096-356-9461 support@rlg-ef.com

อาจารย์ปิยนันท์ พูลโสภา
มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์

อาจารย์ปิยนันท์สอนวิชาการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความพร้อมด้านร่างกาย สื่อและการเล่นสำหรับเด็กปฐมวัย คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย การส่งเสริมร่างกายที่เน้นกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่สำหรับเด็กปฐมวัย  โดยใช้ความรู้เรื่อง EFเป็นฐาน และเชื่อมโยง EF กับ Active Learning  มีนักศึกษาที่เรียนกับอาจารย์ปิยนันท์รวมทุกระดับชั้น 300 คน

“เมื่อรู้จัก EF เราสามารถใช้ความมั่นใจของเราร่วมกับองค์ความรู้ กระบวนการต่างๆ ไม่ว่า PL /Active Learning ที่สอดคล้องกับกระบวนการทำงานของทักษะสมอง EF ทำให้สามารถถ่ายทอดความรู้ให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข เกิดเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพ อยากจะไปเป็นครูที่ดี”

อาจารย์ปิยนันท์เล่าย้อนไปถึงตอนบรรจุเป็นอาจารย์ใหม่ๆ “ตอนนั้นความรู้แน่นมาก จบตรี-โทการศึกษาปฐมวัยมาโดยตรง จึงมีความมั่นใจในศาสตร์ ความรู้ที่เรียนมา  มั่นใจที่จะถ่ายทอดความรู้โดยการบรรยายผ่านเพาเวอร์พอยต์อย่างเดียว ถามว่านักศึกษาเข้าใจไหม ไม่รู้ เขาสอบได้เพราะจำจากการไปอ่านมา ถ้าถามว่านักศึกษาสามารถประยุกต์ใช้ได้ไหม เห็นได้จากการไปนิเทศการฝึกสอนของนักศึกษา นักศึกษาไม่สามารถนำความรู้สู่การปฏิบัติกับเด็กอย่างเข้าใจได้  ครูพี่เลี้ยงสะท้อนมาว่า นักศึกษาไม่มีสมรรถนะในเรื่องการปฏิบัติงาน ไม่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เรียนมานำไปปฏิบัติกับเด็กปฐมวัยได้ 

“เสียงสะท้อนที่ชัดที่สุดคือการประเมินอาจารย์ผู้สอน นักศึกษาจะต้องประเมินอาจารย์ผู้สอนก่อนจึงจะได้เห็นเกรดของตนเอง ปรากฏว่าในสองปีแรกของการเป็นอาจารย์ที่ชอบใช้เพาเวอร์พอยต์ในการสอนเป็นชีวิตจิตใจและบรรยายอย่างเดียว นักศึกษาสะท้อนว่าอาจารย์พูดเร็ว พูดยาวเป็นชั่วโมง ใช้แต่เพาเวอร์พอยต์ และได้คะแนนประเมินจากนักศึกษา 2.7-2.8 จากคะแนนเต็ม ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าเป็นอะไรที่ร้ายแรง จนได้ไปคุยกับอาจารย์ท่านหนึ่งที่เป็นคนกระตือรือร้น ปรากฏว่าอาจารย์ท่านนั้นได้คะแนนประเมินจากนักศึกษา 4.9 ต่ำสุด 4.65 และแทบไม่มี comment ในทางลบเลย ส่วนใหญ่ชื่นชม และมีข้อเสนอให้ปรับเปลี่ยนเล็กน้อย เราก็เลยถามวิธีการ กระบวนการ เป็นจุดเริ่มต้นที่อาจารย์ท่านนั้นชักนำให้เรียนรู้เรื่อง EF

“ได้เรียนรู้เรื่อง EF ครั้งแรกก็ยังไม่เปลี่ยนการสอน รู้ว่า EF มี 9 ด้าน 3 กลุ่ม แต่ยังไม่สามารถนำ EF ไปใช้กับนักศึกษาได้  พอได้เข้ารับการอบรมครั้งที่สอง มีกระบวนการหนึ่งที่ทำให้ได้ย้อนกลับมาดูตัวเอง วิเคราะห์ สังเคราะห์จุดเด่น จุดด้อย ปัญหาตอนนี้คืออะไร เมื่อรู้ปัญหาแล้วเราแก้ปัญหาหรือเดินผ่านปัญหา จนทำให้มีความมั่นใจกลับมา แล้วเริ่มเปลี่ยนตัวเอง เปลี่ยนการเรียนการสอนให้สนุกก่อน

“พอตั้งต้นได้แล้ว การสอนนักศึกษารุ่นถัดมาก็เปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนเป็น Active Learning  โดยตั้งเป้าไว้ว่า นักศึกษาจะต้องมีทักษะความรู้ EF ซึมซับอยู่ในตัวเขาเหมือนเรา คือถ้าเราเปลี่ยนตัวเราได้ เราก็ต้องหากระบวนการที่จะมาเปลี่ยนตัวเขาให้ได้

“สอนทฤษฎีแค่สองคาบเท่านั้น นอกนั้นเป็นการปฏิบัติ และสิ่งที่เห็นได้ชัดคือนักศึกษาจะอยู่กับเราตลอดทั้งคาบเรียน ปฏิบัติ เล่นสนุก ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวกับเรา ตอนท้ายให้เขาได้สะท้อนความรู้สึก หลายๆ ครั้งเขาสะท้อนว่าเขาไม่ได้ชอบนั่งฟังเล็คเชอร์ เขาต้องการกระบวนการที่สามารถ copy ไปใช้กับเด็กนักเรียน พอช่วงปีสาม นักศึกษาจะต้องสามารถ apply เทคนิคกระบวนการ แบบแผนที่เราเคยให้ไปได้ เช่นเพลงนี้ สื่อแบบนี้ จะเอาไปใช้อะไรได้บ้าง หรือสร้างเงื่อนไขอื่นๆ ให้ทำ ก็จะประเมินนักศึกษาจากตรงนี้

อาจารย์ปิยนันท์บอกว่าตั้งแต่เรียนรู้เรื่อง EF ก็เปลี่ยนตัวเองไปมาก “ปรับตัวเองจากที่เคยเป็นคนเถรตรง แข็งกร้าว ไม่รับฟัง ไม่สนใจอะไร สอนเสร็จออกจากห้องเรียน แทบจะไม่ถามนักศึกษาเลยว่าสงสัยอะไรไหม เปลี่ยนมาใช้ความเป็นครูเน้นความเมตตา เมื่ออยู่ในห้องเรียนเราจะวางตัวตนทุกอย่างลง ถ้านักศึกษาต้องการคำปรึกษาก็จะให้คำปรึกษาที่ดี ให้ทางเลือก ไม่ใช่ตัดสินใจให้เขา

“เมื่อก่อนตอนที่ไม่รู้จัก EF แทบจะไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน เพราะมีโลกส่วนตัวสูง มีงานอะไรเข้ามาก็หงุดหงิดไปหมด ไม่อยากจะรับผิดชอบ แต่พอรู้จัก EF ทำให้ตระหนักว่า หนึ่ง เราต้องอยู่กับนักศึกษา ต้องเข้าใจเขา สอง เราต้องดำเนินชีวิต ต้องใช้ทักษะ EF ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเลยถ้าเราปฏิบัติจนเป็นปกติ ทำให้ EF อยู่ในตัวเรา งานใหม่ๆ เข้ามาก็พร้อมจะเรียนรู้ แลกเปลี่ยนกับเพื่อนร่วมงาน 

การปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนและการปรับเปลี่ยนตัวเอง ในที่สุดก็เห็นผลเมื่อนักศึกษาหลักสูตร 4 ปีรุ่นแรกขณะนี้อยู่ปี 3 แล้ว“ผลงานที่น่าภูมิใจที่สุด คือการพัฒนาของนักศึกษา จากเดิมที่เรามองว่าเด็กกลุ่มนี้จะไปเป็นครูปฐมวัยได้อย่างไร เช่น มารยาท ความเป็นครู การสื่อสารที่บกพร่อง พูดไม่มีหางเสียง ไม่สามารถร้องเพลง ไม่กล้าแสดงออก จะไปสื่อสารกับเด็กกับผู้ปกครองได้อย่างไร  ตอนนี้นักศึกษาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การสื่อสาร ทำให้เขาสามารถสื่อสารกับเราซึ่งเป็นอาจารย์ได้ดีขึ้น สามารถแลกเปลี่ยนถ่ายทอดกับเพื่อนได้ แลกเปลี่ยนในกลุ่มได้ เป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้ดีเลิศ แต่เปลี่ยนจากจุดที่แย่ไปที่ step ที่ 1 เราก็ดีใจแล้ว

“ในปีถัดมา นักศึกษาสามารถสื่อสารแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการกับอาจารย์ได้ ซึ่งถ้านักศึกษาไม่ได้รับการบ่มเพาะหรือพัฒนาเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 1 ก็จะไม่สามารถไปต่อได้ในสาขาการเรียนหรือแม้แต่ในการปฏิบัติ  จริงอยู่นักศึกษาในชั้นปี 1 อาจไม่ได้สนุกกับเราทั้งหมด แต่ปีสองเขาเริ่มรู้แล้วว่ากระบวนการของเราเป็นแบบนี้เป็นประจำ ทำให้เขาอยากมาเข้าเรียนกับเรา และทุกครั้งที่เข้าเรียน ถ้าเราดึงตัวตนของเขาออกมาได้ เขาจะอยู่กับเราตลอดคาบ จะเห็นสีหน้าแววตาที่สนุก ไม่ใช่แค่ทำๆ กิจกรรมให้เสร็จๆ ไป แต่เขารู้สึกสนุกไปกับเรา 

“เคยถามนักศึกษาปี 1 ที่เพิ่งเข้ามาเรียนว่าอยากเรียนการศึกษาปฐมวัยเพราะอะไร นักศึกษาตอบว่า..หนูรักเด็ก  แต่การรักเด็กไม่ได้หมายความว่าเขาจะเป็นครูที่ดีได้  เมื่อเรียนมาเรื่อยๆ จนสุดท้ายปลายทาง เราเห็นการเปลี่ยนแปลง ถามนักศึกษาอีกครั้งว่ามาเรียนครูเพราะอะไร เขาตอบว่า เพราะหนูอยากเป็นครู อยากจะพัฒนาเด็ก ทำให้รู้สึกว่า กระบวนการที่เราใช้ถ่ายทอดความรู้ ไม่ว่ากระบวนการ PL ก็ดี  Active Learning ก็ดี ทุกอย่างที่เราทำ ทำให้เขาเกิดการเปลี่ยนแปลง ภูมิใจที่สุด

อาจารย์ปิยนันท์ยังเล่าอีกว่านักศึกษามีความกระตือรือล้นในการลงพื้นที่มากขึ้น “สิ่งที่เห็นได้ชัดสำหรับการเปลี่ยนแปลงของเด็กที่แรกๆ ไม่อยากลงไปทำงานในชุมชน อาจารย์ก็ไม่เข้าใจเด็ก สั่งอย่างเดียว แต่พอเรียนรู้เรื่องทักษะ EF และด้วยวิธีการสื่อสารของอาจารย์เป็นภาษาเดียวกับนักศึกษาที่เป็นวัยรุ่น เขาเข้าใจความต้องการของตัวเอง ความต้องการของอาจารย์ บวกกับเป้าหมายของการพัฒนาว่าสิ่งที่เราไปทำ เราไม่ได้ทำแค่เพื่อตัวเรา แต่ทำเพื่อเด็กในชุมชน ทำเพื่อโรงเรียน ทำเพื่อพ่อแม่ผู้ปกครอง พอนักศึกษาเห็นความสำคัญ ก็มีความกระตือรือล้น มีการวางแผน สามารถมาพูดกับอาจารย์ว่า “อาจารย์คะเราควรจะเตรียมอะไรก่อนดี ประชุมกันไหมคะ ต้องเตรียมสื่อตัวไหนไปบ้าง” หรือ “หนูคิดว่าต้องเอาสื่อตัวนี้ไปน่าจะสอดคล้องทำให้เด็กเกิดทักษะ EF มากขึ้น” หรือเตรียมสื่อไปให้ครูใช้จัดกิจกรรมให้เด็ก”

“ปัจจุบันเห็นได้ชัดว่าสิ่งที่เราได้ช่วยปรับเปลี่ยนตั้งแต่ปี 1 จนถึงปี 3 มาถึงจุดนี้ได้ก็น่าภูมิใจแล้ว ไม่ได้คาดหวังว่านักศึกษาของเราจะต้องได้โล่ได้รางวัล ขอแค่มีพัฒนาการที่ดีขึ้นตามระดับชั้นปีที่เรียน

“การสอบบรรจุครูได้อาจเป็นผลมาจากการอ่านและจำ แต่เชื่อว่าเมื่อนักศึกษาที่จบไปประสบความสำเร็จในการบรรจุเป็นข้าราชการครู เขาจะเอากระบวนการที่เรียนมากับเราหรือกับอาจารย์ท่านอื่นๆ ไปใช้กับเด็กปฐมวัยได้ นี่น่าภูมิใจกว่า”

การนำความรู้ EF ขยายสู่พ่อแม่ผู้ปกครอง และครูทั้งจังหวัดสุรินทร์

นอกจากภารกิจหลักเป็นเรื่องการสอนแล้ว อาจารย์ปิยนันท์ยังได้รับมอบหมายจากอธิการบดีให้ขับเคลื่อน EF สู่ชุมชน “ถ้าพูดถึงการพัฒนาเด็กในชุมชน ก็คือเด็กในความดูแลของศพด.(ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก)  ซึ่งเดิมครูศพด.ไม่ได้ถูกกำหนดว่าต้องมีวุฒิการศึกษาปฐมวัย เด็กในศพด.จึงได้รับการดูแลแค่เรื่องกิน นอน เล่น ไม่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการ  แต่ตอนนี้ทางอปท.ซึ่งเป็นต้นสังกัดของศพด.ได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องการพัฒนาเด็กมากขึ้น นอกจากครูศพด.ต้องจบการศึกษาปฐมวัยมาโดยตรงแล้ว สำหรับจังหวัดสุรินทร์ อปท.ยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์และมูลนิธิเด็กน้อยพัฒนานำความรู้ EF ไปถ่ายทอดให้พ่อแม่ผู้ปกครองในชุมชนได้นำไปดูแลพัฒนาลูกหลาน

“ท่านอธิการบดีเห็นความสำคัญเรื่องนี้และมอบหมายให้เรากับอาจารย์ผ่องนภานำนักศึกษาลงชุมชน  ให้ความรู้ผู้ปกครองในเรื่องของการเลี้ยงดู การส่งเสริมทักษะ EF ให้ลูก การพัฒนาลูกผ่านการเล่น มีการให้ความรู้พร้อมตัวอย่างกิจกรรม และนำสื่อต่างๆ เช่น ของเล่น เกมง่ายๆ ไปใช้กับเด็ก ในการลงพื้นที่แต่ละครั้ง เรามองสภาพแวดล้อมด้วยว่าควรจะจัดสภาพแวดล้อมอย่างไรที่จะทำให้เด็กเกิดทักษะ EF ได้  ผู้ปกครองก็สามารถเข้าใจได้ว่า EF สำคัญ และ EF ไม่ได้อยู่นอกบ้าน แต่จริงๆ แล้ว EF มีอยู่ในตัวเราทุกคน เพียงเข้าใจก็สามารถใช้ EF ของเราส่งเสริมทักษะลูกหลานได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กในเมืองหรือเด็กในชนบท

“เราเอา EF ไปขยายในศพด.เริ่มจาก 1-2 ศูนย์ ปัจจุบันขยายวงกว้างขึ้นในระดับจังหวัด แล้วเราไปเป็นวิทยากรขยายความรู้กับครูในพื้นที่เขตการศึกษาต่างๆ ซึ่งจังหวัดสุรินทร์มีทั้งหมด 3 เขต แทบจะพูดได้ว่าครูทุกคนในจังหวัดสุรินทร์รู้จัก EF แต่ถามว่าสามารถเชื่อมโยงกับการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยได้ไหม อาจจะไม่ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี ที่ความรู้ EF ได้ขยายสู่ครูทั้งจังหวัดสุรินทร์”

แผนงานขับเคลื่อนเรื่อง EF ในอนาคต อาจารย์ปิยนันท์ต้องการทำความร่วมมือกับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยภายในจังหวัดสุรินทร์ทั้งหมดเพื่อขับเคลื่อน EF  “จริงๆแล้วเป็นเรื่องใหญ่ เพราะแต่ละองค์กรก็มีแผนงานบริหารตัวเอง  ในจังหวัดสุรินทร์มีศพด. 500 กว่าแห่ง ตอนนี้ขยายความรู้ EFไปได้ครึ่งหนึ่งเท่านั้น  สามารถจะขยายไปได้อีก ซึ่งเราเองกับทีมวิทยากรกระบวนการที่มีความเข้าใจเรื่องทักษะ EF ก็เริ่มมีมากขึ้น  โดยเราพัฒนาครูให้มาเป็นทีมวิทยากรเพื่อจะได้ช่วยเราขยายความรู้ EFออกไปให้กว้างยิ่งขึ้น  ปัจจุบันศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เราถ่ายทอดองค์ความรู้ EF ไปแล้วจับมือกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใกล้เคียงถ่ายทอดความรู้ให้กัน โดยทางเราไปช่วยเสริม  ดังนั้นในการทำงานตอนนี้ กับแผนที่มองไว้ภาพกว้างๆ ก็ค่อยๆ ขยับไป แต่รู้สึกว่าแบบนี้จะมั่นคงที่สุด ตราบใดที่เรายังสามารถควบคุม ดูแล ติดตาม ได้อย่างทั่วถึง ก็น่าจะยั่งยืนได้”

การเตรียมนักศึกษาปฏิบัติงานพัฒนาชุมชน

 

นอกจากสอนแล้ว อาจารย์โสภิดายังมีภารกิจในการพานักศึกษาไปร่วมพัฒนาชุมชน เช่น ร่วมกับอาจารย์ในการไปให้ความรู้และจัดกิจกรรมในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ให้ความรู้ EF แก่ครูในท้องถิ่น เป็นต้น อาจารย์โสภิดาได้นำประสบการณ์การเตรียมนักศึกษาก่อนพาไปปฏิบัติงานในชุมชนมาแลกเปลี่ยน 

“ก่อนจะพานักศึกษาลงชุมชนเพื่อพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เราต้องให้ความรู้นักศึกษาก่อนในเรื่อง กระบวนการที่จะทำกับเด็ก จะพัฒนาเด็กอย่างไร ส่งเสริมเด็กอย่างไรบ้างใน 1 วันที่ไป รวมทั้งให้ความรู้ในส่วนของทักษะปฏิบัติ  เรื่องสื่อ การใช้สื่อ การใช้แผนการสอน การจัดสภาพแวดล้อม

“ก่อนหน้าที่จะรู้จัก EF ไม่ค่อยมีนักศึกษาอยากไปลงชุมชนด้วย เพราะอาจไม่มีฐานความรู้หรือแม้แต่ไม่ได้มีความรักในวิชาชีพจริงๆ  แต่เมื่อตัวอาจารย์มีทักษะ EF ใช้กระบวนการต่างๆ ถ่ายทอดให้ความรู้เขา เขาจะซึมซับกระบวนการ และเกิดเจตคติที่ดีว่าสิ่งที่เราถ่ายทอดนั้น เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเราเอง เราทำเพื่อคนรุ่นหลัง ทำเพื่อเด็กๆ  

“พอเราให้องค์ความรู้มากขึ้น ใช้กระบวนการมากขึ้นจนนักศึกษาเกิดเจตคติที่ดีแล้ว เมื่อเราพาไปลงพื้นที่เขาก็กล้าที่จะใช้ความรู้ของเขาไปพัฒนาเด็ก และหลังจากทำงานเสร็จทุกครั้ง เราจะประชุมกัน สรุปผล ความรู้สึก และประสบการณ์ที่ได้รับจากการออกไปพัฒนา สิ่งที่สะท้อนให้เห็นคือ 1) นักศึกษามีความมั่นใจที่จะไปเป็นครู 2) นักศึกษามีทักษะปฏิบัติ 3) นักศึกษาได้เรียนรู้กระบวนการที่สามารถพัฒนาทักษะ EF เด็กปฐมวัยได้ จากองค์ความรู้ที่มี นักศึกษาสามารถจัดสภาพแวดล้อม สามารถผลิตสื่อแล้วส่งต่อให้ครูเพื่อให้ครูนำไปใช้พัฒนาเด็กได้  ครูสะท้อนผลกลับมาว่าได้นำไปทดลองใช้กับเด็กในชุมชน ในโรงเรียน ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้ผลดี เด็กเกิดทักษะการคิด เกิดทักษะ EF  เด็กสามารถเล่นร่วมกับเพื่อนได้ รู้จักรอ รู้จักอดทน  

ผลสะท้อนที่ดีนี้ รวมทั้งนักศึกษาเข้าใจกระบวนการส่งเสริมพัฒนาการ และ EF ทำให้นักศึกษามีความรู้สึกที่ดีต่อวิชาชีพ  เชื่อว่านักศึกษาที่จบไปจะไปเป็นครูที่มีความเข้มแข็งทางวิชาชีพ และมีจิตใจที่เมตตาต่อศิษย์ด้วยประสบการณ์การเรียนรู้จากเรา”

การเปลี่ยนแปลง/ผลสัมฤทธิ์ หลังจากเรียนรู้ EF และนำความรู้ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน 

เปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนเป็นแบบ Active Learning

เปลี่ยนการสอนแบบการบรรยายผ่านเพาเวอร์พอยต์มาเป็น Active Learning การเรียนการสอนแบบเดิมนักศึกษาอาจสอบได้ แต่ไม่สามารถเชื่อมโยงความรู้ไปสู่การปฏิบัติได้ นักศึกษาไม่มีสมรรถนะในเรื่องของการปฏิบัติงาน ไม่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เรียนมาแล้วนำไปปฏิบัติกับเด็กปฐมวัย ส่วนอาจารย์ก็ได้รับการประเมินจากนักศึกษาในแง่ลบ

เปลี่ยนตัวเอง

– ความรู้เรื่อง EF ทำให้เข้าใจตัวเอง  การเข้าใจตัวเองทำให้เราสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ในตัวเราให้กับนักศึกษาได้

– เปลี่ยนบุคลิกภาพ เป็นครูที่เน้นความเมตตา “จากที่เคยเป็นคนเถรตรง แข็งกร้าวเกินไป ไม่รับฟัง ไม่สนใจอะไร สอนเสร็จออกจากห้องเรียน แทบจะไม่ถามเลยว่าสงสัยอะไรไหม เปลี่ยนมาใช้ความเป็นครูเน้นความเมตตา เมื่ออยู่ในห้องเรียนเราจะวางตัวตนทุกอย่างลง ถ้านักศึกษาต้องการคำปรึกษาก็จะให้คำปรึกษาที่ดี ให้ทางเลือก ไม่ใช่ตัดสินใจให้เขา”

– เปิดใจกว้างมากขึ้น มีปฏิสัมพันธ์กับนักศึกษา เพื่อนร่วมงานมากขึ้น พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ยินดีรับผิดชอบงานใหม่ๆ

นักศึกษาเปลี่ยน

– นักศึกษาสนุกกับการเรียน 

-นักศึกษาสามารถสื่อสารกับอาจารย์ได้ดีขึ้น คือสามารถแลกเปลี่ยนถ่ายทอดกับเพื่อนได้ แลกเปลี่ยนในกลุ่มได้ และการพัฒนาขั้นต่อมาคือสามารถสื่อสารแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการกับอาจารย์ได้  ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญในการสาขานี้หรือแม้แต่ในการปฏิบัติในชั้นเรียน

– นักศึกษาเกิดเจตคติอยากเป็นครูที่ดี  อยากเป็นครูเพราะอยากจะพัฒนาเด็ก

– นักศึกษามีความกระตือรือล้นในการลงพื้นที่มากขึ้น จากการที่เข้าใจความต้องการของตัวเอง ความต้องการของอาจารย์ บวกกับเห็นเป้าหมายหรือความสำคัญของสิ่งที่จะทำ ว่าไม่ได้ทำแค่เพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อเด็กเพื่อโรงเรียนในชุมชน เพื่อพ่อแม่ผู้ปกครอง

ฝากไว้ให้คิด

“การเรียนรู้เข้าใจทักษะ EF ไม่ใช่เรียนรู้ครั้งเดียวแล้วจบ  เมื่อเราเรียนรู้เข้าใจทั้งหมดแล้วเราสามารถถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ได้ถูกต้องชัดเจน แล้วลูกศิษย์สามารถถ่ายทอดสู่ลูกศิษย์ตัวเล็กๆ ได้ นั่นคือสิ่งที่ใช่”

เทคนิคปรับตัวให้ทันนักศึกษา Gen ใหม่

การสอนนักศึกษาซึ่งเป็นวัยรุ่นและแต่ละรุ่นเปลี่ยนไปตามยุคสมัย อาจารย์ผู้สอนจำเป็นต้องมีเทคนิคในการสอนและรับมือกับลูกศิษย์ อาจารย์ปิยนันท์เล่าว่า “เด็ก gen ใหม่เกิดมาท่ามกลางเทคโนโลยี ทำให้เขาไม่นิ่ง และอยู่ในช่วงวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่แรงและเร็ว เราต้องเริ่มจากมีจิตเมตตาก่อน ส่วนองค์ความรู้สามารถเรียนรู้สืบค้นได้ และอีกอย่างอาจารย์ควรต้องมีความเชี่ยวชาญในการสอน  มีรูปแบบกระบวนการในการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลาย หากเราจัดการเรียนการสอนในรูปแบบการบรรยาย พูดตลอดทั้งคาบ 30-40 นาที เชื่อว่าผู้เรียนไม่สามารถจะรับไปได้ทั้งหมด นอกจากนักศึกษาจะมีความจำที่ดีและตั้งใจฟัง ก็จะจำได้ ทำข้อสอบได้

“การสอนนักศึกษาที่เป็น generation ใหม่  อาจารย์ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว ต้องเริ่มต้นที่ตัวเอง เปลี่ยนการสอนเป็นกระบวนการปฏิบัติ เน้นให้นักศึกษามีส่วนร่วมกับอาจารย์ ทำงานด้วยกัน แลกเปลี่ยนกันในห้องเรียน เราต้องวางตัวตนลง แล้วใช้ความเป็นครู ความเมตตา ถ่ายทอดความรู้  เพราะนักศึกษาจะเลียนแบบพฤติกรรมของเราที่เป็นครูของเขาไปใช้กับเด็กตัวเล็กๆ  ถ้าเรามีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรง นักศึกษาก็จะเลียนแบบไปใช้กับเด็กด้วย เพราะฉะนั้น อย่างน้อยเราต้องเป็นแม่แบบที่ดี เพื่อศิษย์ของเราจะไปเป็นครูที่ดีมีเมตตาต่อเด็กๆ ที่เขาจะไปสอน 

“การทำหน้าที่อาจารย์ของเราไม่ใช่สอนแค่ในห้องเรียนแล้วจบ เรายังต้องดูแลนักศึกษาในเรื่องอื่นๆ ด้วย ให้คำปรึกษา ให้ทางออก ทางเลือก ไม่ตัดสินเขา คุยแบบเป็นเพื่อน ฟังเขาให้มาก เมื่อไรก็ตามที่เราฟังเขา เขาจะพูดกับเรา ถ้ามีปัญหาเขาก็จะเดินมาหาเรา จะไม่ไปหาอบายมุขต่างๆ ที่จะทำให้เสื่อมหรือมีปัญหามากขึ้น

“แต่การจะช่วยเด็กได้ต้องเริ่มจากเข้าใจตัวเองก่อน แล้วเราจะเข้าใจตัวนักศึกษาได้ง่ายขึ้น เราจะรู้ว่าเขาอาจไม่ต้องการให้เราช่วยแก้ปัญหา เพียงต้องการคนรับฟังเพื่อให้รู้สึกคลายลง แต่บางปัญหาที่เราสามารถเข้าไปแก้ได้ เราก็พยายามแก้ โดยเริ่มจากให้คำแนะนำก่อน ไม่ใช่เข้าไปแก้ไขทันที ไม่ว่าเรื่องเรียนหรือเรื่องส่วนตัว

“ปีหนึ่งๆ มีนักศึกษาใหม่ผ่านเข้ามา 60-100 คน เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้เร็ว เด็กรุ่นใหม่มักมีปัญหาเรื่องพฤติกรรม กิริยามารยาท เราก็ค่อยๆ ปรับไป สังเกตว่าเคยใช้คำพูดที่แรงกับนักศึกษาแต่ไม่ทำให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนั้นจึงเปลี่ยนมาฟังเขา แล้วค่อยๆ ปรับเปลี่ยนเขา บอกพฤติกรรมที่เหมาะสมให้เลย เช่นบอกว่า “ถ้ารู้ตัวว่าพูดเร็วก็พูดให้ช้าลง” “ถ้ารู้สึกว่าพูดแข็งเกินไปก็ฝึกซ้อมดูนะลูก”  “ถ้าพูดกับอาจารย์ พูดแบบไม่มีหางเสียงก็ไม่น่ารัก เรามาฝึกกันนะ”

“จะปรับพฤติกรรมเด็กตั้งแต่ปี 1 พอขึ้นปี 2 ก็จะปรับกระบวนการให้เขาสามารถเชื่อมโยงวิชาหนึ่งไปสู่สมรรถนะอื่น เชื่อมโยงกับศาสตร์ใหม่ๆ ที่เข้ามา ไม่ใช่เรียนรู้เนื้อหาแล้วจบ เช่น Active Learning,  EF + active learning,  Home Based Learning  การจัดการเรียนการสอนของเราจะต้องพัฒนาเด็กไปตามลำดับขั้น จากเรื่องพื้นฐานไปสู่จุดที่นักศึกษาจะดึงศักยภาพของตัวเองออกมาได้”

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ