096-356-9461 support@rlg-ef.com

ผศ.ชนกพร ธีระกุล
มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

“3 ปีที่แล้ว มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีไปอบรม EF กันทั้งสาขา 7 คน เป็นความโชคดีที่จะได้ up skill กัน เพราะหัวข้อการอบรมน่าสนใจ  และไปด้วยกันทั้งหมดจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน มีแนวคิดทิศทางเดียวกัน ช่วยกันเติมเต็ม นำไปสู่การปฏิบัติได้”  

อาจารย์วารวิชนีเล่าถึงบรรยากาศการอบรมว่า “อบรมหลายวัน มีกิจกรรมต้องเข้าร่วมมากมาย แต่การปูพื้น การเริ่มต้นของวิทยากรและทีมงานทำให้เรา relax  ตั้งแต่ส่งดอกไม้ วาดรูป เราอยู่ในศาสตร์นี้เลยเห็นความละเอียดอ่อน เป็นเรื่องน่ารัก ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี

“ในการร่วมกิจกรรมมากมายเหล่านั้น ก็แอบสงสัยไปด้วยว่าจะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร กังวลเรื่องการเอาไปใช้ เอาไปสอนนักศึกษา อยากเห็นกิจกรรมที่นำไปสู่การปฏิบัติ แต่ทีมวิทยากรก็ทำให้เบาใจได้บ้างว่าเราจะต้องเอาไปประยุกต์ใช้อย่างไร  หลังจากนั้นได้ไปเข้าร่วมอบรมอีกหลายครั้ง

อาจารย์วารวิชนีบอกว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฏร์ธานีได้ทำการปรับเปลี่ยนคำอธิบายรายวิชาสมองกับการเรียนรู้บางส่วน และให้เป็นวิชาเอกเลือก ไม่ใช่เอกบังคับเหมือนในบางมหาวิทยาลัยราชภัฏที่เอา EF เข้าไปบูรณาการ  “ในวิชาที่เด่นๆ เช่นทักษะการคิด ก็มีคำอธิบายที่เกี่ยวกับเรื่องของสมองที่จะเชื่อมโยงได้โดยตรง ดังนั้นวิชาสมองกับการเรียนรู้ที่อยู่ในหลักสูตร 4 ปี จึงเป็นวิชาเอกเลือกที่เราสามารถให้ความรู้ EF ในชั้นปีอื่นๆ และยังสามารถให้นักศึกษาได้เรียนรู้ก่อนจะไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพด้วย

“ดังนั้นจึงเป็นความโชคดีที่อาจารย์ในสาขามีโอกาสได้ไปเข้าร่วมอบรมทุกคน เพราะฉะนั้นทุกคนจะมีทิศทางเดียวกัน มีการนำองค์ความรู้นี้ไปประยุกต์ใช้ในรายวิชาต่างๆ  เช่นตัวเองที่เคยสอนวิชาดนตรีและเพลง แอบนำเอากิจกรรมดนตรีในการอบรม EF มาใช้ คือให้เด็กฟังเพลงหลากหลายแนวซึ่งอาจจะมีแค่ทำนองแล้ววาดภาพ แต่สิ่งที่ได้มานั้นมหัศจรรย์ คือสามารถทำให้นักศึกษาเสียน้ำตาในการเล่านำเสนอผลงาน  วิธีการคือเปิดเพลงคนละสไตล์ เพลงหนึ่งเป็นเพลงโมสาร์ทที่มีทำนองกระปรี้กระเปร่า อีกเพลงเป็นเพลงบรรเลงเปียโนซึ่งมีทำนองเศร้า แล้วให้นักศึกษาวาดภาพ ภาพออกมาลายเส้นจะต่างกัน ซึ่งเราไม่ได้บอกนักศึกษาเลยว่าเพลงที่เปิดเป็นเพลงประเภทใด เจ้าของเพลงเป็นนักดนตรีแบบไหน ใช้เครื่องดนตรีอะไร แต่สิ่งที่นักศึกษานำเสนอออกมาเป็นการระบายความรู้สึก ย้อนนึกถึงประสบการณ์ บางคนคิดถึงครอบครัว บางคนคิดถึงประสบการณ์ในการลาจาก เช่นนักศึกษาที่มาจาก จังหวัดภาคใต้  นักศึกษาไทย-มุสลิม การมาเป็นครูของเขาจะต้องฝ่าฟันอะไรมาบ้าง หรือจะต้องทิ้งใครไว้ข้างหลังบ้าง บางคนพูดถึงครอบครัวที่ไม่อบอุ่น พ่อแม่แยกกัน ทำให้ได้เห็นหลายๆ อย่างกิจกรรมอื่นๆ  อาจารย์ก็เอาไปบูรณาการให้นักศึกษาเขียนแผน ให้ลองผลิตสื่อต่างๆ  

 “เชื่อมั่นใน EF  สิ่งที่ตัวเองค้นพบคือการตั้งคำถามและการสะท้อนความคิดความรู้สึกเป็นเรื่องสำคัญ  การให้นักศึกษาทำกิจกรรมอะไร จะฟังเพลง จะดูคลิป ต้องบอกจุดประสงค์ว่าสิ่งที่จะให้ดูนั้นเกี่ยวข้องกับรายวิชาอย่างไร และอาจารย์อยากให้นักศึกษาเรียนรู้อะไร เบื้องต้นง่ายๆ ลองสะท้อนความรู้สึกที่ได้ดู ได้ฟังแล้วรู้สึกอย่างไร ดูแล้วได้อะไร มีแง่คิดอะไร นักศึกษาจะชอบวิธีนี้ ซึ่งนักศึกษาสะท้อนตอนประเมินผู้สอน

“บรรยากาศของห้องเรียนเป็นกัลยาณมิตรต่อกันมากขึ้น ตัวเองเวลาสอนจะใช้น้ำเสียงที่เข้มจริงจังหน่อย เพราะนักศึกษามักจะงอแงโดยเฉพาะเวลาเลือกโรงเรียนออกฝึกประสบการณ์วิชาชีพ  ปัจจุบันยืดหยุ่น แต่นักศึกษาต้องให้เหตุผลได้ เมื่อเป็นเด็กเราจะไม่ชอบคำพูดที่ว่า “พรุ่งนี้ต้องส่งนะ” ต้องอย่างนั้นอย่างนี้  ต้องตื่น ต้องทำ รู้สึกเหมือนชีวิตนี้ไม่มีความสุขเลย เมื่อเรารู้ว่าเราไม่ชอบอะไร ก็จะไม่ทำกับนักศึกษาแบบนั้น ในความยืดหยุ่น เราบอกกับนักศึกษาว่า “ส่งช้าได้ แต่ดูซิ เขาพร้อมจะทำและส่งในเวลาที่กำหนด ดังนั้นถ้าช้าต้องมีเหตุและผล และต้องให้คนอื่นยอมรับได้”  การเลือกโรงเรียนไปฝึกประสบการณ์ก็เช่นกัน ทุกคนอยากอยู่ที่สบาย ไม่อยากไปโรงเรียนไกลๆ ดังนั้นถ้ามีเหตุจำเป็น ต้องดูแลพ่อแม่ มีภารกิจต่างๆ จะต้องบอกเหตุผลที่ทุกคนยอมรับได้ เป็นมติของห้อง สุดท้ายก็จะง่ายต่อการบริหารจัดการ

“ปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีสอนออนไลน์  เมื่อวันเปิดภาคเรียน ได้พูดคุยกับนักศึกษาโดยเฉพาะชั้นปี 4 เรื่องการจัดการ การวางแผนที่ต้องมากขึ้น เพราะเวลาอยู่ที่บ้านนักศึกษาจะมีสองบทบาท เป็นนักศึกษาและต้องทำหน้าที่ของลูก บางคนต้องเก็บน้ำยาง หรืองานบ้านอื่นๆ ดังนั้นถ้าไม่ได้วางแผนให้ชัดเจน งานทุกอย่างจะล่าช้า ในส่วนของอาจารย์เองก็พยายามไม่ให้งานมากชิ้น เพราะไม่อยากให้นักศึกษาเครียด เราให้นักศึกษาได้พูดได้ระบาย บางทีนักศึกษาก็เอางานในวิชาอื่นมาเล่าให้ฟัง หรือมีงานต้องส่งวันไหน กี่ชิ้น อย่างไร บางคนก็ขอให้อาจารย์บอกตั้งแต่ต้นคาบ เพราะจะได้วางแผนถูกว่าในรายวิชานี้ ต้องทำกิจกรรมอะไรบ้าง เพื่อจะได้ไปจัดแจงในรายวิชาอื่น

“หลักการของ EFที่ทำให้เป็นคน “คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่กับคนอื่นเป็น และมีความสุขเป็น” เป็น keyword ที่สำคัญมาก สามารถเอาไปใช้ได้กับชีวิตได้  ในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ เราไม่รู้เบื้องหลังของเด็ก ไม่รู้ว่าความเชื่อมั่นของเด็กแต่ละคนมีมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าเราได้ปลูกฝัง EF ไปเป็นพื้นฐานก่อน  เวลาไปเจอสถานการณ์คับขัน ต้องคิดวิเคราะห์ นักศึกษาจะได้ดึง EFออกมาใช้ได้

“บางคนเสี่ยงกับสภาวะซึมเศร้า ไม่มีความมั่นใจในตัวเองทั้งๆ ที่เรียนมา 4 ปีแล้ว เมื่อไปฝึกก็อาจจะเสีย self ได้ว่าจะทำได้มั้ย ด้วยความคาดหวังของโรงเรียน ด้วยความเป็นมือใหม่ ดังนั้นนักศึกษาบางคนก็จะ shut down ตัวเอง ไม่พัฒนา แต่ถ้าเราปู EFให้ จะช่วยนักศึกษาได้มาก

“ในรายวิชาที่สอน เช่นวิชาสุขภาวะ เป็นความรู้องค์รวม เราก็จะสอดแทรกเรื่อง EF ถามนักศึกษาว่าความสุขของหนูคืออะไร ความเครียดล่ะ บอกนักศึกษาว่าเราสามารถบริหารจัดการความเครียด หรือระบายความรู้สึกนี้ออกไปได้อย่างไรบ้าง ไม่เช่นนั้นจะตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้า แล้วสุดท้ายจะทำให้นักศึกษาไม่ประสบความสำเร็จในการฝึกประสบการณ์ บอกนักศึกษาเสมอว่ายินดีรับฟัง แต่ถ้าไม่สะดวกจะคุยด้วย จะไปคุยกับอาจารย์ท่านอื่นๆ ก็ได้ 

“อาจารย์กับนักศึกษาคนละ generation อายุต่างกันมาก เราต้องเท่าทัน อย่าง TikTok ก็เป็นสื่ออย่างหนึ่งที่เราใช้กับนักศึกษา เอาเรื่องความเป็นมนุษย์ รัก โลภ โกรธ หลง ดึงมาพูดคุย  หรือในการสอนออนไลน์ เราให้นักศึกษาเปลี่ยนแบ็คกราวน์ อย่างเช่นสอนวิชาภาษาสำหรับเด็ก ก็บอกว่าวันนี้ให้คิด theme เอง  แรกๆ จะคิดให้ ต่อๆ ไปให้คิดเอง นักศึกษาก็สนุก บอกว่าจะตั้งฉากหลังเป็นอย่างนี้ เป็นคำศัพท์เกี่ยวกับสัตว์ ตัวเลข ดอกไม้ ถ้าเป็นวิชาสุขภาวะ จะพูดคุยเรื่องอาหาร โรคภัยไข้เจ็บ มาหลังๆ ก็บอกมาเองว่าจะขอเป็นประเด็นนี้นะ อาจารย์ให้คิด Theme มั้ย นักศึกษาบอกว่ามีความสุขมากกับการได้พูดได้เล่า

“เด็กสมัยนี้ถ้าเราไปเข้มงวดกับเขามากๆ บางคนจะมีปฏิกิริยา เราก็ต้องเข้าใจเหตุผลในการคิดของเขา และการสอนให้เขารู้จักจัดการอารมณ์เป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีนักศึกษาเป็นโรคซึมเศร้า บางคนต้องกินยาถ้าเครียดมากๆ  ซึ่งเรารู้ช้าเพราะนักศึกษาไม่กล้าเล่าให้ฟัง เราสามารถช่วยให้เขาผ่านไปได้โดยการรับฟัง เข้าใจ ให้กำลังใจ สอนให้นักศึกษาคิดเป็น ทำเป็น รู้จักระบายความเครียด ส่วนตัวอาจารย์ บางครั้งนักศึกษาก็เป็นตัวกระตุ้นอารมณ์เราเหมือนกัน เราต้องพาตัวเองออกมาจากตรงนั้น มาเคลียร์ใจตัวเอง แล้วกลับไปปฏิบัติหน้าที่

“ถ้าเราปลูกฝัง EF ให้นักศึกษาตั้งแต่ตอนนี้ เราก็หวังได้ว่าจะสามารถดึงศักยภาพของเขาออกมาได้ เพราะทุกอย่างในชีวิตเป็นองค์ประกอบ มีผลต่อการเรียนรู้ต่อการพัฒนาศักยภาพ ถ้าเราพยายามเชื่อมโยงให้นักศึกษาเห็นว่า EF อยู่ตรงไหนในชีวิตบ้าง ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก

“ในส่วนของการขยายผล งานบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยเบื้องต้นคือโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จัดอบรมครูโรงเรียนตชด.ในการดูแลของกองกำกับการที่ 41 จังหวัดชุมพรทั้งหมดจำนวน 11 โรง  ในช่วงแรกเชิญครู ครูพี่เลี้ยงที่เป็นเครือข่ายของคณะครุศาสตร์ทั้งหมด แล้วเชิญครูก้า-กรองทอง บุญประคอง มาให้ความรู้

“หลังจากนั้นไปเป็นวิทยากรให้ความรู้ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต่างๆ แต่ยังไม่ครอบคลุมทั้งจังหวัด ได้จัดอบรมให้โรงเรียนสังกัดสพฐ. มีการนำแผนการเรียนการสอน EF ไปบูรณาการที่โรงเรียนอนุบาลสุราษฎร์ธานี”

การเปลี่ยนแปลง/ผลสัมฤทธิ์ หลังจากเรียนรู้ EF และนำความรู้ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน

ผู้สอนเข้าใจผู้เรียนมากขึ้น  อาจารย์ยืดหยุ่นเปิดใจทำความเข้าใจนักศึกษา รับฟังมากขึ้น ทำให้สามารถให้การเรียนรู้กับนักศึกษาที่มีความแตกต่างหลากหลายได้ และสามารถทำให้นักศึกษาซึ่งเป็นคนคนละ generation เปิดใจเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพตนเองได้มากขึ้น

นักศึกษามีทักษะชีวิต นำความรู้ EF ไปใช้ในชีวิตประจำวัน  โดยความเข้าใจในเรื่อง EF ทำให้ “คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่กับคนอื่นเป็น และมีความสุขเป็น”

นักศึกษาเรียนรู้อย่างมีความสุข จากการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ได้แสดงตัวตนผ่านการพูด เล่า และอาจารย์เปิดใจรับฟัง

เกิดการขยายความรู้ EF  โดยจัดอบรมครูโรงเรียนตชด.ในการดูแลของกองกำกับการที่ 41 จังหวัดชุมพรทั้งหมดจำนวน 11 โรง  ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในจังหวัดสุราษฎร์ธานี โรงเรียนอนุบาลสุราษฎร์ธานี

บรรยากาศของห้องเรียนเป็นกัลยาณมิตรต่อกันมากขึ้น

ฝากไว้ให้คิด

“EFเหมือนกระจกที่สะท้อนให้เราเห็นตัวเอง เป็นความรู้ที่นำไปปฏิบัติได้จริง และเห็นผลจริง”

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ