096-356-9461 support@rlg-ef.com

ผศ.ดร.หฤทัย อนุสสรราชกิจ
มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี

อาจารย์หฤทัยเป็นหัวหน้าภาควิชาการศึกษาปฐมวัย เป็นตัวแทนภาควิชาไปอบรม EF ครั้งแรก “กลับมาแบบงงๆ  ครั้งต่อมาเอาน้องๆ ในภาควิชามาอบรมด้วย พอกลับมาได้ปรึกษากันว่าใครจะสอนวิชานี้ ทุกคนชี้กลับมาให้หัวหน้าภาคสอน ซึ่งปกติสอนวิชาปรัชญา พยายามทำความเข้าใจโดยมองว่าเป็นความรู้พื้นฐาน และสามารถสร้างความตระหนักให้กับนักศึกษาของเราได้

“ก็ค่อยๆ ปรับตัว ถ้าเราปรับตัวไม่ได้ แล้วนักศึกษาเราจะปรับตัวได้อย่างไร ปกติเรามีแนวคิดของจิตวิทยาพัฒนาการที่จะปูพื้นฐานให้กับนักศึกษาอยู่แล้ว เลยคิดว่าจะใช้เรื่องสมองเป็นพื้นฐานด้วย เพราะการทำงานของสมองสำคัญ ดึงความรู้นี้มาใช้ในมุมมองของความเป็นครู ศึกษาเพื่อให้รู้ว่าสมองทำงานอย่างไร สำคัญอย่างไรในช่วงปฐมวัย และเราจะพัฒนาสมองเด็กด้วยวิธีไหน

“เป็นอาจารย์สอนปฐมวัยมา 20 ปี ไม่เคยสอนเรื่องสมอง ต้องมาสอนวิชาสมองกับการเรียนรู้นักศึกษาปี 1 เทอม 1 ตอนนั้นเป็นวิชาแรกวันแรกของนักศึกษาที่เพิ่งเข้าใหม่ ซึ่งเวลานี้อยู่ปี 3 แล้ว บอกนักศึกษาว่าเรามาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน  ยังดีที่ในเวลานั้นสอน onsite นักศึกษาเล่าว่าเคยเรียนเรื่องสมองในวิชาวิทยาศาสตร์ตอนอยู่ชั้นมัธยม และไม่เหมือนกับที่อาจารย์สอนตอนนี้ จึงบอกนักศึกษาไปว่าต่างกันที่เมื่อรู้แล้วจะเอาไปพัฒนาเด็กอย่างไร อธิบายเรื่องการทำงานของสมองกับทักษะ EF   จนในที่สุดนักศึกษาก็บอกได้ว่า EF เป็นการทำงานที่สมองส่วนหน้า เห็นผลสัมฤทธิ์เล็กๆ ว่านักศึกษาจำได้ เชื่อมโยงได้

“สอนเป็นปีแรกในปี 62 ได้ทำแค่ปูเรื่องสมองไปสู่ EF  ยังไม่ได้ทำกิจกรรม พอดีปี 63 เป็นผู้บริหารคณะ ยุ่งมาก รายวิชาที่สอนก็น้อย เน้นงานบริหาร ปีนั้นไม่ได้สอนเรื่องนี้ ต้องฝากอาจารย์ท่านอื่นเน้นเรื่อง EF ให้ด้วย แล้วพยายามติดตาม  ในการเรียนวิชาความฉลาดทางอารมณ์เทอม 2  นักศึกษาต้องออกไปฝึกสอน 1เดือน อาจารย์ที่สอนให้นักศึกษาออกแบบกิจกรรมเพื่อส่งเสริม EFเด็กปฐมวัย แล้วเอาไปจัดที่โรงเรียนฝึกสอน นักศึกษาได้นำความรู้ไปใช้กับเด็กจริงๆ

“มาเจอนักศึกษาอีกทีตอนปี 64 เทอม 1 ในวิชาหลักสูตรและการสอน จึงได้ย้อนถามว่ายังจำเรื่อง EF ที่สอนเมื่อปี 1 เทอม 1 ได้ไหม  นักศึกษาบอกจำได้ บอกว่าหลักสูตรจะเชื่อมกับ EF อย่างไร  พอปี 4 จะเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ ซึ่งจะบูรณาการ EF เข้าไปในกิจกรรม ทุกวันนี้กำลังรอดูผลงาน

“การสอนออนไลน์ในปี 63 ต้องตั้งหลักใหม่  ถ้าเน้นเนื้อหามากจะน่าเบื่อ พอปี 64 พยายามจัดเต็ม  โดยมี keyword “ครูมีอยู่จริง” ที่ต้องพยายามทำให้นักศึกษารู้สึกให้ได้ จากการที่ได้ฟัง ดร.ปนัดดาพูดเรื่อง “แม่มีอยู่จริง”  จึงคิดว่าทำอย่างไรถึงจะให้นักศึกษารู้สึกว่าครูมีอยู่จริง เพราะนักศึกษาไม่เคยเจออาจารย์ เห็นแต่ทางจอ ได้พยายามทำทุกอย่าง จัดกิจกรรม เรียก ทัก เปิดจอ ร้องเพลง ทำกิจกรรมบริหารสมอง จากนั้นเมื่อให้นักศึกษาประเมิน ได้รับการประเมินว่า าจารย์เตรียมตัวมาทุกวัน  อาจารย์สอนสนุก อยากเรียนด้วย เรียนแล้วมีความสุข  ไม่เครียด เมื่อก่อนนี้เวลาจะสอนต้องรอนักศึกษา แต่เดี๋ยวนี้นักศึกษามาเปิดจอรอ สอนแปดโมง บางคนมารอตั้งแต่เจ็ดโมง  นักศึกษาบอกว่ารอดูว่าอาจารย์จะทำอะไร บอกนักศึกษาว่าเมื่อไปเป็นครูจะต้องเตรียมเพื่อไปสอนเด็กแบบนี้นะ  นักศึกษาบอกว่าอยากเห็นตัวจริง รู้สึกว่าอาจารย์เป็นกันเอง  ก็ถามว่ารู้สึกไหมว่าครูมีอยู่จริง เด็กบอกว่ารู้สึกว่ามีจริง อยู่ใกล้ ไม่รู้สึกว่าไร้ชีวิต ไร้อารมณ์

“EF เป็นเรื่องของการรู้ตัว จากการสอนนักศึกษา และจากเรื่องต่างๆ  พบว่าปัญหาเกือบทุกอย่างมาจากการที่เราไม่รู้ตัว ทำไปโดยไม่รู้ตัว ไม่ยั้งคิด ไม่ไตร่ตรองๆ เช่น กรณีที่ครูตีเด็ก บอกว่าทำลงไปเพราะ “โมโห” พอเป็นคดีความบอกว่า “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” ทุกครั้งที่ทำอะไรลงไปแล้วไม่ถูกต้อง คำนั้นคือไม่รู้ตัวใช่หรือไม่  แต่ถ้าเราเป็นครูแล้วทำอะไรโดยไม่รู้ตัว ชีวิตก็พังได้ แต่ EF จะทำให้นักศึกษารู้ตัว อย่างน้อยรู้จักไตร่ตรองทบทวนดูตัวเอง ฉันเป็นอย่างไร ฉันทำอะไรลงไป  

การเปลี่ยนแปลง/ผลสัมฤทธิ์ หลังจากเรียนรู้ EF และนำความรู้ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน

 เกิดการยืดหยุ่นความคิด ปรับตัว   “ปรับตัวเองก่อนที่ส่งต่อความรู้ให้นักศึกษา โดยใช้ฐานใจทำความเข้าใจ EF แล้วถ่ายทอดออกไป และปรับใช้ EF กับชีวิต กับการออกแบบการเรียนการสอนในรายวิชาชองตัวเอง”

ฝากไว้ให้คิด

“ถ้าพูดคำว่า รู้ตัว มีสติ คนทั่วไปมองว่าเป็นคำทางศาสนา เป็นคำพระสอน ซึ่งบางคนไม่อิน แต่ถ้าอยากได้ความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์  EF คือคำตอบ EFช่วยในเรื่องตระหนักรู้ตนเอง แก้ปัญหาในชีวิตได้หลายอย่าง  ถ้าคุณมีอำนาจอยู่ในมือ ลองหันมามอง EFบ้าง  สังคม บ้านเมืองเราจะพัฒนาได้ก็อยู่ที่คน แล้วคนของเรามี EF เพื่อที่จะพัฒนาบ้านเมืองนี้ ประเทศนี้ต่อไปแล้วหรือยัง”

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ