096-356-9461 support@rlg-ef.com

การรับรู้ถึง Self หรือการรู้จักตัวตนของตัวเองดี จะทำให้คนเรามีความมั่นใจและดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข  สำหรับผู้มีหน้าที่ดูแลพัฒนาเด็ก เช่น พ่อแม่ ครู การเรียนรู้เข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ของพัฒนาการ ทักษะสมอง EF และเรื่อง Self มีความสำคัญอย่างยิ่ง จะทำให้สามารถดูแลพัฒนาเด็กคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมาอย่างสมบูรณ์ครบถ้วน ทั้งการเจริญเติบโตทางกาย พัฒนาการสมวัย รวมทั้งมีความสามารถอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข ทำงานร่วมกับคนอื่นได้

รองศาสตราจารย์ ดร. นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์ กุมารแพทย์โรคระบบประสาท ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายถึงพัฒนาการของ Self ที่เกิดขึ้นในช่วงปฐมวัยว่า

          กระบวนการพัฒนา Self เปลี่ยนแปลงไปตามวันเวลา การรับรู้ Self ในแต่ละช่วงวัยมีความแตกต่างกัน เด็กวัย 2 เดือนขึ้นไปสามารถมองเห็นได้ในระยะหนึ่งแล้ว ถ้าเด็กส่องกระจกก็สามารถมองเห็นหน้าตัวเอง แต่ยังไม่รู้ว่าคนในกระจกคือใคร จนกระทั่งอายุได้ 1 ขวบครึ่งจึงรับรู้ว่าเงาในกระจกคือตัวเอง เด็กเริ่มรู้จักตัวเองว่าหน้าตาเป็นแบบนี้ 

          แต่เด็กทารกก็เริ่มมีการรับรู้ถึงตัวตนของตัวเองแล้วในลักษณะของการเอานิ้วมือเข้าปากตอนอายุ 2-3 เดือน หรือเอานิ้วเท้าเข้าปากตอน 5-6 เดือน เด็กรับรู้ว่านิ้วเป็นส่วนหนึ่งของตัวเขา ในขณะเดียวกันการอุ้มของแม่เริ่มไม่ใช่สิ่งที่มาจากตัวเขา ไม่ได้มาทุกครั้งที่เด็กต้องการ เป็นสิ่งที่มาจากภายนอก แต่นิ้วมือเด็กสามารถยกมาเข้าปากได้ทุกครั้งที่ต้องการ นี่คือรับรู้ Self ในขั้นแรกๆ คือเด็กรู้ว่าสิ่งที่เขาสามารถทำได้เสมอและมีการกระตุ้นได้ทุกครั้งที่ต้องการคือตัวเขาเอง

เมื่อกระบวนนี้แข็งแรงมากขึ้นจะนำไปสู่การยอมรับความต้องการของตัวเอง และแสดงความต้องการของตัวเองออกมาได้ เป็นสภาวะที่เราเรียกว่า “ดื้อ”เมื่ออายุประมาณ 2 ขวบ (Terrible2) เพียงแต่ความต้องการของเด็กอาจไปขัดกับความต้องการของพ่อแม่ ซึ่งบางเรื่องจำเป็นต้องถูกห้ามและบางเรื่องก็เป็นความท้าทายที่เด็กสามารถลองได้  การที่เด็กดื้อไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอยู่ที่วิธีการจัดการความดื้อของเด็กอย่างเหมาะสม เด็กไม่ดื้อเลยต่างหากที่ไม่สามารถแสดงได้ว่าเขาต้องการอะไร

          จาก 2 เดือนมาถึงวัย 2 ปี การแสดงออกถึงตัวตนของเด็กจะมีความชัดเจนมากขึ้น เด็กสามารถแสดงความต้องการและสามารถแสดงอารมณ์ที่ไม่พอใจ อารมณ์โกรธ เมื่อความต้องการไม่ได้รับการตอบสนอง และเมื่อเติบโตขึ้นอีก เด็กมองตัวตนของตัวเองในแบบที่ต้องการเติมเต็มตัวเองหรือมองหาสิ่งที่ขาดไปในจิตใจ การพัฒนา self เป็นไปเพื่อจะอยู่รอดและอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข  เด็กพยายามสร้างแบบอย่างขึ้นมาเพื่อให้ตัวเองเป็นแบบที่ต้องการ เด็กชายเลียนแบบฮีไร่ในภาพยนตร์ เด็กหญิงเลียนแบบตัวเอกในนิยาย เราจะได้เห็นเด็กผู้ชายคนที่แต่งตัวเป็นสไปเดอร์แมน ยอดมนุษย์ ฮีโร่ เด็กผู้หญิงแต่งตัวเป็นเจ้าหญิง หรือเลียนแบบพ่อแม่ที่เขารู้สึกชื่นชม ทำให้ตัวตนของเด็กเริ่มเด่นชัดขึ้น  ทฤษฎีของซิกมัน ฟรอยด์ บอกว่าเด็กปฐมวัยจะเลียนแบบคนเพศเดียวกันเพื่อสร้างตัวตน เพื่อให้เพศตรงข้ามยอมรับ เช่นเด็กชายเลียนแบบพ่อเพื่อให้แม่ยอมรับ นั่นคือพัฒนาการ self อีกขั้นหนึ่ง

ที่จริงการพัฒนา Self หรือตัวตนของเด็ก มีกระบวนการอีกมากและน่าสนใจ เพราะแต่ละเพศมีลักษณะการพัฒนาตัวตนที่แตกต่างกัน และแต่ละช่วงวัยก็แตกต่างกันอีก แต่โดยรวมก็เพื่อให้เด็กสามารถรับรู้ตัวตนได้ดีขึ้น และพยายามพัฒนาตัวเองไปสู่ภาพที่เด็กต้องการ กระบวนการนี้เริ่มตั้งแต่ช่วงปฐมวัยและพัฒนาต่อเนื่องไปเรื่อยๆ