096-356-9461 support@rlg-ef.com

อาจารย์ผ่องนภา พรหมเกษ
มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์

อาจารย์ผ่องนภารับผิดชอบสอนรายวิชาสมองกับการเรียนรู้ และการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย ให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 หลังจากได้รับการอบรมความรู้เรื่อง EF โดยแรกเริ่มได้ติดตามอาจารย์รุ่นพี่คือ ผศ.ดร.คนึง สายแก้ว ซึ่งเป็น EF Facilitator รุ่นที่  นำความรู้ EF มาเผยแพร่แบ่งปันในการอบรมครู(คูปองครู)  ร่วมกับวิทยากร EF ซึ่งเป็นอาจารย์สาขาวิชาเดียวกัน 5 คน  เป็นประสบการณ์ครั้งแรกกับเรื่อง EF ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้เข้าใจมากนัก  จนกระทั่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์เป็นเจ้าภาพจัดอบรม EF ภายใต้การสนับสนุนของท่านอธิการบดี ผศ.กนก โตสุรัตน์ และอาจารย์คนึงได้เชิญวิทยากรจากสถาบัน RLG มาให้ความรู้ จึงได้เข้ารับการอบรมการเป็น EF Facilitator รุ่นที่ ต่อมายังได้เข้าร่วมอบรมอีกครั้งที่โคราช ทำให้มีความเข้าใจเรื่อง EFมากขึ้น

การอบรมอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดความเข้าใจชัดเจนลึกซึ้ง สามารถนำความรู้และเทคนิคต่างๆ ไปใช้งานได้อย่างถูกต้องแม่นยำตอนที่อบรมอาจารย์ราชภัฏสาขาอื่นที่ไม่ใช่สาขาปฐมวัย เป็นการอบรมครั้งเดียว ก็มีประเด็นว่า ไม่เห็นมีอะไรเลย เหมือนที่เรารู้อยู่แล้ว เพราะยังไม่เกิดความเข้าใจลึกซึ้ง จึงอยากให้ผู้ใหญ่เปิดโอกาสให้อาจารย์ได้รับการอบรมต่อเนื่อง 2-3 ครั้ง  สำหรับตัวเองเกิดการเปลี่ยนแปลงจากการอบรมหลายๆ ครั้ง ยิ่งได้มีโอกาสไปเป็น Fa ยิ่งเข้าใจได้ลึกมากขึ้น”

ในขณะเดียวกันอาจารย์ผ่องนภาก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สอนวิชาสมอง 1 ห้องเรียน  “พอมีประสบการณ์ได้เรียนรู้กับวิทยากร EF ที่สอนให้เข้าใจได้ง่าย ก็รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องยากที่จะสอน  พอเข้าใจเรื่องสมอง การทำงานของสมอง ก็สามารถเชื่อมโยงการทำงานของสมองกับกิจกรรมต่างๆ ได้ หรือเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของนักศึกษา นำสิ่งที่ใกล้ตัวมาสอนนักศึกษาให้เข้าใจว่านี่คือการทำงานของสมองส่วนใด สมองส่วนที่เป็นสัญชาตญาณ สมองส่วนอารมณ์ ความรู้สึก สมองส่วนหน้า

“เราสอนให้นักศึกษามองเชื่อมโยงไปถึงการทำงานของสมอง อย่างตอนนี้หนูรู้สึกอย่างไร รู้สึกปลอดภัยไหม อยู่กับครูกล้าไหม การเรียนออนไลน์ก็จะถามนักศึกษาว่ากล้าที่จะเปิดไมค์ตอบอาจารย์ไหม กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนไหม ตรงนี้สำคัญ ไม่ได้ห่วงว่านักศึกษาจะแสดงความคิดเห็นด้านลบ ขณะเดียวกันก็อธิบายว่าจะทำกิจกรรมอะไรอย่างไร ต้องเปิดหน้ากล้อง เมื่อมี break out roomจะต้องทำอย่างไร และเมื่อสิ้นสุดกิจกรรมจะทำอย่างไร เราคุยตกลงกันก่อน

“ปัญหาใหญ่ของนักศึกษาคือไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าถาม ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น เพราะกระบวนการเรียนรู้ของไทย ครูเป็นใหญ่ในห้องเรียน แต่หลังจากที่ได้ใช้ความรู้ EF มาจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ต้นเทอมจนถึงท้ายเทอม นักศึกษารู้สึกว่าปลอดภัยที่จะพูด แสดงความคิดเห็น แสดงออกภายใต้กรอบกติกาที่มีข้อตกลงชัดเจน และเขาเข้าใจกระบวนการทำงานของสมองกับการเรียนรู้  รู้สึกมันได้ผล”

อาจารย์ผ่องนภายังใช้เทคนิคในการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งได้มาจากประสบการณ์ในการเป็น EF Facilitator ให้กับสถาบันRLG  นำมาใช้กับนักศึกษา สร้างพลัง ทำการเปิดใจผู้เรียนก่อนที่จะเรียนรู้ นำกิจกรรมที่ใช้พัฒนาเด็กปฐมวัยมาใช้กับนักศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องง่าย เพราะสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัยมีกิจกรรมเล่นเกม ร้องเพลง เล่านิทานกันอยู่แล้ว นักศึกษาได้ทั้งเทคนิคการสอนที่จะเอาไปใช้กับเด็กปฐมวัย ในขณะที่ตัวนักศึกษาเองก็รู้สึกผ่อนคลายด้วย

“เมื่อก่อนสอนนักศึกษาว่าเธอต้องเปิดใจผู้เรียนให้ได้ก่อน เมื่อมาเรียนรู้เข้าใจเรื่อง EF ก็สามารถอธิบายให้เห็นที่มาที่ไปได้ว่ามันคือการทำให้ผู้เรียนรู้สึกสงบ ปลอดภัย แล้วกล้าที่จะเรียนรู้อย่างมีความสุข ทำให้เรียนรู้ได้ดี”  

การเรียนรู้เรื่อง EF ยังทำให้อาจารย์ผ่องนภาพบว่า EF มีความเหมือนหรือสอดคล้องกับหลักธรรมในเรื่องพรหมวิหาร 4 เมตตา กรุณา มุทิตา อุบกขา โดยมีเมตตาเป็นตัวนำ

“เรื่อง EF สอดคล้องกับความเชื่อของตัวเองในเรื่องความเป็นมนุษย์ เรื่องธรรมะ การมีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์  มองคนอื่นด้วยใจที่เปิดกว้าง  เรามองนักศึกษาด้วยความรู้สึกว่าเขาคือคนๆ หนึ่งที่ยังไม่มีความรู้อะไรเท่าเรา จึงต้องการโอกาสจากเรา  เพราะฉะนั้นเวลาเราสอนเด็ก เรามักจะให้ความเมตตาไปก่อน  พอเรียนรู้เรื่อง EF ก็ตรงกับตัวตนของตัวเอง แต่มันเป็นเชิงวิชาการ มีกระบวนการ ขั้นตอนที่ชัดเจน ก็รู้สึกว่าถูกใจ ถึงแม้เราจะใช้หลักเมตตาอยู่แล้วก็ตาม แต่เราได้เทคนิคกระบวนการ ความเข้าใจที่ชัดเจน

 “EF เหมือนดึงธรรมะออกมาในรูปลักษณ์ที่เป็นวิชาการให้ชัดเจน พระพุทธองค์สอนทางหนึ่ง วิทยาศาสตร์ก็อธิบายให้เห็นว่าสมองทำงานอย่างไร เราต่างจากสัตว์อย่างไร  ถ้า EF ดีก็เหมือนมีหลักธรรมประจำใจ เราเชื่อว่าไม่ว่าจะไปที่ไหน ถ้าใช้เมตตานำก็ไปได้เรื่อยๆ ก็เหมือนกับน้ำที่สามารถไหลเซาะไปได้ทุกที่ แต่ถ้าไปใช้อำนาจ มีแต่จะแตกหักและก็พัง เพราะฉะนั้นการใช้ชีวิตเราต้องใช้เมตตาเข้ามาเป็นตัวนำ โดยเฉพาะอาชีพครู

“เรามองคนเป็นคนมากขึ้น มุมมองต่อนักศึกษาเปลี่ยนไป เห็นความแตกต่างของนักศึกษาแต่ละคน และที่สำคัญคือให้โอกาสเด็กมากขึ้น ซึ่งตัวเองก็มีความเชื่อในเรื่องของการให้โอกาสอยู่แล้ว เรากล้าที่จะเปิดใจและยอมรับกัน ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกคนมีข้อผิดพลาดได้ แต่สำคัญที่สุดคือต้องรู้ว่าผิดตรงไหน พร้อมที่จะแก้ไข เดินหน้าต่อไป ซึ่งการเรียนการสอนรายวิชาสมองจะทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้มาก เพราะมองถึงความเป็นมนุษย์ การใช้ชีวิต ไม่ว่าในห้องเรียนหรือชีวิตประจำวัน ชีวิตครอบครัวก็ต้องใช้ได้

“นักศึกษาสะท้อนกลับมาว่าเห็นด้วย หรือเรื่องสายสัมพันธ์ “แม่มีอยู่จริง” “บันได 7 ขั้น” เราบอกนักศึกษาว่าหนูยังอาจจะไม่ได้ใช้เรื่องนี้เพราะยังไม่ถึงวัยเป็นแม่ แต่เรื่องยับยั้งชั่งใจนั้นเป็นเรื่องที่วัยรุ่นต้องใช้ ยกตัวอย่างว่า วันนี้วันลอยกระทง ด้วยวัยของเราเสี่ยงต่อการจะทำสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร แต่ถ้าเรามีสายสัมพันธ์ที่แน่นหนามั่นคงกับพ่อแม่ผู้ปกครองหรือคนที่ดูแลเรามา คืนนั้นหน้าแม่ คำสอนของแม่ก็จะโผล่ขึ้นมาให้เรายับยั้งชั่งใจ ช่วยให้ฉุกคิดได้ว่าไม่ควรทำอะไรที่แม่จะเสียใจ  คือพยายามเชื่อมโยง EFกับชีวิตที่เป็นจริงของวัยเขา

“นักศึกษาสะท้อนว่าเรียนกับอาจารย์แล้วมีความสุข วันปิดคลาสเทอมแรก นักศึกษามาบอกว่าขอเจออาจารย์ผ่องนภาอีกได้ไหม บอกไปว่ามีอะไรก็สามารถติดต่อมาได้ทุกช่องทาง ปรึกษาได้ไม่เฉพาะวิชาเรียน  ทำให้มีนักศึกษาภาคกศ.บป.(การศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรประจำการ) และนักศึกษาปัจจุบันโทร.ติดต่อ มาหาที่บ้าน ปรึกษาปัญหาต่างๆ

“เทอมก่อนมีการลงชุมชน สาขาการศึกษาปฐมวัยร่วมกับมูลนิธิเด็กน้อยพัฒนาซึ่งทำ MOU กับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ก็พานักศึกษาเข้าไปช่วยปรับปรุงสภาพแวดล้อมในชุมชน และทำกิจกรรมกับเด็กโดยพยายามเชื่อมโยงรายวิชาต่างๆ ที่สอน”

การเปลี่ยนแปลง/ผลสัมฤทธิ์ หลังจากเรียนรู้ EF และนำความรู้ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน 

mindset ของผู้สอนเปลี่ยน  มองความเป็นมนุษย์ของนักศึกษามากขึ้น เห็นความแตกต่างของนักศึกษาแต่ละคน มีเมตตา ให้โอกาส

บรรยากาศการเรียนการสอนเป็นไปอย่างสนุกสนานมีความสุข  แม้แต่ในชั้นเรียนออนไลน์ เปลี่ยนบรรยากาศการเรียนการสอนแบบ“ครูเป็นใหญ่ในห้องเรียน” ซึ่งทำให้นักศึกษาไม่กล้าถาม ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น มาเป็นเสริมสร้างความมั่นใจ เสริมสร้าง Self ให้นักศึกษา อาจารย์มีเมตตา มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ยิ้มให้กัน มีเสียงหัวเราะในห้องเรียน

สร้างเสริมความรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นครู  ความรู้ EF ทำให้อาจารย์ตระหนักในคุณค่า ความหมายของการเป็นครูที่เป็น”ผู้ให้” เป็นผู้สร้างคนที่มีคุณภาพ คนที่มี EF ให้สังคมและประเทศชาติ

เปลี่ยน mindset ของนักศึกษา ที่ขาดความมั่นใจ ไม่กล้าถาม ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น เปลี่ยนเป็นมั่นใจในตัวเอง ไม่อายที่จะพูด แสดงออก   

ฝากไว้ให้คิด

“การใช้ความรู้ EF ทำให้อาชีพของเราสมบูรณ์ขึ้น ทำให้ภูมิใจในอาชีพครู ชัดเจนในคำว่าครูคือผู้ให้ ไม่ใช่วิชาชีพที่หวังผลประโยชน์ ครูเหมือนแม่คนหนึ่งที่ไม่ต้องการอะไรจากลูก อยากให้ลูกเติบโต มีการพัฒนา มีชีวิตที่ดีขึ้นไปเรื่อยๆ”

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ