096-356-9461 support@rlg-ef.com

อาจารย์สุชาดา จิตกล้า
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

อาจารย์สุชาดาสอนวิชาสมองกับการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย ศิลปะสำหรับเด็กปฐมวัย สื่อสร้างสรรค์และการเล่นสำหรับเด็กปฐมวัย เมื่อแรกที่รู้ว่าต้องสอนวิชาสมองกับการเรียนรู้ อาจารย์สุชาดายังไม่มีความมั่นใจในการสอนนักไม่ใช่นักศึกษาเท่านั้นที่คิดว่าเป็นวิชาใหม่ สำหรับอาจารย์ก็เป็นวิชาใหม่ สิ่งใหม่ เป็นหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบ ในความรู้สึกแรกคือมันต้องยากแน่ๆ แล้วเราจะสอนเด็กให้เข้าใจได้อย่างไร แต่เมื่อเข้ารับการอบรม EF หลายครั้ง ก็คิดว่าเราต้องเปิดใจก่อน เปิดใจรับกับสิ่งใหม่ๆ ความรู้ใหม่ๆ

“ในการเข้าร่วมอบรม EF มีการทำกิจกรรม วิทยากรบอกว่าเพื่อให้เกิดการเรียนรู้กับตัวเราก่อน พอเราเข้าใจ เราจะได้ทำให้เกิดกับนักศึกษา สิ่งแรกที่เกิดกับตัวเองคือความสุข เมื่อเรามีความสุขเราจะกล้าทำอะไรใหม่ๆ เพราะเกิดจากความสุข ไม่ได้เกิดจากการถูกบังคับ”

“ในคาบแรกที่สอนเรื่องสมองกับการเรียนรู้ ได้เขียน Course Syllabus รายวิชา(โครงสร้างรายวิชา)ว่าจะเรียนรู้อะไรบ้าง นักศึกษาทำหน้าฉงน เพราะบางคนไม่ได้จบสายวิทย์มา ก็ดูเหมือนเป็นเรื่องยาก… นักศึกษาเพิ่งจบชั้นม.6 มาจากคนละที่ การอบรมเลี้ยงดูต่างกัน วิถีชีวิตต่างกัน ยังต้องการเวลาปรับตัว และอาจจะท้อกับการเรียนได้  ดังนั้นจึงเตรียมการก่อนสอนทุกคาบ เพื่อให้นักศึกษารู้สึกว้าว และอยากจะมาเรียนกับเรา โดยใช้ประสบการณ์ที่เคยสอนเด็กปฐมวัยมาก่อนมาสร้างกระบวนการเรียนรู้  แต่ไม่ใช่ว่าจะใช้ได้เสมอไปเพราะพฤติกรรมและตัวตนของแต่ละคนแตกต่างกัน

 “เราใช้วิธีการเรียนการสอนผ่านกิจกรรม ให้นักศึกษาทำกิจกรรมละลายพฤติกรรม ทำกิจกรรมที่เชื่อมเข้าสู่เนื้อหา ให้นักศึกษาเรียนรู้ผ่านกิจกรรมทั้งหมด หมดคาบแล้วเรากลับไปทบทวนและทำการบ้านต่อว่านักศึกษารู้สึกอย่างไร แล้วปรับ ครั้งหน้าจะจัดกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างไรไม่ให้ซ้ำเดิม ไม่ให้เบื่อ ทำอย่างไรให้มีความท้าทาย นักศึกษาอยากเรียนรู้ไปกับเรา เพราะฉะนั้นเป็นวิชาที่เราต้องทำการบ้านดึกตลอด คือนอกจากจะทำความเข้าใจในเนื้อหาแล้ว จะต้องออกแบบกิจกรรมให้น่าสนใจในความรู้สึกของนักศึกษาด้วย เป็นอย่างนี้ไปจนถึงคาบสุดท้ายของการเรียนการสอน”

สิ่งที่ทำให้อาจารย์สุชาดารู้ว่าประสบผลสำเร็จในการสอนแล้ว คือเห็นได้จากกิจกรรมสะท้อนคิดหลังการเรียนที่ให้นักศึกษาซึมซับ EFจากบริบทที่เรียน  “แรกๆ นักศึกษายังสะท้อนคิดในเรื่องทั่วๆ ไป จนกระทั่งวันหนึ่งถามว่า กิจกรรมนี้ EF หลุดหรือเปล่านะ เด็กตอบว่า หลุดค่ะ หลุดอย่างไร…. วันนั้นรู้สึกมีความสุขมากที่นักศึกษาพูดออกมาอย่างนั้น ซึ่งแสดงว่าเขาเกิดการเรียนรู้เข้าใจ  ถ้าเราสอนแต่ content แต่นักศึกษาไม่ได้รู้สึก ไม่ได้เข้าใจด้วยตัวเองก็เปล่าประโยชน์”

นอกจากนั้นอาจารย์สุชาดายังเอาแนวคิดและกระบวนการเรียนการสอนในวิชาสมองกับการเรียนรู้ไปใช้กับวิชาอื่นๆ ที่สอน เช่นส่งเสริมเรื่องความคิดยืดหยุ่น  “ในการเรียนเรื่องการออกแบบสื่อการเรียนรู้ เราให้โจทย์ว่าจะต้อง ป.ประหยัด ป.ประสิทธิภาพ ภูมิปัญญา แล้วให้นักศึกษาแต่ละคนร่างดัมมี่มานำเสนอในห้องเรียน จากนั้นให้เพื่อนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แล้วอาจารย์ให้ความคิดเห็น นักศึกษาเขามีความสุขที่จะช่วยกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำว่าของฉันผ่านแล้วไม่สนใจใคร ก็ช่วยกันคิดจนคนสุดท้าย  ในรายวิชาศิลปะก็เหมือนกัน นำแนวคิด เทคนิค วิธีการ กระบวนการ EF ไปปรับใช้ด้วย

“ได้เคยย้อนกลับมาคิดวิเคราะห์ทบทวน พบว่ากิจกรรมแบบนี้เราเคยใช้กับเด็กอนุบาล แต่เราไม่รู้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของ EF ถ้าได้กลับไปเป็นครูสอนเด็กอนุบาลอีก จะคิดวิเคราะห์ ทบทวนกิจกรรมที่ทำ ดูว่า EF ตัวไหนที่ยังไม่ได้เติมเต็มให้เด็ก หรือส่งเสริมน้อยไป  EF ได้กลายเป็นความรู้ที่ซึมซับอยู่ในตัวเรา ไม่ว่าจะสอนวิชาสมองต่อไปหรือไม่ เราก็จะนำความรู้นี้ไปใช้ในการสอนต่อไป เหมือนเรามีความเชื่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว เราก็จะทำตามความเชื่อนั้นต่อไป จากนั้นคอยดูว่าจะประสบผลสำเร็จเพียงใด

 “การมีรายวิชาสมองกับการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ดี ไม่ใช่เฉพาะในการประกอบวิชาชีพครูเท่านั้น แต่สามารถจะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันทั้งตัวอาจารย์และนักศึกษา เพราะฉะนั้นจะดีกว่านี้ถ้าทุกคนที่เกี่ยวข้องเข้าใจ EF มีแนวคิด หลักการไปในทิศทางเดียวกัน ก็จะทำให้ความรู้ EF พัฒนาต่อไปและยั่งยืน ”

“โดยเฉพาะคนเป็นครูจะต้องตระหนักและให้ความสำคัญมากๆ  ปัจจุบันเราพยายามเลี้ยงดูให้เด็กมีความสุข ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นความสุขของเด็กจริงๆ หรือความสุขที่คนอื่นจัดให้  แต่ถ้าครูมีความเข้าใจในหลักการเรื่องสมอง  เด็กจะมีความสุขด้วยตัวเขาเอง ที่สำคัญเมื่อเขาโตขึ้นไปในอนาคต เขาจะมีมุมมองวิธีคิดที่หลากหลาย ไม่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะเห็นว่าทุกอย่างมีทางออก และทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตไม่ได้เป็นสีดำหรือเป็นสิ่งที่เลวร้ายเสมอไป  ถ้าการศึกษาปฐมวัยของเราได้ส่งเสริมพัฒนา EFให้เด็กตั้งแต่เล็กๆ ประเทศไทยของเราจะน่าอยู่กว่านี้

“สำหรับนักศึกษาปี 4 ในปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้เรียนวิชานี้มาตั้งแต่ปี 1  ก็อาจได้เรียนเรื่อง EF ในวิชากิจกรรมความเป็นครู หรือไปเพิ่มวิชาเอกเลือกเชิงบังคับ”

การเปลี่ยนแปลง/ผลสัมฤทธิ์ หลังจากเรียนรู้ EF และนำความรู้ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน

นักศึกษามีสมาธิจดจ่อในการเรียนมากขึ้น โดยใช้กิจกรรมเรียกสติ “ไม่ใช่การนั่งสมาธิ แต่เป็นกิจกรรมที่ให้นักศึกษานิ่งสงบฟังเพลงสัก 2-3 นาที แล้วทำกิจกรรม หรือเมื่อเราเห็นบรรยากาศในห้องเรียนที่วุ่นวาย ก็ใช้เพลงบรรเลง โดยเราไม่ต้องดุ ตวาดหรือตะเบ็งเสียง นักศึกษาจะเงียบลงโดยอัตโนมัติ แล้วมีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ”

บรรยากาศในห้องเรียนมีชีวิตชีวา เสียงหัวเราะ สนุกสนาน พอถึงเวลาต้องเงียบ นักศึกษาก็รู้หน้าที่จะเงียบเองโดยไม่ต้องบอกหรือเตือน

นักศึกษาได้รับการส่งเสริม Self  “นักศึกษาแต่ละคนมีสภาพปัญหาที่แตกต่างกัน ในวันแรกของการเรียนจะให้นักศึกษาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเอง นักศึกษาคนหนึ่งมีสีหน้าเศร้ามากเมื่อพูดเรื่องตัวเอง แล้วมาถึงเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจก็ร้องไห้ พอถึงกลางเทอมเด็กคนนี้ก็เข้าหา พูดคุยมากขึ้น หนูช่วยอะไรไหม คือกล้าที่จะมาคุยกับเรามากขึ้น แม้ว่าไม่ได้เล่าเรื่องที่มีความทุกข์ก็ตาม แต่เพราะเรามีพื้นที่ที่ปลอดภัยที่อบอุ่น นี่คือสิ่งที่เห็นชัด และมีอีกหลายคนในลักษณะนี้ หรือมีนักศึกษาคนหนึ่งเป็นคนที่หน้านิ่ง ไม่ยินดียินร้ายอะไรทั้งสิ้นแม้อาจารย์จะให้ทำกิจกรรมที่สนุกสนาน แต่พอเรียนไปๆ จะพูดคุย ยิ้มแย้มมากขึ้น”

อาจารย์มีความเป็นครูมากขึ้น มีความสุขกับสอนมากขึ้น

“การเป็นอาจารย์ มีกรอบในเรื่องต้องสอนให้ได้เนื้อหาทั้งหมด อาจารย์จึงมุ่งสอนเนื้อหาให้มากโดยไม่ได้สนใจว่านักศึกษาจะเรียนรู้ได้แค่ไหน แต่เมื่อได้เรียนรู้เรื่อง EF อาจารย์สามารถทลายกรอบนั้นได้ ให้ความสำคัญกับการทำให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ เชื่อมโยงความรู้ไปสู่การปฏิบัติให้ได้ รวมทั้งต้องการให้นักศึกษาเรียนรู้อย่างมีความสุข

“เดิมชอบการเป็นครูอนุบาล และเป็นครูที่สอนเด็กอนุบาลมา 12 ปี รักเด็ก อยากสอนเด็ก วันหนึ่งอาจารย์ก็บอกว่าน่าจะเอาความรู้ที่เรามีไปสอนนักศึกษาครู จะได้ประโยชน์เพิ่มทวีคูณ แต่ใจเราก็ยังรักที่จะสอนเด็กอยู่ พอมาสอนนักศึกษา มีการตีกรอบเราว่า จะต้องสอนให้ได้เนื้อหาทั้งหมด จะหลุดเนื้อหาไม่ได้  พอมาสอนรายวิชาสมองรู้สึกว่าเปิดมากขึ้น บริบทของรายวิชาเป็นแบบนี้ ทำให้ได้กลับมาเป็นครูเหมือนเดิมอย่างที่เคยเป็นมา ไม่ต้องกังวลกับเนื้อหามากเกินไปว่าจะต้องทำแบบนั้นแบบนี้  รู้สึกเลยว่าเรามีความสุขมากขึ้น ภูมิใจในตัวเองที่ได้ทลายกำแพงนั้นไป” 

ฝากไว้ให้คิด

“การมีรายวิชาสมองกับการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ดี ไม่ใช่เฉพาะในการประกอบวิชาชีพครูเท่านั้น แต่สามารถจะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันทั้งตัวอาจารย์และนักศึกษา เพราะฉะนั้นจะดีกว่านี้ถ้าทุกคนที่เกี่ยวข้องเข้าใจ EF มีแนวคิด หลักการไปในทิศทางเดียวกัน ก็จะทำให้ความรู้ EF พัฒนาต่อไปและยั่งยืน ”

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ