่าของผู้อื่นมากขึ้น….  ประเทศไทยรอไม่ได้ฉันใด เด็กไทยก็รอไม่ได้ฉันนั้น เพราะฉะนั้นขอให้ผู้มีอำนาจมาเรียนรู้ EF ไปพร้อมกับเด็กๆ เถอะ”

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ