096-356-9461 support@rlg-ef.com

ผศ.ดร.ธิดารัตน์ จันทะหิน
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

อาจารย์ธิดารัตน์เป็นตัวแทนอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีเข้ารับการอบรมที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ “ปกติเป็นคนชอบอบรม จึงไม่กังวลนัก และรับผิดชอบสอนเรื่องการทำงานของสมองเด็กปฐมวัยอยู่แล้ว พอมีพื้น แต่พอวิทยากรพูดเรื่องทักษะ 9 ด้าน มีคำถามกับตัวเองว่า 9 ด้านจะเยอะไปมั้ย เพราะเรียนมาแค่สมองซีกซ้าย ขวา กลับมาเลยกังวล

“ได้ร่วมในคณะทำงานจัดทำหลักสูตร มีกระบวนการที่เยอะมาก ตอนปรับรายวิชาทั้งหมด 20 วิชาของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย 5 ปี มาเป็นหลักสูตร 4 ปี รู้สึกว่าอินมาก คำอธิบายรายวิชามีเรื่อง EF เยอะและใส่ในทุกรายวิชา

“ได้รับมอบหมายให้สอนวิชาสมองเป็นหลักเพราะเข้ารับการอบรม ขณะที่อาจารย์อื่นใช้บูรณาการ มีความกังวลแต่ต้องสอน ก็ต้อง active มากขึ้น ในการสอนนักศึกษาปีที่ 1 ในรายวิชาสมอง และอีก 3 วิชาที่นักศึกษาปี 1 จะต้องเรียนโดยไม่ซ้ำซ้อนกัน  เพราะมีอาจารย์หลายคนพูดว่า ห้องนี้กิจกรรม EF  ห้องนั้นก็กิจกรรม EF นี่ก็ทำสื่อ ทุกคนทำแบบเดียวกัน ที่จริงนักศึกษาได้ประโยชน์ แต่ถ้าเรียนซ้ำกันก็ไม่น่าจะดี จึงได้เชิญอาจารย์ในสาขามาประชุมเพื่อให้รายวิชานี้ได้ร้อยเรียง ต่อเนื่อง และสามารถนำกิจกรรมมาใช้ได้ในหลายๆ วิชาแล้วเกิดองค์ความรู้กับนักศึกษาจริงๆ  เช่นวิชานี้ให้นักศึกษาแต่งนิทาน เสร็จแล้วต่อยอดไปสู่การออกแบบแผนการเรียนการสอน หรือไปสู่รายวิชาที่เอานิทานไปใช้ได้ด้วย  บางวิชาเพิ่มหลักของจิตศึกษาเข้าไปด้วย เพื่อให้นักศึกษามองสะท้อนตัวเอง พัฒนาตัวตนผู้เรียนให้เป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็ก

“วางแผนถูกที่สอน EF ให้กับนักศึกษาปี 1 เพราะง่ายที่จะหล่อหลอม EF และทำให้นักศึกษาได้รู้ใจตัวเองว่ารักที่จะเรียนการศึกษาปฐมวัยหรือไม่ ไปต่อได้ไหม จะเรียนสาขานี้ประสบความสำเร็จไหม เหมือนเมล็ดพันธุ์เล็กๆ ที่เราค่อยๆ ใส่ปุ๋ยไปจนปี 2 ปี 3  พอเติบใหญ่จะได้รู้ว่าตัวเองมาถูกทาง

การวางแผนสอนนักศึกษาเรื่อง EF ยังทำให้ “รู้สึกว่าตัวเอง active มากขึ้น และการทำงานของอาจารย์ในสาขาปฐมวัยเป็นทีมมากขึ้น เพราะมีเรื่องต้องคุยกัน เราจะไม่เก่งคนเดียว ทุกคนต้องไปด้วยกัน เพียงแต่ว่าวิชาของเราเป็นจุดเริ่มต้น เราต้องรับผิดชอบก่อน ในขณะที่วิชาอื่นๆ ก็มีจุดเด่นของแต่ละวิชา คุยกันว่าต่อไปเราจะเปิดบ้าน EF  เพราะฉะนั้นเราต้องมาคุยมาแชร์กิจกรรม EF กัน แล้วให้นักศึกษาทุกชั้นปีมาเจอกันด้วย รวมทั้งหลักสูตร 5 ปี เราก็บูรณาการกัน และจะมีการ feedback กัน  

“มหาวิทยาลัยมีงบประมาณพลิกโฉม ได้เสนอตัวเองว่าจะเข้าไปช่วยดูแลหลักสูตรนี้ และล่าสุดได้อบรมให้กลุ่มอาจารย์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษาปฐมวัย คือกลุ่มวิชาชีพครู GE  ที่ศูนย์จิตตปัญญามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลมีอาจารย์ที่อินเรื่อง EF “บอกว่าชอบ EF ใช่เลย ทำไมไม่บอกมาแต่แรก จะได้นำไปสอนในวิชา GE  และมีอาจารย์สาขาภาษาอังกฤษที่มาอบรมแล้วนำไปใช้กับตัวเอง เรียกว่าตอนนี้อาจารย์ทุกคนรู้จัก EF

อาจารย์ธิดารัตน์บอกว่า ปัจจุบัน EF เป็นที่รู้จักกันทั่วไป โดยเฉพาะในแวดวงคนที่สนใจจะเข้าเรียนสาขาการศึกษาปฐมวัย “ในเพจ face book ของการติวการสอบบรรจุข้าราชการครู บอกไว้ว่า การสอบเพื่อเป็นครูปฐมวัยจะต้องรู้จัก EF ด้วย แอบถามนักเรียนที่มาสอบสัมภาษณ์เข้าเรียนปฐมวัยว่ารู้จัก EF ไหม มีบางคนที่รู้จักจากติ๊กต็อก ซึ่งนักศึกษาปฐมวัยของเราไปโพสต์เอาไว้ นักเรียนจึงได้รู้จักทักษะ EFด้านต่างๆ”  

นอกจากความรู้ EF ได้ขยายไปทั่วมหาวิทยาลัยแล้ว ยังขยายไปสู่ครูและโรงเรียนในชุมชนด้วยวิธีต่างๆ   เช่นผ่านการฝึกประสบการณ์ของนักศึกษา “การเรียนหลักสูตร 4 ปี นักศึกษาจะมีการฝึกประสบการณ์ทุกชั้นปี  เป็นสะพานเชื่อมความรู้ EF จากนักศึกษาของเราไปถึงครูในโรงเรียนที่นักศึกษาออกไปฝึกประสบการณ์ ทำให้ครูจำนวนหนึ่งได้รู้จัก EF และผู้อำนวยการโรงเรียนเหล่านั้น 4-5 แห่งก็เข้าร่วมอบรม EF กับเราด้วย

“เราจัดการการอบรมEFให้เขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี 5 เขต ปรากฏว่าศึกษานิเทศก์เข้าอบรมน้อย กลุ่มที่ active คือกลุ่มครูโรงเรียนที่ใช้แนวคิดมอนเตสซอรี่ กลุ่มโรงเรียนในโครงการนักวิทยาศาสตร์น้อยซึ่งได้ทุนจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

“การขยาย EF ที่มีโอกาสเข้าไปอบรมมากคือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ส่วนทางด้านสาธารณสุข แพทย์ พยาบาลก็สนใจEF มีการเชื่อมโยง EF กับคู่มือ DSPM นอกจากนั้นยังมีกลุ่มที่ทำวิจัยเล็กๆ ด้วย  รวมทั้งได้ขยายไปต่างจังหวัดด้วย คือได้ไปเผยแพร่ EF ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ทำให้ได้เครือข่ายเพิ่มขึ้น”

การเปลี่ยนแปลง/ผลสัมฤทธิ์ หลังจากเรียนรู้ EF และนำความรู้ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน

อาจารย์ active มากขึ้น การทำงานในสาขาปฐมวัยเป็นทีมมากขึ้นอาจารย์พูดคุยปรึกษากันมากขึ้น เกิดการบูรณาการการเรียนการสอนต่างวิชา

เกิดกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ “เกิดนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนที่เรียนรู้ผ่านกระบวนการและกิจกรรม โดยอาศัยฐาน 3 ฐาน คือ ต้องมีฐานใจมาก่อน เปิดใจรับ ตามมาด้วยฐานกาย การเคลื่อนไหวกิจกรรมต่างๆ และฐานคิด นำไปสู่การตรวจสอบว่าเราได้เรียนรู้อะไร ประสบความสำเร็จจริงหรือไม่”  

เกิดการขยายความรู้ EF สู่วงกว้าง สู่อาจารย์ในสาขาวิชาอื่น สู่เขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน ครู ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และประชาชนทั่วไป

นักศึกษามีความรู้ EF  นำความรู้ EFไปใช้กับเด็ก ไปเผยแพร่ในโรงเรียนที่ไปฝึกประสบการณ์

ฝากไว้ให้คิด

“EF มีอยู่จริง… คือเราสามารถเรียนรู้ผ่านนามธรรมไปสู่รูปธรรมได้  กระบวนการเรียนรู้ EF ทำให้ห้องเรียนมีความสุข เมื่อคนมีความสุข ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็จะประสบความสำเร็จ…  และอยากบอกว่าถ้าไม่เรียนรู้เรื่อง EF คุณจะคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่องนะ”

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ