096-356-9461 support@rlg-ef.com
Slide
Slide

ส่งเสริมและพัฒนาทักษะ EF ของเด็ก
ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบ ‘Project Approach’
ฝึกให้เด็กได้คิด ค้นคว้า และแก้ปัญหา จากการลงมือปฏิบัติจริง
เติมเต็มประสบการณ์หลากหลาย
สร้างพลัง “ความสุขจากการเรียนรู้ที่แท้จริง”

ก้าวแรกของการขับเคลื่อน EF

โรงเรียนอนุบาลมณีรัตน์ เน้นกระบวนการเรียนการสอนที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง (Child Center) โดยให้ความสำคัญกับความสุขในการเรียนของเด็ก และมุ่งส่งเสริมให้เด็กแสวงหาความรู้ด้วยตนเองผ่านการลงมือปฏิบัติจริง โดยใช้กระบวนการเรียนการสอนแบบ ‘Project Approach’ ตามแนวคิดของเรกจิโอ เอมีเลีย (Reggio Emilia) ซึ่งเป็นหลักปรัชญาในการบ่มเพาะเด็กๆ ให้เติบโตอย่างใฝ่รู้ สร้างสรรค์ และมีความสุขอย่างเป็นธรรมชาติมาตั้งแต่แรกเริ่ม ต่อมาโรงเรียนได้นำองค์ความรู้เรื่อง EF มาสอดแทรกในกระบวนการสอนของโรงเรียน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะสมองของเด็กให้ได้ผลดีมากยิ่งขึ้น

เป้าหมายและยุทธศาสตร์

  • พัฒนาบุคคลกร เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่บุคคากรครู และสามารถนำความรู้ไปใช้ในการจัดกิจกรรม ต่างๆ ได้
  • พัฒนาการเรียนการสอน โดยการเสริมสร้าง Inner และ Self ของเด็กให้เข้มแข็งเพื่อช่วยพัฒนาทักษะ EF

การพัฒนาองค์ความรู้ และงานเด่นจากการนำความรู้ EF ไปปฏิบัติ ที่เกิดขึ้น

  • เติมพลังความสุขจากการเรียนรู้ “ครูและเด็ก” ด้วยทักษะสมอง EF

ครูนำความรู้ทักษะสมอง EF มาบูรณาการผ่านการวางแผนงาน และระบบการทำกิจกรรมของคุณครู เพื่อเสริมมุมมองให้เห็นภาพกระบวนการแต่ละขั้นตอนได้ชัดเจนขึ้น และส่งเสริมทักษะสมองที่หลากหลาย ควบคู่ไปกับกิจกรรมส่งเสริมกระบวนการคิด เมื่อวางแผนกิจกรรมจะสามารถจัดวางกระบวนการที่เสริมสร้างทักษะสำคัญให้เด็กได้ครอบคลุมจากหลายมุม กิจกรรมลื่นไหล หนุนเสริมการเรียนการสอนในแต่ละโปรเจ็กให้เป็นการเรียนรู้ที่ช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้บนความสุขที่แท้จริงให้กับเด็ก เป็นความสุขจากภายใน ที่ไม่ใช่เพียงกิจกรรมสนุก แต่เป็นความสุขจากคุณค่าความสำเร็จที่เกิดจากการแสวงหาคำตอบเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ด้วยตนเอง ด้วยการมีส่วนร่วมกับทีม หรือการการแสวงหาคำตอบร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่ทั้งห้องเรียน การทำงานเป็นทีมและการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่เพื่อให้เป้าหมายสำเร็จลุล่วง จะต้องอาศัยความเข้าใจผู้อื่น การมีเป้าหมายที่ชัดเจน และความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น อันเป็นรากฐานของการสร้างตัวตนในสังคมอย่างมีคุณภาพ อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญของความสุข และความสำเร็จ

  • งานเด่น
  • จัดกระบวนการเรียนการสอนแบบโครงการ “Project Approach” เพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะ EF ของเด็ก
  • จัดกิจกรรมร่วมกับสถาบัน RLG ในหัวข้อ ‘EF Play Day @School – เล่นสร้างทักษะสมอง’ โดยมีอาจารย์ธิดา พิทักษ์สินสุข ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาทักษะ EF เป็นวิทยากร
  • สนับสนุนให้ครูเผยแพร่ความรู้และวิธีการจัดกิจกรรมส่งเสริม EF โดยจัดทำป้ายสารนิทัศน์ในทุกห้องเรียน
  • จัดอบรมความรู้ให้แก่ผู้ปกครอง โดยโครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

    (ภาพบน) จัดแสดงสื่อนิทรรศการไว้ในบริเวณห้องอเนกประสงค์ จุดที่ผู้ปกครองและหรือบุคคลภายนอกทุกคนต้องมาใช้พื้นที่แห่งนี้

    ความเปลี่ยนแปลง

    เด็กนักเรียนได้พัฒนาทักษะ EF จากการเรียนรู้แบบโครงงาน (Project Approach)

    • ความจำเพื่อใช้งาน (Working Memory) เด็กนำความรู้ที่ค้นหามาเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันประสบการณ์เดิม และนำข้อมูลมาสู่การลงมือทำ รวมถึงนำมาวิเคราะห์หรือค้นหาคำตอบกับสิ่งที่สงสัย ใช้สิ่งที่เรียนรู้มาแก้ไขและถกปัญหากับเพื่อนในชั้นเรียน
    • การจดจ่อใส่ใจ (Focus/Attention) เมื่อลงมือปฏิบัติจริง ทั้งการทดลอง การสังเกต การทำงานศิลปะ หรือกิจกรรมอื่นเด็กๆ จะได้ฝึกฝนทักษะ จดจ่อ ใส่ใจ มุ่งมั่นทำกิจกรรมให้สำเร็จอย่างมีสมาธิ
    • การควบคุมอารมณ์ (Emotional Control) ช่วงเวลาเรียนรู้และทำงานร่วมกันกับเพื่อน ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การควบคุมอารมณ์และความต้องการของตนเองไปพร้อมกัน
    • การติดตามประเมินตนเอง (Self-Monitoring) การทำงานหรือสร้างสรรค์ชิ้นงานแต่ละครั้ง ไม่ได้ลงเอยด้วยความสำเร็จเสมอไปเด็กๆ จึงมีโอกาสที่จะได้   วิเคราะห์สิ่งที่ทำและผลงานตนเอง รวมทั้งพัฒนาชิ้นงานจนเป็นที่พอใจ
    • การริเริ่มและลงมือทำ (Initiating) การวางแผนและจัดการทำงานให้สำเร็จ (Planning and Organizing) และ การมุ่งเป้าหมาย (Goal-Directed Persistence)

    การทำโครงงานเป็นกระบวนการส่งเสริมให้เด็กได้ใช้ทักษะแบบองค์รวม ทั้งริเริ่มวางแผน ลงมือทำแก้ไข   ลองผิดลองถูก จนเกิดผลงานหรือเกิดบทสรุปของการเรียนรู้ที่สมบูรณ์

    กุญแจสู่ความสำเร็จ

    “…พอเราได้ความรู้เรื่อง EF เข้ามาเพิ่ม ทำให้เราสามารถจับแนวทางต่างๆ เพื่อบูรณาการตัวโปรเจ็คของเราให้มีแนวคิดเรื่องของ EF เพิ่มเข้าไปให้มากยิ่งขึ้นในระบบการทำกิจกรรมหรือในการวางแผนงานของคุณครู ทำให้ครูมองเห็นภาพมากขึ้นว่าจะวางแผนทำกิจกรรมอย่างไรให้ได้พัฒนาทักษะ EF เพิ่มมากขึ้นอีกระดับหนึ่ง…”

    ครูเกศ – เกศินี วัฒนสมบัติ
    ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลมณีรัตน์

    ตัวอย่างกิจกรรมจัดประสบการณ์สำหรับเด็กอนุบาล แบบ Project Approach ของ รร.มณีรัตน์ EF Centre

    THAILAND EF PARTNERSHIP

    เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ