096-356-9461 support@rlg-ef.com

ผศ.ดร.ศิวภรณ์ สองแสน
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

อาจารย์ศิวภรณ์เคยคิดว่าเรื่องทักษะสมอง EF เป็นความยุ่งยาก ต้องปรับกระบวนการเรียนการสอน แนวคิด วิธีคิดของตัวเองอย่างมาก  “เมื่อก่อนคิดว่า EF เป็นนวัตกรรม แต่พอมาเรียนรู้จริงๆ แล้วพบว่า EF คือกระบวนการทำงานชองสมอง รู้สึกกังวลมาก ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร แต่ก็มีความท้าทาย

“หลังจากอบรมที่มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางและที่มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์แล้ว ได้มาทดลองใช้กับตัวเองก่อน  ร้อนวิชา อบรมมาใหม่ๆ ต้องเอามาใช้ แล้วก็ได้เห็นว่าใช้ได้จริงในทุกๆ วัน เพราะต้องพบเจอสถานการณ์ต่างๆ  ซึ่งทำให้เรามีอารมณ์  EF ช่วยให้เราจับอารมณ์ของตัวเองได้ว่าขณะนั้นมีอารมณ์อะไร อย่างไร แล้วจะมีวิธีการจัดการอย่างไร เรานิ่งมากขึ้น 

“จากนั้นจึงมีอุดมการณ์ว่า จะต้องพัฒนานักศึกษาให้มี EF ก่อน ให้ได้นำไปใช้เป็นทักษะชีวิตในอนาคต ให้นำไปใช้ในชีวิตจริง มองความสำเร็จปลายทาง และระหว่างทางจะต้องเจออะไร ก็จะเชื่อมโยงให้นักศึกษาเห็นว่าถ้าเขาขาด EF ด้านใดจะเกิดปัญหาอะไรขึ้น ให้มองไปทีละด้าน ให้นักศึกษามองเห็นว่าถ้าขาด EF ทั้ง 9 ด้าน อนาคตที่วางไว้ก็จะสิ้นสุดลงในวินาทีนี้ เพราะเด็กรุ่นใหม่ไม่ชอบให้เราสอน เลยต้องใช้วิธีให้มองอนาคตของตัวเองว่าจุดหมายคืออะไร นักศึกษาจะได้นำทักษะ EF ไปใช้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต

 “ต้องให้นักศึกษาระเบิดจากข้างในตัวเองก่อน เพราะมนุษย์ต้องเข้าใจและเรียนรู้ด้วยตัวเองก่อนที่จะเอาไปเผยแพร่ ไปสอนคนอื่น ถึงจะรู้ว่าจะถ่ายทอดให้คนอื่นได้อย่างไร  เราเน้นกับนักศึกษาว่า EF สำคัญต่อการใช้ชีวิต และก่อนจะไปเป็นครูปฐมวัยนักศึกษาต้องมี EF ก่อน ต้องทำความเข้าใจว่า EFคืออะไร เอามาใช้อย่างไร

“ในกระบวนการจัดการเรียนการสอนของเรา เมื่อทำกิจกรรมเสร็จแล้ว นักศึกษาต้องมีการสะท้อน ต้องวิเคราะห์ว่ากิจกรรมเหล่านี้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร แล้วจะเอาไปส่งเสริมพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เกิด EF ได้อย่างไร

 “EF ยังสำคัญต่อการแสดงบุคลิกภาพที่เป็นตัวเราออกสู่สังคมที่เราอยู่ร่วมกับคนอื่น  ถ้าไม่มี EF เราจะไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของตัวเอง โดยเฉพาะนักศึกษาครูที่ต่อไปจะต้องไปเป็นครู เป็นต้นแบบให้เด็ก เป็นผู้ดูแลพัฒนาเด็ก เพราะฉะนั้น ทักษะ EF จึงจำเป็นต่อวิชาชีพครู และเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญมาก   

“การเรียนรู้ EF จึงไม่ใช่วิชาสมองอย่างเดียว แต่เป็นวิชาชีวิตที่ผู้เรียนจะเอาใช้เป็นทักษะชีวิตในอนาคตด้วย เพื่อนำพาชีวิตไปให้ถึงปลายทางที่ประสบความสำเร็จ

การเปลี่ยนแปลง/ผลสัมฤทธิ์ หลังจากเรียนรู้ EF และนำความรู้ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน

เปลี่ยนแปลงตัวเอง  ใช้ความรู้ EF เช่นการคิดไตร่ตรอง ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง นิ่งมากขึ้น 

นักศึกษาเปลี่ยน  เมื่อนักศึกษาได้เรียนรู้เห็นความสำคัญของ EF ก็ได้เปลี่ยนแปลงตัวเอง จากที่วุ่นวาย เอาแต่ใจ วู่วาม พูดจาไม่เหมาะสม ก็นิ่งมากขึ้น รู้กาลเทศะมากขึ้น มีนักศึกษาคนหนึ่งเป็นคนเก่ง มั่นใจในตัวเองว่าโดดเด่น เรียกร้องความสนใจ เอาแต่ใจ ไม่ฟังความเห็นของเพื่อน แต่เมื่อเราให้ความรู้ EF พอมาถึงปลายเทอมนักศึกษาคนนี้ก็เกิดการเปลี่ยนแปลง รับฟังเพื่อนมากขึ้น เอาแต่ใจน้อยลง นิ่งมากขึ้น นี่คือการเปลี่ยนอนาคต ถ้าออกไปทำงาน เจอคน เจอสถานการณ์ แล้วไม่นิ่ง จะอยู่ยากมาก”  

นวัตกรรม

สร้างรูปแบบการสื่อสารเรื่อง EF กับครูในท้องถิ่น  “โดยร่วมกับเครือข่าย EF ที่อำเภอเวียงแก่น  สาธารณสุขเวียงแก่น เป็นรูปแบบการสื่อสารให้ครูเข้าใจ EF ในเชิงบริบท เชิงพื้นที่ ซึ่งที่เรียนมา EF เป็นศัพท์เฉพาะมาก ครูปฐมวัยในต่างจังหวัด ในชนบท ไม่ค่อยเข้าใจ เราก็สร้างภาษาของครูในพื้นที่นั้นๆ คือมีโครงการพัฒนาสื่อเพื่อส่งเสริม EF เราเลยบูรณาการรูปแบบการใช้สื่อเพื่อให้เห็นว่า EF เกิดขึ้นอย่างไรในเด็ก ซึ่งครูที่นั่นก็เข้าใจขึ้นมากว่า EF ไม่ใช่เรื่องของสมองอย่างเดียว แต่เป็นกระบวนการที่เราเอาไปเติมให้กับกิจกรรมพัฒนาเด็ก

งานวิจัยเรื่อง “การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นทักษะกระบวนการเชื่อมร้อยต่อการเรียนรู้อ่านออกเขียนได้ เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนต้น”  “ภายใต้โครงการที่เป็นยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย โดยใช้กระบวนการ EF แล้วทำในรูปแบบงานวิจัย  ซึ่งกลุ่มเป้าหมายเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก นักเรียนไม่มาก ทำวิจัยในประถม 1-3  เลือกประถมหนึ่งเพราะเป็นช่วงรอยเชื่อมต่อ โรงเรียนต่างจังหวัดมักเน้นให้เด็กอ่านออกเขียนได้ เราเลยใช้กิจกรรมในขั้นตอนต่างๆ เชื่อมโยง EF เข้าไป เช่น กระบวนการคิดไตร่ตรอง ความจำใช้งาน ให้เด็กเขียนตัวอักษร เด็กเขียนกลับหัวบ้างผิดบ้าง ก็ให้เขียนมา แล้วก็ให้เด็ก present เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง และเกิดการคิดวิเคราะห์ไตร่ตรองด้วยตัวเอง ก็ประสบความสำเร็จ ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการเขียนลำดับกระบวนการ เนื้อหา และเรื่อง EF

ฝากไว้ให้คิด

“การเรียนรู้ EF ไม่ใช่วิชาสมองอย่างเดียว แต่เป็นวิชาชีวิตที่ผู้เรียนจะเอาใช้เป็นทักษะชีวิตในอนาคตด้วย เพื่อนำพาชีวิตไปให้ถึงปลายทางที่ประสบความสำเร็จ และการส่งเสริมพัฒนา EF ให้เด็ก เป็นการสร้างอนาคตให้เด็ก ต้องปลูกฝัง EF มาตั้งแต่เด็ก การจะมาเสริมสร้างตอนโตนั้นยากมาก เพราะการเปลี่ยนตัวเองจะต้องต่อสู้กับตัวเอง ต่อสู้กับความเคยชินเดิมๆ ดังนั้นถ้าปลูกฝังมาแต่เด็กจะดีกว่า”

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ