096-356-9461 support@rlg-ef.com

แล้วจะทำอย่างไรให้ครูรุ่นใหม่ทุกคนทั่วประเทศเรียนรู้เข้าใจเรื่องทักษะสมอง EF  ซึ่งเป็นความรู้ทางวิชาการที่มีความซับซ้อนพอสมควร ด้วยแนวคิด EF Ecosystem ที่ว่าด้วยหลักการขับเคลื่อนองค์ความรู้เรื่องทักษะสมอง EF ข้อหนึ่งคือต้องสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อขับเคลื่อนขยายผล ทำให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏสามารถเป็นต้นธารที่จะขับเคลื่อนขยายผลการเรียนรู้เรื่องทักษะสมอง EF ให้แก่ครูรุ่นใหม่และครูทั่วประเทศได้  เนื่องจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นสถาบันผลิตครู ให้ความรู้แก่นักศึกษาครู รวมทั้งทำหน้าที่บริการวิชาการแก่สังคม แก่ครูในโรงเรียนด้วย

การผลิตครูในมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งนั้น จนถึงปี 2562 ยังไม่มีวิชาที่สร้างความรู้ความเข้าใจแก่นักศึกษาครูในเรื่อง ธรรมชาติ การทำงาน การพัฒนาสมองของเด็กปฐมวัย มีแต่วิชา “ทักษะการคิด” ซึ่ง     เน้นสอนให้นักศึกษาครูรู้จักว่าการคิดมีกี่ประเภท เช่น การคิดพื้นฐาน การคิดขั้นสูง และให้นักศึกษาเรียนรู้กิจกรรมเพื่อการฝึก เพื่อส่งเสริมการคิด เช่น การตั้งคำถาม เป็นต้น นอกจากนี้ ในวิชาพัฒนาการเด็ก มีการสอนเรื่องการส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้ลงลึกถึงการพัฒนาทักษะสมอง กล่าวได้ว่า นักศึกษาครูปฐมวัยที่ผลิตจากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง ยังมี Gap of Knowledge ในเรื่องทักษะสมอง EF ซึ่งเป็นทักษะสมองที่สำคัญยิ่งยวดที่ต้องพัฒนาในช่วงปฐมวัยนี้เท่านั้น

             ในการดำเนินการขับเคลื่อน EF ของสถาบัน RLG ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ที่ผ่านมา แม้จะได้     ดำเนินการจัดอบรม EF พื้นฐานให้แก่อาจารย์ราชภัฏที่สอนภาควิชาปฐมวัยไปแล้วจำนวนหนึ่ง แต่เนื่องจากมาหวิทยาลัยราชภัฏยังไม่มีหลักสูตรหรือรายวิชาทักษะสมอง EF อาจารย์ที่รับความรู้ไปแล้วทำได้เพียงประยุกต์ความรู้ EF เข้าไปสอดแทรก เสริมกับรายวิชาต่างๆ ที่สอนอยู่ ไม่สามารถสอนแกนเนื้อหาหลักให้แก่นักศึกษาได้  แต่หากมีการพัฒนาหลักสูตรเกี่ยวกับทักษะสมอง EF ที่ชัดเจนให้เป็นแกนหลักทางด้านสมองและการเรียนรู้แก่อาจารย์แล้ว อาจารย์ก็จะสามารถนำไปสอนแก่นักศึกษาโดยตรงในรายวิชานั้นได้ หรือจะนำไปประยุกต์ใช้ในรายวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง ก็จะมีแหล่งอ้างอิงทางวิชาการที่เชื่อมต่อกันได้

ในปี 2562 มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศซึ่งเป็นสถาบันหลักในการผลิตครูกำลังอยู่ในช่วงปรับปรุง      หลักสูตรผลิตครู คณะกรรมการบริหารสภาคณบดีของมหาวิทยาลัยราชภัฏเห็นสมควรให้นำองค์ความรู้     เกี่ยวกับธรรมชาติการทำงานของสมองกับการเรียนรู้ และการพัฒนาสมองส่วนหน้า (Executive    Functions (EF) ในเด็กปฐมวัย พัฒนาเป็นหลักสูตรเพื่อให้อาจารย์ในภาควิชาปฐมวัยศึกษาของคณะครุ    ศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งทั่วประเทศ นำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อปลูกฝังความรู้     ความเข้าใจ และทักษะแก่นักศึกษาครูในภาควิชาปฐมวัย ซึ่งจะนำไปใช้จัดการเรียนรู้ให้แก่เด็กปฐมวัยต่อไป       โดยหลักสูตรนี้จะมีรูปแบบการเรียนการสอนและการประเมินผลการเรียนรู้ของนักศึกษาครู เป็นไปตาม     แนวทาง Competency-based  

คณะกรรมการบริหารสภาคณบดีของมหาวิทยาลัยราชภัฏยังเห็นสมควรที่จะนำองค์ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติการทำงานของสมองกับการเรียนรู้ และการพัฒนาสมองส่วนหน้า Executive Functions (EF) บรรจุเข้าไปในหลักสูตรรายวิชาของวิชา General Education วิชาทักษะชีวิตและวิชาจิตวิทยา เป็นต้น เพื่อให้คณาจารย์มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถนำไปถ่ายทอดแก่นักศึกษาครูทุกคนที่ผ่านการศึกษาในคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งต่อไป การบรรจุองค์ความรู้เรื่องทักษะสมองส่วนหน้า (EF) เข้าไปในหลักสูตรการผลิตครู ของคณะครุศาสตร์ เป็นจุดมุ่งหมายสำคัญอย่างยิ่งที่จะสร้างความยั่งยืนให้การขับเคลื่อนองค์ความรู้ EF ในสังคมไทยที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนจนเกิดความสำเร็จด้วยดีมาระดับหนึ่งแล้วได้รับการฝังในระบบการศึกษา นำไปสู่การพัฒนาการศึกษาไทยให้ก้าวหน้าอย่างแท้จริง ด้วยครูจะมีความเข้าใจผู้เรียน สามารถพัฒนาผู้เรียนได้สอดคล้องกับธรรมชาติความเป็นมนุษย์ นำพาเด็กและเยาวชนไปสู่เป้าหมายชีวิตที่มีสุขภาวะทุกด้านและมีความสามารถสูง อันจะเป็นรากฐานที่แข็งแรงอย่างยิ่งของสร้างประเทศชาติที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป