096-356-9461 support@rlg-ef.com

อาจารย์ดวงใจ รุ่งเรือง
มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี สมุทรปราการ

อาจารย์ดวงใจรู้สึกตื่นเต้นกับความรู้ EF ซึ่งเป็นความรู้ใหม่ และรู้ว่าต้องนำไปใช้ในการเรียนการสอน “การไปอบรม EF เรียนรู้เรื่อง EF ทำให้ได้ประโยชน์ 2 ต่อ คือ นำความรู้มาใช้กับลูกอายุ 9 เดือน เพราะมีหลักคิดว่าเวลาจะทำอะไรก็ตามเราจะต้องเชื่อในสิ่งนั้นก่อน ต้องรู้ก่อน ถึงจะเอาไปสอนได้

“เมื่ออบรมวันแรก ก็ยังงๆ อยู่บ้าง แต่เคยสอนวิชาการจัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐานมาก่อน ก็จะเข้าใจว่าสมองทำงานอย่างไร  จึงนำความรู้ใหม่มาต่อยอดกับประสบการณ์เดิม  มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี บรรจุรายวิชาสมองกับการเรียนรู้ไว้ในชั้นปีที่ 2 ของหลักสูตร 4 ปี ดังนั้นจึงยังมีเวลาที่จะหาความรู้ ทำความเข้าใจ และมีเวลาที่จะทดลองด้วยตัวเองว่า EF คืออะไร จะเอาไปใช้อย่างไร ก็เอามาใช้กับลูก จากนั้นจึงนำมาสอน ให้นักศึกษาดูว่าการที่เด็กทำอะไรต่างๆ ได้มีที่มาอย่างไร  นักศึกษาจึงห็นภาพชัดเจนกว่าการอ่านจากหนังสือหรือเอกสารความรู้

“และที่สำคัญคือนักศึกษาสนใจ สนใจแล้วถาม อยากเรียนรู้ เพราะหลังจากนักศึกษาไปฝึกประสบการณ์ที่โรงเรียนมาแล้ว ได้เห็นพฤติกรรมของเด็กๆ แล้วกลับมาถามอาจารย์ว่าจะพัฒนาหรือต้องทำอย่างไร มีนักศึกษาปีสองที่ได้ไปสอนเด็กช่วงสั้นๆ กลับมาถามว่า ทำไมใช้วิธีการแบบนี้แล้วไม่เกิดพฤติกรรมที่ต้องการ จึงได้อธิบายว่าเหมือนทาครีมลบริ้วรอย ทาวันสองวันไม่สำเร็จ ต้องทำไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างนี้คือสัมพันธภาพระหว่างนักศึกษากับเด็ก ทุกอย่างอาจไม่ได้เกิดผลตามที่หวังในเร็ววัน แต่ระหว่างทางที่ทำกิจกรรมได้เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างนักศึกษากับเด็ก นักศึกษาได้ตระหนัก ได้เรียนรู้”

อาจารย์ดวงใจใช้ความรู้ EF ในกระบวนการเรียนการสอน “ขั้นแรกให้นักศึกษารู้เป้าหมายของการเรียน เป็นการฝึกมุ่งเป้าหมาย โดยจะบอกนักศึกษาว่าวันนี้จะเรียนรู้เรื่องอะไร อาจารย์จะสอนอะไร และเป้าหมายระยะยาวใน 16 สัปดาห์ เช่นในรายวิชาการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กวัยต่ำกว่า 3 ปี เป้าหมายคือนักศึกษาจะต้องสามารถจัดประสบการณ์ให้กับเด็กได้  ระหว่างที่เรียนก็พัฒนาความจำใช้งาน การยืดหยุ่นความคิด การยั้งคิดไตร่ตรอง พอหมดคาบเรียนให้นักศึกษาประเมินว่าได้ความรู้อะไรบ้าง โดยให้นักศึกษาเขียน mind map หรือผังความคิดของตัวเองตั้งแต่สัปดาห์แรก แล้วขยายต่อไปเรื่อยๆ ตามเวลาที่เรียน ให้นักศึกษาได้กลับมาดูว่าตัวเองรู้อะไรไปแล้ว และยังขาดอะไร ซึ่ง mind map นี้จะต่อยอดไปเรื่อยๆ เป็นเวลา 16 สัปดาห์  การบอกเป้าหมายก่อนเรียนในแต่ละคาบนี้ นักศึกษาบอกว่าชอบ เพราะได้รู้ว่าวันนี้จะเดินทางไปไหน จะได้เรียนอะไร”

“ในช่วงท้ายของคาบเรียน เปิดเวทีให้ถาม  ในช่วงที่สอนออนไลน์จะให้ถามแบบเปิดไมค์หรือถามหลังไมค์ก็ได้ หรือถ้าไม่สะดวกถามตอนนั้น เวลาอื่นก็ทักอาจารย์ได้ เพราะบางคนไม่กล้าถามต่อหน้าเพื่อนๆ แรกๆ นักศึกษาจะไม่กล้าคุย ตอนหลังอาจารย์นำประสบการณ์การเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานมาพูดคุยด้วย นักศึกษาก็กล้าที่จะมาพูดคุยด้วยมากขึ้น นักศึกษากล้าถามเพราะอาจารย์ไม่บ่นว่า ยินดีตอบด้วยท่าทียิ้มแย้มแจ่มใส 

“และเมื่อนักศึกษานำเสนอกิจกรรมพัฒนา EF จะไม่วิจารณ์ว่ากิจกรรมไม่โอเค แต่บอกว่าได้ EF แล้ว และถ้าจะให้ได้มากกว่านี้นักศึกษาคิดว่าจะต้องทำอย่างไร” 

การเปลี่ยนแปลง/ผลสัมฤทธิ์ หลังจากเรียนรู้ EF และนำความรู้ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน

ปรับกระบวนการเรียนการสอน บอกเป้าหมายในการเรียนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตั้งแต่แต่ละคาบเรียนไปจนสุดท้ายปลายทาง ใช้การหยิบยกเคสที่นักศึกษาได้เห็นหรือประสบการณ์ตรงจากการไปฝึกประสบการณ์มาให้วิเคราะห์เรียนรู้ เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นมากขึ้น ไม่ตัดสินผิดถูก กระตุ้นให้นักศึกษาใช้ความคิดของตัวเองคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์

ใช้ความรู้ EF ในการเลี้ยงลูก  ทำให้อาจารย์ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ได้เห็นผลของการใช้ความรู้ ในการพัฒนาเด็ก และเป็นตัวอย่างนำมาสอนนักศึกษาได้

ฝากไว้ให้คิด

การสร้างคนคือการเปิดโอกาสในการสร้างความรัก รักในการเรียนรู้ และรักในการเข้าใจตนเอง”

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ