096-356-9461 support@rlg-ef.com

ผศ.ภาวิณี โฆมานะสิน
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาสอนวิชาเกี่ยวกับสมองมานานแล้ว แต่ใช้ชื่อว่าการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการทำงานของสมอง “ตอนแรกที่ได้ยินว่าจะมีวิชาสมองกับการเรียนรู้ ก็คิดว่าเรามีต้นทุนเรื่องสมองอยู่แล้ว ไม่ใช่วิชาที่สนุก จะต้องดึงวิชานี้มาย้ำกับนักศึกษาอีกเหรอ ยังคุยกับเพื่อนในสาขา เราไม่ได้สอนหมอนะ เราไม่ได้เป็นหมอ หรือเราจะต้องเป็นหมอด้วย”

“แต่เมื่อไปอบรมก็ อ๋อ วิชานี้แหละที่ครูต้องรู้  ทีแรกคิดว่าเป็นทฤษฎี แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องการปฏิบัติ การฝึก การจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ จึงเกิดทัศนะใหม่กับวิชาสมองกับการเรียนรู้ และเมื่อมาคุยกันเรื่องสภาพสังคม ปัญหาสังคมต่างๆ ก็ตรงกับเรื่อง EF เป็นเรื่องที่เรานำไปสอนนักศึกษาได้ ไม่ล้าสมัย ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องใกล้ตัว และในฐานะเป็นครูเราสามารถยับยั้งปัญหานั้นๆ ได้ ถ้าเราสามารถสอนให้เด็กมี EF ตั้งแต่เล็ก ปัญหาจะลดลง

“หลังจากอบรมแล้ว และมหาวิทยาลัยปรับหลักสูตรเป็นหลักสูตร 4 ปี ในปี 62 จึงได้เปลี่ยนชื่อวิชาให้สอดคล้องกับที่ไปอบรมมา โดยจัดสอนให้กับนักศึกษาปี 1  เริ่มจากการปูพื้นเรื่องการทำงานของสมอง EF เราจะอธิบายว่าเป็นวิชาที่สำคัญที่สุดที่นักศึกษาจะต้องใช้เป็นพื้นฐานในการจัดการเรียนการสอนทุกวิชา และในอนาคตที่ออกไปทำงานจะต้องมีวิชานี้เกี่ยวข้องอยู่ตลอด

“นอกจากนั้นยังได้ประสานกับอาจารย์ผู้สอนวิชาอื่นๆ ให้ใส่เรื่องการทำงานของสมองเข้าไปในทุกวิชาที่สอนด้วย  

“คิดว่าวิชาที่สอนนั้นเหมือนทำ 2 step  เราอยากให้นักศึกษาเอาเรื่อง EF ไปสอนเด็กเล็กๆ แต่ตอนนี้ที่สำคัญ ตัวอาจารย์ต้องสอนนักศึกษาก่อน พยายามถ่ายทอด ยกเรื่องราวที่ใกล้ตัวที่สุดมาให้เรียนรู้ พยายามจัดกิจกรรมไม่ให้นักศึกษาเบื่อ ให้เข้าใจเหมือนที่เราตั้งใจว่าจะต้องให้เขาเข้าใจ EF อย่างถ่องแท้ก่อนจะนำความรู้ไปใช้กับเด็กนักเรียน  การจัดกิจกิจกรรมนี้เป็นเรื่องที่กังวลมาก โดยเฉพาะเมื่อเรียนออนไลน์  

“เมื่อหมดเทอมทำการประเมินความรู้ของนักศึกษา นักศึกษาได้ความรู้ตามที่สอนไป จำได้ แต่การปฏิบัติยังไม่เห็น เพราะยังไม่ได้ลงกับเด็กเล็ก เนื่องจากติดสถานการณ์โควิด  

“ประทับใจนักศึกษามาก คือเวลามีน้องใหม่เข้ามา พี่ปีสองจะมาเป็น staff รับน้อง เนื่องจากสถานการณ์โควิด พี่จะคุยกับน้องในห้อง zoom เมื่อคุยเสร็จเราได้ถามพี่ปีสองว่าคุยอะไรกับน้อง  เขาตอบว่าบรรยายเรื่อง EF ให้น้องฟัง คงเพราะมีความประทับใจ อยากจะถ่ายทอด ซาบซึ้งในคุณสมบัติของ EF  เหตุการณ์นี้ทำให้เรารู้สึกว่าเราจะต้องจริงจังกับเรื่อง EF จะต้องทำให้นักศึกษาเข้าใจในเรื่อง EF ให้มากที่สุด นี่คือจุดเปลี่ยนของเรา”  

การเปลี่ยนแปลง/ผลสัมฤทธิ์ หลังจากเรียนรู้ EF และนำความรู้ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน

เกิดทัศนะใหม่ต่อการเรียนรู้เรื่องสมอง  จากที่คิดว่าเป็นความรู้ของแพทย์ ห่างไกลจากการเป็นครู มาเห็นว่าเป็นความรู้ที่ไม่ล้าสมัย ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องใกล้ตัว เกี่ยวข้องกับปัญหาสังคม และครูต้องรู้เพื่อนำไปใช้หล่อหลอมเด็กเติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพ “ในฐานะเป็นครูเราสามารถยับยั้งปัญหานั้นๆ ได้ ถ้าเราสามารถสอนให้เด็กมี EF ตั้งแต่เล็ก ปัญหาจะลดลง”

นวัตกรรม

สื่อพัฒนา EF เด็กปฐมวัย  “เนื่องจากในสาขาได้นำเอา EF ไปบูรณาการในทุกวิชา วิชาสื่อหรือศิลปะ อาจารย์ที่รับผิดชอบสอนทำสื่อที่ใช้พัฒนา EF เด็ก และมีการนำไปทดลองใช้ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กพิทักษา ธนบุรี เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย CCR (โครงการบูรณาการแนวคิดจิตตปัญญาศึกษา (contemplative education) ระบบครูพี่เลี้ยง(coaching) และการวิจัยเป็นฐาน (research-based learning: RBL เพื่อการพัฒนาผู้เรียน) ด้วย” รวมทั้งมีการพัฒนาสื่อในโครงการอ่านออกเขียนได้ เพื่อการพัฒนาเด็กนักเรียนในจังหวัดนครปฐม โดยกำหนดวัตถุประสงค์ว่าจะต้องส่งเสริม EF ด้านใดด้านหนึ่ง เป็นการบริการวิชาการให้กับโรงเรียนสพฐ. ขนาดเล็กในจังหวัดนครปฐม

ฝากไว้ให้คิด

“EF เป็นพื้นฐานของคนดี ถ้าอยากให้บ้านเมืองมีความเจริญก้าวหน้า ต้องมีคนดีเยอะๆ นั่นคือทุกคนต้องมี EF เป็นพื้นฐานของการใช้ชีวิต”

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ