096-356-9461 support@rlg-ef.com

อาจารย์อรพร ทับทิมศรี
มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

การเรียนครุศาสตร์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษยังเป็นหลักสูตร 5 ปี จึงยังไม่มีรายวิชาสมองกับการเรียนรู้  อย่างไรก็ตามอาจารย์อรพรเมื่อได้รับการอบรมเรื่อง EF แล้วก็สามารถนำความรู้ EF ไปใช้ โดยบูรณาการในรายวิชาต่างๆ  “เมื่อแรกที่นำความรู้ EF ไปสอน นักศึกษาจะงง จึงต้องฉายภาพกราฟฟิกสมองให้ดูสมองส่วนหน้าซึ่งทำงานเกี่ยวกับทักษะ EF  

“ความรู้ EF ทำให้คิดได้ว่าการที่ครูจะออกแบบการเรียนรู้ได้ดีจะต้องเข้าใจผู้เรียนด้วย เพื่อจะได้ออกแบบการเรียนรู้ได้เหมาะกับตัวผู้เรียน และการเรียนรู้ ไม่ใช่ให้ความรู้ครั้งเดียว แต่จะต้องค่อยๆ ให้ความรู้ต่อเนื่องเพื่อให้ผู้เรียนซึมซับจากเรื่องง่ายๆ ไปสู่เรื่องที่ลึกซึ้งมากขึ้น

“ในห้องเรียนมีนักศึกษาทั้งหมด 60 คน ในจำนวนนี้มี 20 คนที่ไม่เข้าหาอาจารย์ แต่ให้ทำกิจกรรมอะไรก็ทำ ที่เหลือ 40 คนจะทยอยมาคุย บอกว่า “EF ดีนะอาจารย์ เพราะอย่างน้อยทำให้หนูไปถึงเป้าหมายได้ ได้เรียนรู้ผิดเรียนรู้ถูก” การเรียนที่ผ่านมาไม่ได้ให้นักศึกษา AAR ก่อนจบคาบ แต่ปัจจุบันในวิชาที่สอนจะมีการสะท้อนทุกครั้งที่ทำกิจกรรม

“การออกแบบกิจกรรมให้นักศึกษาเรียนรู้ จะเพิ่ม level ความท้าทายให้นักศึกษา ซึ่งนักศึกษาก็ทำได้ สามารถออกแบบกิจกรรมที่ท้าทายมากขึ้นได้

“หลังจากเรียนเรื่อง EF เราจะให้นักศึกษาผลิตสื่อ โดยต้องอธิบายได้ด้วยว่าสื่อนี้จะพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างไร และพัฒนา EF ด้านใด  เราจะกระตุ้นให้เขาอธิบายโดยไม่ต้องกลัวผิด  จากนั้นนักศึกษาได้นำสื่อไปสอนในโรงเรียนเทศบาล แล้วอัดคลิปมาดูกันว่าเด็กที่ใช้สื่อนั้นมีพฤติกรรมอย่างไร ยั้งคิด ควบคุมอารมณ์ได้ไหมหากวัสดุที่ให้ไม่พอ สามารถยืดหยุ่นความคิดเปลี่ยนใช้วัสดุอย่างอื่นได้ไหม  ทำออกมาเป็นงานวิจัยเล็กๆ ที่นักศึกษานำไปเสนอในงานที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และต่อจากนี้อีกหลายแห่ง นักศึกษาบอกว่าชอบที่ได้ท้าทายตัวเอง”

การเปลี่ยนแปลง/ผลสัมฤทธิ์ หลังจากเรียนรู้ EF และนำความรู้ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน

อาจารย์เข้าใจผู้เรียนมากขึ้น ทำให้สามารถออกแบบการเรียนการสอนให้เหมาะกับตัวผู้เรียนได้ สามารถดึงศักยภาพของผู้เรียนออกมาสู่การปฏิบัติได้มากขึ้น

อาจารย์ทำหน้าที่เป็นโค้ช อาจารย์สร้างความท้าทาย คอยให้กำลังใจ เป็นที่ปรึกษา ใช้รูปแบบเพื่อนช่วยเพื่อน

นักศึกษามีความกล้าคิด กล้าตัดสินใจ กล้าทำสิ่งที่ท้าทาย จากการที่อาจารย์เป็น coach ให้ “นักศึกษากล้าคิดกล้านำเสนอบทความวิชาการระดับชาติ เกาะกันเป็นกลุ่มช่วยกันทำบทความแล้วพากันไปนำเสนอ บางคนที่ยังไม่กล้า ก็ให้กำลังใจ “หนูทำได้ ครูจะอยู่ข้างๆ ด้วย”

นวัตกรรม : 

เกิด Learning Center  นักศึกษาออกแบบศูนย์เรียนรู้ที่เป็น Active Learning  โดยเอาวิธีการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ มาเป็นฐานคิด แล้วออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ไม่ยึดตายตัว หมุนเวียนไปเรื่อยๆ ให้เด็กได้เวียนกันมาเล่น ได้ใช้ความคิด จินตนาการว่าจะเล่นอย่างไร ต้องใช้อะไร ใช้แบบไหน เพื่อพัฒนาทักษะ EF และส่งเสริมพัฒนาการเด็ก โดยมีการประเมิน มีเกณฑ์ประเมิน วัดพฤติกรรมที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ สอคคล้องกับมาตรฐาน ตัวชี้วัด และได้ EF ด้านใด ซึ่งถ้าเด็กขาดอะไรไปจะพัฒนาอย่างไร

Learning Center แบ่งออกเป็น 6 ห้อง นักศึกษาเป็นผู้ออกแบบทั้งหมด โดยบูรณาการ 3 รายวิชา ได้แก่ การจัดการเรียนรู้ โภชนาการ ทักษะทางสังคม ให้นักศึกษาคิดว่าว่าจะบูรณาการแบบไหน จัดแบบไหน มีกิจกรรมอะไร แล้วมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน การทดสอบการใช้งานจัดเป็นช่วงๆ เช้า บ่าย เป็นเวลาสองวันเพื่อไม่ให้คนเยอะเกินไป มีนักเรียนอนุบาล-ประถมโรงเรียนเครือข่ายขนาดเล็กเป็นกลุ่มนักเรียนตัวอย่าง

เกิดงานวิจัยของนักศึกษาจากการใช้สื่อที่นักศึกษาผลิต เพื่อพัฒนา EF เด็กโรงเรียนเทศบาล และมีงานนำเสนอเป็นงานวิชากาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

เกิดการบูรณาการวัฒนธรรมท้องถิ่นมาใช้เป็นกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็ก  อาจารย์ให้นักศึกษาถอดบทเรียนจากผู้เฒ่าในชุมชนว่ามีวัฒนธรรมท้องถิ่นอะไร  เพื่อนำมาออกแบบกิจกรรมพัฒนาเด็ก แก้ปัญหาเด็ก เช่นเด็กที่มีปัญหาใช้ความรุนแรง (เด็กตีกัน) ท้องถิ่นมีวัฒนธรรม “ปักแซว” คือการปักผ้าบนผ้าสีดำ ซึ่งเป็นผ้าพื้นเมืองของศรีสะเกษ เด็กโรงเรียนนี้มีเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง แต่เด็กชายก็สามารถทำกิจกรรมนี้ได้  นักศึกษาสะท้อนว่า อย่าไปคิดว่าเด็กชายจะต้องไปเล่นฟุตบอล เล่นกีฬาเท่านั้น กิจกรรมนี้มุ่งเน้นให้เด็กมีสมาธิ มีการกำกับตัวเอง ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ลดการเล่นเกม  และเห็นว่ากิจกรรมแบบนี้ก็ใช้กับเด็กประถม ป.1 ,ป.2 ได้ เพราะเป็นรอยเชื่อมต่อ นักศึกษาที่เรียนการศึกษาปฐมวัยมีสิทธิสอนได้ถึงระดับชั้นป.3 สามารถนำความรู้ EF ไปใช้กับเด็กประถมได้

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ