096-356-9461 support@rlg-ef.com

ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ
รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

ในปี 2562 ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏในขณะนั้น เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดการปรับหลักสูตรการศึกษาคณะครุศาสตร์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏจากหลักสูตร 5 ปีเป็นหลักสูตร 4 ปี และนำองค์ความรู้ EF มาพัฒนาเป็นหลักสูตรเพื่อให้อาจารย์ในภาควิชาการศึกษาปฐมวัยของคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ นำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน

อาจารย์รัฐกรณ์กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศ คือมีจำนวนมากและกระจายกันอยู่ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ เป็นจุดแข็งที่สำคัญ” และเล่าที่มาของการขับเคลื่อน EF ในมหาวิทยาลัยราชภัฏ โดยย้อนไปถึงการก่อตั้งสภาคณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏว่า

“ในอดีตก่อนที่จะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ เราเคยเป็นวิทยาลัยครู ซึ่งสังกัดกรมเดียวกัน เมื่อสังกัดกรมเดียวกัน นโยบายต่างๆ ก็ทำเหมือนกัน แต่เมื่อเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏนั้นเป็นนิติบุคคล มีความเป็นอิสระ จากกัน ต่างคนต่างบริหาร  ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเมื่อต่างคนต่างอยู่ก็มีความแตกต่างหลากหลาย กระจัดกระจาย และที่สำคัญคือไม่มีพลัง

“พอผมมาเป็นคณบดีก็เห็นความแตกต่างหลากหลายชัดเจน เช่นตอนที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)เดิม (หรือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในปัจจุบัน) จัดโควต้าครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น  ซึ่งการผลิตครูนั้นมีทั้งระบบปิดและระบบเปิด ระบบเปิดคือสอบบรรจุ ส่วนระบบปิดคือระบบโควต้าที่เมื่อนักศึกษาเรียนจบแล้วก็บรรจุเป็นครูในโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นเลย  แต่ตอนนั้นหลายมหาวิทยาลัยราชภัฏไม่ได้รับโควต้า โดยสกอ.บอกว่าเพราะหลายแห่งไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินคุณภาพแล้ว จึงไม่ได้รับการจัดสรรโควต้า ซึ่งถ้าปล่อยไปแบบนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏที่ไม่ได้รับการพัฒนาก็จะมีปัญหา

“ดังนั้นจึงมีความคิดว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏจะต้องมารวมกัน ขับเคลื่อนไปด้วยกัน ตอนนั้นเรามีที่ประชุมคณบดีแต่ยังไม่มีระบบที่ชัดเจน โดยเฉพาะในการประชุมพูดคุยกัน เรื่องสำคัญต่างๆ ไม่ได้มีการบันทึก ประเด็นที่หารือไม่ได้มีการขับเคลื่อน ผมจึงคิดว่าควรจะมีการจัดตั้งเป็นสภาคณบดี มีข้อบังคับ ระเบียบในการปฏิบัติ ใช้มติที่ประชุมขับเคลื่อนนโยบาย นี่คือที่มาของการจัดตั้งสภาคณบดีฯ ทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏมีตัวตนที่ชัดเจน มีพลัง มีกฎระเบียบในการดำเนินการที่จะมาขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ

“มองว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ในการจะขับเคลื่อนอะไรก็ตาม เพราะฉะนั้นถ้าเราจะขับเคลื่อนอะไรที่ใหม่ๆ ต้องให้มหาวิทยาลัยราชภัฏร่วมมือกัน ที่ก่อตั้งสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ขึ้นมาก็เพื่อต้องการให้เป็นเครือข่ายในการขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ รวมทั้งขับเคลื่อน EF  แต่ว่าจริงๆ แล้วทางสถาบัน RLG ก็มีบทบาทอย่างมากในการมาช่วยเชื่อมประสาน เพราะครูบาอาจารย์นั้นถ้าไม่มีคนมาเชื่อมก็ไม่คุยกัน  กลุ่มเครือข่ายมีอยู่แล้ว เพียงแต่จะทำอย่างไรให้มาคุยกัน เราไปบังคับวิธีคิดใครไม่ได้

“เราต้องใช้ศักยภาพตรงนี้ ถ้าจับมือกันก็มีพลัง  แต่ถ้าเราต่างคนต่างอยู่ก็ไม่มีพลัง ไม่มีใครอยากมาคบค้าด้วย  ตอนที่ผมเป็นประธานสภาคณบดีฯ ก็มีหน่วยงานต่างๆ วิ่งเข้ามาหา  ใครๆ ก็อยากมาช่วยมาร่วมมือ ตอนนี้ผมออกมาแล้ว ยังมีสภาคณบดีของประเทศไทย ซึ่งทางสถาบัน RLG น่าจะเข้าไปแนะนำตัว

“การขับเคลื่อนเราก็เหนื่อย แต่ก็ต้องทำ ก็ไม่ใช่ทำทีเดียวจะสำเร็จเลย ค่อยๆ ทำ เอาคนที่สนใจมาพัฒนา ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง แล้วก็บอกว่าอันนี้ดี ได้ผล แล้วค่อยส่งเสริมไป

“เสียดายที่กระทรวงศึกษาเปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อย พอรัฐมนตรีเปลี่ยน นโยบายก็เปลี่ยน ไม่มีความต่อเนื่อง สุดท้ายก็ประเมินไม่ได้ว่านโยบายนี้ดีหรือไม่ดี สำเร็จหรือไม่ และที่สำคัญคือรัฐมนตรีไม่เข้าใจเรื่องการศึกษา แล้วท่านก็จะไปฟังคนที่เสนออะไรก็ไม่รู้ คนที่เสนอไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ไม่ได้ลงมือปฏิบัติจริง ปัญหาของกระทรวงศึกษาคือเป็นกระทรวงที่ใหญ่มาก ต้องดูแลสถานศึกษาที่แตกต่างหลากหลายมาก แล้วไปให้นโยบายเหมือนกัน มันทำไม่ได้ เวลานี้เรามีโรงเรียนที่เรียกว่าโรงเรียนกบฏที่ไม่เชื่อนโยบายของกระทรวง แล้วก็ทำเอง เช่นโรงเรียนของครูใหญ่วิเชียร เขาพยายามทำในสิ่งที่เขาเชื่อ เราเองบางทีก็ต้องทำอย่างนี้แล้วค่อยๆ กระจายออกไป”

โลกที่เปลี่ยนไปกับการศึกษา

อาจารย์รัฐกรณ์กล่าวว่าครูเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาคนพัฒนาประเทศ  “เป็นความเชื่อ และต้องทำให้ได้อย่างนั้นด้วย แต่เรามีปัญหาหลายส่วน นโยบายก็เป็นปัญหาทั้งในระดับประเทศระดับกระทรวง ขาดคนที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการศึกษาอย่างแท้จริง แม้กระทั่งคนที่รับผิดชอบกระทรวงศึกษาธิการ

“เวลาที่ใครมาพูดถึงราชภัฏในเรื่องการผลิตครู แม้แต่อดีตรัฐมนตรีที่บอกว่าราชภัฏไม่มีคุณภาพ ผมบอกเลยว่าถ้าเรื่องครูเรายอมรับไม่ได้  เพราะดีเอ็นเอของเราคือครู  แต่ที่เป็นปัญหาคือพอเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ มีการเปิดคณะต่างๆ หลากหลาย บางสาขาวิชาที่เปืดใหม่ยังไม่ได้รับการยอมรับ แต่เรื่องครู ผมยืนยันว่าเรามีประสบการณ์มายาวนาน เรามีลูกศิษย์ที่เป็นครู มีเครือข่ายครูในท้องถิ่นอยู่ทั่วไป

“ส่วนบริบทที่เปลี่ยนไปมีอยู่ 2 เรื่องที่ส่งผลกระทบกับทุกวงการ คือเรื่องของการที่โลกถูก disrupt จากเทคโนโลยี ส่งผลให้เกิดความแตกต่างระหว่างเจนเนอเรชั่นแต่ละเจนเนอเรชั่นอย่างมาก  ตอนนี้เรามองว่าเด็กมีปัญหา ซึ่งจริงๆ แล้วโดยวัยมันไม่แตกต่างไม่ว่าวัยรุ่นยุคสมัยใด แต่เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก เด็กยุคใหม่เกิดมาในโลกที่เป็นโลกเสมือนจริง โตมมากับดิจิทัลกับจอ แต่ผู้ใหญ่อยู่กับโลกความเป็นจริง ไม่เข้าใจโลกที่เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นมุมมองแตกต่างกันแน่นอน

“อีกเรื่องที่ส่งผลกระทบคือสถานการณ์โควิด ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปทันที ทำให้ระบบการศึกษาเปลี่ยน เราไม่สามารถจัดการเรียนการสอนแบบเดิมได้ ต้องเรียนออนไลน์  สิ่งสำคัญอยู่ที่เราปรับตัวได้ไหม อย่างที่ชาร์ลส์ ดาร์วินบอกว่า ไม่ใช่คนที่แข็งแรงที่สุด เก่งที่สุดที่จะรอด แต่คนที่มีความสามาถในการปรับตัวเท่านั้นที่จะรอด ซึ่งสอดคล้องกับยุคที่เกิดโควิดระบาดมากๆ  ซึ่งที่จริงเราควรมีการปรับมาตั้งนานแล้ว

“วงการการศึกษาตอนนี้ต้องเปลี่ยน mindset  ความรู้ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่ความคิด การมีสติ การรู้จักรับผิดชอบชั่วดี ต่างหากที่มีความสำคัญมาก

“พอพูดถึงเรื่องการศึกษา เราถูกปลูกฝังมาว่าคนเราวัดกันที่ความรู้ แล้วความรู้วัดกันด้วยความสอบ จะเรียนต่อก็สอบ จะทำงานก็สอบ แล้วถามว่าสอบวัดอะไร วัดความรู้ แต่การพัฒนาคนมันต้องพัฒนาทั้ง 3 ด้าน ซึ่งครูประถมจะท่องว่า KPA  K=Knowledge ความรู้  P=Performance หรือทักษะ ความสามารถในการปฏิบัติต่างๆ A= Attitude/Affective คุณธรรม จริยธรรม ต้องพัฒนาไปพร้อมกันทั้ง 3 ด้าน นั่นคือการพัฒนาทั้งกาย ใจ สมอง-สติปัญญา โดยเฉพาะเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด วินัย ความรับผิดชอบ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ EF  เป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย

“ปัญหาด้านการศึกษาของประเทศเรา ไม่ใช่เรื่องความรู้ แต่เป็นเรื่องคุณธรรม เรามีค่านิยมที่ผิดๆ หลายเรื่อง ทำไมเราถึงเห็นเรื่องไม่ดีในวงการศึกษา เช่น ผอ.ปล้นร้านทอง นักเรียนมัธยมปล้นร้านทอง นี่คือค่านิยมผิดๆ เราให้คุณค่ากับวัตถุ เรายอมรับยกย่องคนที่มีเงิน มีตำแหน่ง มีอำนาจ  แต่ไม่ยอมรับในเรื่องคุณงามความดี  ทุกวันนี้เราไม่รู้ว่าค่านิยมของชาติเราคืออะไร คนไทยโดดเด่นด้านใด นอกจากยิ้มสยามที่เราพูดกันมาแต่อดีต ซึ่งปัจจุบันก็ไม่ใช่แล้ว เราทะเลาะเราตีกันเอง  ต่างประเทศเขามีจุดเด่นที่เห็นชัดเจน เช่นคนญี่ปุ่นเด่นเรื่องมีความซื่อสัตย์ รักชาติ  คนเกาหลีเด่นมีความรับผิดชอบ รักชาติ  คนจีนเด่นเรื่องความขยัน ประหยัด  เป็นต้น

“ผมจึงคิดว่า เราควรหันมาพัฒนาคนให้พร้อมทั้ง 3 ด้าน โดยเฉพาะเรื่อง EF ที่ต้องพัฒนาตั้งแต่เด็ก ในช่วงปฐมวัย 3-6 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาทอง เป็นเรื่องที่สำคัญที่ทางรัฐบาลหรือผู้ที่ดูแลนโยบายควรให้ความสำคัญ”

บทบาทครูในปัจจุบัน

บทบาทของครูในโลกที่เปลี่ยนไปควรเป็นอย่างไร อาจารย์รัฐกรณ์ให้ความเห็นว่า “ที่จริงแล้วครูนั้นมีสองบทบาท คือสอน ให้มีความรู้หรือสอนหนังสือ กับสอนคน ซึ่ง ณ ปัจจุบัน บทบาทการสอนหนังสือน่าจะลดลง ด้วยเทคโนโลยีที่ทุกคนสามารถหาความรู้เองได้

“เราเคยได้ยินคำว่าครูคือแม่พิมพ์ คือถ้าแบบพิมพ์ดีก็จะพิมพ์ตัวหนังสือออกมาสวยงาม เป็นเรื่องที่ถูกต้องเป็นจริง  ตอนที่ผมเรียนชั้นประถม สังเกตว่าทำไมลายมือตัวเองไม่ดี แต่เพื่อนลายมือสวย ก็มารู้ทีหลังว่าโรงเรียนของเพื่อนครูที่สอนป.1 ลายมือสวยมากแล้วเด็กเขียนตาม ขณะที่โรงเรียนของตัวเองครูเขียนไม่สวย เราก็เขียนตามครู ครูจึงเป็นแบบอย่าง

“ครูยังเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ สังเกตได้ง่าย เด็กประถม-มัธยม ถ้าชอบครูคนไหนก็จะชอบวิชาที่ครูคนนั้นสอนด้วย แล้วเรียนอย่างมีความสุข แต่ถ้าเกลียดครูก็จะเกลียดวิชานั้นไปเลย และเด็กประถม-มัธยม ยังไม่รู้หรอกว่าตัวเองถนัดอะไร เพราะฉะนั้นการไปแนะแนว ถามเด็กว่าอยากเป็นอะไร เป็นทหาร ตำรวจ เด็กก็เปลี่ยนไปเรื่อย เพราะไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรถนัดอะไร เพราะฉะนั้นบทบาทของครูในปัจจุบันต้องเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก

“ครูต้องเปลี่ยนบทบาทมาพัฒนาความเป็นคน สอนเด็กให้รู้จักคิด มีวินัย มีความรับผิดชอบ สอนทักษะชีวิตต่างๆ ความรู้ไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไปเพราะหาที่ไหนก็ได้ แต่เรื่องของความคิด แบบอย่างนั้นสำคัญ ตอนนี้เป็นโอกาสดีที่ควรจะเปลี่ยนบทบาทครู

“ตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์ที่ครูไม่สามารถ “สอนหนังสือ”ได้ ครูก็น่าจะมา “สอนคน” โดยปรับหลักสูตร ตัวชี้วัด มาตรฐานต่างๆ  ซึ่งปัจจุบันตัวชี้วัดต่างๆ มุ่งไปที่ต้องการให้เด็กมีสมรรถนะ มีทักษะความสามารถ หลักสูตรก็เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ สมรรถนะคือความสามารถในการทำงานออกมาเป็นผลสำเร็จ และตอนนื้ทักษะความสามารถที่เป็น soft skill มีความสำคัญมากกว่า hard skill เพราะ hard skill เป็นเรื่องของวิชาการซึ่งหาได้ไม่ยาก  แต่ soft skill เป็นทักษะในการคิด ความยับยั้งชั่งใจ อารมณ์-สังคม ซึ่งครูจะต้องปรับมาเน้นพัฒนาเด็กในเรื่องเหล่านี้ด้วย

การผลิตครูรุ่นใหม่ต้องไม่ใช่ผลิตครูที่ไปสอนหนังสือ แต่ต้องเป็นครูที่ไปสร้างคน ครูต้องเข้าใจในบริบทต่างๆ สภาพการณ์ต่างๆ ของสังคม เข้าใจในบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป  มหาวิทยาลัยราชภัฏเราเน้นเรื่องการพัฒนาท้องถิ่นด้วย และเรามีลูกศิษย์ที่อยู่ในโครงการพัฒนาท้องถิ่นจำนวนมาก จึงคาดหวังว่าครูรุ่นใหม่นี้จะเป็นครูน้ำดี เป็นทั้งครูที่เก่งและดี จะช่วยแก้ปัญหาให้กับการศึกษา โดยเฉพาะแก้ปัญหาให้ท้องถิ่นในเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ซึ่งในสถานการณ์โควิดจะเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ชัด

“ส่วนครูรุ่นเก่าเราก็ต้องเข้าใจท่าน เพราะบางท่านอีกสามเดือนอีกปีหนึ่งจะเกษียณ ต้องพัฒนาในสิ่งที่ท่านจะพัฒนาได้ อย่าไปตั้งมาตรฐานเดียวกันกับครูรุ่นใหม่ เหมือนเวลาเราสอนเด็ก สอนเสร็จ เราประเมินออกมาเด็กมีความแตกต่างกัน เด็กบางคนเก่งมาก บางคนไม่ผ่าน การ treat เด็กก็ต้องแตกต่างกัน เราก็ดูว่าคนเก่งจะส่งเสริมอย่างไร คนไม่เก่งจะพัฒนาอย่างไร  เราไม่สามารถสอนเด็กทุกคนให้เก่งเหมือนกันหมด ดังนั้นคนที่จะมาดูแลเรื่องการศึกษาต้องเข้าใจตรงนี้ ไม่ใช่ทำเหมือนกันหมด”

การนำความรู้เรื่องทักษะสมอง EF เข้าสู่มหาวิทยาลัยราชภัฏ

ในการปรับหลักสูตรการเรียนครูจาก 5 ปีเป็นหลักสูตรครู 4 ปี อาจารย์รัฐกรณ์ในฐานะดำรงตำแหน่งประธานสภาคณบดีฯ ได้เชิญชวนมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งมาทำร่วมทำการปรับหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา  

“เนื่องจากหลักสูตร 4 ปีเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ มองว่าถ้าจะทำหลักสูตรให้สำเร็จ หนึ่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งต้องมาร่วมมือกัน  สอง เราต้องร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ให้มากที่สุด แล้ววันหนึ่งไปประชุมที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในที่ประชุมได้พูดถึง EF จึงอยากรู้ว่าเป็นอย่างไร เลยให้ดร.มิตภาณีซึ่งเป็นเลขานุการของสภาคณบดีฯ ให้นัดผู้เกี่ยวข้องมาเล่าให้ฟัง ฟังแล้วเข้าใจว่าเป็นเรื่องของการพัฒนาสมอง และชอบประเด็นหนึ่งที่ว่า EFจะทำให้มีชีวิตที่ “สุขเป็น”  คือตอนนี้เรามีเงิน มีหน้าที่การงาน แต่บางทีก็ไม่มีความสุข เพราะฉะนั้นการมีชีวิตที่มีความสุขให้เป็น ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา  

“ผมเห็นว่าเรื่องสมองไม่ใช่เรื่องทางการแพทย์เท่านั้น เวลานี้ทุกศาสตร์เชื่อมโยงกัน ไม่มีศาสตร์ใดแยกโดดเดี่ยวได้ โลกปัจจุบันเป็นโลกของสหวิทยาการ สมองนั้นเกี่ยวกับจิตใจ ควบคุมความคิด การกระทำของเรา เกี่ยวข้องกับพฤติกรรม มันก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกๆ คน ครูจำเป็นต้องรู้ ต้องเข้าใจ

 “และเห็นว่าเรื่องการพัฒนาสมอง EF สอดคล้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย 3-6 ปี ดังนั้นจึงคิดนำมาบรรจุเป็นวิชาในหลักสูตรครู 4 ปีของเราเสียเลย และเป็นวิชาบังคับในสาขาการศึกษาปฐมวัย เลยได้พบทีมงานสถาบัน RLG ที่กำลังขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่ โดยเฉพาะได้มาทำคำอธิบายรายวิชาด้วยกัน

“การเปลี่ยนหลักสูตร 5 ปีมาเป็น 4 ปี ไม่ได้ราบรื่น มีคนคัดค้านไม่น้อย แต่ผมมองว่าจะเรียนกี่ปีไม่สำคัญ แต่สำคัญที่ระบบและกลไกในการพัฒนาคน ในการจัดการศึกษา  เมื่อเราเปลี่ยนหลักสูตร เราต้องเปลี่ยนระบบในการจัดการเรียนการสอน และต้องเอาความรู้ใหม่ๆ เข้ามา ที่สำคัญ เราควรมีทีมงานที่มีความรู้จริงเข้ามาช่วย ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) ที่จะร่วมมือกันพัฒนาอาจารย์ครุศาสตร์ในสาขาการศึกษาปฐมวัย

“แต่เป้าหมายที่แท้จริงของผม คือผมมองว่าการพัฒนาอาจารย์มหาวิทยาราชภัฏจะส่งผลไปยังนักศึกษาครู และนักศึกษาครูจะลงไปปฏิบัติที่โรงเรียนในท้องถิ่น รวมทั้งอาจารย์ด้วยที่จะช่วยขยายการพัฒนาไปสู่โรงเรียน ก็จะเกิดผลกับเด็กได้อย่างทั่วถึง

“ปัญหาของประเทศไทยคือ หนึ่ง ความเข้าใจเรื่องการศึกษาของผู้บริหาร  สอง ความต่อเนื่อง ในเรื่องความเข้าใจนั้นต้องเข้าใจว่าการพัฒนาคนต้องใช้เวลา ไม่ใช่ว่าทำแล้วเห็นผลแล้วก็จบ ต้องมองเป็นเจนเนอเรชั่นเลย  ถ้าเราทำตอนนี้มันต้องมองไปอีก 10 ปีถึงจะเห็นผล และเราต้องอดทนที่จะทำให้ต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำแป๊บๆ ก็ปล่อย แล้วเปลี่ยน ไม่ทันเห็นว่าสิ่งที่เราทำนั้นได้ผลอย่างไร

“ก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้ต่อเนื่องแล้วกระจายลงไป ซึ่งที่ทำ MOU กันเราคาดหวังว่าอาจารย์ที่สอนสาขาการศึกษาปฐมวัยและเป็นอาจารย์ครุศาสตร์มีความรู้ความเข้าใจ แล้วกระจายความรู้ไปยังนักศึกษาที่ต้องออกไปฝึกสอนหรือไปเป็นครูในวันข้างหน้า การพัฒนาครูก็จะกระจายไปได้ นี่คือสิ่งที่คาดหวัง

ความรู้ EF ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรให้มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้าง

จากการขับเคลื่อนองค์ความรู้เรื่อง EF สู่อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏใน 3 ปีที่ผ่านมา อาจารย์รัฐกรณ์บอกว่าเห็นการเปลี่ยนแปลง  “อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏมีการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอน  เคยถามอาจารย์หลายๆ คนว่าปัญหาของการเรียนการสอนคืออะไร คือเด็กไม่อยากเรียน ถ้าไปถามนักศึกษาว่าความสุขของนักศึกษาคืออะไร นักศึกษาจะตอบว่าคือครูไม่สอน  แต่พออาจารย์เข้าใจเรื่อง EF ก็เปลี่ยนวิธีการ ทำให้การเรียนการสอนมีความสุข สนุก ได้ทำกิจกรรม  เมื่อก่อนอาจารย์สอนโดยบรรยายอยู่หน้าห้อง เด็กนั่งฟังก็เบื่อ

“ในส่วนของนักศึกษา ทำให้เขาเข้าใจชีวิต เข้าใจว่าการที่มาเรียนครูแล้วจะไปเป็นครูที่ดีได้อย่างไร ไปสอนให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุขได้อย่างไร  ตอนนี้นักศึกษาครุศาสตร์เขามีไอเดีย มีความคิดดีๆ เยอะ เห็นจากเวลาไปเปิดงานต่างๆ ของนักศึกษา น่าชื่นชมมาก เช่นตอนนี้มีการทำรายการ live สด ตัวแทนนักศึกษาเอาปัญหาต่างๆ ที่เพื่อนสะท้อนมาหาคำตอบ เช่น เรียนออนไลน์มีปัญหาอะไรบ้าง นักศึกษาทำกันเอง บางปัญหาก็เชิญผมไปตอบ จัดเป็นรายการเหมือนรายการทีวี มีคนมาติดตามเยอะ

“เดิมมหาวิทยาลัยต้องจัดกิจกรรมต่างๆ ให้นักศึกษา แต่ตอนนี้นักศึกษาจัดเอง ด้วยความคิด ไอเดียของตัวเอง ร่วมมือกันแก้ปัญหา อะไรที่แก้ไม่ได้ก็จะมาถามเรา นักศึกษาสามารถโทร.หาผมได้ตลอดเวลา เช่นมีปัญหากับอาจารย์บางคน ไม่สามารถแก้ปํญหาได้ก็มาหาผม ก็จะไปช่วยแก้ปัญหาให้ ไปคุยกับอาจารย์ให้ คอยติดตามว่าตอนนี้ปัญหาเป็นอย่างไร

จะทำให้ EF ยั่งยืนอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏได้อย่างไร

อาจารย์รัฐกรณ์ตอบว่า “มีปัญหาสองเรื่องใหญ่ๆ สำหรับหน่วยงานต่างๆ หนึ่ง ผู้บริหารเปลี่ยนทุกอย่างเปลี่ยน  สอง เรื่องงบประมาณ ถ้าไม่มีงบประมาณก็ไม่ได้ทำต่อเนื่อง นี่เป็นปัญหาใหญ่

“เป็นโจทย์ที่ยาก ถ้าจะทำให้ยั่งยืน ต้องทำให้เกิดความเชื่อจริงๆ ว่าเป็นเรื่องที่เกิดผลจริง แต่ต้องใจเย็น

“ยกตัวอย่างปี 63 เราเจอสถานการณ์โควิด เดือนมีนา-เมษา lockdown ต้องสอนออนไลน์ เราก็พัฒนาอาจารย์ ลงทุนอบรมอาจารย์ถึงวิธีการสอนออนไลน์ การสร้างคอร์สต่างๆ เตรียมความพร้อมเลยว่าเทอม 1/63 ต้องสอนออนไลน์ แล้วพัฒนามาเรื่อยๆ มาจนถึงเดือนกรกฎาคมสถานการณ์ดีขึ้น มหาวิทยาลัยก็บอกว่าให้เข้ามาเรียนได้ แต่คณะครุศาสตร์ไม่ให้เข้ามา บอกว่าต้องสอนออนไลน์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะผมต้องการทดสอบระบบที่พัฒนาไปแล้วว่าใช้ได้จริงไหม เผื่อว่าโควิดมาอีกรอบหนึ่งเราจะได้มีประสบการณ์ จะได้ไม่ต้องมานับหนึ่งใหม่ รวมทั้งต้องการทดสอบว่าสิ่งที่พูดสอนกันว่า ครูบาอาจารย์ นักศึกษาต้องมีทักษะในศตวรรตที่ 21 คือทักษะในการใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นจริงไหม

“พอปี 64 โควิดกลับมา คณะอื่นวุ่นวาย แต่คณะผมสบายเพราะทั้งอาจารย์และนักศึกษามีประสบการณ์แล้ว เราต้องอดทนให้ผ่านไปถึงจุดๆ หนึ่ง เหมือนเราปีนต้นไม้ ถ้าเราปีนยังไม่ถึงยอด เราจะเหนื่อยจะท้อ แต่ถ้าเราปีนแล้วอดทนฟันฝ่าไปให้ถึงยอด แล้วพอถึงยอด เราจะรู้ทันทีว่าความยากหมดไปแล้ว

“การพัฒนาคนนั้นต้องใช้เวลา ตอนนี้เรากำลังมองว่านักศึกษาสาขาการศึกษาปฐมวัยที่เราทุ่มเทพัฒนาและจะจบปีหน้าไปเป็นครูนั้น เป็นครูหลักสูตร 4 ปีรุ่นแรก ผลที่ได้จะสำเร็จไหม แต่ถ้าเราทำแล้วก็เลิก ก็จะไม่เห็นผลและประเมินอะไรไม่ได้”

จะขยายความรู้ EF ไปสู่อาจารย์ครุศาสตร์สาขาอื่นๆ ได้อย่างไร

“ถ้าถามว่าทำได้ไหม ถ้าตั้งใจทำก็ทำได้ แต่ไม่ง่าย ในการอบรมอาจารย์ครุศาสตร์เฟสสุดท้าย มีอาจารย์ที่ไม่ใช่สายปฐมวัย อยู่ในสายวัดผลและสายอื่นๆ เขาก็ชื่นชมกันมาก บอกว่าไม่เคยรู้เลยนะว่า EFช่วยได้ทุกเรื่อง เอาไปใช้ในการเรียนการสอน เอาไปช่วยผู้เรียนได้  รองคณบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จบทางวิจัยวัดผล ก็บอกว่าดีมาก ชื่นชม  

“กลุ่มอาจารย์ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง ต้องเอาตัวอย่างที่ดีมาให้เห็น บอกว่าเป็นประโยชน์อย่างไร แล้วค่อยๆ ขยายไป ต้องยอมเหนื่อย ต้องใช้เวลา ต้องเลือกเอาคนที่สนใจจริงๆ ก่อน พอกลุ่มนี้เข้ามาแล้วเอาไปใช้ให้คนอื่นได้เห็นตัวอย่างว่ามีประโยชน์ ก็จะเกิดความสนใจตามมาเรื่อยๆ คิดว่าหนทางนี้ละจะทำให้ขยายกลุ่มเป้าหมายออกไปได้อีก

“อีกทางหนึ่ง ทุกมหาวิทยาลัยมีกลุ่มวิชาหนึ่งเรียกว่า General Ed หรือการศึกษาทั่วไป ถ้าเอาเรื่องสมองกับการเรียนรู้ไปบรรจุไว้ในหมวดวิชาการศึกษาทั่วไปก็จะครอบคลุมทั้งหมด เพราะทุกคนทุกคณะต้องเรียนวิชานี้ เพราะฉะนั้น EFก็จะเข้าถึงนักศึกษาทุกคน โดยต้องเกิดมุมมองว่า หนึ่ง ความรู้ EF กับเด็กปฐมวัยเป็นเรื่องจำเป็นจริงๆ อาจารย์และนักศึกษาสาชาการศึกษาปฐมวัยจำเป็นต้องรู้  สอง ความรู้ EF เป็นความรู้ที่สำคัญต่อการเรียนรู้ทุกสาขาวิชา เพราะเป็นพื้นฐานในการสร้างคน วิชาการศึกษาทั่วไปเป้าหมายคือการสร้างคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ซึ่ง EF เป็นส่วนหนึ่ง ถ้าสามารถเอา EF ไปบรรจุในวิชานี้ได้ก็จะขยายความรู้ EF ไปได้อย่างกว้างขวาง เพราะนักศึกษาทุกคนต้องเรียน ไม่เฉพาะนักศึกษาครูเท่านั้น

“แล้วหลักสูตรฐานสมรรถนะเป็นการเรียนเชิงสหวิทยาการ  ดังนั้นในสาขาครูก็อาจจะสอดแทรกเนื้อหา EF เข้าไปในหลายๆ วิชา โดยไม่ต้องแยกออกมาเป็นวิชาหนึ่งก็ได้  เพราะถ้าแยกออกมา ในการทำหลักสูตรอาจมีอาจารย์บอกว่าไม่ได้ เคยเรียนมาแบบนี้ ต้องสอนแบบนี้ แต่ถ้าบอกว่าเรื่องนี้จำเป็น เอาไปใส่ในวิชาที่สอนได้นะ วิธีนี้ยืดหยุ่นกว่า แต่ละวิชาอาจารย์ก็ได้ใช้ นักศึกษาก็ได้เรียน สุดท้ายนักศึกษาจะได้เรียนจากหลายๆ วิชา”

มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นหมุดทางวิชาการในการขับเคลื่อน EF ให้ยั่งยืนต่อไปหรือไม่

อาจารย์รัฐกรณ์เห็นด้วยว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏควรเป็นหมุดทางวิชาการของประเทศในเรื่องการพัฒนา EF  “เพราะเรามีพลังของมหาวิทยาลัย 38 แห่ง เรามีความเป็นท้องถิ่น เรากระจายครอบคลุมอยู่ทั่วประเทศ เรามีความพร้อมด้วยประสบการณ์ที่ยาวนาน และมีความเป็น unity  ตอนนี้มีท่านองคมนตรีมาดูแลติดตาม เพราะมีรับสั่งมาให้มหาวิทยาลัยราชภัฏทำ 2 เรื่อง คือ เรื่องของการพัฒนาท้องถิ่นให้ยั่งยืน กับการพัฒนาครูให้มีคุณภาพ แล้วท่านองคมนตรีก็มีคำแนะนำ ติดตามเรื่องต่างๆ  เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยราชภัฏมีศักยภาพที่จะทำได้

“แต่มีปัญหาอยู่ 2 เรื่อง ผู้บริหารกับงบประมาณ ต้องแก้ตรงนี้ก่อน คนที่จะแก้ปัญหานี้ก็คือคนที่เหนือจากตรงนี้ ซึ่งคงจะเป็นเรื่องของนโยบายที่กำหนดว่าควรจะมีเรื่อง EF  ต้องเข้าใจว่ามหาวิทยาลัยนั้นสั่งยาก รัฐมนตรีไปสั่งมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้  แต่ถ้าให้เงินมาถึงจะสั่งได้  ถ้าไปขับเคลื่อนเชิงนโยบายแล้วมีงบประมาณมาก็ได้แน่ๆ เพราะฉะนั้นต้องคุยในระดับนโยบาย และต้องมีงบประมาณมาให้ในการเริ่มต้น เหมือนกับตอนนี้มหาวิทยาลัยทำเรื่องพัฒนาตำบล พอจัดงบมาให้ตูมก็ลงทำงานกันเต็ม

“การขับเคลื่อนเรื่อง EF นั้นต้องใช้เวลา อยากให้ทำต่อเนื่อง และคิดว่าถ้าในช่วงที่มหาวิทยาลัยราชภัฏไม่ได้ขับเคลื่อน ก็อยากให้สถาบันRLG มีกิจกรรมอะไรต่างๆ และดึงอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเข้าไปร่วม แล้ววันหนึ่งเขาอาจจะขับเคลื่อนต่อไปได้ แต่ถ้าเราปล่อยตอนนี้ก็กังวลว่าที่ทำมาจะหายไปหมด

“ดูได้จากทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามาในแวดวงการศึกษา เมื่อผ่านเข้ามาแล้วก็จะหายไป เช่น STEM, Coding เข้ามาแล้วก็หายไป เพราะไม่ได้เกิดจากความคิดความเข้าใจของผู้ใช้ แต่ถ้าออกมาจากตัวเราเอง เห็นความจำเป็น ความสำคัญต่างๆ ว่ามันเกิดประโยชน์จริงๆ จะยั่งยืน

“Mindset สำคัญมาก เราต้องเชื่อ ตัวเองก็เชื่อในหลายๆ เรื่องว่าทุกอย่างมันเปลี่ยนได้ ความท้าทายคือจะทำอย่างไรให้สำเร็จ เป็นเรื่องที่หนักใจ เพราะสุดท้ายเราจะมาติดที่งบประมาณ เป็นปัญหาของส่วนราชการจริงๆ ที่ว่าพอเปลี่ยนคน ทุกอย่างก็เปลี่ยน ตอนที่ตัวเองเป็นประธานสภาฯ ก็พยายามให้มีกฎระเบียบที่ชัดเจน มีการประชุมชี้แจงการขับเคลื่อน แต่ผู้บริหารแต่ละที่เปลี่ยนบ่อยมาก และไม่ได้เปลี่ยนพร้อมกัน ถ้าเราไม่มีระบบที่ดี คนเข้ามาใหม่จะไม่รู้เรื่อง  ตอนนั้นจึงได้ทำ MOU กับหลายๆ หน่วยงาน กับสถาบันRLG กับกกต. กับสสวท. และหลายๆ ที่ ในการประชุมทุกครั้งก็จะเอาเรื่องการขับเคลื่อน EF เข้ามา เพราะฉะนั้นใครเข้ามาประชุมจะรู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่และดำเนินการต่อได้

“ทำอย่างไรเราจะรักษาเครือข่ายที่มีอยู่ให้ต่อเนื่อง กับคนที่เข้ามารู้จัก EF แล้ว คนที่เราพัฒนาให้ความรู้เขาไปแล้ว จะขับเคลื่อนกันต่อไปอย่างไร ตัวเองยินดีสนับสนุน ตอนนี้ผมเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ดูแลงานวิชาการ เรื่องงานวิจัย คิดว่าอยากให้มีงานวิจัยเรื่อง EF พยายามสนับสนุนเรื่อง EF เต็มที่เพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะสุดท้ายถ้าเราไปไล่ดูปัญหาของประเทศก็จะพบว่าปัญหาอยู่ที่คน และคนไม่ใช่ไม่มีความรู้ แต่คนขาดหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ซี่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่เราต้องพัฒนาคนให้รู้จักคิด รู้จักยับยั้งชั่งใจ อะไรถูกอะไรผิด ซึ่งเป็นบทบาทของคนที่รับผิดชอบทางด้านการศึกษาที่จะต้องช่วยกัน

“ต้องขอบคุณสถาบันRLG และส.ส.ส.ที่มาช่วยสนับสนุนทั้งทีมงาน งบประมาณ วิทยากร ตัดสินใจไม่ผิดที่ได้ทำเรื่องนี้ ผลออกมาแบบนี้ได้ก็เพราะความร่วมมือของทุกฝ่าย โดยเฉพาะสถาบันRLG  ต้องให้เครดิตอย่างมาก ได้เห็นข้อแตกต่างอย่างมากในการทำ MOU กันซึ่งส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานราชการ พอทำเสร็จแล้วก็หาย แต่สถาบันRLG ทำทุกข้อทุกประเด็นที่กำหนดไว้ใน MOU นี่คือทำให้คิดว่าตัดสินใจไม่ผิด  ถ้าไม่ได้รับเรื่อง EF เข้ามาก็จะเสียโอกาสในการสร้างครูพันธุ์ใหม่ เพราะปีหน้าครูในหลักสูตร 4 ปีซึ่งเป็นครู EF ก็จะจบออกมาเป็นครูแล้ว”

โลกเปลี่ยน อะไรๆ ก็เปลี่ยน

ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เล่าประสบการณ์ส่วนตัวในการเปลี่ยนมุมมองเพราะโลกเปลี่ยนไป

“เมื่อก่อนเชื่อว่าลูกเราต้องให้เรียนหนังสือ แต่ตอนนี้ไม่เรียนก็ไม่เรียน มีลูกสองคน ลูกชายคนโตเรียนเก่ง เรียนโรงเรียนประจำจังหวัด ไปต่อที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ตอนนี้เรียนหมอที่ศิริราช  แต่คนรองไม่เอาอะไร ไปสอบเตรียมอุดมได้ก็ไม่อยากเรียน อยากไปเรียนอัสสัมชัญที่บางรัก ก็ไม่ค่อยสนใจเรียนอีก เรียนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ปีหนึ่งเบื่อ เปลี่ยนไปเรียนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ก็ไม่ค่อยเรียน ขอเงินเก่ง  แรกๆ ผมรู้สึกเป็นทุกข์ พอมาวันหนึ่งเขาโอนเงินมาให้ผม ไม่มากหรอกแต่หาเองได้เลยโอนมาให้พ่อ ถามว่าไปทำอะไรมา เขาบอกว่างๆ ไม่รู้จะทำอะไรเลยไปเทรดหุ้น เรียนรู้ ได้กำไร โอนมาสองรอบ เลยคิดว่าเดี๋ยวนี้โลกเปลี่ยน การจะไปบอกลูกว่าต้องเรียนหนังสือ ต้องจบปริญญา เดี๋ยวนี้ไม่จำเป็นแล้ว

“คนรุ่นเรากับคนรุ่นลูกวิธีคิดต่าง ความฝันก็ต่าง สมัยเราคิดว่าต้องเรียนหนังสือสูงๆ จบแล้วทำงานดีๆ ต้องเก็บเงินซื้อบ้าน ซื้อรถ แต่เด็กเดี๋ยวนี้ไม่สนใจ ใช้ชีวิตให้สบาย อยากทำอะไรก็ทำ ไม่เห็นต้องเก็บเงินไปซื้อบ้าน ซื้อรถ  สมัยก่อนเราบอกปริญญาสำคัญ เด็กเดี๋ยวนี้เขาคิดว่าไม่จำเป็นต้องจบปริญญา แต่สามารถหาเงินได้ก็โอเคแล้ว นี่คือโลกที่เปลี่ยน

“พอโลกเปลี่ยน ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ คำว่าไม่เข้าใจคือ “ไม่อิน”  เรื่อง เจน X เจน Y มาถึง Z และอัลฟ่า เราไปอ่านก็รู้ แต่ไม่เข้าใจ ไม่อิน อย่างเช่นเลขาของผมที่ยังเด็ก ไปประชุมด้วยกันที่กรุงเทพฯ เสร็จแล้วเราก็จะกลับ แต่เขาบอกต้องซื้อชานมไข่มุกร้านนี้ๆ เราก็บอกว่าชาไข่มุกที่ไหนก็เหมือนกัน ไม่ยอมต้องร้านนี้  นี่คือเรารู้ แต่เราไม่อิน แล้วเรารับไม่ได้ คิดว่าจะบ้ารึเปล่า

“ผู้ใหญ่ระดับศาสตราจารย์บางคนมีความเชื่อว่ารู้ดีกว่าเด็ก แต่มันไม่ใช่ เด็กเดี๋ยวนี้หาข้อมูลต่างๆ เก่ง ผู้ใหญ่รับรู้แต่ภาพเดิมๆ คิดว่าเป็นอย่างนั้น สรุปว่าต้องเป็นอย่างนี้ ข้อมูลมันเปลี่ยนไปแล้ว อย่างเจน Z จะซื้อของ เขาจะพิถีพิถันหาข้อมูลต่างๆ ในโซเชียลเพื่อหาตัวเลือกที่ดี ตรงความต้องการที่สุด”

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ