096-356-9461 support@rlg-ef.com

อาจารย์วรรณี พลสมัคร
มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

ก่อนเข้าอบรมเรื่อง EF อาจารย์อัจฉราเคยได้ยินเรื่อง EF มาบ้างจากนักศึกษาที่ไปฝึกสอนในโรงเรียนที่ครูเคยได้รับการอบรมเรื่อง EF  และเมื่อได้มีโอกาสไปอบรม EF บ้าง “โอ..เห็นตารางอบรมแน่นมาก ก็ตั้งคำถามว่าทำไมมีแต่เรื่องสมอง เรื่องทฤษฎี  พอไปอบรมเห็นกิจกรรม ได้ลองทำ ก็สนุก พยายามเปิดกว้างเรื่องการคิด ก็สามารถไปต่อได้  วันสุดท้ายของการอบรมทีมงานอบรมบอกว่าอาจจะลงไปนิเทศการสอนก็เครียด เพราะกลัวว่าเรื่องสมองเป็นวิชาการ วิทยาศาสตร์ กลัวว่าจะทำให้ข้อมูลผิดเพี้ยนไป

“เมื่อมาสอนวิชาสมองโดยรับผิดชอบในส่วนกิจกรรม ถ้าดูแค่เนื้อหาจะรู้สึกว่ายาก แต่วิทยากรทำให้เราทุกคนเห็นแล้วว่าจะจัดกิจกรรมให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างไร  ก็ไม่ยากเกินกำลัง จึงนำกิจกรรมจากการอบรมมาใช้ทุกกิจกรรม ซึ่งครูที่นักศึกษามาเล่าให้ฟังว่าได้ไปอบรมมานั้นเป็นการอบรมครั้งแรก ได้แต่ทฤษฎีเลยไม่มีความเข้าใจ ตัวเองเมื่อได้มีโอกาสไปในชุมชน ไปตามโรงเรียนต่างๆ จะอธิบายเชื่อมโยงให้ครูเห็นภาพว่าเรื่อง EF ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ไกลจากวิถีชีวิตของเรา กิจกรรมก็ไม่ได้ต่างจากที่ครูเคยทำ แค่เปิดความคิดให้กว้างขึ้นว่าทำอย่างไรจึงจะเรียกว่า EF แล้วจะเห็นว่าการส่งเสริม EF ทำได้ง่าย มีผลกับเด็กโดยตรง

“คิดว่าถ้าไม่ได้ไปอบรมจะเสียดาย เพราะมีประโยชน์กับเด็กมากๆ  และถ้านักศึกษาครูไม่ได้เรียนรู้เรื่อง EF ก็น่าเสียดาย เพราะฉะนั้นเราจึงต้องรีบเอาไปลงในวิชาต่างๆ ให้นักศึกษาเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึง

 “นักศึกษาชอบกิจกรรม ชอบที่ได้ลงมือทำ ทุกครั้งที่มีกิจกรรมที่ท้าทาย นักศึกษาจะสะท้อนว่าสนุก ชอบ  เป็นเรื่องยากอยู่บ้างที่จะต้องปรับรูปแบบกิจกรรม เพราะคนจะชินกับรูปแบบเดิมๆ ถ้าเราไปให้ครูปรับ ครูจะคิดว่าเขารู้แล้ว  ดังนั้นจึงเป็นเรื่องดีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตสอนเรื่อง EF ให้กับนักศึกษาปี 1 เพราะการได้เรียนวิชาสมองกับการเรียนรู้จะเป็นพื้นฐานให้นักศึกษาต่อยอดไปเรียนรู้รายวิชาอื่นๆ ได้ง่าย และมีทักษะอีกด้วย

“พยายามให้นักศึกษานำกิจกรรมเช่นกิจกรรมในวิชาเคลื่อนไหวเข้าจังหวะไปใช้ในโรงเรียนในท้องถิ่น โดยให้ศึกษาเรื่องการละเล่นพื้นบ้านด้วย เวลาเรียนกิจกรรมกลางแจ้ง ก็ให้นักศึกษาทำสื่ออุปกรณ์ไปให้โรงเรียนที่ขาดแคลน ให้ลงชุมชนบ่อยๆ เพื่อให้เห็นว่าแต่ละพื้นที่มีบริบทที่แตกต่างกัน แรกๆ คิดว่านักศึกษาจะบ่น จะเหนื่อย อาจารย์พาออกนอกมหาวิทยาลัยบ่อยๆ  หรือทำไมทำสื่อตั้งมากมายแล้วเอาไปให้คนอื่นใช้หมด หรือเอาไปจัดค่าย แต่กลายเป็นว่านักศึกษาชอบ ได้เรียนรู้ ได้ประสบการณ์”

“นักศึกษาก็เหมือนเราถ้าบรรยายจะเห็นแต่ตัวทฤษฎี ไม่เห็นภาพ เวลาสอนจะพูดน้อยมากๆ แต่จะย้ำว่าต้องเอาไปใช้ ต้องแตกเนื้อหาออกมาเป็นแบบไหน  ดูของคนอื่นได้  ศึกษาในอินเทอร์เน็ตได้ แต่ต้องเอามาเชื่อมโยงให้ได้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้  เกือบทุกวิชาที่สอนจึงให้นักศึกษาไปมีประสบการณ์ที่โรงเรียน เพื่อจะได้สัมผัสกับเด็ก กับบริบทของโรงเรียนสังกัดสพฐ.และชุมชนแวดล้อม เพราะนักศึกษาบางคนไม่รู้จักโรงเรียนสังกัดสพฐ. เวลาจะไปสังเกตเด็กก็จะขอไปที่โรงเรียนเอกชนและโรงเรียนอินเตอร์กัน ซึ่งโรงเรียนเหล่านั้นเป็นอีกระดับ แต่ตอนบรรจุอาจจะต้องบรรจุโรงเรียนสพฐ.เสียมากกว่า

“วิชาที่สอนทั้งหมดจะเป็นรายวิชาที่เรียนรู้แล้วเอาไปใช้ได้จริงตอนไปเป็นครู จึงเน้นไปที่การทำกิจกรรมให้ได้ ออกแบบกิจกรรมให้ได้ ซึ่งต้องเป็นกิจกรรมที่เหมาะกับเด็กปฐมวัยด้วย” 

การเปลี่ยนแปลง/ผลสัมฤทธิ์ หลังจากเรียนรู้ EF และนำความรู้ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน

ปรับกระบวนการ วิธีการเรียนการสอน   “ปรับวิธีการสอนเป็นแบบใหม่ที่ได้จากการอบรม ให้นักศึกษาเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรม เป็นการทำกิจกรรมที่มีเป้าหมายในการพัฒนาสมองด้วย แทนที่จะเน้นความสนุกหรือทำตามวัตถุประสงค์ของกิจกรรมอย่างเดียวแบบเดิมๆ ต้องทำอย่างไรให้ได้ EF  ทำให้เห็นเป้าหมายของสิ่งที่จะเรียนรู้จากกิจกรรมมากกว่าเดิม มีการเชื่อมโยงให้เห็นว่าแบบนี้เรียกว่า EF

นักศึกษาเกิดการเรียนรู้เข้าใจจากการมีประสบการณ์ด้วยตัวเอง  “เมื่อเปลี่ยนวิธี นักศึกษาก็เห็นภาพ เกิดความเข้าใจชัดขึ้น สามารถเชื่อมโยงความรู้ EF ได้ ไม่ใช่แค่รู้ แต่เข้าใจตัวเองด้วย ซึ่งทำให้รู้ว่า นักศึกษาไม่ได้เข้าใจแค่ว่า EF คืออะไร แต่รู้ว่าต้องทำอย่างไรจึงจะเกิดทักษะสมอง EF

นักศึกษาได้รับการส่งเสริมพัฒนา EF  กระบวนการเรียนการสอนแบบใหม่ทำให้นักศึกษาได้รับการส่งเสริมพัฒนา EF ด้วย ตัวอย่างเช่น “ในการสอนออนไลน์ครั้งหนึ่งได้ให้นักศึกษาทำกิจกรรมศิลปะ ให้เตรียมกระดาษสีขนาด A4  เตรียมสี เตรียมอุปกรณ์ แล้วเปิดเพลงบรรเลง ให้ใช้จินตนาการว่าเป็นเด็กปฐมวัย ให้ทำศิลปะอะไรก็ได้จากกระดาษที่มี เด็กก็ติดอยู่ในกรอบเดิมๆ เช่น ตัดเป็นตัวปลา ตัวสัตว์  ไปฉีกกระดาษมาแปะ กลายเป็นศิลปะที่สมบูรณ์แบบ ทั้งๆ ที่บอกแล้วว่าว่าอยากให้ใช้จินตนาการ จึงได้อธิบายเพิ่มว่าการมีทักษะ EF ต้องรู้จักยืดหยุ่น รู้จักยั้งใจรอฟังคำสั่ง บางคนไม่ฟังโจทย์ให้ดี ทำไปเลย พอเรียนไปเรื่อยๆ เวลานี้นักศึกษาก็พัฒนาได้ดีขึ้นแล้ว”

ฝากไว้ให้คิด

“EF ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ไกลจากวิถีชีวิตของเรา กิจกรรมก็ไม่ได้ต่างจากที่ครูเคยทำ แค่เปิดความคิดให้กว้างขึ้นว่าทำอย่างไรจึงจะเรียกว่า EF แล้วจะเห็นว่าการส่งเสริม EF ทำได้ง่าย มีผลกับเด็กโดยตรง”

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ