096-356-9461 support@rlg-ef.com

ผศ.ชนกพร ธีระกุล
มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

เมื่อรู้ว่าจะต้องไปอบรมที่มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ อาจารย์ชนกพรเกิดคำถามมากมาย “ดูจากตารางการอบรมแล้วคิดว่าน่าจะเครียด เพราะอบรมถึง 4 ทุ่ม เมื่อไปก็เจอเพื่อนมากมาย อุ่นใจ เป็นหมู่เฮาทั้งหมด รวมพลคนปฐมวัย  พออบรมจริงๆ เพลินมาก เวลาเดินไปเร็ว วันสุดท้ายไม่อยากกลับ จนอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฯทักว่านึกว่าจะไม่กลับ จึงบอกไปว่ากิจกรรมดีมากๆ เราเอาไปใช้กับเด็กได้จริงๆ

“วิชาที่รับผิดชอบสอนคือ ศิลปะกับเด็กปฐมวัย  กิจกรรมดนตรี ลีลา จังหวะ เคลื่อนไหว  ก็ได้เอาความรู้และกิจกรรมมาใช้เต็มๆ

หลังจากอบรมแล้ว อาจารย์ชนกพรได้นำความรู้ EFมาใช้ทั้งในงานสอนและชีวิตส่วนตัว  “เอามาปรับใช้สอนนักศึกษา จะถามนักศึกษาทุกคาบที่สอนว่าในชีวิตประจำวันได้ใช้ EF ตัวไหนบ้าง คนหนึ่งบอกว่าเรียนออนไลน์ได้งานจากอาจารย์เยอะมาก แต่พอเย็นๆ ค่ำๆ ไม่อยากอยู่บ้าน ก็ไปนั่งร้านน้ำชา งานจึงไม่เสร็จสักวิชา เลยมาวิเคราะห์ตัวเองว่าที่ทำงานไม่เสร็จเพราะอะไร เอาเวลาไปทำอะไร หลังจากนั้นก็ลดการไปกินน้ำชาแล้วเพิ่มเวลาทำงาน  อีกคนประเมินตัวเองว่าอยากได้เกรดเท่านี้ๆ แต่พอเกรดออกมาไม่เป็นไปตามหวัง จึงกลับมาประเมิน วิเคราะห์ คิดว่าเทอมนี้จะปรับใหม่ วางเป้าหมายใหม่ ปรับปรุงตัวเอง

“ถามนักศึกษาว่าปิดเทอมใช้ EF อะไรบ้าง ปิดเทอมไปทำอะไรบ้าง แข่งกันยกมือ คนหนึ่งบอกว่ามีทักษะการคิดยืดหยุ่น จากการแต่งนิทานสำหรับเด็ก คิดพล็อตมากมาย แต่อ่านแล้วเยิ่นเย้อ ก็ยืดหยุ่นความคิดปรับใหม่ให้เข้ากับเด็กอนุบาล อีกคนบอกว่าอยู่บ้าน ไม่มีสมาธิ เครียด เลยใช้ทักษะจดจ่อใส่ใจ หาต้นไม้มาปลูก ปลูกบอน แคคตัส  แล้วเอาไปขายได้แล้วด้วย  อีกคนใช้เรื่องการควบคุมอารมณ์ ทักษะยั้งคิด ไตร่ตรอง  เพราะช้อปง่าย เห็นของในเพจอยากได้มาก เมื่อก่อนช้อปตลอดแล้วให้เก็บเงินปลายทาง แต่แม่มาเตือนสติ บอกว่าตัดยางไม่ค่อยได้ ฝนตก นักศึกษาก็กลับมาคิด ยับยั้งชั่งใจ ไม่ซื้อ นักศึกษาอีกคนใช้ทักษะการวางแผน เพราะต้องช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน เช้าตื่นแต่ตีสี่ตีห้าไปตลาดซื้อของมาขายหน้าร้าน ตั้งนาฬิกาปลุก แรกๆ พอปลุกก็กดปิด นอนต่อ วันหนึ่งแม่กลับมาจากตลาดเห็นความเหนื่อยของแม่ที่ต้องไปขนของเอง ก็ถีบตัวเองลุกขึ้นมา ปรับ mindset วางแผนและต้องทำตามแผน นาฬิกาปลุกตีสี่ก็ไปตลาด เจ็ดโมงจัดร้าน ช่วยพ่อแม่ได้ เกิดความภูมิใจ

“นักศึกษาพูดว่า “ขอบคุณ EF ที่ทำให้รู้จักคิดมากขึ้น” อาจารย์ก็ชื่นใจ นักศึกษาทั้งเกิดการเรียนรู้ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ปรับ mindset

“นักศึกษาบอกว่าไม่ว่าจะเข้าเรียนวิชาไหน อาจารย์ต่างพูดเรื่อง EF ทำให้เกิดการซึมซับ เกิดทักษะทบทวนซ้ำๆ จนฝังชิปเข้าไปในจิตใจ ทำอะไรต้องรู้คิด ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง รู้สึกคุ้มค่าที่เราเอาความรู้ EF มาถ่ายทอดให้นักศึกษา

 “เวลานักศึกษาออกฝึกประสบการณ์ จะมีโรงเรียนให้เลือก และมีโควต้าว่าแต่ละโรงรับนักศึกษาได้กี่คน นักศึกษามักเลือกไปกับแก๊งของตัวเอง เป็นแบบนี้ทุกปีจนอาจารย์กลุ้มว่าจะทำอย่างไร มีเคสหนึ่ง ทั้งแก๊งมี 5 คน แต่โรงเรียนที่เลือกนั้นรับได้แค่ 4 คน อีกคนต้องไปโรงเรียนอื่น ทั้ง 5 คนก็มาหาอาจารย์บอกว่าคิดกันแล้วว่าจะขอ drop ไว้ก่อน แล้วจะไปฝึกเทอมหน้าพร้อมรุ่นน้อง เขาใช้วิธีนี้ในการตัดสินใจเพื่อจะให้ได้อยู่โรงเรียนเดียวกับเพื่อน หรืออีกทางจะขอไปหาโรงเรียนที่รับ 5 คนเอง เราก็ให้โอกาส แต่ต้องทำเรื่องมีหนังสือนำ  สองสัปดาห์ต่อมาจวนจะถึงเวลาสรุป นักศึกษามาหาบอกว่ารู้แล้วว่าไม่ง่ายที่จะไปหาโรงเรียน เพราะบางโรงเรียนอาจจะรับทั้ง 5 คนก็จริงแต่ยังไม่ผ่านการประเมินของศมส. เลยกลับมาคิดกันใหม่  สรุปว่า 5 คนจะแบ่งเป็น 2 ทีม ทีมหนึ่ง 2 คน อีกทีม 3 คน  พอเราไปนิเทศ นักศึกษาเล่าว่าได้เจอเพื่อนอีกแก๊ง ได้รู้อะไรใหม่ๆ ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ดีที่อาจารย์เปิดโอกาสให้เลือกเอง ทำให้ได้เรียนรู้วิธีแก้ปัญหา ได้เพื่อนเพิ่ม ได้ปรับตัว มีความสุขมาก นึกถึง EF ที่อาจารย์สอน ช่วยให้ยืดหยุ่น ไม่ยึดติด ปรับตัวได้ วางแผน ควบคุมอารมณ์

“ครูพี่เลี้ยงโรงเรียนที่นักศึกษาเลือกไปก็ชื่นชมมากในสมรรถนะ ในคุณลักษณะของนักศึกษาของเรา
วันสุดท้ายในการสัมมนาการฝึกสอน นักศึกษาสามารถพูดเชื่อมโยง EF ได้หมด จนอาจารย์สาขาวิชาชีพครู สาขาพื้นฐาน บอกว่านี่แหละผลงานของเรา เด็กคิดได้โดยที่เราไม่ได้ยัดเยียด แต่เกิดจากประสบการณ์ตรงของนักศึกษาเอง

“ตอนนี้นักศึกษาต่อยอดความรู้ด้วยการทำวิจัยเรื่อง EF และให้ความรู้ผู้ปกครองในชุมชนด้วย

“เราเองก็ยืดหยุ่นมากขึ้น เมื่อก่อนเป๊ะมาก นักศึกษาบอกว่าโคตรดุเลย แต่เดี๋ยวนี้นักศึกษาต่อรองได้ พอยืดหยุ่นเป็น เราก็ happy ชึ้น

“อย่างเช่นนักศึกษาบ่นว่าอาจารย์คนนี้ก็ให้งานคนนั้นก็ให้งาน ดังนั้นอาจารย์ในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยก็จับมือกัน มาทวนสอบกันว่าถ้าสอนตามมคอ. แล้วเราจะสอนอะไร จะให้นักศึกษาทำอะไร และถามนักศึกษาว่าคิดอย่างไร เอามคอ.มาให้ดู แชร์กันให้ลงตัวที่สุด เราคุยกันว่าจะให้นักศึกษาทำงานหนึ่งชิ้นแล้วก็ให้ได้หลายวิชา ซึ่งนักศึกษาจะต้อง create งานให้ได้ทักษะในหลายๆ วิชา  เป็นการลดภาระงาน แต่คุณภาพจะต้องมากขึ้น เพราะต้องคิดซับซ้อนมากขึ้น สร้างสรรค์มากขึ้น เพื่อให้ตอบโจทย์ทุกวิชา นักศึกษาเห็นด้วยและทำได้ createงานออกมาคุณภาพดีกว่าเดิมมาก

“นักศึกษาเคยเสนอแนะว่าให้ใช้การสแกน QR Code เด็ก generation นี้ใช้เทคโนโลยีเก่งกว่าเรา เราจึงต้องเรียนรู้ไปกับเขา ให้เขาสร้างนวัตกรรม ก็สนุก อย่าปิดกั้น แล้วอาจารย์ปฐมวัยไม่อายที่จะเรียนรู้ร่วมกับนักศึกษา เราต้องปรับ mindset ของเราว่าเราไม่ใช่เป็นอาจารย์ที่ถ่ายทอดความรู้ให้นักศึกษาฝ่ายเดียว แต่นักศึกษาก็จะมาถ่ายทอดในสิ่งที่รู้ให้ครูด้วย เราเปิดใจเอาข้อดีของเขามาเติมเต็มให้เรา แล้วเอาที่เรามีไปเติมให้เขา เรียนรู้ไปด้วยกัน ทำให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างสนุกสนาน มีเสียงหัวเราะ

“เทอมที่แล้วสอนวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยเป็นแบบออนไลน์ มีนักศึกษาพาหลานมานั่งเรียนด้วย เพราะต้องช่วยพี่สาวเลี้ยงหลาน พอมาครั้งแรกติดใจ เด็กอนุบาลมานั่งเรียนแล้วตอบได้ เรียนกัน 16 สัปดาห์ มีเด็กๆ หลายคนมาเข้า พี่ชวนมาเรียน เรียน ก็สนุกกับห้องเรียน

“ห้องเรียนเปลี่ยนไปเยอะเลย เมื่อก่อนนักศึกษาเห็นอาจารย์เดินมาจะหันหลังให้ อาจารย์ก็ตรวจหมดทุกอย่าง เสื้อผ้าหน้าผม แต่เดี๋ยวนี้อาจารย์บอกให้นักศึกษาทบทวนตัวเองว่าโอเคมั้ยเสื้อผ้าหน้าผมมาแบบนี้ ไม่บังคับ แต่สร้างทางเลือกให้ เราเชื่อว่าทุกคนต้องการมีสุขภาพที่ดี ต้องการให้เพื่อนยอมรับ ต้องทำตัวเองให้ดูดี เพราะฉะนั้นเราใช้จุดนี้มาคุยกัน ตอนนี้เด็กสนุก อยากเรียน วันนี้จะเจออะไร อาจารย์จะเอาอะไรมาเล่นกับเราอีก เช่นวัยรุ่นชอบ caption เราเลยบอกนักศึกษาว่าทุกคาบจะต้องคิด caption มา ดังนั้นก่อนสอนเราก็ต้องคิด caption ด้วย ต้องไปกับเขาด้วย ตาม trend ให้ทัน

“สอนแบบนี้แล้วได้เนื้อหาเยอะกว่าเดิมด้วย จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ให้นักศึกษาทำกิจกรรมก็จริง แต่ทุกครั้งนักศึกษาจะต้องสรุปบทเรียน ประมวลสิ่งที่ได้เรียนรู้ออกมาโดยใช้ info graphic และก็ต้องไปสืบค้นเพิ่มเติม เพื่อสร้างชิ้นงานสรุปประเด็นที่ได้ แล้วนำมาแชร์ออนไลน์กับเพื่อน โดยสุดท้ายอาจารย์จะสรุปเสริมให้ทุกครั้ง  นักศึกษาบอกว่าเรียนแบบนี้ดีกว่าแจกเอกสารให้ไปอ่าน ได้องค์ความรู้ใหม่ๆ บางคนก็ไปสืบค้นข้อมูลจากต่างประเทศเพิ่มเติมซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับเด็กวัยนี้  ใครได้ข้อมูลอะไรใหม่ๆ มาก็นำมาเติมเต็มให้อาจารย์และเพื่อน เขาจะภูมิใจมาก ..อาจารย์ไม่รู้เหรอเรื่องนี้

“รายการ “HBL Can Do ครู EF” ก็ให้นักศึกษาเข้าไปดูทุกครั้ง ทำให้ได้องค์ความรู้ใหม่ๆ ได้คิดนวัตกรรมใหม่ๆ

“เพราะฉะนั้นการเรียนการสอนแบบนี้ความรู้ไม่หายไป มีแต่เพิ่มมากขึ้น เพียงแต่เราอย่าสนุกกับกิจกรรมอย่างเดียว อย่าหลุดประเด็นสำคัญที่อยากให้นักศึกษาเรียนรู้ มีอาจารย์บางท่านให้นักศึกษาทำกิจกรรมอย่างเดียว พอทำข้อสอบก็บ่นว่าทำไมไม่ได้อะไรเลย จึงแนะนำไปว่าทำกิจกรรมแล้วต้องให้โฟกัสที่จุดนั้นด้วย ไม่ใช่บันเทิงอย่างเดียว ไม่ใช่ทำกิจกรรมแล้วตอบไม่ได้ว่าได้เรียนรู้อะไร ต้องมีการสรุปความรู้

 นอกจากสอนนักศึกษาแล้ว อาจารย์ชนกพรยังช่วยขับเคลื่อน EF ในระดับจังหวัด โดย“เอาตัวเองแทรกเข้าไปในคณะกรรมาธิการการศึกษาจังหวัด เข้าไปเปิดประเด็นเรื่อง EFให้เทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลคอหงส์ เพื่อให้ผู้ใหญ่ในหน่วยงานนั้นๆ ได้เห็นความสำคัญของ EF และการจัดอบรมครูเรื่อง EF รวมทั้งในวงประชุมของจังหวัด อบต. ซึ่งผู้ใหญ่ในองค์กรเหล่านั้นก็ตั้งงบให้ จะบอกกองการศึกษาให้ตั้งงบให้ ก็ได้งบมาทุกปี ส่วนงบของมหาวิทยาลัยราชภัฏไม่มี ขอไปก็ตัดมาเหลือ 10%  ต้องหาเงินจากที่อื่นมาจัด เวลานี้เทศบาลในนครหาดใหญ่ เทศบาลคอหงส์รู้เรื่อง EF กันหมดแล้ว  ต่อไปจะลงอบต.ภูเต่า อบต.อื่นๆ เริ่มติดต่อมา งานเหล่านี้อาจารย์ไปเป็นวิทยากร ก็พานักศึกษาไปช่วยด้วย”

“นับว่าโชคดีสุดๆ ที่ได้เป็นผู้นำในการนำสิ่งดีๆ มาถ่ายทอด จะต้องสานต่อให้ยั่งยืนต่อไป”

การเปลี่ยนแปลง/ผลสัมฤทธิ์ หลังจากเรียนรู้ EF และนำความรู้ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน

เปลี่ยนตัวเอง  มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทำให้มีความสุขมากขึ้น “จากเป๊ะ ยอมยืดหยุ่นแต่คงคุณภาพ ทำให้เกิดความสุข สุดท้ายก็เกิดความสุข” เปิดใจยอมรับตัวตนของนักศึกษา ทำให้สัมพันธภาพระหว่างอาจารย์กับนักศึกษาดีขึ้น มีความใกล้ชิด ไว้วางใจกันมากขึ้น

นักศึกษาเปลี่ยน นักศึกษารู้จักใช้ทักษะ EFในชีวิตประจำวัน ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนิสัย พฤติกรรมของตัวเองให้รู้จักยับยั้งชั่งใจ ไตร่ตรอง คิดวิเคราะห์ วางแผน มีความรับผิดชอบ คิดยืดหยุ่น คือสร้างสรรค์มากขึ้น

นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง  นักศึกษาเรียนรู้เข้าใจ EF จากประสบการณ์ตรง จากการทำกิจกรรม จากการเชื่อมโยงทักษะ EFในชีวิตประจำวัน 

นักศึกษาเรียนรู้ได้ดีขึ้น เรียนรู้ได้มากขึ้น  จากการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน และจากการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม มีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะแก้ปัญหา ทำให้มีผลงานที่มีคุณภาพมากขึ้น

บรรยากาศการเรียนการสอนสนุกสนานมากขึ้น  จากการที่อาจารย์คิดยืดหยุ่น ให้โอกาส ให้อิสระแก่นักศึกษา สัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้สอนและผู้เรียนซึ่งมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

ฝากไว้ให้คิด

“EF สร้างคนดี มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ทุกคนควรต้องรู้ ต้องเข้าใจ ต้องมี EF เพราะเป็นการพัฒนามนุษย์ จำเป็นในการดำเนินชีวิตให้สำเร็จ  EFทำให้เราเปิดใจเรียนรู้ อาจารย์และนักศึกษาเรียนรู้ไปด้วยกัน โดยต้องมีการปฏิบัติ นี่คือหัวใจ ถ้าไม่ปฏิบัติ EFจะไม่เกิด”

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ