096-356-9461 support@rlg-ef.com

อาจารย์วรรณี พลสมัคร
มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

“เรื่องสมองเป็นหลักสูตรใหม่สำหรับการเรียนครุศาสตร์หลักสูตร 4 ปี และในคำอธิบายรายวิชามีคำว่าระบบประสาท โครงสร้างสมอง อาจารย์ทุกคนมองหน้ากันแล้วพูดว่าเราจะเป็นหมอหรือเป็นครูกันแน่” อาจารณ์วรรณีกล่าวถึงความรู้สึกเมื่อรู้ว่าจะต้องสอนวิชาสมองกับการเรียนรู้และได้ไปอบรม “ก็เครียดว่าจะสอนได้เหรอ EF เป็นอย่างไรไม่รู้ อาจารย์ทั้งสาขา 5 คนได้ไปอบรมกันหมด แต่เมื่อได้อบรม ได้เห็นกิจกรรมที่วิทยากรถ่ายทอดออกมา ก็ทำให้มองเห็นว่าจะนำไปใช้อย่างไร เกิดความชัดเจนมาก

“นำหลักสูตรนี้เข้าประชุมสภาวิชาการของมหาวิทยาลัย ทางสภาฯบอกให้ปรับได้ แต่ให้ยึดเค้าโครงเดิม ถ้าจุดใดเป็นการแพทย์มากไปให้ตัดออก จากนั้นนำทุกสิ่งทุกอย่างที่อบรมมาเขียนคำอธิบายรายวิชาสมองกับการเรียนรู้และในรายวิชาอื่นๆ กันใหม่ เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้ได้ง่ายและได้มากที่สุด”

“ปัจจุบันคลายกังวลลง เพราะก่อนอบรมคิดว่าถ้าความรู้ตัวเองไม่แม่น จะไม่กล้าถ่ายทอด แต่พอไปอบรมได้เจอคลังสมองตัวจริง และได้วิชาติดตัวกลับมา ก็คิดว่าเอามาส่งต่อได้  ดังนั้นตอนนี้ไม่กังวลกับสอนแล้ว สามารถเอาไปบูรณาการ ปรับใช้กับวิชาอื่นๆ สามารถมองออก เจาะลึกไปได้ว่ากิจกรรมนี้จะได้ทักษะอะไรบ้าง  ถ้าไม่ได้ไปอบรมก็จะเสียดาย แล้วพอลงมือทำก็ไม่เกินความสามารถที่จะทำ

“ตอนนี้เมื่อสอนวิชาอะไรก็จะเอาเรื่อง EF ใส่ลงไป รับโครงการอะไรมาก็คิดว่าสามารถเชื่อมโยงกับ EF ได้อย่างไร เพราะเห็นว่าพัฒนาเด็กได้จริงๆ  เช่นในวิชาบริบาล คุยกับนักศึกษาว่า EF จะช่วยปูพื้นฐานให้กับเด็กๆ ได้อย่างไร  

“ที่ต้องบูรณาการในวิชาอื่นๆ และในการเรียนการสอนปีอื่นๆ ด้วยนั้น เหตุผลหนึ่งคือมีนักศึกษาหลักสูตรเก่ามาถามว่าทำไมเขาไม่ได้เรียน อยากเรียนกัน เลยต้องบูรณาการในทุกวิชา ไม่ว่าจะอยู่ใน course outline หรือไม่ พื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกเหลื่อมล้ำและนักศึกษาจะได้เอาไปใช้ต่อเวลาไปเป็นครูหรือเวลาไปฝึกสอน  นักศึกษาปีอื่นๆ จึงรู้เรื่อง EF ด้วย เวลาอาจารย์ไปอบรมก็จะกลับมาเล่าให้ฟังว่าไปอบรมมาได้อะไรมาบ้าง ดีอย่างไร มีจุดเด่นอย่างไร

“ตอนนี้ในหัวทุกอย่างจะเป็น EF ไปหมด เมื่อรับโครงการจากคณะมาทำ ก็จะมองเป็นโครงการที่จะใส่ EF เข้าไปทั้งหมด หายใจเข้าออกเป็น EF  แม้แต่เวลาคุยกับลูก ก็ถามว่าทักษะตัวนี้มีหรือยัง เพราะบางทีลูกจะมีอาการหงุดหงิด ไม่จดจ่อ ได้พูดคุยกับลูกและแนะนำว่าเรื่องนี้ฝึกกันได้นะ

นอกจากนี้ อาจารย์วรรณียังได้ร่วมกับอาจารย์ที่ดูแลด้านวิชาการในโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏ บูรณาการ EF กับการเรียนการสอนของโรงเรียนซึ่งใช้แนว Woldorf กับ Project Approach

“สำหรับการต่อยอด ผู้ปกครองคือด่านแรกที่สำคัญที่ต้องมีความรู้ EF เพื่อไปพัฒนาลูกหลาน และการที่เราเป็นจุดศูนย์รวมของครู เราสามารถสร้างเครือข่ายได้ ก็คุยกันกับอาจารย์ในสาขาว่าจะช่วยกันผลักดัน สร้างเครือข่าย EF  เส้นใยที่เราสร้างออกไปถ้ามีความแข็งแรง ก็จะช่วยพัฒนาประเทศชาติให้มีความมั่นคงมากขึ้น เพราะตอนนี้เราอยู่กันแบบหละหลวม ขาดทักษะต่างๆ ทำไมบางวิชาถึงมาเป็นวิชาเรียนทั้งๆ ที่เป็นทักษะชีวิต ที่จะต้องเกิดขึ้นตั้งแต่เล็ก  แต่ถ้าเราปูพื้นฐานให้ดีตั้งแต่ปฐมวัย ก็จะติดตัวเด็กไปจนโต แล้วถ้าเด็กๆ มีทักษะ EF เขาจะกรองเรื่องการใช้ชีวิตได้ดีมาก จะไม่ก้าวพลาด ไม่ทำอะไรบุ่มบ่าม โลกจะสวยกว่านี้ จะมีคนที่มีคุณธรรม จริยธรรม”

การเปลี่ยนแปลง/ผลสัมฤทธิ์ หลังจากเรียนรู้ EF และนำความรู้ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน

ปรับเปลี่ยนกระบวนการ วิธีการเรียนการสอน  “เริ่มจากที่ตัวเองประทับใจเรื่อง EF เกิดความเข้าใจ เห็นว่าเป็นความรู้ที่สำคัญ ทั้งต่อตัวเอง การใช้ชีวิต ต่อการเรียนการสอน รับเอากระบวนการ กิจกรรมที่ได้รับจากการอบรมมาปรับใช้กับการเรียนการสอน พยายามชี้ให้นักศึกษาเห็น EF เวลาใช้กระบวนการ การทำกิจกรรมกับเด็ก นักศึกษาเกิดความเข้าใจจากการปฏิบัติ จากการทำกิจกรรม”

บูรณาการ EF กับการเรียนการสอนของโรงเรียนซึ่งใช้แนว Woldorf กับ Project Approach โดยร่วมกับอาจารย์ที่ดูแลด้านวิชาการในโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

ฝากไว้ให้คิด

ถ้าครูมี EF มากๆ จนซึมลึก จะเป็นครูที่แท้จริง ไม่ใช่แค่เพื่อรายได้ เพื่อให้มีงานที่มั่นคง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเด็กแบบไหน ครูก็จะรักและดูแล ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่หงุดหงิดถ้าเด็กมีพฤติกรรมไม่ดี ถ้าครูไม่มี EF จะยับยั้งใจไม่ได้ ยิ่งถ้าต้องสอนเด็กพิเศษ  ถ้าครูมี EF จะบริหารชั้นเรียนได้ในทุกสถานการณ์ รู้เป้าหมายว่าจะพัฒนาเด็กให้เป็นอย่างไร ต้องทำอะไรอย่างไรกับเด็ก เขาไม่ได้เป็นครูอย่างเดียว แต่เป็นพ่อแม่ให้เด็กด้วย” 

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ