096-356-9461 support@rlg-ef.com

อาจารย์วิไลวรรณ กลิ่นถาวร
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

อาจารย์วิไลวรรณบอกว่าเคยมีประสบการณ์กับ EF อยู่บ้าง เพราะอาจารย์ในสาขาเคยทำโครงการขอทุนจังหวัด  “แต่พออ่านคำอธิบายรายวิชา รู้สึกว่าเป็นเรื่องทางการแพทย์ เป็นเรื่องยาก คิดว่าถ้านำมาสอนนักศึกษาปี 1 จะยากไป จึงปรับเป็นสอนนักศึกษาปี 2  ปรับหลักสูตร ตัดเนื้อหาเกี่ยวกับระบบประสาทออก และนำไปบูรณาการในวิชาอื่นๆ ด้วย

“ก่อนที่จะให้ความรู้คนอื่นเราต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองก่อน เช่น พอเจอสินค้าลดราคาแล้วเราต้องยับยั้งตัวเอง  หรือก่อนมีรายวิชานี้เราเป็นผู้หญิงสายวีน พอรู้เรื่อง EF เลยรู้ว่าต้องเริ่มจากตัวเองก่อน  อาจารย์ในสาขาทุกคนก็ต้องมี EF เมื่อก่อนอาจารย์พูดกันเสียงดัง ทะเลาะกัน แต่ตอนนี้เราเอา EF มาใช้ อาจารย์สาขาอื่นพอเห็นอาจารย์ในสาขาเราเปลี่ยนไปก็มาถามว่าเกิดอะไรขึ้น  

“เมื่อทำกับตัวเองได้สำเร็จ ก็เข้าใจและเห็นความสำคัญของ EF เวลาสอนนักศึกษาก็จะยกตัวอย่างที่ใกล้ตัว เช่น แค่ขับรถปาดกันก็ยิงกันตายแล้ว แต่ถ้าเรามี EF เราจะนับหนึ่งถึงสิบ เราจะชะลอรถได้ นักศึกษาพูดกลับมาว่าเขาก็เกือบไปแล้ว

 “ปัจจุบันอาจารย์ทุกคนในสาขาใช้ความรู้ EFในการสอน และหาความรู้เพิ่มเติมจากแหล่งต่างๆ อยู่เสมอ เช่น สถาบันRLG  รายการ Can Do ครู EF แล้วนำมาประยุกต์ใช้ทั้งกับนักศึกษาและผู้ปกครองเวลาที่เราไปทำงานในชุมชน ทำให้ผู้ปกครองเห็นภาพชัดเจนขึ้น 

อาจารย์วิไลวรรณเล่าว่านอกจากนักศึกษาได้เรียนรู้ EF ในห้องเรียนแล้ว  อาจารย์ยังพานักศึกษาไปช่วยทำโครงการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจังหวัดลำปางใน 3 อำเภอ เพื่อให้ได้ประสบการณ์

“เวลาไปจัดกิจกรรมในชุมชน เราจะไปกันทั้งสาขา เราทำโครงการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก็จริง แต่เวลาทำกิจกรรมจะมีผู้ปกครองเข้ามาร่วมด้วย  เราจึงพานักศึกษาไปช่วยจัดกิจกรรมโดยใช้ความรู้ที่เรียนมาเพื่อให้เกิดประสบการณ์  จัดฐานกิจกรรม EF ให้ผู้ปกครองกับเด็กทำกิจกรรมร่วมกัน เมื่อทำกิจกรรมเสร็จก็อธิบายเรื่อง EF โดยพยายามอธิบายอย่างง่ายๆ เพราะมีคุณตาคุณยายมาด้วย บอกว่าเป็นทักษะที่ใช้กันอยู่ทุกวัน การเล่น การทำงานบ้านก็ทำให้เด็กเกิดทักษะ EF ได้ และมีกิจกรรมให้นำไปใช้ไปทำที่บ้านด้วย โดยบอกผู้ปกครองว่าไม่จำเป็นต้องใช้กิจกรรมแบบนี้ก็ได้ ให้เชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตที่บ้าน เช่น ให้เด็กช่วยเหลือตัวเองในการแต่งตัว เก็บเสื้อผ้า ถอดรองเท้า ถุงเท้า เป็นต้น การอบรมนี้พอครบ 3 เดือนก็ไปติดตามผล เก็บข้อมูลว่าใช้ EF แล้วเป็นอย่างไรบ้าง

“สำหรับตัวเอง ปีแรกของการทำโครงการเกี่ยวกับ EF ของสาขายังไม่ค่อยรู้เรื่องมากนัก ปีสองไปขอทำอีก ปีสามไปขยายผล ทางสาขาก็ยอมให้เราไปพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือโรงเรียนที่ห่างไกล เราก็มั่นใจในตัวเองมากขึ้น รวมทั้งได้เข้าไปช่วยดูแลโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยด้วย อีกทั้งคณบดีก็เข้าร่วมสมัชชาเกี่ยวกับการพัฒนาเด็ก เวลาเราทำกิจกรรมก็มาดึงเราเข้าไปให้มีส่วนร่วม” 

การเปลี่ยนแปลง/ผลสัมฤทธิ์ หลังจากเรียนรู้ EF และนำความรู้ EF ไปใช้ในการเรียนการสอน

ปรับเปลี่ยนตัวเอง  ใช้ความรู้ EF มาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง เช่นมีการควบคุมอารมณ์ การยับยั้งชั่งใจมากขึ้น

เกิดกระบวนการเรียนการสอนที่ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการเรียนมากขึ้น  กระบวนการเรียนการสอนที่ใช้กิจกรรมสร้างการเรียนรู้ สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่เนื้อหาได้ง่าย นักศึกษาเกิดจดจ่อใส่ใจกับสิ่งที่ทำ กับการเรียน ทำให้เกิดการเรียนรู้เข้าใจในเรื่องที่เรียนอย่างชัดเจนด้วยตัวเอง 

นักศึกษาชอบการเรียนเรื่อง EF เพราะเป็นการเรียนรู้ที่มีความหมาย  การที่นักศึกษาได้คิดกิจกรรมใหม่ๆ เอง นำไปทดลองกับเด็กแล้วเกิดผลจริง เห็นผลจริง ทำให้นักศึกษาชอบวิชานี้  “แรกๆ เวลาให้งานนักศึกษา มีเสียงบ่น แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีเพราะเห็นว่าได้ประโยชน์กับตัวเอง ได้ผลกับเด็ก”

นักศึกษาสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติได้จริง  ในการที่นักศึกษาไปช่วยงานพัฒนาชุมชน นักศึกษาได้นำความรู้ไปปฏิบัติจริง เช่น ออกแบบกิจกรรมที่นำไปพัฒนาเด็กในชุมชน ช่วยจัดกิจกรรม เป็นวิทยากรผู้ช่วย  “เห็นได้ชัดว่าเขาเรียนรู้เข้าใจและปฏิบัติได้จริง ดังนั้นเรามีความเชื่อมั่นว่าเวลานักศึกษาไปฝึกสอนก็จะทำได้ เวลาเราไปนิเทศนักศึกษาฝึกสอน ก็ได้เห็นว่าเขาสามารถดัดแปลงกิจกรรมที่อาจารย์เคยสอนไปใช้กับเด็กๆ”

เด็กได้รับการพัฒนา EF  นักศึกษาที่ไปฝึกสอนนำกิจกรรมส่งเสริม EF ไปใช้ รายงานว่าเด็กมีความนิ่ง สามารถจดจ่อ จดจำ ยับยั้งชั่งใจได้ 

พ่อแม่ผู้ปกครองนำความรู้ EF ไปใช้และเกิดผลดี  “ผู้ปกครองได้นำความรู้ EF ไปใช้แล้วโทร.มาสะท้อนว่าลูกเปลี่ยน พ่อเปลี่ยน ยายเปลี่ยน ตายายนำกิจกรรมและความรู้ไปใช้  ไปบอกคนดูแลลูกหลาน ภรรยาเอาไปพูดกับสามี เมื่อพ่อเอาไปใช้ แม่ก็ทำตาม การทะเลาะในครอบครัวไม่มี”

ส่งเสริมภาพลักษณ์มหาวิทยาลัยฯ   การขยายความรู้ EF สู่ชุมชน ทำให้ชุมชน สังคมนั้นๆ มองภาพมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางดีขึ้น ให้ความเชื่อถือมากขึ้น “รวมทั้งโรงเรียนต่างอำเภอ ต่างจังหวัด เมื่อก่อนมักไม่ค่อยยอมรับนักศึกษาของเราที่ขอไปฝึกประสบการณ์ เช่นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ปัจจุบันให้นักศึกษาของเราไปจัดกิจกรรม EF เพราะเคยมีนักศึกษาของเราไปจัดกิจกรรมให้โรงเรียนที่เชียงใหม่ ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็เชื่อมั่นในนักศึกษาของเรามากขึ้น สังคมเห็นว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางมีการพัฒนา มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาชุมชน สังคม”

นวัตกรรม

เกิดงานวิจัย EF   “นักศึกษาปี 4  ที่เรียนรายวิชาสมอง จะได้ทำวิจัย ในปีนี้มีงานวิจัยเกี่ยวกับ EF เยอะมาก ตอนนี้นักศึกษาปี 4 มี 2 ห้อง มีกลุ่มวิจัยปีละ 16 กลุ่ม ในจำนวนนี้มีวิจัยเกี่ยวกับ EF ครึ่งหนึ่ง โดยนักศึกษาคิดทำกิจกรรมสนุกๆ ที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาทักษะสมอง EF เอาไปใช้กับเด็กๆ”

คู่มือการจัดกิจกรรมส่งเสริม EF  “ในการอบรมพัฒนาผู้ปกครองในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เราได้ทำคู่มือการจัดกิจกรรมส่งเสริม EF มอบให้ผู้ปกครอง และมีบันทึกให้ผู้ปกครองเขียนตอบกลับมาเหมือนเป็นสัญญาว่าหลังจากอบรมได้ไปทำอะไรที่บ้านบ้าง สัญญานี้ได้มอบให้กับครูที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อเป็นสื่อสัมพันธ์ว่าที่โรงเรียนครูได้ใช้กิจกรรม EF แล้วที่บ้านก็ใช้ด้วยเหมือนกัน เป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ปกครองกับโรงเรียน ผู้ปกครองรายงานมาว่าเวลาทำงานบ้าน ให้ลูกตากผ้า ลูกก็ทำ และทำเพิ่มอีกด้วย คู่มือเล่มนี้เราจะติดตามตลอด”

สื่อส่งเสริม EF เด็กปฐมวัย  มีการทำหนังสือสำหรับเด็กปฐมวัยที่ส่งเสริม EF ไปทดลองใช้กับเด็กในโรงเรียนเครือข่ายของมหาวิทยาลัย โดยนักศึกษาร่วมกับอาจารย์ที่สอนวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก และมีการทำหนังสือนิทาน big book ที่ส่งเสริมพัฒนา EF เด็กให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

ฝากไว้ให้คิด

ถ้าไม่มีวิชานี้ในมหาวิทยาลัยราชภัฏก็จะเสียดาย เพราะเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่ปลูกฝัง เด็กก็อยู่ในสังคมไม่ได้”

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ