ดร. มิตภาณี พุ่มกล่อม
มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี
อาจารย์มิตภาณีเล่าถึงตอนที่เรื่อง EF เข้าสู่สภาคณบดีครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งในขณะนั้นอาจารย์ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี “ตอนที่สถาบันRLG มานำเสนอเรื่อง EF ในสภาคณบดีฯ มีคนไม่กี่คนที่เห็นด้วย เพราะส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นเรื่องใหม่ ยุ่งยาก เป็นเรื่องสมอง เข้าใจยาก แต่หลังจากนั้นก็ได้นำมาประชุมกันในทีมทำงานสภาฯ ในฐานะเลขาสภาได้นำเอกสารไปอ่าน เราต้องเข้าใจก่อน เพื่อจะได้ให้ความเห็นไปยังมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งหมดว่าสมควรจะนำมาบรรจุเป็นรายวิชาหรือไม่
“ในการประชุมวาระเพื่อพิจารณา มหาวิทยาลัยฯบางแห่งซักถาม เราก็อธิบาย ดร.รัฐกรณ์ ประธานสภาชี้แจงว่ามีประโยชน์อย่างไร สอดคล้องกับการปรับหลักสูตรอย่างไร เพราะกำลังจะเปลี่ยนจากหลักสูตร 5 ปีมาเป็นหลักสูตร 4 ปี และเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ จากนั้นได้ทำ MOU ร่วมกัน เพื่อเป็นพันธะสัญญาว่าทั้งหมดจะขับเคลื่อน EF ไปด้วยกัน
“ในช่วงแรกจะทำการจัดอบรมให้กับอาจารย์ในสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัยก่อน เพราะมีความเข้าใจเรื่อง EF เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็น่าจะนำไปถ่ายทอดสู่นักศึกษา หรือคุยกับอาจารย์สาขาอื่นได้ไม่ยาก
“เราทำหลักสูตรกลาง สมองกับการเรียนรู้ โดยทางสถาบัน RLG เป็นพี่เลี้ยงโดยตลอด คนที่มาอบรมจะเข้าใจ ส่วนคนที่ไม่มาอบรมจะไม่พยายามเข้าใจ คือมีคน 2 กลุ่ม กลุ่มที่พยายามจะปรับเปลี่ยนตัวเอง เพราะมองเห็นปลายทาง มองเห็นผลลัพธ์ อาจเพราะเขาศึกษานอกรอบด้วยตัวเองและจากการอบรมด้วย แต่อีกกลุ่มรู้เห็นว่าเป็นประโยชน์ แต่มันมาเบียดบังสิ่งที่เคยทำมาดีแล้ว จะให้ไปเปลี่ยนวิธีการสอน แผนการสอนแบบใหม่ ก็ไม่ใช่เรื่องของเขา เพราะฉะนั้นความยากมันก็เกิดขึ้นกับอาจารย์ที่อบรมแล้วกลับไปถ่ายทอดให้อาจารย์อื่นๆ
“ตัวอย่างเช่นมหาวิทยาลัยที่ตัวเองเป็นคณบดี เราตกลงกันแล้วว่าจะบรรจุวิชาสมองเข้าไปในการเรียนการสอน จัดสอนทุกสัปดาห์ แต่เมื่ออาจารย์ที่ได้รับการอบรมกลับไปถ่ายทอดในสาขา ประธานสาขากลับไม่ยอม บอกว่าวิชาอื่นสำคัญกว่า และไม่อยากปรับเปลี่ยน เราไม่มีสิทธิ์บังคับเพราะเป็นเรื่องของสาขาวิชา คณบดีมีหน้าที่ในการ support สาขา อย่างไรก็ตามเราได้เอา EF เข้าไปใช้ในรายวิชาอื่น ซึ่งเห็นผลว่ามีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทั้งตัวผู้สอนและผู้เรียน และเมื่อจบ 1 เทอม ก็มีการเจรจากันใหม่ พูดคุยกันในหมู่อาจารย์ในสาขา มีอาจารย์ 2 คนยอมปรับเปลี่ยน เราก็ค่อยๆ แทรกซึมเข้าไป
“ตาม MOU ไม่ได้ระบุเฉพาะแค่สาขาการศึกษาปฐมวัย แต่เกี่ยวข้องกับสาขาอื่นๆ ที่ต้องส่งนักศึกษาออกไปฝึกสอนด้วย จึงจะอบรมอาจารย์สาขาวิชาชีพครูด้วย ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มใหญ่ของคณะครุศาสตร์ รวมทั้งอาจารย์สังกัดคณะอื่นที่เป็นครุศาสตร์บัณฑิตที่ต้องได้รับการบ่มเพาะความเป็นครูทั้งหมด เราก็เลยเชิญประชุม แล้วเอาเรื่อง EF เข้าไปพูดคุยว่าสำคัญอย่างไร แล้วให้อาจารย์นิรัญชาที่ได้รับการอบรมแล้วเข้าใจเรื่อง EF เป็นอย่างดี มาถ่ายทอด อบรม พยายามชี้แจงให้เห็นและตระหนักว่าเป็นความรู้ที่ปลายทางจะส่งผลดีต่อเด็กอย่างไร
“จากนั้นอาจารย์ 50% เห็นด้วย โดยเฉพาะอาจารย์ในสาขาวิชาชีพครู ตรรกกะนั้นมีผล คนที่เรียนมาทางด้านจิตวิทยาจะเข้าใจง่าย ยอมรับง่าย แต่คนที่เรียนมาทางด้านวัดและประเมินผล วิจัย จะปรับยาก ยิ่งมีประสบการณ์การสอนยาวนาน ยิ่งยาก แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงได้กลุ่มหนึ่ง”
ในฐานะเลขาสภาคณบดี ซึ่งเป็นคนกลาง การทำงานท่ามกลางคนที่ไม่เห็นด้วย อาจารย์ภาณีบอกความรู้สึกว่า “เหนื่อยมาก เราต้องศึกษาด้วยตัวเอง เพราะเราเห็นด้วยตั้งแต่วันที่RLGมานำเสนอ แต่เรากังวลใจ เพราะคณบดีท่านอื่นๆ ไม่รู้จัก EF ได้ปรึกษากับประธานสภาคณบดีฯ ว่าจะเอาไหม ถ้าเอาก็ตกลงเดินหน้า ซึ่งต้องทำให้อีก 36 สถาบันเห็นด้วย ซึ่งในเวลานั้นกาญจนบุรีและนครราชสีมาโอเคแล้ว
“หลังจากวันนั้น ประธานสภาฯ ให้โจทย์มาว่าทำอย่างไรก็ได้ให้คณบดีที่เหลือเห็นด้วย สิ่งที่ทำคือศึกษาหาข้อมูล EF ทั้งเราและสถาบันRLG เพราะตอนนั้นมีคำถามว่าทำไมต้องRLG ทางคุณสุภาวดีก็ชี้แจงมา เราเอาไปถ่ายทอดในที่ประชุมสภาฯในวาระเพื่อพิจารณา พร้อมเอกสารข้อมูลต่างๆ เป็นข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่าEFเป็นประโยชน์ทั้งต่อเด็ก ทั้งต่อการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดความมั่นใจก็จะมีคำถามมาว่า ทำไมไม่ไปที่มหาวิทยามหิดล มีคำถามเยอะ แต่สุดท้ายเอามติส่วนใหญ่ คือตกลงจะขับเคลื่อนและจะทำ MOU
“ในวันที่ทำ MOU มีคณบดีมากกว่าครึ่งไปร่วมงาน เกือบ 30 คนที่บอกว่า “ลองดูว่าจะเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่”
“ขับเคลื่อน EF ในราชภัฏได้ เราก็ดีใจ ภูมิใจ เพราะเราผ่านกระบวนการขับเคลื่อนที่คนไม่เข้าใจตั้งแต่ต้น แต่วันนี้ได้เห็นหลายๆ ที่ คณบดีให้ความสำคัญ เช่นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ และอีกหลายๆ ที่ เราเชื่อว่าถ้าหลักคิดตั้งต้นค่อนข้างดี ก็จะไปได้
“จากความรู้สึกของตัวเอง ตอนนี้ได้ผล ประสบความสำเร็จมากกว่า 70 % แล้ว เป็นไปดังที่ที่ตั้งใจ แม้จะใช้เวลาไม่นานเท่าไร เชื่อว่าถ้าอาจารย์มี EF อยู่ในตัว อาจารย์มีความรู้ความเข้าใจ ถ่ายทอดได้ แล้วนักศึกษามีความรู้ EF นำความรู้ไปฝึกปฏิบัติได้ ความรู้ EF ก็จะกระจายออกไป และเมื่อนักศึกษาไปเป็นครูเต็มตัว ก็จะสามารถพัฒนาเด็กให้มี EF ปัญหาสังคมจะน้อยลง ปัญหาในการปรับตัวจะน้อยลงด้วย
“ส่วนตัวเองยินดีจะสานต่อ อยากทำต่อไปเรื่อยๆ เพราะได้ผลมากกว่าที่คิด ตัวเองทำงานให้สภาฯ มาตลอด คิดว่าส่วนหัวของแต่ละมหาวิทยาลัยฯ มีการปรับเปลี่ยนเยอะ เพราะเป็นคนรุ่นใหม่ เข้าใจ EF ค่อนข้างดี น้อมรับกระบวนการขับเคลื่อนต่างๆ ขอบคุณที่ทำให้เราเติบโต เข้มแข็ง
“ปัจจุบันตัวเองเป็นหัวหน้ากลุ่มวิชาพื้นฐาน ก็พยายามให้อาจารย์นำ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน ผลที่สะท้อนกลับมาคือ นักศึกษาเข้าใจมากขึ้น เปลี่ยนแปลงตัวเอง และถ่ายทอดกับเพื่อนๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ทำให้อาจารย์อีกหลายคนสนใจ EF มากขึ้น ค่อยๆ ขยายความสนใจไปเรื่อยๆ คิดว่าจะพัฒนาไปเรื่อยๆ ไม่ยอมแพ้ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรีอาจจะไม่ได้ขยายเรื่อง EFได้เร็วเหมือนที่อื่น ที่เขาขับเคลื่อนกันทั้งองคาพยพ เพราะเข้าใจกันหมด แต่ที่นี่บริบทจะแตกต่าง
“ถ้าเราทำต่อไปเรื่อยๆ อย่างสอดคล้องกัน มหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งขับเคลื่อน พลังของเราจะเข้มแข็ง เห็นผลลัพธ์จริง”
การเปลี่ยนแปลง/ผลสัมฤทธิ์ หลังจากเรียนรู้ EF และนำความรู้ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน
นักศึกษามีความพึงพอใจในการสอนของอาจารย์มากขึ้น “ตัวเองไม่เคยได้รับผลการประเมินที่สูง ปกติเต็ม 5 เราได้ 4.4-4.5 แต่หลังจากเอา EF ลงไป ผลประเมินได้ 4.91-4.93 เชื่อว่าถ้าประเมินผลโดยนักศึกษาและประเมินตัวเอง จะเห็นว่าตัวเรามีการเปลี่ยนแปลงแล้ว ทั้งความเข้าใจในเรื่องของ EF ในทักษะต่างๆ แล้วเอาไปสอน ทำให้เด็กดู เด็กเห็น แล้วเด็กจะทำตาม”
อาจารย์ใช้ความรู้ EF ในชีวิตประจำวัน พัฒนาตัวตน “เราให้ EF เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา ฝึกหลายๆ ทักษะให้เป็นตัวตนที่แท้จริงของเรา เวลาที่เราคุยกับเด็กก็ไม่ใช่การเสแสร้ง”
นวัตกรรม
สื่อพัฒนา EF เด็กปฐมวัย “เนื่องจากในสาขาได้นำเอา EF ไปบูรณาการในทุกวิชา วิชาสื่อหรือศิลปะ อาจารย์ที่รับผิดชอบสอนทำสื่อที่ใช้พัฒนา EF เด็ก และมีการนำไปทดลองใช้ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กพิทักษา ธนบุรี เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย CCR (โครงการบูรณาการแนวคิดจิตตปัญญาศึกษา (contemplative education) ระบบครูพี่เลี้ยง(coaching) และการวิจัยเป็นฐาน (research-based learning: RBL เพื่อการพัฒนาผู้เรียน) ด้วย” รวมทั้งมีการพัฒนาสื่อในโครงการอ่านออกเขียนได้ เพื่อการพัฒนาเด็กนักเรียนในจังหวัดนครปฐม โดยกำหนดวัตถุประสงค์ว่าจะต้องส่งเสริม EF ด้านใดด้านหนึ่ง เป็นการบริการวิชาการให้กับโรงเรียนสพฐ. ขนาดเล็กในจังหวัดนครปฐม
ฝากไว้ให้คิด
“ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน หรือทุกคน ล้วนต้องการการพัฒนาสมอง ถ้าเราให้ความสำคัญกับ EF เด็กๆ และทุกคนจะได้รับการพัฒนา”
THAILAND EF PARTNERSHIP
เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ