โลกในศตวรรษที่ 21 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผวน (disruptive world) เป้าหมายและกระบวนการในการสร้างคนรุ่นใหม่ที่จะสามารถดำรงชีวิตให้อยู่รอด มีสุขภาวะที่ดีในทุกมิติ ทั้งร่างกาย อารมณ์จิตใจ สังคมและสติปัญญา รวมทั้งมีความสามารถสร้างสรรค์ เพื่อเป็นทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพ อันจะเป็นรากฐานของการสร้างสังคมสุขภาวะของประเทศไทย จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง
นักวิชาการจากทั่วโลกในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนามนุษย์ ทั้งจากสาขาประสาทวิทยาศาสตร์ จิตวิทยา และการศึกษา ค้นพบและยอมรับกันทั่วไปแล้วว่า ทักษะสมองที่เรียกว่า Executive Functions (EF) เป็นทักษะที่สำคัญยิ่งยวด เป็นศักยภาพที่มนุษย์ทุกคนมีมาแต่กำเนิด แต่จะต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นรากฐานอันแข็งแกร่งของการพัฒนา ทักษะศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) การคิดสร้างสรรค์ (Creativity) การสื่อสาร (Communication) การทำงานรวมหมู่ (Collaboration) การมีบุคลิกภาพที่เข้มแข็ง แต่ยืดหยุ่นปรับตัว การยอมรับความแตกต่าง และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุขในสังคม รวมถึงการมีสุขภาวะที่ดีในทุกมิติ
ความรู้เกี่ยวกับทักษะสมอง Executive Functions (EF) ชี้ชัดว่า การพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า(EF) ใช้ระยะเวลายาวนานจากขวบปีแรก จนถึงประมาณวัยผู้ใหญ่ตอนต้น (25-30 ปี) แต่ช่วงปฐมวัยเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด และมีอัตราการพัฒนาได้ดีที่สุด ที่จะปลูกฝังทักษะ EF ได้อย่างมีประสิทธิภาพจนเป็นบุคลิกภาพ หากพ้นช่วงเวลานี้ไปแล้ว โอกาสแห่งการพัฒนาคุณลักษณะแห่งสุขภาวะทุกด้านของชึวิตก็จะลดลง
เป็นความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งยวด ที่ครูปฐมวัยรุ่นใหม่ทุกคน จะต้องเข้าใจธรรมชาติสมองของเด็กปฐมวัยให้ชัดเจนและลึกซึ้ง เพื่อเปิดโอกาสให้สมองของเด็กปฐมวัยได้รับการส่งเสริมทักษะสมอง Executive Functions (EF) ดังนั้น ไม่เพียงแต่ครูปฐมวัยรุ่นใหม่จะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับองค์ความรู้ Executive Functions เพื่อเป็นพื้นฐานในการออกแบบจัดการเรียนรู้ และประเมิน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาบุคลิกภาพของเด็กปฐมวัยในช่วงวัยที่สำคัญที่สุดนี้เท่านั้น หากแต่ครูรุ่นใหม่ทุกคน ไม่ว่าจะสอนวิชาใดๆ ก็มีความจำเป็นยิ่งที่จะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติการทำงานของสมองและทักษะสมองส่วนหน้าว่า พฤติกรรมและการเรียนรู้ของเด็กทุกวัยทุกด้านเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองทั้งสิ้น
ปัจจุบัน การผลิตครูในมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง ๓๘ แห่ง ยังไม่มีวิชาที่สร้างความรู้ความเข้าใจแก่นักศึกษาครูในเรื่อง ธรรมชาติ การทำงาน การพัฒนาสมองของเด็กปฐมวัย มีแต่วิชา “ทักษะการคิด” ซึ่งเน้นสอนให้นักศึกษาครูรู้จักว่าการคิดมีกี่ประเภท เช่น การคิดพื้นฐาน การคิดขั้นสูง และให้นักศึกษาเรียนรู้กิจกรรมเพื่อฝึก เพื่อส่งเสริมการคิด เช่น การตั้งคำถาม เป็นต้น นอกจากนี้ ในวิชาพัฒนาการเด็ก มีการสอนเรื่องการส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้ลงลึกถึงการพัฒนาทักษะสมอง กล่าวได้ว่า นักศึกษาครูปฐมวัยที่ผลิตจากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง ยังมี Gap of Knowledge ในเรื่องทักษะสมอง EF ซึ่งเป็นทักษะสมองสำคัญยิ่งยวดที่ต้องพัฒนาในช่วงปฐมวัยนี้เท่านั้น
ในการดำเนินการขับเคลื่อน EF ของสถาบัน RLG ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ที่ผ่านมา แม้จะได้ดำเนินการอบรม EF พื้นฐานให้แก่อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏที่สอนภาควิชาปฐมวัยไปแล้วจำนวนหนึ่ง แต่เนื่องจากยังไม่มีหลักสูตรหรือรายวิชาเรื่องทักษะสมอง EF ด้วยนั้น อาจารย์ที่ได้รับความรู้ไปแล้ว จึงไม่สามารถสอนแกนเนื้อหาหลักให้แก่นักศึกษาได้ จึงเพียงแต่ได้ประยุกต์ความรู้ EF เข้าไปสอดแทรก เสริมกับรายวิชาต่างๆ ที่ตนสอนอยู่ แต่หากมีการพัฒนาหลักสูตรเกี่ยวกับทักษะสมอง EF ที่ชัดเจนให้เป็นแกนหลักทางด้านสมองและการเรียนรู้แก่อาจารย์แล้ว อาจารย์ก็จะสามารถนำไปสอนแก่นักศึกษาโดยตรงในรายวิชานั้นได้ หรือจะนำไปประยุกต์ใช้ในรายวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง ก็จะมีแหล่งอ้างอิงทางวิชาการที่เชื่อมต่อกันได้
ในปี ๒๕๖๒ มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศซึ่งเป็นสถาบันหลักในการผลิตครูกำลังอยู่ในช่วงปรับปรุงหลักสูตรผลิตครู ดังนั้น คณะกรรมการบริหารสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจึงเห็นสมควรที่จะนำองค์ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติการทำงานของสมองกับการเรียนรู้ และการพัฒนาสมองส่วนหน้า (Executive Functions-EF) ในเด็กปฐมวัย พัฒนาเป็นหลักสูตรเพื่อให้อาจารย์ในภาควิชาปฐมวัยศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งทั่วประเทศ นำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อปลูกฝังความรู้ความเข้าใจ และทักษะแก่นักศึกษาครูในภาควิชาปฐมวัย ซึ่งจะนำไปจัดการเรียนรู้ให้เด็กปฐมวัยต่อไป
โดยหลักสูตรนี้จะมีรูปแบบการเรียนการสอนและการประเมินผลการเรียนรู้ของนักศึกษาครู เป็นไปตามแนวทาง Competency-based และคณะกรรมการบริหารสภาคณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ ยังเห็นสมควรที่จะนำองค์ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติการทำงานของสมอง สมองกับการเรียนรู้ และการพัฒนาสมองส่วนหน้า (Executive Functions (EF) บรรจุเข้าไปในหลักสูตรรายวิชาของวิชา General Education วิชาทักษะชีวิต และวิชาจิตวิทยา เป็นต้น เพื่อให้คณาจารย์มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถนำไปถ่ายทอดแก่นักศึกษาครูทุกคนที่ผ่านการศึกษาในคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งต่อไป (เป็นงานในระยะต่อไป)
การบรรจุองค์ความรู้เรื่องทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Functions-EF) เข้าไปในหลักสูตร
การผลิตครูของคณะครุศาสตร์ เป็นจุดมุ่งหมายสำคัญอย่างยิ่งที่จะสร้างความยั่งยืน ทำให้การขับเคลื่อนองค์ความรู้ EF ในสังคมไทยที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนมาจนเกิดความสำเร็จด้วยดีมาระดับหนึ่งแล้วได้รับการฝังหมุดในระบบการศึกษา นำไปสู่การพัฒนาการศึกษาไทยให้ก้าวหน้าอย่างแท้จริง ด้วยครูจะมีความเข้าใจผู้เรียน สามารถพัฒนาผู้เรียนได้สอดคล้องกับธรรมชาติความเป็นมนุษย์ และนำพาเด็กและเยาวชนไปสู่เป้าหมายชีวิตที่มีสุขภาวะทุกด้าน และมีความสามารถสูง อันจะเป็นรากฐานที่แข็งแรงอย่างยิ่งของสร้างประเทศชาติที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ ตามข้อเสนอของสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ได้แจ้งชัดเจนว่า การนำความรู้ทักษะสมอง EF เข้าไปในหลักสูตรนั้น จะจัดทำเป็นวิชาใหม่ เพื่อนำเสนอต่อสกอ. ให้การรับรอง ในการปรับปรุงหลักสูตร 4 ปี ของคณะครุศาสตร์ ของทุกมหาวิทยาลัยราชภัฏต่อไป
สถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) ในฐานะศูนย์ประสานงาน Thailand EF Partnership ซึ่งได้ทำการศึกษาค้นคว้า วิจัย จัดการอบรมพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาในเรื่องของทักษะสมอง EF ร่วมกับนักวิชาการสหสาขา และได้ดำเนินการขับเคลื่อนเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องทักษะสมอง EF อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 โดยการสนับสนุนของสำนักส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชน (สำนัก4) สสส. จึงได้จัดทำ “โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาหลักสูตรด้านการส่งเสริมทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Functions – EF) และพัฒนาอาจารย์สาขาปฐมวัยศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ” ขึ้น โดยร่วมมือกับสภาคณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ
Recent Comments