096-356-9461 support@rlg-ef.com

อาจารย์ปวรา ชูสังข์
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

อาจารย์ปวราบอกว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมไม่มีรายวิชาสมองกับการเรียนรู้ แต่ได้เอาเรื่องทักษะสมอง EF บูรณาการกับวิชาพัฒนาการและการเรียนรู้ในเด็กปฐมวัย

“แรกเริ่มที่รู้ว่าจะต้องสอนวิชานี้ใจแป้วมาก ก่อนหน้านี้เคยเรียนวิชาสมองมาบ้างตอนเรียนปริญญาเอก คิดว่านักศึกษาจะเข้าใจไหมเรื่องสมอง เราจะสอนอย่างไร แต่หลังจากเข้ารับการอบรม 3 ครั้ง โดยทั้ง 3 ครั้งได้เห็นตัวอย่างการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เป็น guideline ในการจัดกิจกรรม  และกระบวนการที่ทำให้อาจารย์ที่มาเข้าอบรมเกิดการเรียนรู้ และได้เข้าใจด้วยประสบการณ์ของตัวเอง แล้วนำไปปรับใช้ในชั้นเรียน

“การสอนใช้ประสบการณ์ของตัวเองเป็นหลัก นั่นคือตอนแรกอ่านข้อมูลแล้วงงๆ ยังจำไม่ค่อยได้ แต่พอทำกิจกรรมแล้วเข้าใจ จึงให้นักศึกษาได้ลองทำกิจกรรมเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกับองค์ความรู้  หลังจากนั้นมา reflect กันว่าทำแล้วได้อะไร นักศึกษาก็ได้เรียนรู้เข้าใจ เชื่อมโยงความรู้ได้

“และใช้วิธียกตัวอย่างแล้วเชื่อมไปสู่ประสบการณ์ที่นักศึกษาเคยได้เห็นมาจากเด็กๆ ถ้าเด็กทำแบบนี้นักศึกษาจะไปต่อยอดอย่างไร หรือในอนาคตเด็กจะมีพฤติกรรมอย่างไร พัฒนาการจะเป็นแบบไหน ด้วยกระบวนการแบบนี้ นักศึกษาก็เกิดความเข้าใจมากขึ้น

“การสอนเรื่องสมองกับนักศึกษาปีหนึ่ง จะค่อยๆ ให้ประสบการณ์แบบเบาๆ ก่อน ไม่ทำให้นักศึกษารู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ ให้นักศึกษาค่อยๆ รู้สึกว่าเรื่องสมอง เรื่อง EF เป็นเรื่องพื้นฐานของชีวิต

“สอนมา 3 ปีแต่ว่าเป็น 3 ปี ที่ค่อยๆ เขยิบขึ้นไปทีละนิดๆ ในปีที่ผ่านมาได้สอนวิชาการศึกษาอิสระทางการศึกษาปฐมวัย นักศึกษามีความสนใจเรื่อง EF และได้ลองไปทำวิจัย 3 เรื่อง มีกิจกรรมที่พัฒนา EF ที่แตกต่างกันไป แต่ไม่ได้วัด EF ทั้ง 9 เพราะยากเกินไป วัด EF เฉพาะด้านที่เด่นๆ

“สำหรับนักศึกษาที่ไปทำวิจัยนั้น นอกจากจะได้นำเอาความรู้ไปพัฒนาเด็กตัวเล็กๆ แล้วก็ยังพัฒนาตัวเองด้วย นักศึกษาได้ย้อนกลับมาดูตัวเอง บอกว่าขณะพัฒนาน้อง ก็ต้องปรับตัวเองเหมือนกัน เพราะฉะนั้นพอนักศึกษาได้ศึกษาไปลึกๆ ก็พบว่า ทั้งสิ่งที่คิด ทั้งการทำงานระหว่างทาง ทำให้นักศึกษาได้พัฒนาตัวเอง หรือพัฒนา EF ไปในตัว เหมือนที่เขาพัฒนาเด็กๆ เช่นกัน”

การเปลี่ยนแปลง/ผลสัมฤทธิ์ หลังจากเรียนรู้ EF และนำความรู้ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน

ยืดหยุ่นความคิดมากขึ้น “สอนเกี่ยวกับ EF มาเป็นปีที่ 3 พบว่า ตัวเองก็ค่อยๆ เปลี่ยนความคิด ยืดหยุ่นความคิดขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี”

ปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน  “เปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนที่เป็นแบบ lecture based อ่านจากตำรา อ่านงานวิจัย ดูจากวิดีโอ ซึ่งไม่ค่อยเข้าใจหรือเข้าใจได้ยากมาก แต่นักศึกษาได้เรียนรู้จากการทำกิจกรรม หลังทำกิจกรรม มี reflect ที่นักศึกษาจะได้ทบทวน ได้กลั่นกรอง วิเคราะห์ด้วยตัวเอง ได้เชื่อมโยงกับประสบการณ์ที่นักศึกษาเคยรู้เคยเห็น ก็จะเข้าใจได้ง่าย ไม่รู้สึกว่าเรื่องสมองเป็นเรื่องยาก”

นวัตกรรม

กระบวนการเรียนการสอนที่มีการตั้งเป้าหมาย ทั้งตัวอาจารย์และนักศึกษา โดยมีเป้าหมายระยะยาวหรือปลายทางของการเรียน และเป้าหมายระยะสั้นเป็น step  เป้าหมายในการทำกิจกรรม กิจกรรมต้องเป็นกิจกรรมปลายเปิด ไม่กำหนดวิธีการ วัสดุ หรือคำถาม ต้องมี choice ให้เด็กเลือก ในหนึ่งกิจกรรมต้องมีการวางเงื่อนไข ในแต่ละสัปดาห์ กิจกรรมจะต้องหลากหลายต่างกันไป เพื่อให้เด็กได้ใช้ทักษะสมอง EF หลายๆ ด้าน  ก็จะใช้วิธีเดียวกันนี้กับทุกวิชาที่สอน

“การให้นักศึกษาตั้งเป้าหมายตั้งแต่แรก จะทำให้นักศึกษาพยายามปรับเปลี่ยนความคิด หาความรู้เพิ่ม เพื่อปรับกิจกรรมเพื่อไปสู่เป้าหมายให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นแบบ onsite หรือ online ทำให้ไม่ละเลิกไปกลางคัน เป็นประสบการณ์คุณภาพ โดยมีอาจารย์คอยเป็นที่ปรึกษา

“อย่างเช่นเวลานักศึกษาลงไปทำการวิจัย ก็ให้ตั้งเป้าหมายว่าจะทำวิจัยในชั้นเรียน จะพัฒนา EF ให้เด็ก มีเวลาเท่านี้ จะจัดการออกแบบ วางแผน ในการทำวิจัยอย่างไร เมื่อออกแบบวางแผนเสร็จพบว่าโรงเรียนเปิดเทอมไม่ได้ แต่นักศึกษาออกแบบแผนการสอนแล้ว ทำสื่ออุปกรณ์สำหรับการสอนแบบ onsite แล้ว  แต่ใช้ไม่ได้ คิดว่าจะต้องปรับเป็นแบบ online ออนไลน์ก็ไม่ได้ผลอีกเพราะกลุ่มตัวอย่างหาย สุดท้ายนักศึกษาจึงปรับเป็นการสอนแบบ onsite แบบกลุ่มเล็กๆ อีกรอบ”

ฝากไว้ให้คิด

“EF มีประโยชน์ นอกจากพัฒนาผู้สอน ปรับ mindset ผู้สอนแล้ว ยังพัฒนาตัวผู้เรียนด้วย” 

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ