096-356-9461 support@rlg-ef.com

เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่าง Self กับ EF รองศาสตราจารย์ ดร. นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์ กุมารแพทย์โรคระบบประสาท ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ไม่ค่อยมีงานวิจัยที่พูดถึงเรื่องนี้ แต่อธิบายได้ว่า

ในมุมมองของคนทั่วไปมองว่า Self เป็นบทบาทของเรื่องพัฒนาการ เรื่องอารมณ์ สังคมเป็นหลัก ส่วนในแง่ของประสาทวิทยาศาสตร์ Self เป็นเรื่องการทำงานของระบบประสาทเซลล์กระจกเงา เน้นเรื่องการเลียนแบบ และระบบประสาท Default ที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ตัวเอง ซึ่งทำงานตรงข้ามกับกระบวนการคิดต่างๆ

ในขณะที่ EF เป็นการรู้คิดขั้นสูงซึ่งมีบทบาทสำคัญในการประสานงานด้านการรู้คิดหรือกระบวนการเชิงสติปัญญาเพื่อให้คนเราบรรลุความสำเร็จ เช่น การที่เด็กคนหนึ่งจะสร้างปราสาทขึ้นมาได้สักหลัง ต้องใช้มากกว่าจินตนาการ ต้องลงมือทำ ต้องวางแผน ต้องแก้ไข ต้องมีสมาธิ ต้องยืดหยุ่นปรับเปลี่ยน ต้องอดทนที่จะทำให้สำเร็จ กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างสอดคล้องกัน ภายใต้การควบคุมของสมอง EF  ให้ทุกๆ อย่างดำเนินไปสู่เป้าหมาย

EF มีองค์ประกอบหลักหรือพื้นฐาน 3 อย่าง ซึ่งพัฒนาอย่างมากในช่วงปฐมวัย ได้แก่ ความจำใช้งานที่เด็กสามาถเก็บความจำชั่วคราวได้เก่งขึ้น ดีขึ้น สามารถจำได้มากขึ้น(Working Memory) สามารถยับยั้งตัวเองได้(Inhibitory Control) และสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยความยืดหยุ่น(Shift Cognitive Flexibility) เป็น EF ขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีความจำเป็นต่อการสร้าง EF ขั้นสูง (higer level EF) เช่น ทักษะการติดตาม วางแผน แก้ปัญหา เหตุผล โดยอาศัย EF ขั้นพื้นฐาน หรือ core EF ที่พัฒนามากในช่วงปฐมวัย ถ้า EFขั้นพื้นฐานดีจะนำไปสู่ EFขั้นสูงที่ดีไปด้วย

EF ขั้นสูงมีรูปแบบหลักๆ 2 รูปแบบ คือ Cold EF กับ Hot EF แบบหนึ่งเกี่ยวข้องกับการคิดวิเคราะห์ EF อีกแบบเกี่ยวข้องกับการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

Cold EF คือ EF ที่เกี่ยวกับกระบวนการทางสติปัญญา ไม่ว่าจะเป็นการวางแผน การยืดหยุ่นในกระบวนการคิด ความจำใช้งาน การริเริ่มลงมือทำ ดูไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับ Self สักเท่าไร  ส่วน Hot EF เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรู้คิดในเชิงสังคม (social cognition) ความสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม การตัดสินใจ การควบคุมตัวเองและอารมณ์ มีจุดที่คล้ายๆ กับเรื่อง Self  ซึ่งสอดคล้องกับ Theory of Mind ทฤษฎีเกี่ยวกับความสามารถในการรับรู้ว่าคนอื่นที่เราปฏิสัมพันธ์ด้วยนั้น คิดหรือรู้สึกอย่างไร  เด็กที่ขาดทักษะ social cognition มักเป็นเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าหรือเป็นเด็กที่ขาดโอกาสในการเรียนรู้กับเด็กวัยเดียวกัน เพราะเป็นครอบครัวเดี่ยวหรือเรียนอย่างเดียวไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับใคร empathy ก็เป็นหนึ่งใน social cognition ด้วย

จะเห็นได้ว่า Hot EF มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับ Self อย่างมาก ดังนั้น Self ที่ดีจึงส่งผลต่อ Hot EF ทำให้เด็กมีพัฒนาการด้านสังคม อารมณ์ดี และแม้ว่า Cold EF เน้นที่กระบวนการคิด แต่ก็ไม่ได้ขัดแย้งกัน เพราะ Hot EF อาศัย Cold EF เป็นพื้นฐาน   self ที่ดีเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับการพัฒนาเรื่องสังคมและอารมณ์ ส่งผลเชิงบวกต่อพัฒนาการ การเรียนรู้ และการพัฒนา EF ของเด็ก