096-356-9461 support@rlg-ef.com

อาจารย์พจนีย์ เชื้อบัณฑิต
มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์

มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ มีรายวิชาสมองกับการเรียนรู้ที่นักศึกษาปี 1 ต้องเรียนในเทอม 1 อาจารย์พจนีย์เมื่อรู้ว่าจะต้องสอนวิชานี้ก็พยายามคิดบวก “เพราะถ้าไม่คิดบวกจะท้อว่า นักศึกษาปี 1 คือเด็กมัธยม 6 เองนะ ทุกอย่างใหม่สำหรับเขา จะเรียนวิชานี้ไหวเหรอ จึงคิดบวกว่า ดีแล้วที่ทุกอย่างใหม่ ถ้าใส่อะไรเข้าไปเขาคงรับได้ เพราะฉะนั้นต้องเริ่มที่ตัวเราว่าจะออกแบบการเรียนรู้อย่างไร

“ได้สอนวิชานี้มา 3 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 62 ทั้งอาจารย์และนักศึกษาเป็นครูให้กันและกัน เรียนรู้กันและกัน แล้วปรับวิธีการมาเรื่อยๆ เริ่มต้นมีคู่มือครูปฐมวัยเป็นคัมภีร์ ถือว่านักศึกษาเป็นครูให้เรา มาปี 63 ซึ่งเป็นปีที่สองก็ปรับอีก  ปี 64 ประสบความสำเร็จ แต่สิ่งหนึ่งที่พบคือ ไม่ว่าจะวางแผนมาดีในระดับใด ผู้เรียนนั้นสำคัญที่สุด ซึ่งแต่ละปีผู้เรียนจะไม่เหมือนกัน ดังนั้นแผนหรือกิจกรรมที่ perfect มากสำหรับนักศึกษาปี 62 เมื่อนำไปใช้สำหรับปี 64 อาจจะไม่ใช่ก็ได้ เพราะสไตล์เด็กไม่เหมือนกัน

“จึงสรุปได้ว่าที่เคยสอนนักศึกษามาตลอดว่าความแตกต่างของบุคคลสำคัญมากต่อการเรียนรู้นั้นใช่จริงๆ  แม้กระทั่งเด็กวัยอนุบาล แต่ละปีเราจะรับมือกับพวกเขาต่างกัน ต่อให้มีแผนที่เตรียมมาดี แต่เมื่อมาถึงหน้าชั้นเรียนจริงๆ ผู้เรียน ณ ปัจจุบันสำคัญกว่า ดังนั้นถ้าเรามีแผนมาแล้ว เราต้องยืดหยุ่น จึงเริ่มต้นที่ตัวเราเองต้องมี EF เมื่อมี EF การออกแบบกิจกรรมต่างๆ ก็จะเกิดขึ้น ทำให้การเรียนมีสีสัน และประสบความสำเร็จในแต่ละปีที่ได้สอน”

“เดิมกระบวนการเรียนการสอนของเรามีการวางแผน มีการให้นักศีกษาได้ลงมือทำอยู่แล้ว แต่ที่เปลี่ยนไปมากคือ เรามีการประเมินตัวเองว่าในเทอมนี้การสอนเป็นอย่างไร เช่น ปีแรก เราตื่นเต้น เราวางแผนอย่างดีมาก เอาเนื้อหาวิชาการมาเรียงลำดับ เพื่อให้นักศึกษาได้ความรู้ครบ คิดว่าถ้านักศึกษาเดินตามกระบวนที่วางไว้ จะรู้เข้าใจเรื่อง EF อย่างมาก  พอลงมือสอนจริงๆ แล้วมาทบทวน ตรวจสอบ ประเมิน พบว่า สำหรับเด็กอายุ 17-18 ที่เรียนครู เนื้อหาวิชาที่สอนไปนั้นแน่นเกินไป นักศึกษาเครียด แม้จะมีเกมให้เล่นก็ตาม และเราก็ทำเต็มที่แล้ว  ก็คิดว่า จะดีกว่านี้ถ้า…เราจะต้องทำอย่างไร

“ปี 63 เราไม่ได้ลดเนื้อหาลง แต่ให้นักศึกษาเป็นผู้สืบค้น ซึ่งเขาสนุก เพราะตรงกับวัย เรื่องนี้เป็นเรื่องการเรียนรู้ของแต่ละ generation วัยรุ่นถ้าทำอะไรที่ท้าทายเขาจะลุยเหมือนเล่นเกม ถ้าเพิ่ม level ไปให้ จะรู้สึกสนุก จึงเอาวิธีให้สืบค้น ให้ทำกิจกรรม มาเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ จะได้มาแบบไหน ถูกหรือผิดไม่เป็นไร มาแชร์กัน แล้วอาจารย์เป็นผู้สรุป วิธีนี้ได้ผล 

“ปี 63 รู้สึก proud มากในการออกแบบการเรียนการสอน ซึ่งได้ผลดีจริงๆ เราประเมินแล้วปรับไปเล็กๆ น้อยๆ แต่นำไปใช้กับนักศึกษาปี 64 ไม่ได้ เพราะนักศึกษาปี  64 เรียนผ่านออนไลน์อย่างเดียว จะทำอย่างไรให้การเรียนออนไลน์ 16 สัปดาห์ทั้งนักศึกษาและอาจารย์สนุก ก็ลดบางอย่างลง แล้วใช้วิธีการเล่นเพื่อการเรียนรู้เติมเข้าไป ให้นักศึกษาเรียนรู้ผ่านการเล่น ผ่าน Active Learning และโชคดีมากที่มีสื่อออนไลน์ให้ไอเดีย โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับ HomeBased Learning ในรายการ “Can Do ครู EF” เราก็เอาเทคนิคไอเดียที่ใช้กับเด็กเล็กมาปรับใช้กับเด็กโต ถือว่าประสบความสำเร็จ นักศึกษาได้สำรวจ สืบค้น เล่น รู้สึกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงมาก”

การเปลี่ยนแปลง/ผลสัมฤทธิ์ หลังจากเรียนรู้ EF และนำความรู้ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน

มีการประเมินตนเอง และยืดหยุ่น ปรับกระบวนการ อาจารย์ผู้สอนมีการประเมินการสอนของตนเองในแต่ะเทอม แล้วปรับให้การสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งยืดหยุ่นปรับกระบวนการให้เหมาะกับนักศึกษาแต่ละรุ่นด้วย เช่นรุ่นปัจจุบันนักศึกษาเรียนออนไลน์  “ก็ลดบางอย่างลง แล้วใช้วิธีการเล่นเพื่อการเรียนรู้เติมเข้าไป

เกิดบรรยากาศการเรียนการสอนที่สนุก สนุกทั้งนักศึกษาและอาจารย์ผู้สอน นักศึกษามีความกระตือรือร้นมากขึ้น จากการได้ได้สำรวจ สืบค้น เล่น ทำกิจกรรม

นวัตกรรม

การเรียนการสอนนักศึกษาแบบ Active Learning ที่“ทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยไม่ได้เรียน” ผู้ที่ออกแบบการเรียนการสอนจะต้องหากิจกรรมหรือวิธีการที่แยบยลมาทำให้การเรียนเหมือนการเล่น และพอสรุปถอดบทเรียน หรือ AAR กัน ผู้เรียนได้ความรู้ครบถ้วน

“ตัวเองตกตะกอนเรื่องนี้จากการไปอบรมครูโรงเรียนตชด. ตอนนั้นคิดว่าทำอย่างไรให้ครูตชด.เข้าใจกระบวนการ EF อบรมตั้งแต่เช้าถึงเย็น 7 วัน ไม่หยุดเสาร์อาทิตย์ ครูต้องเรียนศาสตร์ของการศึกษาปฐมวัย 120 ชม. โดยมีวิชาสมองกับการเรียนรู้ 1 สัปดาห์เต็มๆ  กลยุทธ์คือการเล่น โดยใช้กระบวนการที่หลากหลาย เช่นให้ไปเลือกของเล่นมาหนึ่งอย่างที่ตอนตัวเองเป็นเด็กชอบมากที่สุด กิจกรรมนี้เพื่อหาตัวตนหรือ Self  ครูกลุ่มนี้ตอนแรกนั่งตัวตรงมาก พอให้ค่อยๆ คลายออกมา จะเหมือนเด็ก ยิ่งเมื่อได้เล่าประสบการณ์เดิม แล้วนำมาถอดรหัส EF ก็ทำได้หมด

“เวลาสอนนักศึกษาเรื่องทฤษฎีของสมอง  จะสอนผ่านกิจกรรมการเล่น ใช้สื่อต่างๆ ประกอบ เช่นวิดีโอของสถาบันRLG  เล่นแล้วดูแล้วก็มาถอดรหัส EF กันทีละขั้นๆ

“เด็กแต่ละปีไม่เหมือนกัน จะต้องมีกลวิธีในการปรับโดยสัปดาห์ที่ 1 , 2 จะมีกิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์ออนไลน์ อาจารย์ได้มีโอกาสสังเกตพฤติกรรม บุคลิกภาพของเด็กผ่านกิจกรรมสันทนาการ เชื่อมความสัมพันธ์ ในช่วงทำกิจกรรม เมื่อให้เด็กอธิบายสิ่งที่ทำ ก็จะรู้จักเขามากขึ้น เห็นกระบวนการคิดจากคำอธิบาย ทำให้รู้ว่าจะต้องออกแบบเกม กิจกรรม กลุ่มแบบไหน จากนั้นวางแผนว่าจะออกแบบกิจกรรมอย่างไร นำแผนไปใช้ในสัปดาห์ที่ 3 ให้โจทย์ไป เช่นวาดภาพที่ชอบ ได้รู้ความสามารถในการวาดภาพ ต่อไปให้วาดรูปสมอง  map ต่างๆ  ก็จะได้รู้ว่าเด็กกลุ่มนี้วาดรูปเก่ง ไม่ค่อยชอบกิจกรรมที่นำเสนอมาก ชอบกิจกรรมที่เล่นเกมเยอะๆ นำมาใช้สัปดาห์สาม พอสัปดาห์ที่ 4 นักศึกษาเริ่มนิ่งแล้ว ก็เริ่มใส่เนื้อหา โดยดูนักศึกษาด้วยว่าเป็นประเภทที่ต้องใช้แผนที่ 1 หรือ 2 หรือ 3 มาใช้กับห้องนี้”

ฝากไว้ให้คิด

“เรียนรู้ EF  ยอมรับการเปลี่ยนแปลง  และเราจะเติบโตไปพร้อมๆ กัน”

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ