096-356-9461 support@rlg-ef.com

ผศ.โสภิดา โคตรโนนกอก
มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

ผศ.โสภิดาพูดถึงการเรียนการสอนเรื่องสมองของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยว่า “ไม่แปลกที่คณะครุศาสตร์จะเปิดการเรียนรู้ในรายวิชาสมองกับการเรียนรู้ แม้ว่าเรื่องของสมองเป็นเรื่องทางการแพทย์ แต่ในส่วนของการเรียนรู้ต้องอาศัยวิชาชีพครู เพราะวิชาชีพครูเป็นวิชาสำหรับสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ครูจำเป็นต้องมีความรู้เรื่องสมอง เพราะสมองของคนเราพัฒนาอยู่ตลอดเวลา และถ้าเราสามารถพัฒนาสมองเด็กตั้งแต่เขายังเล็กๆ ก็จะทำให้เด็กเรียนรู้ได้ดี

“ในการเรียนการสอนรายวิชาสมอง ทุกคนอาจจะคิดว่ายากสำหรับนักศึกษาครู แต่ถ้ามาดูกระบวนการเรียนรู้เรื่องนี้ ไม่ไช่แค่ครูเท่านั้นที่จะเรียนรู้เรื่องการทำงานของสมองได้ แม้แต่ผู้ปกครองหรือคนที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กก็สามารถจะเรียนรู้ได้  และการศึกษาปฐมวัยเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นจุดเริ่มต้นให้กับการศึกษาระดับอื่นๆ ที่สูงขึ้นต่อไป

“สิ่งสำคัญคืออาจารย์ผู้สอนนักศึกษาต้องทบทวนทำความเข้าใจเรื่อง EF ให้ชัดเจน จากการเรียนรู้จากนักวิชาการทางการแพทย์ซึ่งได้รับการยอมรับในเรื่องข้อมูลองค์ความรู้ การได้ศึกษาเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญ ผู้รู้จริง ทำให้เราสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาถ่ายทอดหรือปฏิบัติให้เห็นผลได้  ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่องค์ความรู้ที่เป็นนามธรรม

“การสอนรายวิชาสมองในปีแรกนั้นดีที่มีคนช่วยแนะนำ มี coach แนะแนวทาง รวมทั้งเคยเข้ารับการอบรม  เป็นโอกาสให้เราเปิดตามองเห็นว่าเราจะสอนแบบในอดีตไม่ได้ ปีแรกที่สอนยังสอนไม่คล่อง ต้องคอยอ่าน คอยทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ แต่ยังไม่มีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมให้นักศึกษาได้เห็น ยังไม่ได้ลองทำการวิจัย จนกระทั่งตอนหลังเริ่มไปปฏิบัติจริง ลองเอากิจกรรม EF ไปพัฒนาเด็ก ก็เห็นว่ามันทำให้เด็กเกิด EF จริง

“พอปีที่สอง มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน เพิ่มกระบวนการให้มีความซับซ้อน มีความท้าทายมากขึ้น เพราะนักศึกษารุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยี สมองเขาได้รับข่าวสารค่อนข้างมาก ทำอย่างไรให้เขาจดจ่ออยู่กับเรา กับกิจกรรมที่เราให้ทำ และเห็นความสำคัญของการเรียนวิชานี้ว่านอกจากเรียนเพื่อตัวเองแล้วยังเป็นประโยชน์กับใครได้บ้าง

“มาปีที่สามก็เห็นแนวทางมากขึ้น แต่ต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา หาความรู้ที่ไม่ใช่แค่อ่านหนังสือแล้วไปสอน แต่มีการแลกเปลี่ยนกับผู้รู้หรือผู้ร่วมวิชาชีพเดียวกัน ทำให้เกิดไอเดียเกิดความคิดใหม่ๆ  การเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ที่จะกล้าแลกเปลี่ยน ยอมรับกับการเปลี่ยนแปลง และยอมรับคำแนะนำ นำมาปรับใช้กับการสอน”

นอกจากสอนรายวิชาสมองแล้ว อาจารย์โสภิดายังนำความรู้ EF บูรณาการในรายวิชาอื่นๆ ที่สอนอีกด้วย ทำให้นักศึกษาทุกชั้นปีคุ้นกับวิชาสมอง “เอาความรู้เรื่องสมองใส่เข้าไป สร้างกิจกรรมที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทางสมอง ให้เกิดเป็นสมรรถนะ ซึ่งทุกรายวิชาจะต้องฝึกปฏิบัติ

“ก่อนหน้านี้เราสอนนักศึกษาครุศาสตร์หลักสูตร 5  ปี โดยเน้นให้นักศึกษาฝึกปฏิบัติให้มีประสบการณ์ไปก่อน ถ้าทำไม่ได้ ค่อยมาแก้ปัญหากัน สอนให้ปฏิบัติโดยไม่ได้คิดถึงว่ามันสัมพันธ์กับการทำงานของสมองอย่างไร พอมารู้จัก EF สอนเรื่องสมองกับการเรียนรู้ เราเริ่มตระหนักว่าต้องให้นักศึกษาได้เรียนรู้โดยสามารถดึงข้อมูลความรู้มาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลาด้วยตัวนักศึกษาเอง ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ยั่งยืน  นี่คือสิ่งสำคัญที่ทำให้รู้ว่าเราต้องปรับวิธีการเรียนการสอน ดึงประสบการณ์เดิมของผู้เรียนออกมาใช้ในการเรียนรู้ ให้โอกาสนักศึกษาได้แสดงออก เสริมสร้าง Self  จนทำให้นักศึกษาตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งที่เรียน เป็นการเรียนรู้ที่มีความหมายมากขึ้น

“นักศึกษาบอกว่าชอบการเรียนการสอนแบบนี้ ที่สำคัญคือเขาสามารถถอดรหัสองค์ความรู้ออกมาได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องบรรยายอะไรมากมาย  ยิ่งนักศึกษาปฐมวัยที่มีการฝึกปฏิบัติ แค่บวกเรื่องการทำงานของสมองเข้าไป ผู้เรียนก็เข้าใจมากขึ้น ตระหนักในความเป็นมนุษย์ และทำให้เห็นว่าเป้าหมายของเราไม่ได้พัฒนาเฉพาะเด็กอย่างเดียว เราต้องสื่อสารกับพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย นำไปสู่การพัฒนา ชุมชน สังคม เพราะเราเป็นครู ซึ่งสังคมชุมชนยอมรับ เราจึงควรถ่ายทอดความรู้ออกไปสู่ประชาชนให้ได้

สุดท้ายของการเรียนการสอน อาจารย์โสภิดาพูดถึงความคาดหวังที่มีต่อนักศึกษาว่า “เดิมคาดหวังให้นักศึกษาสามารถจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็กให้มีพัฒนาการ 4 ด้าน พอมาศึกษาเรื่องสมองกับการเรียนรู้ ไม่ได้ทำให้ความคาดหวังเปลี่ยนไป แต่เพิ่มเรื่องการพัฒนาสมองเข้าไปด้วย อยากให้นักศึกษาตระหนัก เห็นความสำคัญของการทำงานของสมองของเด็กๆ ไม่ว่าช่วงวัยหรือระดับชั้นเรียนใด อนุบาล ประถม มัธยม อุดมศึกษา อยากให้นักศึกษาเรียนรู้อย่างสนุกสนานและมีความสุข และนักศึกษาไปเป็นครูที่สร้างโอกาสให้กับเด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างมีความสุขด้วย”

การเปลี่ยนแปลง/ผลสัมฤทธิ์ หลังจากเรียนรู้ EF และนำความรู้ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน 

ทำให้เข้าใจเด็กทุกช่วงวัย และเข้าใจนักศึกษามากขึ้น  เข้าใจเด็ก เข้าใจพัฒนาการที่เปลี่ยนไปตามวัยเนื่องจากสมองมีพัฒนาการตามช่วงวัย เข้าใจเรื่องของฮอร์โมน เรื่องของอารมณ์ที่มีผลต่อพฤติกรรมของเด็ก   ทำให้เข้าใจว่าการเรียนรู้เรื่องของสมองไม่ใช่เรียนรู้เรื่องความฉลาดอย่างเดียว แต่รวมไปถึงทักษะต่างๆ เช่น การกำกับควบคุมตนเอง ทักษะชีวิต

ปรับเปลี่ยนการเรียนการสอน โดยใช้ความรู้ EFเป็นฐาน ผู้สอนเริ่มตระหนักว่าต้องให้นักศึกษาได้เรียนรู้โดยสามารถดึงข้อมูลความรู้มาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลาด้วยตัวนักศึกษาเอง ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ยั่งยืน ดังนั้นต้องปรับวิธีการเรียนการสอน ดึงประสบการณ์เดิมของผู้เรียนออกมาใช้ในการเรียนรู้ ให้โอกาสนักศึกษาได้แสดงออกเพื่อเสริมสร้าง Self ทำให้ผู้เรียนตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งที่เรียน เพื่อให้เป็นการเรียนรู้ที่มีความหมายมากขึ้น

นักศึกษาสามารถเกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ตระหนักในสิ่งที่เรียนมากขึ้น  นักศึกษาสามารถถอดองค์ความรู้ออกมาได้ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะเมื่อได้ไปฝึกปฏิบัติ ผู้เรียนได้ตระหนักในเรื่องที่เรียนมากขึ้น ตระหนักในเรื่องการเป็นมนุษย์ และเห็นว่าเป้าหมายของการเรียนไม่ได้พัฒนาเด็กอย่างเดียว ต้องสื่อสารพัฒนาพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย   

ปรับเปลี่ยนความคาดหวัง  คาดหวังให้นักศึกษานักศึกษาเรียนรู้อย่างสนุกสนานและมีความสุข สามารถจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็กโดยใช้ความรู้ EF เป็นฐาน เห็นความสำคัญของการทำงานของสมองของเด็กๆ ทุกระดับชั้น และไปเป็นครูที่สร้างโอกาสให้กับเด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างมีความสุข

ฝากไว้ให้คิด

“ครูไม่ว่าสังกัดใด ทั้งครูจบใหม่และครูรุ่นเก่า สามารถช่วยกันใช้ความรู้ EF พัฒนาเด็กๆ ให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีได้ ครูรุ่นใหม่เท่าทันเทคโนโลยี ส่วนครูรุ่นเก่าซึ่งอาจจะเรียนรู้เทคโนโลยีได้ยาก แต่มีประสบการณ์สูงและมีวิจารณญาณที่ดี คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ได้ชัดเจน เพราะฉะนั้นถ้าครูรุ่นใหม่กับครูรุ่นเก่าร่วมมือกัน ก็จะสามารถขับเคลื่อน EF ไปด้วยกันได้อย่างดี”

 

“ในการสอน ต่อให้มีสื่อการสอนที่ดีมากเท่าไร แต่อาจารย์ผู้สอนไม่ยอมพัฒนาเทคนิควิธีการสอนของตัวเอง สื่อชิ้นนั้นก็ทำอะไรได้ไม่มาก  อาจารย์ผู้สอนต้องมีวิธีการที่หลากหลาย เลือกใช้ให้เป็น และที่สำคัญคือ ไม่ใช้ทันที ต้องทดลองก่อน ซ้อมมากๆ จนเกิดเป็นทักษะ พอเป็นทักษะจะมีความคล่องตัว สอนที่ไหนก็สามารถสอนได้  เทคนิคของผู้สอนสำคัญ สื่อเป็นตัว support เท่านั้น”

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ