096-356-9461 support@rlg-ef.com

ปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาสมอง คือพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม รองศาสตราจารย์ ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ (Center of Neuroscience) สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาสมองยังขึ้นอยู่กับฮอร์โมนด้วย เช่นฮอร์โมนจากความเครียดจะทำลายการเกิดไซแน็ปส์ ฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิงก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ส่งผลต่อการทำงานของสมองและการคิด พอเอสโตรเจนลดลงเมื่ออายุมากขึ้นหรือไม่มีรังไข่ ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน จะส่งผลให้สมาธิและความจำถดถอยลง

ยีนของคนบางคนมีผลต่อระดับโดปามีนในสมองซึ่งสัมพันธ์กับทักษะ EF บางคนมียีนที่โดปามีนหลั่งมาในสมองส่วนหน้าน้อย เมื่อวัดทักษะ EF ก็จะได้ผลที่แตกต่างออกไป

แต่พันธุกรรมก็ไม่ใช่ตัวกำหนดทั้งหมด พบว่าเด็ก 0-3 ปี แม้จะมีพันธุกรรมแบบนี้ แต่เราสามารถส่งเสริม EF ให้เป็นภูมิคุ้มกันได้ เพราะสิ่งแวดล้อมสามารถย้อนกลับไปส่งผลต่อยีนได้ด้วย สิ่งแวดล้อมบางอย่างไปส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รอบนอกยีน ยีนเปลี่ยนเป็นโปรตีนมาใช้ในการทำงานของสมอง เช่นถ้าเด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เครียด มันก็จะไปปรับเปลี่ยนยีน เกิดการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนที่สำคัญต่อการทำงานของสมอง บางกรณีความเครียดทำให้การแสดงออกของโปรตีนบางตัวลดลง คนๆ นั้นจะมีความสามารถในการตอบสนองต่อความเครียดไม่ดีไปตลอดชีวิต 

สำหรับคนทั่วไปที่เคยฝึกทักษะสมอง EF มาก่อนก็จะหาทางปรับเปลี่ยน ยืดหยุ่นได้ พาตัวเองออกจากความเครียดได้ดีกว่าคนที่ไม่เคยฝึก EF เนื่องจากสมองมี dynamic การใช้งานบ่อยๆ จะทำให้มันแข็งแรง ฟื้นตัวไวเมื่อมีปัญหา