096-356-9461 support@rlg-ef.com
Slide
Slide

เชื่อมโยง EF กับพันธกิจแห่งการสร้างครูยุคใหม่
เปลี่ยน Mindset สร้างความเข้าใจ
ให้นักเรียนเป็นผู้นำ ครูเป็นผู้ประสาน ตามแนวทาง EF Facilitator
ใช้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม บูรณาการองค์ความรู้ ต่อยอดสู่นวัตกรรมใหม่

ก้าวแรกของการขับเคลื่อน EF

มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ก้าวสู่โลกของ EF ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2558 ด้วยการส่งตัวแทนอาจารย์เข้าร่วมโครงการพัฒนาบุคลากรด้วยความรู้ Executive Functions – EF จัดโดยสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล และสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็ก มหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นได้เข้าร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) “โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาหลักสูตรด้านการส่งเสริมทักษะสมองส่วนหน้า (Executive functions – EF) และพัฒนาอาจารย์สาขาปฐมวัยศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ร่วมพัฒนาหลักสูตรรายวิชา สมองกับการเรียนรู้ สำหรับเด็กปฐมวัยในปี พ.ศ. 2562 ต่อด้วยโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาหลักสูตรด้านการส่งเสริมทักษะสมองส่วนหน้า และพัฒนาอาจารย์สาขาปฐมวัยในมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ หลักสูตร “EF Facilitator สำหรับอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏในปี พ.ศ. 2563

ความรู้ EF ที่ถูกนำไปเผยแพร่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ นอกจากรายวิชา สมองกับการเรียนรู้  สำหรับเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นวิชาเอกของคณะครุศาสตร์สาขาการศึกษาปฐมวัย หลักสูตร 4 ปี ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 แล้ว ยังได้ขยายองค์ความรู้ทักษะสมอง EF ไปสู่สาขาวิชาอื่นๆ ภายในคณะฯ รวมทั้งกลุ่มวิชาชีพครู ในรูปแบบบูรณาการในรายวิชาที่มีเนื้อหาสอดคล้องกัน ตลอดจนขยายผลไปยังโรงเรียนเครือข่ายฝึกประสบการณ์ของคณะครุศาสตร์ผ่านรูปแบบกิจกรรมหลากหลาย อาทิ การอบรม สัมมนา มีผลงานประจักษ์ชัดในการขับเคลื่อนองค์ความรู้ EF จึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะสมอง EF ในมหาวิทยาลัยราชภัฏอีกแห่งหนึ่ง

เป้าหมายและยุทธศาสตร์

สอดแทรก EF ในทุกรายวิชา ส่งเสริมความก้าวหน้าด้วยงานวิจัย

เมื่อนำมาใช้จนเห็นผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลง จึงนำความรู้ EF บูรณาการทุกรายวิชา เพื่อเชื่อมเรื่องทักษะสมองให้เป็นพื้นฐานความรู้และเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาเด็กปฐมวัยในทุกบริบท เกิดเป็นกระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ที่ทั้งสาขาพูดกันถึงแต่เรื่อง EF โดยเน้นให้เป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมการเรียนการสอน ทำให้นักศึกษามีการเรียนรู้ที่ดี สามารถสร้างสรรค์ผลงานจนได้รับรางวัลจากหน่วยงานภายนอก ทำให้นักศึกษาเข้าใจและเข้าถึงผลการทำงานของ EF ซึ่งเกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวนักศึกษาเอง นำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนเจตคติที่มีต่อตัวเอง ที่สำคัญนักศึกษาสามารถค้นพบศักยภาพของตัวเอง ซึ่งเป็นฐานนำไปสู่จรรยาบรรณวิชาชีพครูได้

 

ขยายผลจากครูสอนครู ขยายสู่เครือข่ายและครูผู้สร้างสรรค์สังคมทุกสาขา

     ปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ขยายองค์ความรู้ทักษะสมอง EF ออกไปอย่างกว้างขวาง คณาจารย์ในสาขาการศึกษาปฐมวัยออกไปเป็นวิทยากรอบรมให้ความรู้แก่โรงเรียนในเครือข่าย โรงเรียนในพื้นที่รอบมหาวิทยาลัย โรงเรียนในสังกัดต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างต่อเนื่องรวมทั้งลงพื้นที่กระจายความรู้สู่ชุมชน สู่ท้องถิ่น เพื่อเด็กปฐมวัยในจังหวัดปทุมธานีและจังหวัดใกล้เคียง

  • การนำความรู้ทักษะสมอง EF มาบูรณาการกับการสร้างนวัตกรรุ่นใหม่

ใส่หลักการเรียนรู้แบบ EF ร่วมกับกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning: PL) ทำให้นักศึกษาเกิดไอเดีย จนได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งจากการเข้าร่วมประกวดโครงการ Start-up การบ่มเพาะบัณฑิตให้เป็นผู้ประกอบการ

  • โครงการส่งเสริม EF อื่นๆ; โครงการ “การพัฒนาทักษะสมอง EF สำหรับเด็กปฐมวัย ด้วยวัสดุท้องถิ่น”

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

  • EF เปลี่ยน Mindset และกระบวนการเรียนรู้

ความเข้าใจเรื่อง EF ทำให้ “ครู-ผู้สอนครู” เกิด Mindset ใหม่ เปลี่ยนทัศนคติ บทบาท และวิธีการสอนนักศึกษาจาก Teacher-Centered สู่ Learner-Centered ได้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถสร้างสรรค์การสอนให้ตอบรับกับธรรมชาติการเรียนรู้ของนักศึกษาแต่ละคนได้อย่างยืดหยุ่น ปลดล็อคห้องเรียนแบบสอนทางเดียวแบเดิม ไปสู่การสร้างพื้นที่เรียนรู้ร่วมกัน ให้อาจารย์และนักศึกษาได้มีตัวตน ครูสอนด้วยความสุข นักศึกษาเรียนรู้ด้วยความสนุกสนาน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประเมินตนเอง มีส่วนร่วมในการเรียนการสอนร่วมกัน ส่งผลให้พัฒนาการของนักศึกษาเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันครูก็ทำงานสนุก มีเป้าหมายร่วม และทำงานเป็นทีมมากขึ้น

…พอมาเรียนรู้เรื่อง EF รู้สึกว่าสนุก ต่างจากเดิมที่ใช้วิธีบรรยายหรืออภิปรายเพียงอย่างเดียว ซึ่งเด็กจะได้รับแค่ 10-20 % แล้วก็ลืม แต่ถ้าเด็กได้ลงปฏิบัติจริง อะไรที่ลงมือทำด้วยตัวเองจะได้เกิน 90 %…เมื่อก่อนนักศึกษาเวลาเข้าคลาสจะมาช้า รถติด ตื่นสาย แต่ปัจจุบัน มาเข้าคลาสก่อนเวลา เมื่อมาอ่านในข้อความสะท้อนความรู้ นักศึกษาบอกสนุก สุขกับรอยยิ้มของเพื่อน อาจารย์ รู้สึกมีตัวตนในพื้นที่นี้ รู้ว่าได้รับโอกาสที่เป็นตัวของตัวเอง ไม่รู้สึกมีเส้นกั้นระหว่างเพื่อน ครู ซึ่งน่าจะมาจากการแชร์ การแลกเปลี่ยน มาจากการเรียนรู้ร่วมกัน…”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คันธรส ภาผล
อาจารย์ประจำสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์

กุญแจสู่ความสำเร็จ

  • ผู้บริหารทุกระดับของมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์เห็นความสำคัญของการพัฒนาทักษะสมอง EF ในเด็กปฐมวัย และมีนโยบายที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนความรู้ EF สู่การเรียนการสอนในทุกมิติ
  • อาจารย์ของคณะครุศาสตร์มากกว่าร้อยละ 50 ผ่านการอบรมความรู้เรื่อง EF
  • มีเครือข่ายการทำงานร่วมกับโรงเรียนทุกสังกัด ได้แก่ สังกัดสำนักการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)

บทเรียนที่อยากบอกต่อ

 

“…ในฐานะที่เป็นครู เคยคิดว่าหน้าที่ของเราคือสอน ให้ความรู้ที่ถ่ายมาจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อได้รู้จักและเข้าใจ EF เรารู้ว่าเราไม่ใช่ผู้ให้ แต่ต้องเป็นผู้ฟังที่มีคุณภาพ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง พร้อมจับมือเปลี่ยนแปลงวิถีใหม่ ทำให้มนุษย์ เด็ก ให้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข… อยากให้มองว่าการที่เราเอา EF เข้ามา เราไม่ได้แค่พัฒนาครู แต่เราพัฒนาคน เรามองไปอีก 20-30 ปี ข้างหน้า นั่นคือผลลัพธ์สำคัญที่จะเกิดขึ้นกับเด็กกับมนุษย์…”

อาจารย์กุลชาติ พันธุวรกุล
อาจารย์ประจำสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ