096-356-9461 support@rlg-ef.com

ดร.ดุษฎี อุปการ
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

ตอนเรียนปริญญาเอกอาจารย์ดุษฎีได้ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง EF ดังนั้นเมื่อรู้ว่าจะต้องไปอบรมเรื่อง EF และกลับมาสอนวิชาสมองกับการเรียนรู้จึงไม่กังวล แต่ดีใจ ตื่นเต้นเสียมากกว่าว่าจะได้ใช้งานวิทยานิพนธ์ของตัวเอง “จริงๆ ดูคำอธิบายในรายวิชาอื่นๆ ก็จะมีเรื่อง EF สอดแทรกอยู่ และในหลักสูตรของครู premium  ที่ 38 ราชภัฏไปทำหลักสูตรกลาง ฉบับร่าง ก็ได้ไปร่วมด้วย ซึ่งในการหบักสูตรนั้นมีเรื่อง EF ชัดเจนมากในรายวิชาพัฒนาการ ความฉลาดทางอารมณ์และสังคม จึงขอจองการสอนรายวิชาสมองกับการเรียนรู้

“เอา EF เป็นแกนในทุกวิชาที่สอน ปรับกระบวนการเรียนการสอน การออกแบบแผนการเรียนรู้ให้เป็นแบบบูรณาการ เชื่อม EF ลงไปในทุกรายวิชา เริ่มตั้งแต่วิชาสมองกับการเรียนรู้ที่สอนในเทอม 1 มีการออกแบบกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้  และมีการต่อยอดไปในวิชาอื่นๆ  

“ไม่ว่าการออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย การออกแบบกิจกรรม หรือการออกแบบสื่อเรียนรู้ นักศึกษาจะต้องเชื่อมโยงเรื่อง EF เข้าไป นักศึกษาสามารถบอกได้ว่าแผนหรือสื่อนั้นส่งเสริม EF ด้านใดบ้าง เมื่อให้วิเคราะห์ ก็สามารถวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้อง เป็นความภูมิใจของผู้สอน

ในขณะเดียวกัน อาจารย์ดุษฎีก็พยายามปลูกฝังให้นักศึกษามี EF อยู่ในชีวิตประจำวันด้วย เพราะเห็นแล้วว่าความรู้ EF ช่วยพัฒนาตนเองได้  “ปกติเป็นคนที่ทำอะไรจะมีเป้าหมาย วางแผนเป็นขั้นเป็นตอนอยู่แล้ว แต่หลังจากได้รู้จัก EF พบว่าตัวเองขาดการติดตามและประเมินตนเอง ทำให้คิดว่าเราต้องประเมินตัวเองด้วย เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะทำอะไร งานเล็กงานใหญ่ เป้าหมายสั้น-ยาว ก็ต้องประเมิน และถ้าเราประเมินตัวเองว่าดีแล้ว ก็จะเป็นขวัญกำลังใจให้ตัวเอง ถ้าพบว่ามีอะไรที่ายังต้องบกพร่อง ผิดพลาดไป จะได้ปรับแก้พัฒนาต่อไป  เมื่อนำเรื่องการประเมินไปใช้กับชีวิตประจำวัน ก็ส่งผลไปถึงการควบคุมอารมณ์ด้วย เพราะย้อนคิดได้ว่าทำไมบางเรื่องเราถึงได้โกรธง่าย ทำให้ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดีขึ้น

“หลังจากได้ใช้การประเมินกับตัวเอง ก็อยากจะใช้กับนักศึกษาบ้าง เพราะเด็กยุคนี้ทำอะไรไม่ค่อยคิด ไม่ได้ย้อนกลับมาประเมินตนเอง และมั่นใจในตัวเองสูง  แต่พอเราให้นักศึกษาได้กลับไปย้อนคิดดูตัวเองว่าในคาบที่ผ่านมานี้ได้เรียนรู้อะไรบ้าง ซึ่งคือ EF ทั้งหมดเลย… ความจำ ความรู้ที่ได้จะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรบ้าง ส่วนใหญ่ให้นักศึกษาสะท้อนการเรียนรู้หนึ่งประโยคก่อนจะจากกัน แล้วต้องกลับไปเขียนสะท้อนการเรียนรู้ว่า ได้รู้อะไร รู้สึกอะไรระหว่างที่เรียน แล้วจะนำความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์อะไร  รวมทั้งให้นักศึกษาสะท้อนว่าถ้ามีโอกาสพัฒนาปรับปรุงงานนี้ จะพัฒนาอย่างไร ให้ประเมินว่าอะไรทำได้ดี อะไรยังทำไม่ได้ดี และจะปรับปรุงอย่างไร  

“ฝึกให้นักศึกษาตั้งเป้าหมาย  ยืดหยุ่นความคิด บางคนอาจจะเครียดเพราะยึดติดเกินไป วางแผนแล้วไม่เป็นไปตามที่หวัง ก็สอนไปว่าถ้าใช้  EF เราจะเลือกทางเลือกอื่นไปสู่เป้าหมายได้ ต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการ และมีความมุ่งมั่น จะนำไปสู่ความสำเร็จได้   

“การทำเช่นนี้ส่งผลต่ออนาคตของนักศึกษา นักศึกษาสามารถเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าในการทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ  การทำงานร่วมกันกับเพื่อน การวางแผนชีวิตครอบครัว ฯลฯ

การเปลี่ยนแปลง/ผลสัมฤทธิ์ หลังจากเรียนรู้ EF และนำความรู้ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน

เปลี่ยนแปลงตัวเอง  มีการประเมินตนเอง ทำให้เข้าใจตัวตนของตัวเองดีขึ้น และได้ปรับเปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น

นักศึกษาได้พัฒนาตัวตน(Self) ได้พัฒนา EF  “นักศึกษายอมรับตัวตนของตัวเองมากขึ้น บางคนที่คิดว่าเก่งอยู่แล้ว ทำอะไรเพื่อนก็ยอมรับ แต่หลังจากได้ใช้กระบวน EF ที่ทำให้สะท้อนคิดบ่อยๆ ทำให้เห็นจุดที่จะต้องพัฒนา ปรับปรุงแก้ไขโดยไม่ต้องมีใครมาบอกว่าจะต้องปรับอะไร นักศึกษาได้เรียนรู้ด้วยตัวเองว่าสิ่งที่ต้องพัฒนาเพื่อให้งานและชีวิตประสบความสำเร็จนั้นต้องทำอย่างไร”

นวัตกรรม

ปรับการเรียนการสอนรายวิชาการวัดและการประเมินผล  “สถานการณ์เป็นสิ่งสำคัญ เป็นความคิดที่ได้จากการฟังวิทยากรหลักอาจารย์นิรัญชา มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี  จึงออกแบบการเรียนการสอนให้นักศึกษาเข้าใจใน 5 สถานการณ์  โดยให้ตัดสินใจในเรื่องการวางแผน การหาวิธีการใหม่  การแก้ปัญหา การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เชื่อมโยงอยู่ในรายวิชาการวัดและประเมินผล กำลังทดลองทำอยู่”

การพัฒนาการ์ดเกมและบอร์ดเกมเพื่อพัฒนา EF  “เนื่องจากตัวเองเป็นคนติดบอร์ดเกมซึ่งเกี่ยวข้องกับ EF อย่างชัดเจน ขณะนี้กำลังพัฒนาการ์ดเกมและบอร์ดเกมเพื่อพัฒนา EF  ได้นำไปให้ครูทดลองใช้ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยยังไม่ได้ระบุว่าได้ EF อย่างไร ให้มองแค่ว่าใช้แล้วเป็นอย่างไร ครูก็สะท้อนว่าทำให้เด็กควบคุมอารมณ์และจดจ่ออยู่กับเกม จำภาพได้ แต่ยังไม่ได้ไปติดตามอีก ให้เล่นกันไปก่อน แล้วค่อยเอา EF ไปเชื่อมโยง  สื่อการเรียนรู้เมื่อก่อนมักเป็นเกมการศึกษา พอเป็นการ์ดเกม บอร์ดเกม จะเพิ่มความท้าทายขึ้นอีก”

งานวิจัยเรื่อง การจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ประสบการณ์เป็นฐานเพื่อพัฒนาทักษะการคิดเชิงบริหาร  เพื่อต้องการตอกย้ำว่าการใช้กิจกรรมเป็นฐานนั้นได้ผลจริง Active Learning มีผลต่อ EFจริง  

ฝากไว้ให้คิด

“เด็กปฐมวัยเป็นวัยทองของชีวิต และเป็นรากฐานสำหรับอนาคตของทุกคน ถ้าอยากให้ชาติเจริญ เราต้องหันกลับมามองว่าจะพัฒนาเด็กตั้งแต่ปฐมวัยได้อย่างไร ซึ่ง EF เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะสามารถพัฒนาเด็กให้เติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และมีความสามารถไปพัฒนาประเทศชาติในอนาคต”

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ