096-356-9461 support@rlg-ef.com

อาจารย์ญาดา ช่อสูงเนิน
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

อาจารย์ญาดาบอกว่าความรู้สึกแรกที่ได้ยินคำว่า EF คือ “อิหยัง” แต่เมื่อเข้าอบรมครั้งแรกก็ไม่ยากเกินไป ทำความเข้าใจได้ง่าย จนถึงเวลานี้เชื่อแล้วว่าความรู้ EF จะพัฒนาเด็กได้จริง  “ดูจากตัวเองที่สนุกกับทุกกิจกรรม เมื่อได้นำมาใช้กับนักศึกษา นักศึกษาก็สนุก จาก “อิหยัง” มาเป็น “ดีเหมือนกัน”

 “อบรมครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มีอาจารย์สาขาปฐมวัยไปคนเดียว นอกนั้นมีสาขาคณิตศาสตร์ จิตศึกษา หลักสูตรและการสอน อาจารย์สาขาอื่นไม่เคยสัมผัสการสอนแบบปฐมวัย พอมาอบรมก็บอกว่า EF ดีมาก เราไม่ต้องยัดเยียด ไม่ต้องทำอะไรให้นักศึกษาเยอะ แต่นักศึกษาจะเรียนรู้ด้วยตัวเอง อาจารย์บอกว่าขนาดอยู่สาขาวิทยาศาสตร์ มาอบรมไม่กี่วันยังรู้เลยว่า EF คืออะไร

“ตอนหลังได้ถามอาจารย์ที่เข้าอบรมด้วยกันว่าได้เอาไปใช้ไหม อาจารย์บอกว่าเอาไปใช้และนักศึกษาชอบมาก อาจารย์ทางจิตวิทยาก็เอาไปใช้กับนักศึกษาป.ตรี และป.โท ทำออกมาเป็นงานวิจัยด้วย

“ในคณะเราทำงานแบบพี่น้อง อยู่กันแบบมีความสุข เคยได้รับมอบหมายให้ทำโครงการอบรมครูโรงเรียนตชด.ในจังหวัด อธิการกับคณบดีบอกให้อบรม Coding เลยขอไปว่าไหนๆ ใช้งานเราแล้ว ขอเรื่อง EF ด้วยได้ไหม ท่านก็อนุญาต

สำหรับการสอนนักศึกษา อาจารย์ญาดาเล่าถึงวิธีการเรียนการสอนว่า “เราบอกนักศึกษาว่า EF มี 9 ด้าน โดยยังไม่ได้บอกว่าเป็นอย่างไร ให้นักศึกษาไปศึกษามาก่อน พอนักศึกษาไปสืบค้นมา เราก็พาทำกิจกรรม ที่ได้เห็นความสุข รอยยิ้มของนักศึกษา สุดท้ายถามว่ากิจกรรมนี้ได้ EF อะไรบ้าง เหมือนตอนไปอบรม”

“ก่อนเรียนทุกคาบ จะถามนักศึกษาก่อนว่ารู้สึกอย่างไร แรกๆ นักศึกษาก็งง ถามกลับมาว่าทำไมต้องถามความรู้สึก เลยถามว่า รู้สึกอย่างไรเวลามีคนถามว่ารู้สึกอย่างไร นักศึกษาตอบมาว่ารู้สึกดีนะ มีคนรับฟัง เราบอกว่าเด็กนักเรียนก็ต้องการแบบนั้นเหมือนกัน  คือทุกกิจกรรมเราจะโยงไปที่เด็กปฐมวัย ถึงแม้จะเป็นการสอนออนไลน์ก็ตาม พยายามเอากิจกรรมที่ได้รับจากการอบรมมาให้นักศึกษาทำอยู่เสมอ เปิดนิทานจากยูทูป ให้ดูเสร็จแล้วมีกิจกรรมต่อ เล่านิทานเรื่องเชือกวิเศษ โดยก่อนเรียนบอกนักศึกษาให้เตรียมอุปกรณ์มา พอนักศึกษาสร้างสรรค์ผลงานเสร็จก็ถ่ายรูปส่งเข้าไปใน Google Classroom คาบต่อไปเอามาโชว์กันและเล่าความคิดในการทำให้เพื่อนฟัง

นอกจากถ่ายทอดสู่นักศึกษาแล้ว อาจารย์ญาดายังนำความรู้ EFไปใช้กับตัวเองด้วย “ตอนไปอบรมที่ลำปาง ลูกอายุ 2 ขวบ เลยคุยกับที่บ้านว่าจะขอเลี้ยงลูกด้วย EF เราเชื่อว่าทำได้  โดยเริ่มจากตัวเอง จากเป็นคนอารมณ์ร้อน ก็บอกตัวเองว่าต้องหยุด สมองต้องนิ่ง อารมณ์เย็นคุยกับลูก ตอนนี้ลูกอายุ 5 ขวบ เวลาทำกิจกรรมศิลปะ เรายังยึดกับกรอบเดิม เช่นพับกระดาษที่เทสีไว้แล้วออกมาเป็นรูปผีเสื้อ แต่ลูกชายบอกไม่ใช่ ทำเป็นหุ่นยนต์ก็ได้ เวลามีปัญหากัน เราใช้วิธีคุยกัน มี safe zone ที่คุยกันสองคน มีวันหนึ่งลูกพูดว่ารู้มั้ยว่าเขาโกรธมาก เราน้ำตาแทบไหลว่าทำไมลูกรู้จักอารมณ์ตัวเอง ซึ่งเกิดจากที่เราใช้ความรู้ EFค่อยๆ เลี้ยงลูก ค่อยๆ คุย สอน 

“เมื่อเรามีประสบการแบบนี้มากๆ ก็เอามาเล่าให้นักศึกษาฟังเป็นตัวอย่าง เคยพาลูกมาที่ในมหาวิทยาลัยบ่อยๆ นักศึกษาเห็นถามว่าทำไมน้องเขียนหนังสือได้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เร่งให้เขียน แต่เป็นเพราะเราใช้ EF กับลูก

“เชื่อมั่นใน EF เพราะเราเอามาใช้กับลูกแล้วได้ผลดี และเพราะทำให้เราเปลี่ยนแปลงตัวเอง ทุกอย่างจะดีได้ถ้าเริ่มที่ตัวเรา แล้วก็จะพาให้คนข้างๆ เปลี่ยนแปลงไปด้วย

การเปลี่ยนแปลง/ผลสัมฤทธิ์ หลังจากเรียนรู้ EF และนำความรู้ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน

วิธีคิดเปลี่ยน  “เมื่อก่อนเป็นคนคิดลบ เช่นถ้าคิดจะเอาชนะ ก็จะคิดว่าเราจะล้มทับลวดหนามเพื่อก้าวไปข้างหน้า มันเจ็บปวดจัง เมื่อก่อนจะเอาชนะแบบลบๆ เปลี่ยนมาเป็นคิดบวก มองโลกสวยงามมากขึ้น ยั้งคิดมากขึ้น ก่อนจะพูดจะทำอะไรที่กระทบใจคนอื่น เปลี่ยนวิธีคิด”

นักศึกษาเปลี่ยน  “แม้จะเรียนออนไลน์ แต่เท่าที่สังเกตเห็นคือนักศึกษากล้าพูดกับอาจารย์มากขึ้น มีเรื่องทุกข์ใจก็ออนไลน์คุยกัน หรือนักศึกษามีกลุ่มเพื่อนมาด้วยกันทุกข์ใจกับรายวิชาที่เรียนกับอาจารย์ท่านอื่นก็ไลน์มาคุย จะสอนให้คิดบวก  พอเข้ามาเรียน onsite ก็ตั้งกลุ่มวิดีโอคอลคุยกัน”

ฝากไว้ให้คิด

“EF เกิดจากการเริ่ม ไม่ได้เกิดจากการรอ ความสำเร็จไม่ได้เกิดจากการขอ แต่เกิดจากการลงมือทำ”

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ