096-356-9461 support@rlg-ef.com

ในการเลี้ยงดูพัฒนาเด็กคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมา มีคำถามว่า เราได้พัฒนาเขาอย่างครบถ้วนหรือยัง? เราได้พัฒนาเขาเต็มศักยภาพหรือไม่?  

เรื่องนี้รองศาสตราจารย์ ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ (Center of Neuroscience) สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวว่า การเติบโตพัฒนาของเด็กคนหนึ่งขึ้นอยู่กับพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมซึ่งเด็กแต่ละคนได้รับแตกต่างกัน พันธุกรรมเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดทางดีเอ็นเอ สิ่งแวดล้อมคือการเลี้ยงดูและบริบทที่เด็กเติบโตขึ้นมา การจะพัฒนาเด็กอย่างไร จึงต้องคำนึงถึงสองเรื่องนี้รวมถึงช่วงวัยของเด็กด้วย นอกจากนั้นถ้าพูดเรื่องการพัฒนาเด็กยังขึ้นอยู่กับแง่มุมของผู้พัฒนา เช่นในแง่มุมของแพทย์ พยาบาล แง่มุมของพ่อแม่ ครู ต่างมีมุมมองที่แตกต่างกัน

ในแง่มุมของพ่อแม่ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดเด็กและรู้จักพฤติกรรมของเด็ก จะเฝ้าดูลูกในเรื่องการกินอยู่หลับนอน การเติบโต สุขภาพร่างกาย ในแง่มุมของแพทย์ดูเรื่องพัฒนาการ การเติบโตในด้านต่างๆ ในแง่มุมของครู  ดูเรื่องการช่วยเหลือตัวเอง การปรับตัว พัฒนาการร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม ในแง่มุมของนักชีววิทยาศาสตร์จะดูว่าสมองของเด็กมีการพัฒนาอย่างไร มีขั้นตอนการพัฒนาอย่างไร ปัจจัยสิ่งแวดล้อมมีผลอย่างไร มีกลไกอะไรบ้างที่ทำให้การทำงานของสมองผิดปกติ

เราทุกฝ่ายรู้ว่าพัฒนาการทั่วไปของเด็กสำคัญ แต่ เรามักมองข้ามไปไม่ตระหนักว่า เด็กปฐมวัยมีความสามารถในการคิดแล้ว เด็กสามารถคิด สงสัย หาทางแก้ปัญหา ปรับความคิดในการควบคุมพฤติกรรมตัวเองได้  เป็นความสามารถที่ค่อยๆ เกิดขึ้น ถ้าเราไม่สังเกตก็จะมองไม่เห็น หรือสังเกตเห็นแต่ไม่ได้ส่งเสริม เด็กก็จะไม่ได้พัฒนาส่วนนี้ โดยธรรมชาติแล้วเด็กจะมีพัฒนาการตามขั้นตอนและสัมพันธ์กับพัฒนาการด้าน EF (การคิด การกำกับตัวเอง) เพราะฉะนั้นในการพัฒนาเด็กคนหนึ่งจะต้องพัฒนาทั้งพัฒนาการทั่วไปและด้านสติปัญญา(ความคิด)  

ในขณะที่พัฒนาการทั่วไปเติบโตเต็มที่ในวัย 6 ปี แต่พัฒนาการด้านการคิดยังเพิ่งเป็นหน่ออ่อนๆ และยังต้องพัฒนาอีกไกล พัฒนาต่อไปในวัยเรียน วัยรุ่น วัยมหาวิทยาลัย จนกระทั่งจบมหาวิทยาลัยเป็นผู้ใหญ่  พัฒนาการด้านการคิดและการกำกับตนเองจะซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ตามวัย ในเด็กเล็กจะคิดและกำกับตนเองที่ง่ายๆ ได้ เช่น ในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันที่บ้านที่โรงเรียน เด็กค่อยๆ พัฒนาการควบคุมตัวเองโดยลดการควบคุมจากภายนอก พอโตขึ้นในวัยเรียนวัยรุ่นก็ใช้ EF ในเรื่องที่ยากขึ้น จากการควบคุมเพื่อกำกับตนเอง มาเป็นกำกับตัวเองเพื่อทำงานหรือเรียนให้สำเร็จ เพื่ออยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมซึ่งซับซ้อนมากขึ้นจากเดิมที่เป็นสังคมในครอบครัว กิจกรรมที่ต้องใช้ทักษะ EF ก็ยากขึ้นตามวัย

ทั้งนี้เป็นเพราะพัฒนาการของสมองช่วงแรกๆ คือการสร้างโครงสร้างแต่ละบริเวณให้เชื่อมโยงกัน ทำให้โครงสร้างเหล่านี้เป็นเน็ตเวิร์กที่มีประสิทธิภาพ เน็ตเวิร์กมีหลากหลายเน็ตเวิร์ก เช่น attention network, executive network, social network (เกี่ยวกับอารมณ์ สังคม) แต่ละเน็ตเวิร์กมีหน้าที่เฉพาะ และกว่าเน็ตเวิร์กจะแข็งแรงก็ต้องใช้เวลาฝึกฝน จึงต้องกระตุ้นเน็ตเวิร์กให้ทำงานบ่อยๆ  เด็กที่สามารถจดจ่อได้ทันที เช่นเล่นๆ อยู่แล้วหยุดมาโฟกัสกับสิ่งตรงหน้า สิ่งที่ครูสอนได้ หมายความว่าเน็ตเวิร์ก attention, execution มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันนี้พบว่า ความผิดปกติของเน็ตเวิร์กเหล่านี้มีความเกี่ยวโยงกับโรคทางพัฒนาการ เช่น สมาธิสั้น ออทิสซึ่ม

เน็ตเวิร์กเหล่านี้ค่อยๆ พัฒนาไปในแต่ละช่วงวัยและพัฒนาเสร็จสิ้นในช่วงวัยรุ่น เพราะฉะนั้นการฝึกเด็กให้มีทักษะสมอง EF ตั้งแต่เด็กๆ เป็นการฝึกให้เน็ตเวิร์กสมองทำงานจนเชี่ยวชาญ  เวลาเน็ตเวิร์กทำงานพร้อมๆ กัน คนๆ นั้นก็จะสามารถเปลี่ยนกิจกรรมเปลี่ยนการจดจ่อได้ทันที การได้เรียนรู้ในแง่มุมของสมองนี้ จะช่วยให้พ่อแม่และครูสามารถพัฒนาเด็กให้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพเท่าที่เด็กคนหนึ่งจะพัฒนาได้ โดยพ่อแม่และครูต้องทำความเข้าใจทั้งเรื่องพัฒนาการและ EF ให้ตลอดทุกช่วงวัย ต้องพัฒนาต่อเนื่องเหมือนตอกเสาเข็ม ที่ต้องตอกย้ำไปเรื่อยๆ จนถึงวัยรุ่นวัยผู้ใหญ่ ต้องทำให้พัฒนาการนั้นมีความแข็งแรง ส่งเสริมให้เด็กมี EF แล้วก็ต้องทำให้ EF แข็งแรง ใช้งานได้ดีด้วย เรื่องที่พัฒนาก็เปลี่ยนไปตามวัยของเด็ก และผู้ดูแลเด็กค่อยๆ ลดบทบาทลงเรื่อยๆ จากที่เคยช่วยเด็กเล็กที่ยังทำอะไรไม่ค่อยได้ เพราะวงจรประสาทเพิ่งเริ่มก่อร่าง ก็ค่อยๆ ลดลง จนกว่าเด็กจะทำได้เองโดยอัตโนมัติ


*ติดตามการบรรยายเรื่อง ….โดย รองศาสตราจารย์ ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล แห่งศูนย์วิจัยชีววิทยาศาสตร์ (Center of Neuroscience) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่