096-356-9461 support@rlg-ef.com

โครงการวิจัย
“ผลของหลักสูตรพัฒนาอาจารย์สาขาปฐมวัยศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏต่อความรู้ ความเข้าใจ การรับรู้ความสามารถของตนเองและทักษะการสอนวิชาสมองและการเรียนรู้ของอาจารย์สาขาปฐมวัยศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏ”

โดยสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว RLG (Rakluke Learning Group)ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว(สำนัก 4) สสส.

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1.  เพื่อศึกษาผลของหลักสูตรพัฒนาอาจารย์สาขาปฐมวัยศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏต่อความรู้ ความเข้าใจเรื่องสมองและการเรียนรู้ของอาจารย์ในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย

  2.   เพื่อศึกษาผลของหลักสูตรพัฒนาอาจารย์สาขาปฐมวัยศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏต่อทักษะการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงของอาจารย์ในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย (วัดโดย
แผนการเรียนการสอนของอาจารย์ และแบบประเมินการจัดกระบวนการเรียนรู้โดยนักศึกษา)

3.  เพื่อศึกษาผลของหลักสูตรพัฒนาอาจารย์สาขาปฐมวัยศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏต่อการรับรู้
    ความสามารถของตนเองในการสอนสาระวิชาสมองและการเรียนรู้ของอาจารย์ในหลักสูตร
    การศึกษาปฐมวัย

  4. เพื่อศึกษาผลของหลักสูตรพัฒนาอาจารย์สาขาปฐมวัยศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏต่อความรู้ ความเข้าใจเรื่องสมองและการเรียนรู้ของนักศึกษาในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย

5. เพื่อศึกษาผลของหลักสูตรพัฒนาอาจารย์สาขาปฐมวัยศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏต่อการรับรู้
   ความสามารถของตนเองเรื่องการจัดประสบการณ์เรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะสมอง  EF ในเด็ก
   ปฐมวัย ของนักศึกษาในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย

สรุปผลการศึกษา

          การวิจัยครั้งนี้ มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2563 อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏที่เข้าร่วมโครงการ แบ่งออกเป็นสองรุ่น รุ่นที่หนึ่งมีจำนวน 38 คนและรุ่นที่สองมีจำนวน 91 คน การประเมินแบ่งออกเป็น 5 ช่วง โดยสามช่วงแรก เป็นการประเมินผลอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏที่เข้าร่วมโครงการอบรมฯ และช่วงที่ 4 และ 5 เป็นการติดตามประเมินผลจากนักศึกษาหลักสูตรปฐมวัยชั้นปีที่ 1 ได้เรียนรู้สาระวิชาสมองและการเรียนรู้จากอาจารย์ที่เข้ารับการอบรมและนำไปสอนดังนี้

  1. ช่วงที่ 1 เป็นการประเมินความรู้ความเข้าใจเรื่องสาระวิชาสมองกับการเรียนรู้ และการรับรู้ความสามารถของตนเองในการสอนสาระวิชาสมองและการเรียนรู้ของอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏที่เข้ารับการอบรมในโครงการฯ ก่อนการอบรม
  2. ช่วงที่ 2 เป็นการประเมินความรู้ความเข้าใจเรื่องสาระวิชาสมองกับการเรียนรู้ และการรับรู้ความสามารถของตนเองในการสอนสาระวิชาสมองและการเรียนรู้ของอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏที่เข้ารับการอบรมในโครงการฯ หลังการอบรม
  3. ช่วงที่ 3 เป็นการติดตามประเมินทักษะการสอนของอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏ ในสาระวิชาสมองและการเรียนรู้ตามหลักการบูรณาการสมองและการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ให้กับนักศึกษาหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย ชั้นปีที่ 1 ในห้องเรียนจริง
  4. ช่วงที่ 4 เป็นการติดตามประเมินผลความรู้ความเข้าใจเรื่องสมองกับการเรียนรู้ และการรับรู้ความสามารถของตนเองในการจัดประสบการณ์เรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะสมองEFเด็กปฐมวัย ของนักศึกษาหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยชั้นปที่ 1 ก่อนการเรียนรู้วิชาสมองกับการเรียนรู้
  5. ช่วงที่ 5 เป็นการติดตามประเมินผลความรู้ความเข้าใจเรื่องสมองกับการเรียนรู้ และการรับรู้ความสามารถของตนเองในการจัดประสบการณ์เรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะสมองEFเด็กปฐมวัย ของนักศึกษาหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยชั้นปที่ 1 หลังการเรียนรู้วิชาสมองกับการเรียนรู้

ผลการวิจัยพบว่า ก่อนและหลังการทดลอง อาจารย์ผู้เข้าร่วมโครงการ มีคะแนนความรู้ความเข้าใจเรื่องสาระวิชาสมองกับการเรียนรู้ และการรับรู้ความสามารถของตัวเองในการสอนสาระวิชาสมองกับการเรียนรู้ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 โดยมีคะแนนความรู้ความเข้าใจ และการรับรู้ความสามารถของตนเองหลักการอบรม มากกว่า คะแนนก่อนอบรมนอกจากนี้ยังพบว่า อาจารย์ผู้เข้าร่วมโครงการ มีทักษะในการสอนตามหลักการทำงานของสมองEF มากขึ้น มีการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้เรียนมากขึ้น และการเรียนการสอนเน้นการลงมือปฏิบัติตลอดทั้งภาคการศึกษา

          ที่สำคัญเมื่อติดตามผลจากการเปลี่ยนแปลงความรู้ ทักษะ และการรับรู้ความสามารถของตนเองของอาจารย์ผู้เข้าร่วมโครงการ จากการประเมินความรู้ความเข้าใจ และการรับรู้ความสามารถของตนเองของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่ได้เรียนรู้วิชาสมองกับการเรียนรู้ พบว่า ก่อนและหลังการเรียนรู้วิชาสมองกับการเรียนรู้ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่ได้เรียนกับอาจารย์ผู้เข้าร่วมโครงการ มีคะแนนความรู้ความเข้าใจเรื่องสาระวิชาสมองกับการเรียนรู้ และการรับรู้ความสามารถของตัวเองในการจัดประสบการณ์เรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะสมองEFเด็กปฐมวัยแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยนักศึกษา มีคะแนนความรู้ความเข้าใจ และการรับรู้ความสามารถของตนเองหลักการเรียนรู้ มากกว่า คะแนนก่อนการเรียนรู้วิชาสมองกับการเรียนรู้

อภิปรายผลการศึกษา

การออกแบบหลักสูตรการฝึกอบรมอาจารย์สาขาการศึกษาปฐมวัยในสาระวิชาสมองและการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยใช้หลักการบูรณาการสมองและการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง เป็นแนวทางในการออกแบบโครงร่างของหลักสูตรฯ ซึ่งเป็นแนวทางการสอนที่บูรณาการทั้งเนื้อหา กระบวนการสอน และการประเมิน โดยเป้าหมายของหลักสูตรฯ คือ ผู้เข้าอบรมเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านความรู้ ด้านทักษะ และด้านเจตคติ ดังนั้นตัวชี้วัดความสำเร็จของการอบรมครั้งนี้ จึงมีแบบทดสอบด้านความรู้ความเข้าใจเรื่องการจัดประสบการณ์เรียนรู้ตามหลักบูรณาการสมองและการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงในการศึกษาปฐมวัย ก่อนการอบรม หลังการอบรมเป็นตัวชี้วัดด้านความรู้ ความเข้าใจ

ส่วนตัวชี้วัดด้านเจตคติ ใช้แบบประเมินการรับรู้ความสามารถของตนเองในการวางแผน และจัดกระบวนการสอนในสาระวิชาสมองและการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย รวมถึงการสะท้อนบอกความรู้สึกถึงความสำคัญในวิชาชีพของตนเองในฐานะอาจารย์สาขาการศึกษาปฐมวัย และเจตคติที่มีต่อนักศึกษาสาขาการศึกษาปฐมวัย เป็นระยะๆ ตลอดการอบรม

สำหรับตัวชี้วัดด้านทักษะในการวางแผนการจัดกระบวนการสอนตามหลักการทำงานของสมอง EF และกระบวนการเรียนรู้แบบ PL มาบูรณาการร่วมกันเป็นวิธีการสอน ใช้การเปิดเวทีให้ผู้เข้าอบรมสาธิตการประยุกต์ใช้เนื้อหาความรู้ด้านสมองในการวางแผนการจัดการเรียนการสอน และกระบวนการทวนแผนการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องตามหลักการบูรณาการฯ

ผลที่ได้รับปรากฏเป็นหลักฐานประจักษ์แสดงถึงการบรรลุเป้าหมายของการอบรมครั้งนี้ คือ

  1. ผู้เข้าอบรมสะท้อนบอกได้ว่าการเรียนรู้ที่ทำให้ตนเองเกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดจากการได้รับประสบการณ์ตรงในการใช้ทักษะสมอง EF ของตนเองในการเข้าร่วมกิจกรรมและกระบวนการของวิทยากร
  2. ผู้เข้าอบรมสามารถออกแบบการจัดการเรียนการสอนที่สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง และความเชื่อมั่นในศักยภาพของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ว่าจะสามารถเกิดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงได้จากกระบวนการจัดการเรียนการสอนตามหลักบูรณาการฯที่ผู้เข้าอบรมได้ร่วมกันออกแบบเอง
  3. ผู้เข้าอบรมแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการออกแบบกิจกรรม กระบวนการเรียนการสอน และการทบทวนแผนการจัดการเรียนการสอน บนฐานของหลักการเดียวกัน คือ หลักการบูรณาการสมองและการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง และ เป้าหมายเดียวกัน คือ การจัดประสบการณ์เรียนรู้ที่มีคุณภาพเพียงพอให้นักศึกษาสามารถเกิดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านความรู้ ทักษะ และเจตคติ เกิดการเติบโตทางความคิด พัฒนาไปสู่การเป็นครูปฐมวัยที่มีคุณภาพ

                ข้อจำกัดงานวิจัย

        1.ข้อจำกัดในการบริหารหลักสูตรปฐมวัยภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏแต่ละแห่ง มีการเปิดวิชาสมองกับการเรียนรู้ ไม่ทุกแห่ง บางแห่งยังไม่เปิดสอน บางแห่งนำสาระวิชาสมองกับการเรียนรู้ไปบูรณาการกับวิชาอื่นๆ ในงานวิจัยชิ้นนี้ จึงเก็บข้อมูลด้านทักษะในการสอนสาระวิชาสมองกับการเรียนรู้ เฉพาะอาจารย์ที่สามารถเปิดสอนรายวิชาสมองกับการเรียนรู้ เท่านั้น

       2.ข้อจำกัดของนักวิจัยในการลงพื้นที่เพื่อสังเกตติดตามให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่อาจารย์ผู้สอนวิชาสมองกับการเรียนรู้อย่างใกล้ชิด แต่ใช้วิธีการสนทนากลุ่มแทน ซึ่งทำให้การแก้ไขปัญหายังไม่ทันท่วงที

          การนำผลการศึกษาไปประยุกต์ใช้

    1.ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการเพิ่มคุณภาพบุคลากรการศึกษาปฐมวัยด้านความรู้สมองกับการเรียนรู้ และความสามารถในการส่งเสริมทักษะสมอง EF เด็กปฐมวัย

    2. การนำหลักสูตรการฝึกอบรมอาจารย์สาขาการศึกษาปฐมวัยในสาระวิชาสมองและการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยเป็นหนึ่งในวิชาหลักในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย

  3. ขยายการจัดอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมอาจารย์สาขาการศึกษาปฐมวัยในสาระวิชาสมองและการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยไปสู่อาจารย์ในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

  4. ขยายการจัดอบรมความรู้เรื่องสมองและการเรียนรู้ให้แก่ครูปฐมวัยในศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาล

 5. การนำหลักการบูรณาการสมองและการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสร้างเครื่องมือส่งเสริม และประเมินคุณภาพครูปฐมวัย