อาจารย์ชนาธิป บุบผามาศ
มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
อาจารย์ชนาธิป ได้เข้าอบรมเรื่อง EFที่มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์เมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่งตอนนั้นคิดว่าเป็นการอบรมที่เครียด ไม่สนุก เป็นวิชาการ เพราะเป็นการอบรมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ “ชื่อหลักสูตรมีคำว่า executive แต่ในวันอบรมกลับมีการเต้น ได้ร้องเพลง ทำงานศิลปะ ทำกิจกรรม”
“ตอนนี้รู้แล้วว่าเป็นอะไรที่ไม่เครียด กิจกรรมที่สนุกนั้นเป็นกิจกรรมที่จะช่วยส่งเสริมทักษะสมอง EF ซึ่งวิทยากรบอกว่ากิจกรรม EF ต้อง meaningful
“เราคิดว่าทั้งเด็กและผู้ใหญ่ปัจจุบันควรมี EF แล้วเราก็ได้นำความรู้และกิจกรรมไปถ่ายทอดกับนักศึกษา จริงอยู่ว่าการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ ต้องเริ่มจากปฐมวัย เด็กปฐมวัยเป็นวัยที่รับ EF ได้มาก เราให้ 100 เด็กรับได้ 100 วัยรุ่นเราให้ 100 วัยรุ่นรับได้ 50 ถ้าเป็นวัยเราให้ 100 รับได้แค่ 20 ซึ่งก็ยังพัฒนา EFได้ แล้วนักศึกษาล่ะ
“มีนักศึกษาปี 2 คนหนึ่ง เป็นคนมีเป้าหมาย เราทำงานมา 10 ปีไม่เคยเจอนักศึกษาที่มีเป้าหมาย นักศึกษาคนนี้ถามว่าอยากได้เกียรตินิยมต้องทำอย่างไร ตอบไปว่าต้องไม่ได้เกรด D นักศึกษาบอกว่าได้ไปแล้วควรทำอย่างไร จึงแนะนำให้ตั้งเป้าใหม่ ถ้าไม่ได้เกียรตินิยมแล้วอะไรจะเป็นเป้าหมายใหม่ที่สำคัญกับชีวิตเราจริงๆ นักศึกษาบอกว่าต้องสอบเอาใบประกอบวิชาชีพ เพื่อจะสอบเป็นข้าราชการได้
“วันนี้เห็นพัฒนาการของนักศึกษาที่เมื่อมาเรียนวิชาสมองแล้วมีเป้าหมาย มีวิธีคิด แล้วก็มีจิตอาสามาก ตอนจะไปจัดห้องเรียนโรงเรียนตชด. นักศึกษามาบอกว่าถ้าอาจารย์จะไปเมื่อไรให้บอกด้วย อยากไป มีของบริจาค และจะเอาสื่อที่ทำไว้ไปบริจาคด้วย…
พอนักศึกษาเปลี่ยน เราก็เปลี่ยน
“เราเป็นอาจารย์สายโหด ความยืดหยุ่นเท่ากับศูนย์ เพราะเป็นประธานสาขา ดังนั้นนักศึกษาทุกคนต้องอยู่ในกฏระเบียบ ทั้งๆ ที่วันที่ก้าวเข้ามาทำงานเมื่อปี 2553 ไม่ใช่คนแบบนี้เลย เราเป็นอาจารย์ใสๆ ที่เพิ่งเข้ามาทำงาน นักศึกษามีอะไรก็เข้ามาปรึกษา แต่ต่อมามีความรู้สึกว่านักศึกษาครูต้องเป๊ะตามมาตรฐานที่วางไว้
“พอรู้จัก EF เห็นการเปลี่ยนแปลงของนักศึกษา ตัวเองก็รู้สึกผ่อนคลาย ทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เราเปลี่ยนวิธีคิด วิธีพูดกับนักศึกษา วันนี้เราไม่ต้องไปบอกนักศึกษาว่าห้ามแต่งตัวไม่เรียบร้อยนะ เขาอยู่ในกฎระเบียบเอง EFสามารถมาปรับวิธีคิดเรา ให้เราคิดได้ว่าไม่จำเป็นต้องแข็งกร้าวใส่เด็ก เด็กก็มีระเบียบได้
“ดูจาก Facebook ของตัวเองที่เล่นมาเป็นสิบปี ตอนนี้ดูโพสต์ในอดีตแล้วก็คิดว่าทำไมเราโพสต์อะไร ได้เพ้อเจ้อขนาดนั้น มาเวลานี้เราต้องยั้งคิดก่อนจะพิมพ์อะไร พิมพ์ไปแล้วได้อะไร ช่วยอะไรได้
“EF เป็นความมหัศจรรย์ นอกจากทำให้นักศึกษาเปลี่ยน อาจารย์เปลี่ยนแล้ว ยังทำให้อาจารย์ปฐมวัยได้มาพูดคุยทางวิชาการกัน และทำให้คนมีคุณภาพยิ่งขึ้น”
การเปลี่ยนแปลง/ผลสัมฤทธิ์ หลังจากเรียนรู้ EF และนำความรู้ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน
มุมมองความคิดเปลี่ยน อาจารย์ยืดหยุ่นมากขึ้น เข้าใจนักศึกษามากขึ้น เข้าใจกระบวนการที่ทำให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้
นักศึกษาเปลี่ยน เมื่อได้เรียนรู้เรื่อง EF มีเป้าหมายชีวิตมากขึ้น มีจิตอาสา มีความรับผิดชอบมากขึ้น อยู่ในกฎระเบียบโดยอาจารย์ไม่ต้องเข้มงวด
กระบวนการเรียนการสอนเปลี่ยน เปลี่ยนจากการเรียนแบบ pattern หรือ passive learning ที่อาจารย์ป้อนข้อมูลความรู้ เป็น active learning โดยใช้กิจกรรมแบบ activity based learning เป็นฐานในการจัดการเรียนการสอน
ฝากไว้ให้คิด
“ถ้าคุณไม่อยากเหนื่อย ให้นั่งเฉยๆ แต่ถ้าเหนื่อยหน่อยแล้วคุณภาพชีวิตคนไทยเปลี่ยนแปลง ลงมาเดินกับพวกเรา EFช่วยคุณได้”
THAILAND EF PARTNERSHIP
เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ