096-356-9461 support@rlg-ef.com

ผศ.คันธรส ภาผล
มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์

“เราไปอบรมด้วยกัน 8 คน แรกๆ ตกใจมาก มีเรื่อง pruning , synapes, ระบบประสาท  เพื่อนที่เป็นอาจารย์วิทย์ถามว่าสอนการศึกษาปฐมวัยจะต้องรู้ขนาดนี้เลยเหรอ ก็อธิบายว่านี่คือกระบวนการเพื่อให้รู้และเกิดความเข้าใจว่า EF คืออะไร ดีและสำคัญอย่างไร”  อาจารย์คันธรสเล่าถึงการไปอบรม EF แต่เนื่องจากตัวเธอเคยเป็นครูอนุบาลมาก่อน เมื่อได้เข้าอบรมเรื่อง EF แล้วกลับรู้สึกว่า “ภูมิใจ ดีใจมากๆ ที่ได้อบรม เรามองไปที่เด็กด้วยว่าถ้านักศึกษาเราได้รับองค์ความรู้นี้จะเป็นอย่างไร  เมื่อก่อนเวลาเราไปโรงเรียนในชุมชนหรือนักศึกษาลงไปจะเจอการเร่งเรียนเขียนอ่านอย่างมาก  พอมาเจอวิทยากร EF จัดกิจกรรม ก็สนุก มีความสุขกับการเรียน รู้สึกเลยว่าถ้าเด็กๆ ได้เจอแบบนี้คงจะเป็นความประทับใจไม่รู้ลืม แล้วได้เรียนรู้ติดตัวไปจนโต

“การเรียนรู้เรื่อง EF แบบนี้รู้สึกว่ามันสนุก ต่างจากวิธีให้ความรู้แบบเดิมที่ใช้การบรรยายหรืออภิปรายเพียงอย่างเดียว ซึ่งผู้เรียนจะได้รับความรู้แค่ 10-20% แล้วลืม ถ้าได้ปฏิบัติจริงจึงจะซึมเข้านิ้วมือ ถ้าผู้เรียนได้ลงมือทำจะได้ความรู้เกิน 90% สามารถนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดให้นักศึกษา ครู นำไปใช้กับเด็กได้ในที่สุด

“เมื่อเริ่มเรียนรู้เรื่อง EF พอดีกำลังตั้งครรภ์ รู้สึกโชคดีที่จะได้ใช้ EF กับลูก จะได้ทดลองกับลูก ได้ใช้กิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ลองทำได้เล่นด้วยตัวเองมาใช้กับลูก ก็เห็นผล  เรามีหลักการของการศึกษาปฐมวัยมากอยู่แล้ว รู้อยู่ว่าวัยนี้ๆ ควรจะทำอะไรได้  แต่บางพฤติกรรมของลูกดูจะเกินวัย เช่น การเรียนรู้คำศัพท์ เด็ก 1 ขวบควรรู้คำที่สื่อความหมาย 1-3 คำ คือรู้แล้วเข้าใจและใช้ได้ เช่น บอกลูกว่า ไปหยิบลูกบอลมา ลูกเข้าใจว่าเราหมายความว่าอะไร นั่นเพราะตั้งแต่ตอนตั้งครรภ์ จะเล่านิทาน พุดคุย เล่น สื่อสารกับลูกตลอด จนลูกคลอด และตั้งแต่แรกคลอดเราก็ส่งเสริมพัฒนาการให้ลูก เปิดโอกาสให้ลูกได้ลอง ได้เล่น  ใช้ได้ผลจริง

 สำหรับการสอนนักศึกษา อาจารย์คันธรสเล่าว่า “โชคดีที่อาจารย์ในสาขา คณบดี อธิการบดีมีวิสัยทัศน์ พร้อมที่จะนำ EF เข้าสู่ห้องเรียน พร้อมที่จะก้าวไปด้วยกัน

“เราเน้นที่กระบวนการการมีส่วนร่วมหรือ PL ในการจัดการเรียนรู้ในทุกวิชา วิชาที่สอนได้แก่ วิชาการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี  วรรณกรรมสำหรับเด็ก สมองกับการเรียนรู้  ทั้งหมดนี้เราจะบูรณาการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเข้าไปด้วย ซึ่งผลที่เกิดขึ้น เราหวังว่าถ้านักศึกษาเห็นและตระหนักถึงความสำตัญของ EF เขาจะปรับตัว เปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนที่ช่วยเหลือตัวเอง แก้ปัญหาตัวเองได้ ควบคุมอารมณ์เป็น และมีความสุข ซึ่งปัจจุบันเด็กมักขาดความยับยั้งชั่งใจ

“ปรับตัวเองให้เป็น facilitator ซึ่งได้รับการฝึกสอนจากการอบรม ได้ลองเอามาใช้กับนักศึกษา ในชั่วโมงเรียน นักศึกษาได้สะท้อนความคิด ได้อภิปรายร่วมกัน ได้สรุป แล้วลองเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้กับเด็กอนุบาลในโรงเรียนที่เป็นเครือข่าย

“นักศึกษามีความรู้ใหม่ๆ มาแลกเปลี่ยนกันตลอด ไม่น่าเชื่อว่านักศึกษาปี 1 ปี 2  มีความรู้ มีประสบการณ์ที่สามารถนำมาแชร์กันในชั่วโมงเรียนได้ ซึ่งทำให้ไม่ใช่แค่นักศึกษาที่ได้ความรู้ แต่ผู้สอนก็ได้ความรู้จากนักศึกษาด้วย เพราะแต่ละคนมีมุมมอง ประสบการณ์ไม่เหมือนกัน พอแชร์กันก็เกิดความรู้ที่น่าอัศจรรย์มาก

“ในวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็กซึ่งจะเน้นนิทานส่งเสริม EF นักศึกษายกประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากนิทานมาแชร์กัน เมื่อรู้ว่าวรรณกรรมเป็นอย่างไร ก็มาแชร์กัน แล้วสร้างนวัตกรรม นำมาจัดแสดงละคร จัดเป็นโครงการประกวดนิทานอยู่ในงานสัมมนา ซึ่งได้เชิญมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งเข้าร่วมด้วย แต่ละแห่งก็จะมีวรรณกรรมผลงานนักศึกษาส่งเข้ามาประกวดกัน ผลคือมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ได้รางวัลชนะเลิศ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่นักศึกษาได้รับโอกาสให้คิด ให้สร้างนวัตกรรม

“ในปี 62-63 มีสถานการณ์โควิด อาจารย์ต้องสอนออนไลน์ ในขณะที่การเรียนการสอน EF จะต้องลงสู่การปฏิบัติ อาจารย์จึงมาประชุมกันว่าจะทำอย่างไรให้นักศึกษาได้ปฏิบัติ ก็คิดกิจกรรมแบบตอบโต้ให้นักศึกษาได้เล่นด้วย เปลี่ยนจากใช้มือมาใช้ประสาทตาในการมองภาพ  ตอบโต้ ถกเถียง ซึ่งเราได้นำเทคนิคนี้มาจากการอบรม

“การเรียนรู้แบบ PL ยังทำให้นักศึกษาเกิดไอเดียในการเข้าร่วมโครงการประกวด Start Up การบ่มเพาะบัณฑิตให้เป็นผู้ประกอบการ จนได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ซึ่งเราได้บอกนักศึกษาไปว่า ผลลัพธ์เป็นอย่างไรไม่สำคัญ ขอให้มีความสุขกับการเรียนก็พอ ส่วนรางวัลถือว่าเป็นโบนัส

“นอกจากนี้ อาจารย์และนักศึกษายังนำความรู้ไปใช้ในชุมชน ท้องถิ่น นำกิจกรรมส่งเสริม EF หลากหลายรูปแบบไปพัฒนาเด็ก นักศึกษาได้ประสบการณ์ เรียนรู้การประเมินพฤติกรรมเด็กจากการสังเกตทั้งก่อนและหลัง

การเปลี่ยนแปลง/ผลสัมฤทธิ์ หลังจากเรียนรู้ EF และนำความรู้ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน

ปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน  ใช้กระบวนการ PL เน้นการมีส่วนร่วม การสะท้อนคิด แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมทั้งอาจารย์เรียนรู้จากนักศึกษา

อาจารย์มีความสุขกับการสอนมากขึ้น  “เดิมเป็นคนที่เคร่งครัด มีหลักการ เตรียมตัวในการสอนตลอดเวลา แต่มาตอนนี้ปรับเปลี่ยนตัวเอง ทำให้รู้สึกสนุกในการสอน รู้สึกอยากสอน”

นักศึกษาเรียนสนุก ตั้งใจเรียน รับผิดชอบมากขึ้น “แต่ก่อนนักศึกษามักจะเข้าคลาสช้า รถติด ตื่นสาย แต่ปัจจุบันเข้าก่อนเวลา เมื่อมาอ่านในข้อความสะท้อนความรู้ นักศึกษาบอกสนุก สุขกับรอยยิ้มของเพื่อน อาจารย์ รู้สึกมีตัวตนในพื้นที่นี้ รู้ว่าได้รับโอกาสให้เป็นตัวของตัวเอง ไม่รู้สึกมีเส้นกั้นระหว่างเพื่อน ครู ซึ่งน่าจะมาจากการแชร์ การแลกเปลี่ยน มาจากการเรียนรู้ร่วมกัน”

อาจารย์ในสาขาเปิดใจ แชร์กัน ทำงานร่วมกันมากขึ้น  “ในสาขามีแต่รุ่นพี่ผู้ใหญ่มากๆ แต่พอมีการเรียนรู้แบบนี้ เราต้องมี EF ก่อน เพราะการจะสอนอะไรเราต้องเป็นแบบนั้นก่อน ถึงจะเข้าใจ อาจารย์ทั้งหลายก็เปิดใจ แชร์ความคิด ไอเดียต่างๆ กัน เวลาทำแผนการสอนก็มาคุยกันว่าเราจะมีเป้าหมายอย่างไร ทำงานเป็นทีมเวิร์กมากขึ้น  เวลาเราไปทำงานชุมชนที่จังหวัดปทุมธานีและสระแก้ว  เราทำเป็นทีมดีมากๆ ใช้รูปแบบการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม”

ใช้ EF ในการทำงาน พัฒนาตนเอง  “ในการทำงานใช้ EF เยอะมาก ต้องยั้งคิดอย่างมาก เช่นจะพูดออกไปแบบนี้ คนอื่นจะคิด รู้สึกอย่างไร เกิดผลอย่างไร  หรือถ้าไม่เป็นไปตามเป้า จะยืดหยุ่นได้หรือไม่  อัตตาหายไป คุมคัวเองได้ง่ายขึ้น  ควบคุมอารมณ์ได้ดี ทีมมองเป้าหมายเดียวกันเพื่อให้เด็กได้ประโยชน์ 

นวัตกรรม

นักศึกษาใช้ความรู้ EFจัดแสดงละคร จัดโครงการประกวดนิทานส่งเสริม EF  เป็นส่วนหนึ่งในงานสัมมนาของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ

นักศึกษาได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งโครงการประกวด Start Up การบ่มเพาะบัณฑิตให้เป็นผู้ประกอบการ จากกระบวนการเรียนรู้แบบ PL โดยใช้ EF เป็นฐาน

ฝากไว้ให้คิด

“ครูคนแรกคือพ่อแม่ ครูคนที่สองคือโรงเรียน ครูคนที่สามคือสภาพแวดล้อม ผู้ใหญ่ที่ดูแลภาพรวมอยู่เบื้องบนจะพาครูทั้งสามนี้ไปถึงเป้าหมายได้อย่างไร เหมือนอย่างที่บอกว่าไปคนเดียวไปได้เร็ว แต่ถ้าไปด้วยกัน จับมือไปพร้อมๆ กัน จะไปได้ไกล 20-30 ปี”

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ