096-356-9461 support@rlg-ef.com

ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายความหมายของทักษะสมอง EF ว่าคือความสามารถในการกำกับอารมณ์ ความคิด พฤติกรรม เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย คนเราไม่ว่าจะลงมือทำอะไรก็ตาม ต้องพยายามกำกับตัวเองทั้งความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายให้ได้  ดังนั้น EF จะทำให้เด็กเริ่มลงมือทำและทำจนสำเร็จเช่นกัน  ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งของ EF คือ จะทำให้เด็กสามารถกำกับอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมให้อยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างสันติสุข

นอกจากนั้นยังกล่าวว่า ครูนอกจากรู้ว่า EF มีหน้าที่อย่างไรดังกล่าว จะต้องรู้ว่ากระบวนการทำงานของ EF ที่สำคัญคือดึงประสบการณ์เดิมออกมาใช้ร่วมกับสถานการณ์ปัจจุบัน การประมวลผลร่วมกันนี้ทำให้เกิดทักษะ 9 ด้านตามมา เช่นทำให้เกิดการยับยั้งชั่งใจ ควบคุมอารมณ์ วางแผน ตัดสินใจเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย เพราะฉะนั้นครูจึงต้องพยายามสร้างประสบการณ์ที่หลากหลายและมีคุณภาพให้สมองเด็กนำไปใช้งานได้ดี ซึ่งสำหรับเด็กระดับปฐมวัยเราเรียกแผนการเรียนการสอนว่าแผนการจัดประสบการณ์

หมายความว่าครูปฐมวัยต้องวางแผนการจัดประสบการณ์และยื่นประสบการณ์ให้พัฒนาการ 4 ด้าน self และ EF ของเด็กทำงานอย่างสมบูรณ์ ไม่ไปยับยั้งพัฒนาการด้านใดด้านหนึ่ง

ประสบการณ์คุณภาพที่ทำให้ EF ของเด็กทำงานได้ดี คือประสบการณ์ที่มี “ครูที่มีอยู่จริง” ทำให้เด็กรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ไว้ใจ ครูให้โอกาสเด็กตัดสินใจ ให้ลองผิดลองถูก หากเด็กตัดสินใจผิด ครูคอยอยู่ข้างๆ ปลอบ ให้กำลังใจ ถ้าตัดสินใจถูกครูคอยชื่นชม ครูที่มีอยู่จริงจะทำให้เด็กเกิดความผูกพันและรู้สึกว่าตัวเองมีตัวตน  ดังนั้นไม่ว่าจะตัดสินใจถูกหรือผิด สิ่งที่ติดตัวเด็กไปคือประสบการณ์คุณภาพที่จะทำให้เด็กกล้าลองผิดลองถูก กล้าตัดสินใจต่อไป และจะดียิ่งกว่านั้นถ้าครูให้ประสบการณ์ที่ทำให้เด็กมองเห็นโอกาสและความสำเร็จด้วย เพราะฉะนั้น ครูที่มีความสามารถจะทำให้เด็กได้ฝึกทักษะEF ในขณะที่ self ก็แข็งแรงด้วย

ดังนั้นเมื่อเด็กคนหนึ่งเดินเข้ามาในห้องเรียน ครูต้องมองดูเด็กแบบองค์รวม ทั้งดูพัฒนาการ 4 ด้าน ตัวตนของเด็ก และทักษะสมองEF ว่าเป็นอย่างไรแล้วส่งเสริมไปพร้อมๆ กัน  รวมทั้งระวังไม่ทำอะไรที่เป็นการทำลายหรือยับยั้งพัฒนาการทั้ง 3 ด้านนี้

โอกาสและความสำเร็จที่มีอยู่จริง

          สมองEF จะทำงานต่อเมื่อมีความท้าทาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีการวางแผน ตัดสินใจ คิดสร้างสรรค์ เราจึงต้องยื่นประสบการณ์ที่มีความท้าทายให้เด็ก แต่ต้องเป็นความท้าทายที่พอดีกับวัยของเด็ก ไม่ง่ายหรือยากเกินไป ถ้ายากเกินไป นอกจาก EFไม่ทำงานแล้วยังเกิด mental  block เด็กจะบอกตัวเองว่าทำไม่ได้ หรือรู้สึกว่าตนเองต่ำต้อยด้อยค่าไม่มีความสามารถ  ถ้ายากในระดับที่เด็กยังมีความพยายามที่จะทำและครูเข้าช่วยเหลือบ้าง ก็ยังเป็นความท้าทายที่พอดีๆ  เพราะฉะนั้นครูจึงมีหน้าที่จัดประสบการณ์ให้เด็กได้มองเห็นโอกาสและความสำเร็จที่มีอยู่จริง

การทบทวนการจัดแผนประสบการณ์ที่ส่งเสริม Self และ EF

          การทบทวนว่าการจัดแผนประสบการณ์นั้นส่งเสริมพัฒนาการ Self และ EF หรือไม่ ต้องดูว่าแผนนั้นเด็กได้ใช้ทักษะสมอง EF โดยไม่กระทบต่อตัวตนของเด็ก และเหมาะสมกับพัฒนาการ 4 ด้านด้วยหรือไม่ และที่สำคัญแผนนั้นต้องทำให้เกิดประสบการณ์ที่จะฝังแน่นเป็นประสบการณ์เดิมที่มีคุณภาพให้เด็กนำไปใช้ในอนาคตด้วย

          การทบทวนแผนการจัดประสบการณ์ จะทบทวน 3 มิติด้วยกัน คือ

          1. แผนนั้นให้คุณค่าอะไร

          2. กระบวนการมีความท้าทายให้เด็กได้ใช้ EF หรือไม่ เช่นการให้โจทย์ หรือตัวกิจกรรมที่ให้เด็กทำมีความท้าทาย มีการให้เด็กได้ลงมือทำและทดลอง มีการทบทวนคุณค่าที่ได้ กิจกรรมมีความเหมาะสมกับพัฒนาการ แผนมีความต่อเนื่องเพื่อให้เด็กได้ฝึกซ้ำๆ ย้ำในเรื่องที่ต้องการให้เด็กได้พัฒนา (ท้าทาย ทดลอง ทบทวน เหมาะสม ต่อเนื่อง)

          3. มีความชัดเจนในเป้าหมายและมีความสอดคล้องกับกระบวนการ