โลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปมากจากการที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตคนเราในทุกๆ ด้าน และในเรื่องการศึกษาเรียนรู้ก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก “ความรู้ไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไปเพราะหาที่ไหนก็ได้”ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมากล่าว และบอกอีกว่า “ที่จริงแล้วครูนั้นมีสองบทบาท คือสอน ให้มีความรู้หรือสอนหนังสือ กับสอนคน ซึ่ง ณ ปัจจุบัน บทบาทการสอนหนังสือน่าจะลดลง ด้วยเทคโนโลยีที่ทุกคนสามารถหาความรู้เองได้”
“ตอนนี้เป็นโอกาสดีที่ควรจะเปลี่ยนบทบาทครู ครูต้องเปลี่ยนบทบาทมาพัฒนาความเป็นคน สอนเด็กให้รู้จักคิด มีวินัย มีความรับผิดชอบ สอนทักษะชีวิตต่างๆ เป็นแบบอย่าง สร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก
“เราเคยได้ยินคำว่าครูคือแม่พิมพ์ คือถ้าแบบพิมพ์ดีก็จะพิมพ์ตัวหนังสือออกมาสวยงาม เป็นเรื่องที่ถูกต้องเป็นจริง ตอนที่ผมเรียนชั้นประถม สังเกตว่าทำไมลายมือตัวเองไม่ดี แต่เพื่อนลายมือสวย ก็มารู้ทีหลังว่าโรงเรียนของเพื่อนครูที่สอนป.1 ลายมือสวยมากแล้วเด็กเขียนตาม ขณะที่โรงเรียนของตัวเองครูเขียนไม่สวย เราก็เขียนตามครู ครูจึงเป็นแบบอย่าง
“ครูยังเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ สังเกตได้ง่าย เด็กประถม-มัธยม ถ้าชอบครูคนไหนก็จะชอบวิชาที่ครูคนนั้นสอนด้วย แล้วเรียนอย่างมีความสุข แต่ถ้าเกลียดครูก็จะเกลียดวิชานั้นไปเลย และเด็กประถม-มัธยม ยังไม่รู้หรอกว่าตัวเองถนัดอะไร เพราะฉะนั้นการไปแนะแนว ถามเด็กว่าอยากเป็นอะไร เป็นทหาร ตำรวจ เด็กก็เปลี่ยนไปเรื่อย เพราะไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรถนัดอะไร
“ยิ่งตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์ที่ครูไม่สามารถ “สอนหนังสือ”ได้ ครูก็น่าจะมา “สอนคน” โดยปรับหลักสูตร ตัวชี้วัด มาตรฐานต่างๆ ซึ่งปัจจุบันตัวชี้วัดต่างๆ มุ่งไปที่ต้องการให้เด็กมีสมรรถนะ มีทักษะความสามารถ หลักสูตรก็เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ สมรรถนะคือความสามารถในการทำงานออกมาเป็นผลสำเร็จ และตอนนื้ทักษะความสามารถที่เป็น soft skill มีความสำคัญมากกว่า hard skill เพราะ hard skill เป็นเรื่องของวิชาการซึ่งหาได้ไม่ยาก แต่ soft skill เป็นทักษะในการคิด ความยับยั้งชั่งใจ อารมณ์-สังคม ซึ่งครูจะต้องปรับมาเน้นพัฒนาเด็กในเรื่องเหล่านี้ด้วย
“การผลิตครูรุ่นใหม่ต้องไม่ใช่ผลิตครูที่ไปสอนหนังสือ แต่ต้องเป็นครูที่ไปสร้างคน ครูต้องเข้าใจในบริบทต่างๆ สภาพการณ์ต่างๆ ของสังคม เข้าใจในบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป มหาวิทยาลัยราชภัฏเราเน้นเรื่องการพัฒนาท้องถิ่นด้วย และเรามีลูกศิษย์ที่อยู่ในโครงการพัฒนาท้องถิ่นจำนวนมาก จึงคาดหวังว่าครูรุ่นใหม่นี้จะเป็นครูน้ำดี เป็นทั้งครูที่เก่งและดี จะช่วยแก้ปัญหาให้กับการศึกษา โดยเฉพาะแก้ปัญหาให้ท้องถิ่นในเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
“ส่วนครูรุ่นเก่าเราก็ต้องเข้าใจท่าน เพราะบางท่านอีกสามเดือนอีกปีหนึ่งจะเกษียณ ต้องพัฒนาในสิ่งที่ท่านจะพัฒนาได้ อย่าไปตั้งมาตรฐานเดียวกันกับครูรุ่นใหม่ เหมือนเวลาเราสอนเด็ก สอนเสร็จ เราประเมินออกมาเด็กมีความแตกต่างกัน เด็กบางคนเก่งมาก บางคนไม่ผ่าน การ treat เด็กก็ต้องแตกต่างกัน เราก็ดูว่าคนเก่งจะส่งเสริมอย่างไร คนไม่เก่งจะพัฒนาอย่างไร เราไม่สามารถสอนเด็กทุกคนให้เก่งเหมือนกันหมด ดังนั้นคนที่จะมาดูแลเรื่องการศึกษาต้องเข้าใจตรงนี้ ไม่ใช่ทำเหมือนกันหมด”
Recent Comments