096-356-9461 support@rlg-ef.com

ผศ.ดร.ธีราพร กุลนานันท์
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

อาจารย์ธีราพรได้เข้าร่วมอบรมเรื่อง EF ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ แล้วเห็นความสำคัญของ EF “ได้เห็นชัดว่า EF เป็นทักษะการบริหารจัดการชีวิตคน คนจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับสมองส่วนหน้า จึงคิดว่าต้องบรรจุเรื่องนี้ในหลักสูตร ครูต้องเข้าใจว่าสมองทำงานได้อย่างไร EFมีความสำคัญอย่างไรในการพัฒนาชีวิต ถ้าครูไม่เข้าใจ จะไม่สามารถออกแบบเพื่อพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ของเด็ก จนเป็นคนที่สมบูรณ์ที่ประเทศชาติต้องการในอนาคตได้

อาจารย์ธีราพรมีประสบการณ์เรื่องสมองมาก่อนแล้ว โดยเล่าว่า “เคยเรียนเรื่องสมองมาตั้งแต่ปี 2546 สอนวิชานวัตกรรมโดยเอาสมองเป็นฐาน ตอนนั้นไม่รู้จัก EF รู้จักแต่สมองส่วนหน้า ได้เรียนเรื่องสมองครบสูตรตอนเรียนต่อปริญญาเอก ทำให้เข้าใจเรื่องสมองมากขึ้น ทำให้รู้ว่าต่างประเทศเล่นเรื่อง neuroeducation กันมาก ศึกษาเรื่องสมองกันมาร้อยกว่าปีแล้ว มหาวิทยาลัยในต่างประเทศใช้ความรู้เรื่องสมองเป็นฐานกันมาก

อาจารย์บางท่านคิดว่า EFคือ BBL แต่เมื่อได้ศึกษาต่อไปก็พบว่า BBL (Brain-Based Learning) นั้นไม่พอ  BBLเป็นการออกแบบการเรียนรู้ตามโครงสร้างสมอง แต่ EF เป็นการออกแบบตามการเรียนรู้ของสมอง  ซึ่งต่างกันมาก 

เมื่อเห็นความสำคัญของ EF อาจารย์ธีราพรจึงผลักดันให้เกิดการบรรจุ EF เข้าไปในวิชาสมองกับการเรียนรู้ “วิชานี้มีเรื่อง EF และสมอง โครงสร้างสมองโดยทั่วไป  ซึ่งเรื่อง EF นี้ในช่วงที่เข้าไปทำงานเรื่องการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยให้กระทรวงฯ ได้ทราบว่าอาจารย์ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่า EF คืออะไร สมองคืออะไร ทั้งสาขาการศึกษาปฐมวัยและสาขาทั่วไป

“ในการบรรจุวิชานี้ ได้ปรึกษาผู้ใหญ่ก่อน เพราะน้องๆ ในสาขามีความรู้สึกว่ายากเกินไป อาจารย์ในสาขาอื่นๆ ก็พูดกันว่าอาจารย์ปฐมวัยจะไปเป็นหมอหรือ ซึ่งส่งผลกระทบจนไม่อยากต่ออายุราชการ เพราะสิ่งที่ตั้งใจทำนั้นก็เพื่อเด็กในอนาคตเพื่อประเทศ แต่กลายเป็นว่าเดินไปไหนมีแต่คำถาม เราอธิบายก็ไม่ฟัง ที่รู้สึกมากๆ คือมีคำพูดว่าเป็นการดั้มพ์รายวิชาให้ด้อยมาตรฐานลง 

“ได้คุยกับผู้ใหญ่ว่าจะให้เขียนขอบเขตเนื้อหาแค่ไหน  ตอนนั้นเตรียมไว้ว่าจะเขียนตั้งแต่ปฐมวัยมาจนถึงสมรรถนะ ถึงการสร้างเรื่องสมองให้กับประเทศ ผู้ใหญ่ก็บอกเอาสูงสุดเลย เตรียมใจว่าไม่สามารถอบรมให้น้องๆ เข้าใจได้ เราเรียนเรื่องสมองมารู้ว่าถ้า Limbic System ไม่เปิดรับ มีเครื่องมือดีอย่างไรก็ไม่เกิดการเรียนรู้

“เราเขียนหลักสูตรแป็นประโยคเพื่อไปให้ถึงเรื่องสมรรถนะ แต่ไม่มีที่ไหนทำกัน  หลักสูตรต้องเขียนเป็นวลี แต่ตอนนั้นเราใจพร้อม มีผู้ใหญ่อยู่ข้างหลัง ก็เขียนเป็นประโยค เพื่อให้เกิดสมรรถนะ แล้วให้น้องๆ ออกแบบการสอนตามที่เราเขียน  

“เมื่อทำไปแล้วก็เจอความไม่เข้าใจเยอะ โดยเฉพาะจากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยตัวเอง มีคำพูดของอาจารย์ว่า “หนูยังเรียนไม่ได้เลย เด็กจะเรียนได้ยังไง” และ “เรื่องสมรรถนะก็ยังไม่เข้าใจ แล้วยังมาเจอเรื่องสมองเข้าไปอีก”

“เวลานี้ในคณะเข้าใจกันแล้วว่า EF สำคัญ ได้มีการสอนมีการนำ EFไปใช้  และการค้นหาเรื่อง EF ใน website ก็ง่าย นักศึกษาเข้าไปค้นคว้ากัน เพราะในการสอนจะเน้นให้นักศึกษาค้นคว้าให้มาก รวมทั้งเกิดงานวิจัย EF ที่มหาวิทยาลัยฯ อาจารย์ได้ทุนวิจัย EF กันมาก ตัวเองทำเรื่องศิลปะ อาจารย์ท่านอื่นทำเรื่องนวัตกรรมในการทำงานกับผู้ปกครอง  ทักษะสมอง EFกับการป้องกันอุบัติเหตุในเด็ก

“ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ได้นำ EF ไปแทรกในทุกวิชา เพราะหลักสูตรของตัวเองที่ส่งไปทุกที่ มี nueroeducation นำอยู่แล้ว สามารถประยุกต์พัฒนาในแต่ละรายวิชา มีการถกกันว่าจะสอนเรื่องสมองให้นักศึกษาปีไหนดี มาสรุปกันว่าให้สอนปี 1 เทอม 1 ทุกปี เพราะพอเทอมสองต้องเรียนแยกรายวิชาแล้ว นักศึกษาจะได้เอาความรู้ทักษะสมอง EF ไปใช้ในทุกๆ รายวิชาที่เรียน

“ความจริงแล้วการศึกษาปฐมวัยนั้นสอนแบบบูรณาการ แต่แตกออกมาเป็นรายวิชาต่างๆ  แล้วมีการบูรณาการวิชาอื่นเข้าไป  ในการสอนวิชาเหล่านี้ เราต้องรู้ว่าสมองทำงานอย่างไรจึงจะออกแบบการสอนให้ผู้เรียนเรียนรู้เข้าใจได้ เพราะไม่ว่าจะเรียนวิชาใดๆ ก็ตาม ผู้เรียนต้องใช้สมอง ทักษะในการประมวลความรู้ ดึงข้อมูลมาใช้งาน วางแผนการทำงาน ฯลฯ รวมทั้ง EF คือการพัฒนาลักษณะนิสัย เช่นยับยั้ง จดจ่อ วางแผน ฯลฯ ทุกวิชามุ่งสร้างคุณลักษณะเหล่านี้อยู่แล้ว  ดังนั้นจึงมองเห็นว่า EF ควรจะเข้าไปอยู่ในรายวิชาต่างๆ ด้วย ซึ่งต้องทำให้ผู้เรียนเข้าใจว่า EF เกิดได้อย่างไรในวิชาเหล่านิ้

“เวลาออกแบบเสร็จก็ต้องเอาไปลองใช้กับนักศึกษา เพื่อดูว่าสิ่งที่คุณออกแบบมานั้นจะเจออะไรตอนประเมินผล โดยประเมินสมรรถนะทุกรายวิชา อาจารย์อาจจะบ่นว่า ทำไมเขียนหลักสูตรเหมือนกันทุกวิชา ก็ให้เหตุผลว่าใช้เรื่องสมองในการสร้างหลักสูตร เวลาทำอะไรซ้ำจะเกิดความชำนาญและเกิดสมรรถนะตามที่หลักสูตรต้องการ

“กว่านักศึกษาจะออกฝึกสอน ก็ชำนาญ นักศึกษาของเราจะไม่แค่เรียนในห้อง เราจะให้สืบค้นงานวิจัย ต้องรู้เท่าทัน ต้องค้นคว้า เพื่อจะได้นำไปประยุกต์ใช้  

“นี่เป็นตัวอย่างของการใช้สมองเป็นฐานในการพัฒนาคน ในการสร้างครูที่สมบูรณ์มาก สำหรับคนในวิชาชีพครู ไม่ใช่แค่ครูปฐมวัย อยากให้ครูทุกสาขาเข้าใจ เพราะเมื่อเราเรียนรู้ EF แล้วยังเปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนวิธีทำงาน จึงอยากให้ทุกคนที่ทำงานด้านการพัฒนาเด็กเข้าใจ EF แล้วเอาไปพัฒนาประเทศ”

การเปลี่ยนแปลง/ผลสัมฤทธิ์ หลังจากเรียนรู้ EF และนำความรู้ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน

เกิดการเรียนการสอนที่ใช้ความรู้เรื่อง EF เป็นฐานเริ่มจากเราเข้าใจนักศึกษาก่อน limbic system ต้องเปิดก่อน เลยทำให้เรารู้ว่าการที่นักศึกษาจะเรียนรู้อะไรก็ต้องมีความรู้สึกปลอดภัยก่อน แล้วต้องรู้สึกอยากเรียนรู้ มีแรงจูงใจที่ทำให้อยากเรียนรู้” 

นักศึกษาเกิดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง  “ตอนสอนนักศึกษาเมื่อปี 2546 เห็นว่านักศึกษาเรียนรู้เพื่อรู้ ไม่ได้เรียนเพื่อไปพัฒนาตนเอง  ตอนนี้จะเริ่มสอนที่ตัวนักศึกษาก่อน ถ้านักศึกษาเข้าใจ EF ของตัวเองแล้ว เราก็พาเขาเรียนรู้ EF กลุ่มอื่น เช่นผู้สูงอายุ แล้วลากกลับมาที่เด็กประถมเด็กอนุบาล  

“ล่าสุดสอนนักศึกษาหลักสูตร 5 ปี นักศึกษาบอกว่าอะลุ้มอะล่วยหน่อยได้ไหม เพื่อนเข้าห้องสายไป 2-3 นาทีเอง ถ้าอาจารย์ยอมพวกเราก็จะได้อยากเรียนในคลาสนี้ จึงได้โอกาสอธิบายเรื่องสมอง บอกว่าสมองมันมีพื้นที่จำกัด เวลาเราทำอะไรสม่ำเสมอมันจะจดจำไว้ อะไรที่เราไม่ทำมันก็หายไป เมื่อเรายอมให้สมองบอกว่าเราสายได้ ในอนาคตเราจะยอมให้บุคลิกภาพแบบนี้เกิดกับครูหรือ มันจะส่งผลอะไรต่อเด็ก ก็ให้เขาวิเคราะห์ ใช้สมองส่วนหน้า นักศึกษาก็บอกเข้าใจ  เพราะถ้าเรายอมเรื่องเวลา มันจะส่งผลไปเรื่องอื่นๆ ด้วย เพราะสมองบันทึกเป็น pattern ไปเรียบร้อยแล้วว่าทำแบบนี้ได้ มาสายได้ นี่คือความรับผิดชอบ จะไปวางแผนอะไรก็ยาก  นี่คือการทำให้เด็กเปลี่ยนพฤติกรรมในทันทีที่เข้าใจ ไม่ต้องมาใช้กฎเกณฑ์หรือการหักคะแนน ใช้ความรู้เกี่ยวกับสมอง EF นี่แหละมาปรับปรุงตัวเอง”

นักศึกษามีความรับผิดชอบมากขึ้น  “เมื่อก่อนนักศึกษาจะขาดเรียนแทบทุกวิชา มากันไม่กี่คน โดยเฉพาะวิชาวิจัย ถ้าใกล้ส่งงาน ตรวจงาน จะค่อยๆ หายไป แต่มาสองปีหลัง รวมทั้งเทอมนี้ ทั้งนักศึกษาปี 1 และปี 5 ไม่ขาดเรียน ถ้ามีธุระจะเขียนมาบอก เช่นไปรับวัคซีน พอรับเสร็จก็กลับมา เหลืออีก 10 นาทีก็กลับมาเรียน หลายคนไปธุระที่ไหนก็ยังกลับมาเรียน คนหนึ่งต้องไปเฝ้าพ่อที่โรงพยาบาล ก็ยังเข้าซูมแล้วเขียนคำตอบส่งเข้ามา”

นวัตกรรม

การบรรจุ EF ในวิชาสมองกับการเรียนรู้  ทำให้อาจารย์ผู้สอนและนักศึกษาเข้าใจเรื่อง EF นำความรู้ EF ไปพัฒนาเด็ก ครู พ่อแม่ผู้ปกครอง  อาจารย์เกิดความตระหนักรู้ตื่นตัว ปรับกระบวนการเรียนการสอน นักศึกษาไดใช้ความรู้พัฒนาตนเอง เป็นครูที่สมบูรณ์

การเรียนการสอนที่เอาเรื่องทักษะสมอง EF เป็นฐาน  “อาจารย์ปรับเปลี่ยนวิธีการสอน ผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข นำความรู้ไปพัฒนาตนเอง เช่นมีความรับผิดชอบโดยไม่ได้ใช้กฎกติกา รู้เหตุและผลของการกระทำโดยใช้ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ในการคิดวิเคราะห์”

ฝากไว้ให้คิด

“มหาวิทยาลัยราชภัฏมีครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ถ้าเราสามารถทำให้ผู้นำของแต่ละพื้นที่ หรือคนที่มีอำนาจในมหาวิทยาลัยราชภัฏแต่ละแห่งเข้าใจว่า EF สำคัญ และสามารถรองรับยุทธศาสตร์ 20 ปีได้ และจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพมนุษย์ได้ ก็จะดี เพราะตอนนี้เราขับเคลื่อนได้แค่ระดับปฐมวัย

“มหาวิทยาลัยราชภัฏได้รับนโยบายจากกระทรวงฯ ว่าต้องพัฒนาครูในพื้นที่ด้วย แต่ละมหาวิทยาลัยฯรับผิดชอบพื้นที่ 2-3 จังหวัด ถ้าเราสามารถทำให้เกิดความเข้าใจว่า EF คือการพัฒนาคุณลักษณะของคน พัฒนาคนให้กับประเทศ  เราจะพัฒนาครูได้ทั่วประเทศ จะยกระดับเด็กได้ทั่วประเทศ

“ผู้ใหญ่ในบ้านเรายังเข้าใจไม่ชัดเจนเรื่องการพัฒนาทุนมนุษย์ การออกแบบหลักสูตรจึงยังยืนอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีมากกว่าพื้นฐานของประเทศที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  ดังนั้นถ้าเราเริ่มต้นจากการพัฒนาหลักสูตรจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนในประเทศเราว่าควรจะปรับอะไรบ้าง ก็จะเดินได้ถูกทางมากกว่า”

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ